ข่าว

ดันศูนย์ข้าวชุมชนผลิตเมล็ดพันธ์ุดี แก้วิกฤติข้าวขาดแคลน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ดันศูนย์ข้าวชุมชนผลิตเมล็ดพันธ์ุดี แก้วิกฤติข้าวขาดแคลนฤดูกาลหน้า

              รัฐบาลโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เตรียมพร้อมผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวพันธุ์ดี 2 แสนตัน หวังแก้วิกฤติขาดแคลนข้าว หลังเจอเกือบทุกภาคปัญหาภัยธรรมชาติทั้งน้ำท่วมน้ำแล้งในหลายระลอก โดยนายกรัฐมนตรี “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” และ “ประภัตร โพธสุธน” รมช.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะรับผิดชอบหน่วยงานกรมการข้าว ได้มอบหมายให้กรมการข้าวไปดำเนินการขับเคลื่อนอย่างเร่งด่วน เพื่อให้เกษตรกรมีเมล็ดพันธุ์ดีใช้อย่างทั่วถึง 

ดันศูนย์ข้าวชุมชนผลิตเมล็ดพันธ์ุดี แก้วิกฤติข้าวขาดแคลน
ดันศูนย์ข้าวชุมชนผลิตเมล็ดพันธ์ุดี แก้วิกฤติข้าวขาดแคลน

                ขณะเดียวกันได้ชู “ศูนย์ข้าวชุมชนบ้านสวนแตง” อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี เป็นศูนย์ต้นแบบผลิตเมล็ดข้าวพันธุ์ดีเพื่อสร้างงานสร้างอาชีพให้เกษตรกรมีรายได้ที่มั่นคงมากกว่าการผลิตเมล็ดพันธุ์และจำหน่ายเป็นข้าวเปลือก ที่ราคาต้องขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของตลาด 
              “กรมการข้าว สนับสนุนเมล็ดพันธุ์หัวเชื้อให้แก่ศูนย์ข้าวชุมชนหรือนาแปลงใหญ่ ได้ใช้เป็นพันธุ์ดี หรือพันธุ์ตั้งต้น และมีการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่เกษตรกร สามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวให้ได้คุณภาพ และผ่านการรับรองมาตรฐานเมล็ดพันธุ์ข้าวพันธุ์ดี คือ มาตรฐาน GAP Seed ซึ่งจะเป็นตัวการันตีมาตรฐานของเมล็ดพันธุ์ข้าว ดังนั้น เกษตรกรมั่นใจได้ว่า จะมีเมล็ดพันธุ์ดีใช้ได้อย่างทั่วถึง สามารถเข้าถึงได้ง่าย ยืนยันในฤดูกาลผลิตหน้า และปีต่อๆ ไป จะไม่มีปัญหาเรื่องการขาดแคลนเมล็ดพันธุ์ดีอย่างแน่นอน”
             จุรี ภัทรกุลนิษฐ์ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการผลิตข้าว กรมการข้าว กล่าวถึงการเตรียมพร้อมผลิตเมล็ดข้าวพันธุ์ดีเพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรนำไปปลูกเพื่อแก้ปัญหาที่อาจจะเกิดวิกฤติข้าวขาดแคลนหลังหลายพื้นที่ต้องเจอกับปัญหาภัยธรรมชาติจนสร้างความเสียหายให้แก่พื้นที่ปลูกข้าวจำนวนมาก รัฐบาลจึงมีนโยบายสำคัญในการส่งเสริมให้พี่น้องเกษตรกรมีความกินดีอยู่ดี โดยมอบหมายให้กรมการข้าวดำเนินการขับเคลื่อนนโยบายด้านการเกษตร ได้แก่ การส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ และศูนย์ข้าวชุมชน เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรสามารถผลิตข้าวคุณภาพ ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น และมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น 
               “ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกษตรกรสามารถผลิตข้าวคุณภาพได้ คือ การใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวพันธุ์ดี โดยปัจจุบันเกษตรกรมีความต้องการใช้เมล็ดพันธุ์ดีในปริมาณมาก ส่วนหนึ่งเกษตรกรมีการเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้เอง บางส่วนซื้อเมล็ดพันธุ์ดีจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ปีละประมาณ 3 แสนกว่าตัน”
              เธอเผยต่อว่า ปีงบประมาณ 2563 กรมการข้าว ได้ตั้งเป้าหมายส่งเสริมการผลิตและการกระจายเมล็ดพันธุ์ดี จำนวน 2 แสนตัน โดย 1 แสนตัน ผลิตโดยศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าว ของกรมการข้าว 28 แห่ง ส่วนอีก 1 แสนตัน ผลิตโดยศูนย์ข้าวชุมชน หรือกลุ่มนาแปลงใหญ่ ซึ่งกรมการข้าว ได้คัดเลือกศูนย์ข้าวชุมชน หรือกลุ่มนาแปลงใหญ่ ที่มีศักยภาพในการผลิตเมล็ดพันธุ์ดี และมีความเข้มแข็ง จำนวน 1,000 แห่ง เพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์ดีแห่งละ 100 ตัน
               ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการผลิตข้าวยังกล่าวถึงศูนย์ส่งเสริมและผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวพันธุ์ดีบ้านสวนแตง หรือศูนย์ข้าวชุมชนบ้านสวนแตง อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี ถือเป็นหนึ่งต้นแบบ ที่มีศักยภาพในการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวพันธุ์ดี ซึ่งสามารถผลิตได้มากกว่า 100 ตัน ที่สำคัญการผลิตเมล็ดพันธุ์ดียังเป็นการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ที่มั่นคงให้แก่เกษตรกร มากกว่าการผลิตเมล็ดพันธุ์และขายเป็นข้าวเปลือก ที่ราคาต้องขึ้นอยู่กับสถานการณ์ตลาด
              พิชิต เกียรติสมพร ประธานศูนย์ข้าวชุมชนบ้านสวนแตง เผยว่า หลังจากได้เข้าร่วมโครงการนาแปลงใหญ่เมื่อปี 2559 เพื่อส่งเสริมเกษตรกรสมาชิก จำนวน 21 ราย พื้นที่ประมาณ 600 ไร่ ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวพันธุ์ดี ได้แก่ พันธุ์กข41 ปทุมธานี1 และ กข43 ซึ่งได้รับการสนับสนุนเมล็ดพันธุ์หลักจากสถาบันวิทยาศาสตร์ข้าวแห่งชาติสุพรรณบุรี หรือศูนย์วิจัยข้าวสุพรรณบุรี เพื่อนำมาปลูกเป็นเมล็ดพันธุ์ขยาย แจกให้แก่เกษตรกรสมาชิกนำไปลงแปลงปลูก

ดันศูนย์ข้าวชุมชนผลิตเมล็ดพันธ์ุดี แก้วิกฤติข้าวขาดแคลน

                โดยมีเจ้าหน้าที่จากกรมการข้าว มาให้องค์ความรู้ในการผลิต รวมทั้งขั้นตอนการตรวจแปลงผลิตเมล็ดพันธุ์ดี ซึ่งในรอบปีการผลิต ศูนย์ฯ สามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว พื้นที่ 300 ไร่ จำนวน 350 ตัน
                “ในกลุ่มศูนย์ข้าวชุมชนบ้านสวนแตง มีพื้นที่ประมาณ 600 ไร่ แต่สามารถผลิตเป็นเมล็ดพันธุ์ได้ไม่ต่ำกว่า 300 ไร่ ผลิตเมล็ดพันธุ์ได้ประมาณ 350 ตัน แต่ว่ากลุ่มของเรามีกำลังซื้อที่จะซื้อข้าวจากสมาชิกได้แค่บางส่วน ที่เหลือก็ขายให้แก่พ่อค้าที่เขาจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ทั่วไปอยู่แล้ว ไม่มีปัญหาเรื่องผลิตข้าวคุณภาพดีแล้วขายไม่ได้”
                ประธานศูนย์ข้าวชุมชนบ้านสวนแตง ย้ำด้วยว่า สำหรับเมล็ดพันธุ์ข้าวพันธุ์ดีที่ผลิตได้จะจำหน่ายให้แก่เกษตรกรสมาชิกเป็นอันดับแรก และชุมชนใกล้เคียงเพื่อนำไปปลูก นอกจากนี้ได้มีการเชื่อมโยงกลุ่มเครือข่าย เพื่อแลกเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ข้าวพันธุ์ดี ทั้งในพื้นที่ จ.สุพรรณบุรี และจังหวัดใกล้เคียง ซึ่งประโยชน์ของการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวพันธุ์ดี อันดับแรกที่เห็นได้ชัดคือ เกษตรกรสมาชิกมีรายได้มากกว่าผลิตข้าวให้แก่โรงสี โดย 1 ตัน มีมูลค่าเพิ่ม 1,000 บาท และถ้าสามารถต่อยอดเรื่องการแปรรูปด้วย มีมูลค่าเพิ่มอีก 1,000 บาท รวมเป็น 2,000 บาท รวมทั้งทำให้เกษตรกรสมาชิกมีความรู้การผลิตเมล็ดพันธุ์ดี ที่จะช่วยลดต้นทุนการทำนาได้เป็นอย่างดี 
                ส่วนการนำเครื่องมือเทคโนโลยีมาปรับใช้ในแปลงปลูกนั้น พิชิตให้รายละเอียดว่า วันนี้เรามีเครื่องมือวัดระดับน้ำปกติ โดยใช้ท่อพีวีซีดูดน้ำผ่านเครื่องมือเทคโนโลยีอัจฉริยะเพื่อสามารถแจ้งเตือนให้ทราบได้ทันทีว่าน้ำในแปลงนามีระดับน้ำอยู่ที่เท่าไร ซึ่งสามารถดูได้จากหน้าจอโทรศัพท์มือถือได้ นอกจากนี้ยังมีกล่องดักแมลงและกล้องตรวจจับการเจริญเติบโตของข้าว ตลอดจนเครื่องมือวัดระดับกระแสลมอุณหภูมิความชื้นสัมพัทธ์อีกด้วย  

ดันศูนย์ข้าวชุมชนผลิตเมล็ดพันธ์ุดี แก้วิกฤติข้าวขาดแคลน
                  “เครื่องมือเหล่านี้อาจจะช่วยลดต้นทุนได้น้อย แต่ข้อดีจะเป็นการแจ้งเตือนให้ทราบล่วงหน้าว่าอะไรจะเกิดขึ้นในแปลงนาของเราบ้างในช่วงที่เราไม่อยู่ เช่น วัดระดับน้ำในแปลงนา สมมุติถ้าผมไม่อยู่ ผมก็เปิดดูจากโทรศัพท์ได้ บางครั้งน้ำยุบไปหลายเซนติเมตร เราก็ทราบแล้วว่าสาเหตุเกิดจากอะไร สาเหตุก็คือเกิดจากน้ำรั่วแน่นอนว่าเราทำนาเรามีคันกั้นน้ำน้ำจะไม่ยุบหายไปเอง ใน 1 วันน้ำจะไม่หายไปมากเกินไปแต่ถ้ายุบมากเกินไปเราก็ทราบได้เลยว่าน้ำรั่ว ก็สามารถส่งคนที่อยู่บ้านไปตรวจสอบได้ทันทีว่าน้ำรั่วตรงจุดไหน” พิชิตเผย พร้อมย้ำว่า
      
 

            ถึงแม้ผลผลิตอาจจะไม่เพิ่มขึ้นแต่ว่าต้นทุนจะลดลงเพราะว่าสามารถไปลดขั้นตอนบางอย่าง เช่นการลดขั้นตอนการสูบน้ำลง การใช้สารเคมีก็ลดลง การใช้ปุ๋ยเคมีก็ลดลง เพราะว่าการใช้ปุ๋ยเคมีก็มีระบบไปเซ็นเซอร์ดูว่าทำไมตอนนี้ข้าวเราขาดความอุดมสมบูรณ์ตรงไหนบ้างแล้วใส่เฉพาะตรงนั้นเข้าไป ซึ่งปีนี้เพิ่งทดลองทำฤดูกาลแรก จึงยังไม่เห็นผลเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน 
                 “ถามว่าทำแบบนี้จะช่วยลดต้นทุนได้เยอะมั้ย ผมเป็นเกษตรกรที่นำร่องเรื่องการลดต้นทุนอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นต้นทุนที่ผมปล่อยออกจะไม่เกิน 3,000 บาท ซึ่งแตกต่างจากเกษตรกรที่ใช้งบประมาณอยู่ที่ 5,000 บาท ถ้าถามผมว่าลดมั้ยอาจจะลดลงครึ่งหนึ่งแต่ถ้าเทียบกับเกษตรกรทั่วไปลดได้มากครับ” ประธานกลุ่มวิสาหกิจศูนย์ส่งเสริมและผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวชุมชนสวนแตงกล่าวย้ำทิ้งท้าย 
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
-อนาคตสินค้าเกษตรไทยสู่ครัวโลก
-เกษตร เดินสายแจงประกันรายได้ห้าพืชหลัก
-"เกษตรอัจฉริยะ"กำจัดจุดอ่อนภาคเกษตรไทย
-เกษตรฯ ดันงบ 1.36 แสนล้านเข้าสภา กรมชลอันดับหนึ่ง
 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ