ข่าว

  จาก"ประกันรายได้"สู่"ปลูกพืชร่วมยาง"ทางรอดเกษตรกรยั่งยืน 

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

  จาก"ประกันรายได้"สู่"ปลูกพืชร่วมยาง"ทางรอดเกษตรกรยั่งยืน 

 

          เรียบร้อยโรงเรียนประชาธิปัตย์แล้วสำหรับโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง หลังมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) ที่มี “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีมติเห็นชอบโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 1 

          กำหนดให้มีการประกันรายได้เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง (เจ้าของสวน ผู้เช่า ผู้ทำ และคนกรีดยาง) ที่ขึ้นทะเบียนและแจ้งข้อมูลพื้นที่กับการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ก่อนวันที่ 12 สิงหาคม 2562  ซึ่งในเบื้องต้นมีเกษตรกรชาวสวนยางจำนวน 1,711,252 ราย (เจ้าของสวน ผู้เช่า ผู้ทำ 1,412,017 ราย และคนกรีดยาง 299,235 ราย) คิดเป็นพื้นที่ 17,201,391 ไร่

  จาก"ประกันรายได้"สู่"ปลูกพืชร่วมยาง"ทางรอดเกษตรกรยั่งยืน  การปลูกพืชร่วมยางสร้างรายได้เสริม

 

             โดยเป็นสวนยางอายุ 7 ปีขึ้นไปที่เปิดกรีดแล้ว รายละไม่เกิน 25 ไร่ กำหนดปริมาณผลผลิตยางที่จะประกันรายได้ที่ปริมาณผลผลิตยาง (ยางแห้ง) 240 กก.ต่อไร่ต่อปี หรือ 20 กก.ต่อไร่ต่อเดือน กำหนดระยะเวลาประกันรายได้ 6 เดือน (ตุลาคม 2562–มีนาคม 2563) ซึ่งเงินประกันรายได้ในแต่ละเดือนจะถูกแบ่งระหว่างเกษตรกรเจ้าของสวนยางและคนกรีดยางในสัดส่วน 60:40 ราคายางที่ใช้ประกันรายได้กำหนดจากราคาต้นทุนการผลิตยางแต่ละชนิด โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรปี 2561 และเพิ่มรายได้เป็นค่าครองชีพอีกร้อยละ 7.39 แบ่งตามประเภทยาง 

             ซึ่งประกอบด้วยยางแผ่นดิบคุณภาพดี 60 บาทต่อกิโลกรัม น้ำยางสด (DRC100%) 57 บาทต่อกิโลกรัม และยางก้อนถ้วย (DRC50%) 23 บาทต่อกิโลกรัม โดยราคากลางจะกำหนดโดยคณะกรรมการกำหนดราคากลางอ้างอิง ประกาศทุก 2 เดือน และจะดำเนินการจ่ายเงินประกันรายได้ให้ผู้เข้าร่วมโครงการ 2 เดือนต่อ 1 ครั้ง โดยให้ ธ.ก.ส. เป็นผู้ดำเนินการโอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกรชาวสวนยางโดยตรง โดยจะเร่งจ่ายเงินให้เกษตรกรชาวสวนยางที่ได้รับสิทธิ์ รอบแรกในวันที่ 1-15 พฤศจิกายนนี้ งบประมาณในโครงการรวมทั้งสิ้น 24,278,626,534 บาท

            นอกจากนี้ที่ประชุมยังมีมติเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาดำเนินการโครงการเดิมเพิ่มเติมและขยายวงเงินสินเชื่อเพิ่มเติมบางโครงการ  ได้แก่ 1. โครงการสนับสนุนสินเชื่อผู้ประกอบการผลิตผลิตภัณฑ์ยาง เพื่อใช้ในการขยายกำลังการผลิต/ปรับเปลี่ยนเครื่องจักรการผลิต ณ ที่ตั้งเดิม หรือที่ตั้งใหม่ให้แก่ผู้ประกอบการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางขั้นปลายน้ำ มุ่งเน้นการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางขั้นปลายน้ำที่มีมูลค่าสูง เช่น ถุงมือยาง ยางยืด ยางล้อ ยางที่ใช้ในงานวิศวกรรม ฯลฯ ให้มีความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น โดยที่รัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยให้แก่ผู้ประกอบการร้อยละ 3 ตลอดระยะเวลา 10 ปี ตั้งแต่ปี 2559–2569 ประชุมเห็นชอบปรับวงเงินสินเชื่อเพิ่มเติมอีก 10,000 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้มีปริมาณการใช้ยางในประเทศเพิ่มมากขึ้น จากเดิม 60,000 ตันต่อปี เป็น 100,000 ตันต่อปี

                2.โครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบกิจการยาง (ยางแห้ง) วงเงินสินเชื่อ 20,000 ล้านบาท เห็นชอบขยายระยะเวลาดำเนินการโครงการตั้งแต่เดือนมกราคม 2563-ธันวาคม 2564 (ระยะเวลาในการอนุมัติวงเงินสินเชื่อที่เข้าโครงการจนสิ้นสุดระยะเวลาการชดเชยดอกเบี้ยตามโครงการ 1 ปี แต่ไม่เกินเดือนธันวาคม 2563) 3.โครงการสนับสนุนสินเชื่อเงินทุนหมุนเวียนแก่สถาบันเกษตรกรเพื่อรวบรวมยาง วงเงิน 10,000 ล้านบาท เพื่อเป็นเงินหมุนเวียนในการรวบรวมยางจากเกษตรกร ขยายเวลาเพิ่มอีก 4 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2563-31 มีนาคม 2567 ระยะเวลาจ่ายเงินกู้เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2563-31 ธันวาคม 2566 และกำหนดระยะเวลาชำระคืนเงินกู้เป็นคราวๆ คราวละไม่เกิน 12 เดือนนับแต่วันที่กู้ แต่ต้องไม่เกินวันที่ 31 มีนาคม 2567

               และ 4.โครงการส่งเสริมการใช้ยางของหน่วยงานภาครัฐ ที่ประชุมเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาดำเนินโครงการต่อไปจนถึงเดือนกันยายน 2565 เพื่อผลักดันการเพิ่มปริมาณการใช้ยางพาราในการแปรรูปยางพาราเป็นผลิตภัณฑ์หรือที่ใช้เป็นส่วนผสมต่างๆ ใช้ในประเทศ ลดการพึ่งพาการส่งออก ช่วยลดผลกระทบจากความผันผวนของราคายางพาราและบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรชาวสวนยาง 

              อุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานสภาเครือข่ายยางและสถาบันเกษตรกรยางพาราแห่งประเทศไทย (สยยท.) เผยกับ “คม ชัด ลึก” ถึงภาพรวมราคายางพาราตกต่ำอยู่ในขณะนี้ว่าส่วนหนึ่งอยู่ที่การบริหารจัดการของรัฐบาล ไม่ใช่อ้างแต่ตลาดโลกอย่างเดียว กล่าวคือรัฐบาลมีส่วนเกี่ยวข้องในฐานะดูแลหน่วยรับผิดชอบเรื่องยางก็คือ กยท. โดยพูดเสมอว่าภายในองค์กรยังไม่นิ่งแล้วจะไปทำให้เกษตรกรอยู่ได้อย่างไร 

              “ผมพูดมาตลอดระยะเวลา 4 ปีตั้งแต่มีพ.ร.บ.การยางออกมาเราเปลี่ยนผู้ว่าถึง 7 คน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ท่านต้องจับประเด็นนี้ก่อน ต้องดูว่าคนที่จะเข้าไปทำมีความรอบรู้เรื่องยางแค่ไหน เพื่อจะแก้ไขปัญหาเรื่องต่างๆ ยุคนี้ไม่ใช่ยุคสมัยเก่าเมื่อ 20-30 ปีที่แล้วคนละเรื่องกัน”

  จาก"ประกันรายได้"สู่"ปลูกพืชร่วมยาง"ทางรอดเกษตรกรยั่งยืน 

              อุทัยเผยต่อว่า สมัยนี้เทคโนโลยีสูงมากใช้ 4 จี 5 จี กันแล้ว ข่าวสารถึงกันหมดทั่วโลกในไม่กี่วินาที หากมีการทำงานด้วยวิธีแบบเดิมๆ คงจะอยู่รอดยาก ฉะนั้นทุกภาคส่วนไม่ว่าผู้บริหาร ข้าราชการและเกษตรกรจะต้องร่วมมือกันโดยเฉพาะข้อมูลเรื่องยางจะต้องถูกต้องชัดเจน ซึ่งทุกวันนี้ข้อมูลของแต่ละหน่วยงานยังไม่ตรงกัน ดังนั้นการบริหารจัดการจึงเป็นไปได้ยาก  

                “ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา เฉพาะต้นทุนการผลิตของหน่วยราชการก็ยังไม่ตรงกัน ก็ไม่รู้จะฟังใคร สศก.บอกต้นทุนการผลิตยางอยู่ที่ 63.65 บาท กรมวิชาการเกษตร 63.73 บาท กยท.52 บาท  นี่ข้อมูลเมื่อสองปีที่แล้วค่าครองชีพไม่สูงขนาดนี้  ส่วนพื้นที่ปลูกยางทั่วประเทศ จิสด้าบอกว่าดูทางดาวเทียมมี 32 ล้านไร่ กรมพัฒนาที่ดินบอก 30 ล้านไร่ กยท.บอก 24 ล้านไร่ตกลงจะชื่อใครกันแน่ จะเอาไปทำยุทธศาสตร์ชาติได้อ่างไร ราคาตกต่ำ ผมไม่โทษใคร ผมโทษการบริหารจัดการของรัฐ”

                 ประธานสภา สยยท.กล่าวถึงนโยบายการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยางของรัฐบาลว่าถ้าเป็นระยะสั้นคงพอได้ แต่ระยะยาวคงไม่ไหว เพราะเป็นการเอาภาษีของประชาชนไปละเลงโดยไม่มีดอกผลกลับคืนมา แต่สิ่งที่รัฐบาลจะต้องทำควบคู่กันไปนั้น เป็นแนวคิดที่ได้เสนอมาตลอดว่าจะต้องมีการนำยางพารามาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ใช้ในประเทศให้มากที่สุดโดยไม่ต้องพึ่งพิงตลาดต่างประเทศ ส่วนเกษตรกรเองก็จะต้องไม่หวังพึ่งรายได้จากยางพารายอย่างเดียวแต่จะต้องมีรายได้จากการปลูกพืชอื่นเข้ามาเสริม จากการปลูกพืชร่วมยาง ซึ่งขณะนี้มีหลายพื้นที่เริ่มเห็นผลแล้วโดยเฉพาะเครือข่ายชาวสวนยางใน จ.ระยอง และจันทบุรี ที่ได้ไปร่วมรณรงค์ 

                 “นโยบายโค่น 4 แสนไร่ของรัฐบาลอยากให้สนับสนุนเกษตรกรคนละ 15 ไร่ทำสวนยางพอเพียง ระยะแรกเริ่มจากปลูกพืชผัก  2 ปีแล้วปลูกพืชร่วมยางแล้ว เช่นปลูกไม้โตเร็ว ปลูกไผ่รายได้ดี ขายได้ทุกส่วน ผมอยากเห็นตรงนี้และควรที่จะหาทางทำอุตสาหกรรมเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ยาง ถ้ายางถูกเราก็จะไม่กรีดเพราะมีรายได้จากอย่างอื่น สิ่งเหล่านี้จะต้องทำให้เกิดขึ้นให้ได้ อย่าไปคิดว่าจะต้องแบมือขออยู่เรื่อยไป เมื่อไหร่จะโตเสียทีถ้าเกษตรกรไม่ปลี่ยนพฤติกรรม” ประธาน สยยท.กล่าวย้ำ

               สุนทร รักษ์รงค์ โฆษกคณะอนุกรรมการปัญหาปาล์มและยางพารา พรรคประชาธิปัตย์ย้ำ ว่ารอบนี้ถ้ารัฐบาลแก้ปัญหายางพาราไม่ได้ก็จะมีปัญหาเรื่องมวลชนอย่างแน่นอนและเรื่องนี้จะต้องเป็นวาระแห่งชาติที่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจะต้องเข้ามาดูแลแก้ปัญหา ไม่ใช่ปล่อยให้หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งรับผิดชอบเพียงหน่วยงานเดียว ส่วนนโยบายประกันรายได้ขอยืนยันว่าพี่น้องชาวสวนยางชายขอบที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ก็จะต้องได้ด้วย เพราะกลุ่มคนเหล่านี้ก็จ่ายภาษีเซสกิโลกรัมละ 2 บาทเท่ากัน 

  จาก"ประกันรายได้"สู่"ปลูกพืชร่วมยาง"ทางรอดเกษตรกรยั่งยืน 

                 “ถ้าคุณไปดูดยางมาทำถนน จราจร แบริเออร์ไม่ได้ก็ต้องไม่จ่ายงบประมาณไปให้  การเอายางไปทำโน่นทำนี่มันเกิดความมั่นคงทางเศรษฐกิจมโหฬาร  ส่วนพี่น้องชาวสวนยางขายขอบ 3 แสนครัวเรือนที่ต้องจ่ายภาษีเซสวันละ 6 ล้านบาทถามว่าวันนี้เขาได้อะไร จ่ายให้กยท. กยท.ก็เอาเงินนี้เข้าสู่กองทุนพัฒนายางพาราตามมาตรา 79 ก็็หล่อเลี้ยงทุกคนเอาเงินเข้ากงสี แต่ตัวเขาไม่เคยได้รับการเยียวยาจากรัฐเลย งวดนี้ผมก็นึกไม่ออกถ้าพี่น้องเหล่านี้ไม่ได้เข้าร่วมโครงการผลมันจะเกิดอะไรขึ้นที่ประชุมของคณะกรรมาธิการก็เป็นห่วงเรื่องนี้มาก”

             สุนทรกล่าวถึงการลดความเสี่ยงในนโยบายประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยางใน 3 ประการกล่าว คือ ประการแรกมุ่งให้รัฐบาลเร่งผลักดันโครงการนิคมอุตสาหกรรมยางหรืิอโครงการรับเบอร์ซิตี้ให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมโดยเร็ว เพราะจะสามารถนำยางเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมได้ถึง 30-35% ไม่ใช่แค่ 5% อย่างที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้  ประการต่อมาต้องให้มีการตั้งบริษัทร่วมทุน โดยเอา กยท.จับมือสถาบันสหกรณ์เปิดบริษัทร่วมทุนโดยให้สถาบันเกษตรกรและสมาชิกเป็นผู้ถือหุ้นหลัก ไม่ใช่ไปร่วมทุนกับ 5 เสือการยางแล้วทำเรื่องการตลาด 

                และประการสุดท้ายการทำสวนยางยั่งยืนโดยต้องการให้มีสวนยางยั่งยืน 30% จากพื้นที่สวนยางทั้งหมดทั่วประเทศกว่า 8 ล้านไร่ ซึ่งถ้าสามารถทำสวนยางยั่งยืนได้สวนยางที่มีโฉนดก็จะเปลี่ยนจากสวนยางเชิงเดี่ยวเป็นสวนผสมผสาน  โดยพี่น้องชาวสวนยางที่อยู่ในเขตทับซ้อน 5 ล้านไร่ก็จะเอากลไกจากสวนยางเชิงเดี่ยวมาทำเป็นสวนผสมผสานเพื่อแลกสิทธิ์ที่ดินทำกินตามกฎหมาย สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือเราจะมีพื้นที่สวนยางยั่งยืน 8 ล้านไร่ที่ให้ผลผลิต 2 ล้านตัน 

        

                                                          

      

          “ถ้าสวนยางยั่งยืนในภาคเหนือก็จะปลูกกาแฟอาราบิก้า ปลูกไม้สักออมยาว 30 ปี แล้วมียางพารา ที่อีสานปลูกยางนา ภาคใต้ก็มีไม้เหรียง มีผลไม้ ท้ายที่สุดเขามีรายได้เพิ่มขึ้นตลอดทั้งปี พอคำถามว่าวันที่เขามีรายได้พอ แต่ยางถูกกดราคาเขาประกาศหยุดกรีดผมถามว่าหยุดกรีดได้ ยางหายในตลาดหายไปทันที 2 ล้านตัน  ถึงวันนั้นสวนยางยั่งยืนก็จะเป็นผู้ประกาศอธิปไตยเชิงเศรษฐกิจของชาวสวนยางทันที แต่วันนี้ถ้าประกาศว่าหยุดกรีดมีแต่คนหัวเราะ สิ่งที่เราเสนอก็คือว่าการประกันรายได้จะต้องทำควบคู่คือสวนยางยั่งยืน” โฆษกคณะอนุกรรมการปัญหาปาล์มและยางพารา พรรคประชาธิปัตย์กล่าวย้ำทิ้งท้าย 

 

 

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
-เปิด 5 พันธุ์ข้าวใหม่เฉลิมพระเกียรติ
-เปิดใจ เฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรฯกับมาตรการเยียยาเกษตรกร
-ชาวสวนยางเตรียมเฮ 60บาทต่อกิโลเป็นจริงซะที
-"เกษตรกรสวนยาง"ยิ้มราคายางแผ่นพุ่ง 60 บาท

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ