ข่าว

"อธิบดีกรมชลฯ" ปิดศูนย์แก้อุทกภัยอีสาน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"อธิบดีกรมชลฯ" ปิดศูนย์แก้อุทกภัยอีสาน ประกาศความสำเร็จทำน้ำแห้งทุกพื้นที่เสร็จทันรับปาก ปชช.ได้เข้าบ้านตามกำหนด พร้อมระดมเครื่องมือลงใต้ป้องพื้นที่เสี่ยงท่วม

 


"อธิบดีกรมชลฯ" ปิดศูนย์แก้อุทกภัยอีสาน ประกาศความสำเร็จทำน้ำแห้งทุกพื้นที่ได้เร็วเสร็จทันรับปากประชาชนได้เข้าบ้านตามกำหนด พร้อมระดมเครื่องมือลงภาคใต้ป้องพื้นที่เสี่ยงท่วม คิกออฟ 11 ต.ค.นี้ ส่วนลุ่มเจ้าพระยา เจอวิกฤติแล้ง จำกัดส่งน้ำวันละ 18 ล้านลบ.ม.ให้กินใช้ ผลักดันน้ำเค็ม พืชใช้น้ำน้อย ไม่ส่งน้ำปลูกข้าวนาปรัง 

 

          นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวในการประชุมคอนเฟอร์เรนท์กับสำนักงานชลประทาน 21 จังหวัด ว่า จะปิดศูนย์บริหารจัดการอุทกภัยลุ่มน้ำชี –มูล(ส่วนหน้า) จ.อุบลราชธานี หลังจากคลี่คลายสถานการณ์อุทกภัยจากพายุ โพดุลและคาจิกิ ได้สำเร็จตามกำหนด จากที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งการให้แก้ไขอุทกภัยโดยเร็วเพื่อลดความเสียหายของประชาชนให้น้อยที่สุด และนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรฯให้เร่งทำทุกวิธีทางเพื่อระบายน้ำออกจากพื้นที่ดึงมวลน้ำลงสู่แม่น้ำโขงให้ไวที่สุด

 

          ทำให้ปัจจุบันสถานการณ์น้ำกลับเข้าสู่ตลิ่งทุกพื้นที่และประชาชนเข้าบ้านเรือนได้ ในช่วงปลายเดือนก.ย. ซึ่งเป็นไปตามที่กรมชลฯได้คาดการณ์ไว้ จากวันที่13 ก.ย.ที่มีระดับน้ำสูงสุดที่สถานีวัดน้ำ เอ็ม7 สะพานเสรีประชาธิปไตย อ.เมืองอุบลราชธานี อัตราการไหลแม่น้ำมูล ก่อนลงสู่แม่น้ำโขง อยู่ที่ 5 พันลบ.ม.ต่อวินาที น้ำสูงจากตลิ่งฝั่ง อ.วารินชำราบ 3.7 เมตร มีปริมาณน้ำค้างทุ่งสองฝั่งแนวลุ่มน้ำชี -มูล ประมาณ1.6 พันล้านลบ.ม.ซึ่งเป็นตัวเลขปริมาณน้ำที่กรมชลฯได้ลงพื้นที่สำรวจทั้งนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ ประมวลออกมาจากพื้นที่ท่วมจริง ไม่ใช่การคูณในกระดาษทำให้ยืนยันว่าข้อมูลของศูนย์น้ำอัจฉริยะ ถูกต้องสามารถนำมาใช้วางแผนบริหารน้ำได้ทุกระดับจนนำมาการคลี่คลายอุทกภัยได้ตามแผนที่กำหนดไว้ได้ผล จึงขอให้ทุกสำนักงานชลประทาน บันทึกเหตุการณ์ครั้งนี้และทำเป็นแผนปฏิบัติการ เพื่อเป็นคู่มือสำหรับเตรียมพร้อมรับมือเชิงรุก กับสภาพอากาศแปรปรวนที่มีความรุนแรงและผันผวนมากยิ่งขึ้น 


          นายทองเปลว กล่าวอีกว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะเกิดขึ้นในช่วงทุก 50-100 ปี แต่สภาพอากาศแปรปรวนผันผวนมีการเปลี่ยนแปลงได้ทุกสัปดาห์ ทั้งแรงลมบน ลมล่าง ส่งผลข้างเคียงตามมาอีกมาก จะเห็นว่าจากอิทธิพลพายุโพดุล ที่วกกลับเข้าไทย และพายุคาจิกิ ทำฝนมาตกซ้ำพื้นที่อีสาน ส่งผลให้ฝนตกกระจายตัวภาคอีสานเกือบทุกจังหวัด แต่เกิดฝนหนาแน่นเกาะแนวจังหวัดลุ่มน้ำชี และมูล เฉลี่ย 200 มม.ขึ้นไป ส่วนจ.อุบลราชธานี มีฝนเฉลี่ย 2-300 มม. เท่ากับฝนเฉลี่ยทั้งปีของภาคอีสาน อยู่ที่ 2 พันมม. 

 

          “มาตรการรับมือพื้นที่ต่อไป ถ้ามีปริมาณฝนเกิน 200 มม. ต้องกำหนดพื้นที่ได้รับผลกระทบ พื้นที่เสี่ยงภัย กำหนดผู้รับผิดชอบชัดเจน จัดสรรเครื่องมือเตรียมความพร้อม สิ่งที่จำเป็นมากที่สุด เครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำทำให้ไหลออกจากพื้นที่เร็วขึ้น รถขุดตักสิ่งกีดขวางทางน้ำ ตรวจสอบความมั่นคงของอาคารชลประทาน อย่างเข้มข้น ปริมาณน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ ขนาดกลาง เกินกักเก็บ 80% ต้องพร่องเพื่อมีช่องว่างเพื่อรับน้ำใหม่ เน้นย้ำอย่าไปซ้ำเติมพื้นที่ด้านท้ายน้ำ แจ้งฝ่ายปกครองทุกครั้งก่อนระบายน้ำออกจากเขื่อน ดูแลพื้นที่ในเขตชลประทาน พื้นที่เกษตร ประเมินสถานการณ์ให้ถูกต้อง แม่นยำ ติดตามสื่อสาร ทุกหน่วยงานในท้องที่ เพราะต้องประเมินพื้นที่จริง ไม่ใช่สักแต่คูณตัวเลขออกมา ผมเรียนด้านนี้มาตลอดชีวิต ทุกอย่างเป็นไปตามคาดการณ์ แก้ไขอุทกภัยภาคอีสาน วันที่ 20 ก.ย.ประชาชนกลับเข้าบ้านได้ และปลายเดือนก.ย.น้ำเข้าสู่ตลิ่งทุกจุด แม้มีฝนตกมาเติม ที่ จ.อุบลราชธานี รมว.เกษตรฯได้สั่งเพิ่มจุดสูบน้ำที่บริเวณแก่งสะพือ ทำให้น้ำแห้งได้เร็วขึ้น พร้อมกับสั่งให้รีบสำรวจหลังน้ำลด เพื่อทำงบประมาณเสนอเข้ามาเยียวยาฟื้นฟูอาชีพเกษตรกร ให้เวลา 5 สัปดาห์ ช่วงนี้เข้าไปช่วยเหลือ ขัดล้างถนน โรงเรียน บ้านเรือน ฟื้นฟู ดูแล เกษตรกรผู้ประสบอุทกภัย ร่วมกับทางจังหวัด เก็บน้ำเข้าแก้มลิงไว้ใช้ฤดูแล้ง ซึ่งทุกจังหวัดประสบอุทกภัยครั้งนี้ สรุปทำเหตุการณ์เขียนเป็นคู่มือเป็นต้นแบบในการปฏิบัติงาน ผมได้เขียนคู่มือบริหารจัดการอุทกภัยปี 2554 ไว้ด้วยตนเองทั้งหมดสมัยเป็น ผอ.กองอุทกวิทยา ทำให้การถูกฟ้องร้องเมื่อปี 54 กรมชลประทานไม่แพ้ เพราะมีข้อมูลดี เราพร้อมเชิงรุกรับมือทุกสถานการณ์ มีผลงานเชิงประจักษ์ ว่ากรมชลฯทำงานเพื่อประชาชนจริงๆ” นายทองเปลว กล่าว        

 

          นายทองเปลว กล่าวว่า วันที่ 11 ต.ค.นี้ รมว.เกษตรฯให้กรมชลฯไปคิกออฟความพร้อมรับมือพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย 16จังหวัดภาคใต้ ใช้เหตุการณ์อุทกภัยภาคอีสานไปเป็นตัวอย่าง ระดมเครื่องมือ เครื่องจักรเคลื่อนย้ายไปไว้ภาคใต้ และประชุมวิเคราะห์สถานการณ์กับทุกหน่วยงาน กระทรวงมหาดไทย กระทรวงคมนาคม เตรียมการณ์ จุดไหนดินโคลนถล่ม ทั้งถนน สะพาน ที่เป็นคอขวด สร้างการรับรู้เตรียมพร้อม เต็มพิกัดเต็มรูปแบบในภาคใต้ โดย รมว.เกษตรฯ สั่งให้ทุกกรมในกระทรวงเกษตร 14 กรมร่วมประชุมด้วย ซึ่งฝนภาคใต้ เริ่มปลายเดือนต.ค. นี้โดยปริมาณฝนตกมากสูงสุด จะเป็นช่วงปลายเดือนธ.ค.-ม.ค.63 พร้อมกับดูน้ำในเขื่อนเพชรบุรี ปราณบุรี เขื่อนแก่งกระจาน มีน้ำไม่เกิน 80%

 

          สำหรับเขื่อนอุบลรัตน์ ยังมีน้ำน้อย  26% หรือ 640 ล้านลบ.ม. ปีที่แล้ว 800 ล้านลบ.ม. ซึ่งปีนี้น้อยกว่าปี58 โดยเท่ากับปี36 ที่น้ำน้อยสุด สัปดาห์หน้าเชิญทุกภาคส่วน หารือกับคณะกรรมการมีส่วนร่วมในพื้นที่ทำมาตรการจำกัดการใช้น้ำ รวมทั้งลุ่มเจ้าพระยา ขณะนี้มีน้ำใช้การได้ 4 เขื่อนใหญ่ 30 เปอร์เซ็นต์ หรือ 5.5 พันล้านลบ.ม. คาดการณ์เดือนพ.ย. จะมีปริมาณน้ำ 6.1 พันล้านลบ.ม. เริ่มต้นฤดูแล้ง เดือนพ.ย.-30 เม.ย.63 ไม่สามารถส่งน้ำให้นาปรังได้ หากจะไปเอาน้ำสำรองมาปลูกข้าว จะเสี่ยงมาก ซึ่งจะเสนอความเห็นเข้าคณะกรรมการปลูกพืชฤดูแล้ง จะพิจารณาไม่เกินวันที่ 15 ต.ค.คาดว่าจะเสนอ ครม.พิจารณามาตรการอื่นไปช่วยเหลือเกษตรกร ซึ่งสามารถนำมาตรการปี58 ที่มีกว่า 10 มาตรการมาใช้ได้ เช่น ผ่อนผันชำระหนี้ ธกส.และกระทรวงหาดไทย กรมชลฯ มีมาตรการจ้างแรงงาน ทำให้ผ่านพ้นวิกฤติแล้งที่สุดของประเทศปี 58 มาได้

 

          “จะปล่อยน้ำจาก 4 เขื่อน ภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อย ป่าสักฯวันละ 18 ล้านลบ.ม.จำกัดการใช้น้ำ ส่งให้อุปโภค บริโภค รักษาระบบนิเวศ เป็นหลักและการเกษตรต่อเนื่องที่ใช้น้ำน้อย เพราะไม่มีน้ำเพียงพอสนับสนุนปลูกข้าวนาปรังลุ่มเจ้าพระยา จะต้องจำกัดการปล่อยน้ำช่วง 9 เดือนจนกว่าฝนจะมาปีหน้า ระหว่างเดือนพ.ย.62 - ก.ค.63 รวมส่งน้ำ 5 พันล้านลบ.ม. พร้อมกับวางแผนดึงน้ำแม่กลองมาช่วยผลิตประปา 500 ล้านลบ.ม. ทั้งนี้ระหว่างทางที่ปล่อยน้ำจากเขื่อนลงสู่ลุ่มเจ้าพระยา หากมีการลักลอบสูบน้ำจะเกิดปัญหาน้ำเค็มดันเข้าระบบประปาได้ จะแจ้งกระทรวงมหาดไทย ไม่สนับสนุนค่าไฟฟ้าให้กับสถานีสูบน้ำ 343 สถานี ตลอดแนวแม่น้ำปิง แม่น้ำน่าน เหนือเขื่อนเจ้าพระยา ตั้งแต่เดือนพ.ย. ถึง 30 เม.ย.63 อย่างไรก็ตามทั่วประเทศ สามารถส่งน้ำให้ปลูกข้าวนาปรังได้ 1.6 ล้านไร่ ในพื้นที่มีปริมาณน้ำเพียงพอ เช่นลุ่มน้ำแม่กอง พื้นที่ภาคตะวันออก ภาคใต้ และภาคอีสาน ในแนวเขื่อนลำปาว ลำโดมน้อย ส่วน 22 จังหวัดลุ่มเจ้าพระยา ไม่สนับสนุน” นายทองเปลว กล่าว

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ