ข่าว

 ธนาคาร"ปูม้า"สร้างชาติ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

 ธนาคาร"ปูม้า"สร้างชาติ จากงานวิจัยสู่นโยบายรัฐ

               หากเอ่ยถึง“ธนาคารปู”ก็ต้องนึกถึงลุงจาง ฟุ้งเฟื่อง ผู้ล่วงลับ เฒ่าทะเลต้นแบบการอนุรักษ์ปูม้าแห่งอ่าวทุ่งมหา ต.ปากคลอง อ.ปะทิว จ.ชุมพร ผู้บุกเบิกธนาคารปูมาตั้งแต่ปี 2545 โดยเริ่มตั้ง “กลุ่มฟื้นฟูทรัพยากรปูม้าชุมชนเกาะเตียบ”และริเริ่ม “ธนาคารปูม้า”เพื่อกระตุ้นสำนึกและจิตวิญญาณด้วยแนวคิด “ฟื้นฟูคู่อนุรักษ์ รู้จักใช้อย่างยั่งยืน” ก่อนหน่วยงานภาครัฐและเอกชนนำมาขยายผลจนมีเครือข่ายธนาคารปูไปทั่วทั้งสองฟากฝั่งทะเลทั้งอ่างไทยและอันดามัน

 ธนาคาร"ปูม้า"สร้างชาติ

                กระทั่งสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) โดย“สุกัญญา ธีระกูรณ์เลิศ” อดีตเลขาธิการและที่ปรึกษาวช. ที่ปัจจุบันรั้งตำแหน่งประธานคณะทำงานคณะกรรมการขยายผลธนาคารปูม้าของรัฐบาล ได้นำแนวคิดนี้มาต่อยอดเมื่อครั้งนั่งในตำแหน่งผู้อำนวยการกองบริหารงานวิจัย วช. ด้วยสนับสนุนให้ทุนสนับสนุนแก่นักวิจัยในการทำโครงการวิจัยธนาคารปูม้าอย่างเป็นระบบตามหลักวิชาการเพื่อนำผลวิจัยที่ได้ไปส่งเสริมแก่ชาวบ้านที่ประกอบอาชีพประมงชายฝั่งและเป็นการเพิ่มปริมาณปูม้าในท้องทะเลหลังจากมีจำนวนลดลงอย่างน่าใจหาย

                 “วช.ให้ทุนนักวิจัยทำเรื่องธนาคารปูมาเป็น 10 ปีแล้ว พี่เป็นคนริเริ่มในสมัยที่ยังเป็นผู้อำนวยการกองบริหารงานวิจัย ตอนนั้นก็มองว่าปูม้าเป็นสัตว์เศราฐกิจที่สำคััญที่สร้างรายได้ใหักับชาวบ้านที่ประกอบอาชีพทำประมงชายฝั่ง หลังมีปริมาณลดลงอย่างรวดเร็ว หากไม่มีการวางแผนอนุรักษ์อย่างเป็นระบบ เชื่อในอนาคตปูม้าอาจจะหมดไปจากท้องทะเลไทยและไม่มีปูม้าตัวใหญ่ ๆ ให้ได้รับประทานกัน”สุกัญญาย้อนอดีตแนวคิดการส่งเสริมงานวิจัยธนาคารปูในระหว่างการประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาฝ่ายประชาสัมพันธ์ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.)ในฐานะประธานโครงการขยายผลธนาคารปูม้าตามนโยบายรัฐบาล 

                เธอเผยว่าจากนั้นรัฐบาลได้เล็งเห็นความสำคัญของแนวคิดการเพิ่มจำนวนปูม้าในท้องทะเลไทย ซึ่งเป็นอีกสัตว์เศรษฐกิจที่สำคัญ จนทำให้คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้จัดตั้งโครงการธนาคารปูม้าชุมชนเพื่อคืนปูม้าสู่ทะเลไทยเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2561เพิ่มความสมดุลจำนวนทรัพยากรปูม้าที่ลดลงไปเป็นจำนวนมากจากการถูกจับก่อนเวลาและความต้องการบริโภคที่สูง โดยมีเป้าหมายให้ได้ 500 ธนาคารภายในระยะเวลา 2 ปี

                “ความคืบหน้าล่าสุดมีธนาคารปูม้าแล้วไม่น้อยกว่า 320 ธนาคาร จากเป้าหมาย 500 ธนาคาร ทั่วประเทศ ในระยะเวลา 2 ปี โดยมีสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ หรือ วช. เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อน ร่วมด้วยกรมประมง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่นสถาบันการเงิน อย่างธนาคารออมสิน เข้ามาดูแลด้านสินเชื่อแก่ชาวประมง”

                 ประธานคณะทำงานคณะกรรมการขยายผลธนาคารปูม้ายอมรับว่า การขยายผลธนาคารปูม้า เพื่อคืนปูม้าสู่ทะเลไทย ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2561 โดยวช.ได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยงานหลักในการบูรณาการดำเนินงานขยายผลนั้นจนถึงขณะนี้ได้ผลรับเป็นที่น่าพอใจ โดยเฉพาะชาวประมงพื้นบ้านที่เริ่มรับรู้ถึงการเพิ่มขึ้นของปูม้า จากโครงการธนาคารปูม้า ซึ่งเมื่อก่อนประมงพื้นบ้านเคยจับปูม้าได้วันละ 4-5 ตัว หรือ 2 กิโลกรัมเท่านั้น แต่ปัจจุบันจับได้ถึง 10-20 กิโลกรัมต่อวัน ทำให้ชุมชนในพื้นที่สนใจและกระตือรือร้นเข้ารวมกลุ่มกับโครงการธนาคารปูม้าด้วยความสมัครใจ เพราะจะทำให้เขามีรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากการจับปูม้าขาย

                 “การดำเนินงานช่วง 1 ปีเศษที่ผ่านมา ว่า สามารถขยายผลได้กว่า 400 ชุมชนแล้ว โดยความช่วยเหลือของนักวิจัยในการให้องค์ความรู้แก่ชุมชนตามที่ต้องการ จากการสนับสนุนของ วช. คาดว่าการขยายผลจะเกินเป้าหมาย 500 ชุมชน จากการเก็บข้อมูลเบื้องต้นช่วง 5 เดือนแรกปีนี้ มีปูม้าเพิ่มขึ้นถึง 2,000 ตัน ขณะนี้อยู่ระหว่างเก็บข้อมูลทั้งหมด”สุกัญญากล่าว

                 เจริญ โต๊ะอีแต หรือบังมุ ประธานกลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำชายฝั่งบ้านในทุ่ง ม.5 ต.ท่าศาลา อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช หัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในการรวมกลุ่มจัดตั้งธนาคารปูม้าในแถบชายฝั่งทะเลอ่าวไทยในจ.สุราษฎร์ธานีและนครศรีธรรมราช ซึ่งปัจจุบันมีธนาคารปูม้าไม่ต่ำกว่า 30 ชุมชนที่ประสบความสำเร็จ โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณและงานวิจัยจากวช.และนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์และหน่วยราชการในพื้นทีมาช่วยดูแลให้คำแนะนำต่าง ๆ

 ธนาคาร"ปูม้า"สร้างชาติ

                “ปัญหาตอนนี้ก็คือ ธนาคารปูม้าบางกลุ่มก็ไม่ดำเนินการต่อหลังหมดโครงการ ทำให้ไม่มีความต่อเนื่อง จึึงอยากให้หน่วยงานที่เคยเข้ามาดูแลช่วยขับเคลื่อนโครงการต่อไปเพื่อความยั่งยืน เพราะบางกลุ่มยังไม่มีความเข้มแข็งพอ”บังมุเผยกับ“คมชัดลึก”

               นอกจากนี้บังมุยังได้ปลูกสร้างจิตสำนึกแก่เด็กเยาวชนลูกหลานชาวประมงชายฝั่งให้ช่วยกันอนุรักษ์รู้จักหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติชายฝั่งทะเลและร่วมสานต่อธนาคารปูม้าด้วย โดยปัจจุบันทางสมาชิกกลุ่มได้พยายามพาเด็ก ๆ ออกทะเลเพื่อจะได้เรียนรู้ไปด้วยกัน

                อย่างไรก็ตามธนาคารปูม้านับเป็นอีกแนวทางที่จะทำให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็ง ช่วยสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้คนในพื้นที่ เนื่องจากปริมาณปูม้าที่มากขึ้น ทำให้เกิดอาชีพต่าง ๆ เช่น คนแกะปู คนมัดปู เป็นต้น และยังสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้กับท้องทะเล นอกจากนี้วช.ยังมีแนวคิด เรื่องการท่องเที่ยวในพื้นที่ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ จากกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การปล่อยปู เก็บขยะ กินปู เป็นต้น

                 ทั้งนี้เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ถึงความสำเร็จของโครงการขยายผลธนาคารปูม้า เพื่อคืนปูม้าสู่ทะเลไทยตามนโยบายวิจัยแบบมุ่งเป้า เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันสถาปนาครบรอบ 60ปีของ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.)ในวันที่ 28 ตุลาคม 2562 นี้ จึงได้เตรียมจัดโครงการ “ปูม้าบุกกรุง” เพื่อให้ผู้บริโภคในเมือง อย่าง กรุงเทพมหานคร มีโอกาสกินปูม้าสด ๆ โดยไม่ต้องไปถึงพื้นที่ รวมทั้งได้เลือกซื้ออาหารแปรรูปและผลิตภัณฑ์ต่างๆ จากปูม้าของชุมชนต่าง ๆ ที่ได้รับการสนับสนุนจากโครงการวิจัย คาดว่าจะจัดขึ้นช่วงปลายกันยายน หรือต้นตุลาคมนี้ ณ ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ พร้อมทั้งจะเชิญดารานักแสดงร่วมงาน และจัดเวทีให้ชาวประมงพื้นบ้านได้ถ่ายทอดถึงผลสำเร็จจากธนาคารปูม้าอีกด้วย 

 กว่าจะมาเป็นธนาคารปูม้า

             จากมติคณะรัฐมนตรีเมื่ออังคารที่ 6 มีนาคม 2561 เห็นชอบการขยายผลธนาคารปูม้าเพื่อ“คืนปูม้าสู่ทะเลไทย” ไปสู่ชุมชนอื่น ๆ อย่างรวดเร็วในชุมชนชายฝั่ง จำนวน 500 ชุมชน ในระยะเวลา 2 ปี ตามที่สำนักนายกรัฐมนตรีเสนอ โดยให้สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.)ในชณะนั้น เป็นหน่วยงานบูรณาการหลักและหน่วยงานต่าง ๆ ร่วมดำเนินการ ดังนี้

             1.ให้วช.ขยายผลการพัฒนาธนาคารปูม้า โดยนำองค์ความรู้ด้านการวิจัยและนวัตกรรมที่มีอยู่ พร้อมทั้งให้มีการทำวิจัยเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มอัตราการรอดของลูกปูม้า การอนุบาลแม่ปูไข่นอกกระดอง และลูกปูม้าวัยอ่อน วิจัยแหล่งที่อยู่อาศัยของลูกปูม้าวัยอ่อน วิจัยช่วงระยะเวลาที่เหมาะสมในการปล่อยลูกปูม้าคืนสู่ทะเล วิจัยเรื่องการขนย้ายลูกปูม้าลงทะเล

             2.กรมประมง ออกแบบและกำหนดวิธีการบริหารจัดการการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรปูม้าโดยชุมชนมีส่วนร่วม มีมาตรการส่งเสริมการฝากแม่ปูม้าไข่นอกกระดองกับธนาคารปูม้าและการส่งเสริมให้ปูม้าไทยสู่ตลาดโลกโดยผ่านการประเมินตามเกณฑ์มาตรฐานสากล

             3.กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเห็นชอบพื้นที่ที่จะใช้มาตรการอนุรักษ์ การฟื้นฟู และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

             4.ธนาคารออมสิน สนับสนุนเงินทุน (สินเชื่อ) ให้ชุมชนเพื่อเริ่มทำและดำเนินการธนาคารปูม้าและการอนุบาลลูกปูม้าชายฝั่งชุมชนละประมาณ 150,000 – 200,000 บาท เพื่อเป็นเงินทุนในการจัดระบบธนาคารปูม้า การสนับสนุนโรงเรือนและเซลล์แสงอาทิตย์ และเงินทุนหมุนเวียนการดำเนินการ

             5.บริษัทประชารัฐรักสามัคคีในพื้นที่ชายฝั่งทะเล ช่วยสนับสนุนด้านการตลาดและการประชาสัมพันธ์

              6. บริษัทไปรษณีย์ไทย บริการนำปูม้าจากชุมชนที่มีธนาคารปูม้าไปเป็นสินค้าแนะนำที่สามารถซื้อขายได้

               7. กระทรวงพาณิชย์ สนับสนุนการขยายตลาดทั้งในและต่างประเทศทั้งในช่องทางปกติและช่องทางออนไลน์

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ