ข่าว

กรมส่งเสริมการเกษตรแนะวิธีดูแลและฟื้นฟูพืชหลังประสบอุทกภัย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

กรมส่งเสริมการเกษตรแนะวิธีดูแลและฟื้นฟูพืชหลังประสบอุทกภัย

            กรมส่งเสริมการเกษตรแนะเกษตรกรดูแลฟื้นฟูพืชหลังประสบภัยน้ำท่วมจากพายุ “โพดุล” และ “คาจิกิ” พร้อมแจงหลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยตามพื้นที่เสียหายจริง รายละไม่เกิน 30 ไร่

กรมส่งเสริมการเกษตรแนะวิธีดูแลและฟื้นฟูพืชหลังประสบอุทกภัย
 

             นางกุลฤดี พัฒนะอิ่ม รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า จากอิทธิพลของพายุโซนร้อน “โพดุล”และดีเปรสชั่น “คาจิกิ” กรมส่งเสริมการเกษตรได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบความเสียหายของพื้นที่การเกษตรหลังน้ำลดทันที พร้อมแนะนำให้เกษตรกรดูแลข้าว ไม้ผล ไม้ยืนต้น ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจหลักสำคัญ โดยเฉพาะบางพื้นที่มีพืชต้องเร่งเก็บเกี่ยวเพื่อหนีน้ำ ดังนี้
             ข้าว ในกรณีที่น้ำท่วมขังไม่นาน น้ำสูงไม่ถึงยอดข้าว และต้นข้าวยังไม่ตาย ให้รีบระบายน้ำออกจากแปลงนาให้เหลือ 5 – 10 เซนติเมตร และให้ฟื้นฟูข้าวหลังจากน้ำลด โดยที่ต้นข้าวยังเขียวอยู่เกิน 3 วัน หากต้นข้าวในนามี สีเขียวมากขึ้นไม่ต้องใส่ปุ๋ย ให้ดูแลโรคและแมลงอย่าให้รบกวนเท่านั้น แต่หากต้นข้าวในนาเริ่มมีอาการสีเหลืองที่ใบ ให้ใส่ปุ๋ยยูเรีย อัตรา 3 – 5 กิโลกรัมต่อไร่ เพื่อฟื้นฟูสภาพต้นข้าว (ไม่ควรใส่ปุ๋ยยูเรียมากเกินคำแนะนำ เพราะจะทำให้ต้นข้าวเกิดโรคได้) สำหรับแปลงนาที่ข้าวออกรวง ให้ระบายน้ำจนแห้งและห้ามใส่ปุ๋ยเพราะจะทำให้ดินร้อน และต้นข้าวตายง่ายขึ้น ในกรณีที่เกษตรกรเก็บเกี่ยวข้าวระยะสุกเต็มที่เพื่อหนีน้ำ ให้นำข้าวที่เก็บเกี่ยวไปตากเพื่อลดความชื้นโดยเร็ว สำหรับแปลงข้าวที่ตายเสียหายโดยสิ้นเชิง ให้เกษตรกรติดต่อขอรับการช่วยเหลือตามระเบียบของทางราชการที่สำนักงานเกษตรอำเภอ ตามที่ได้ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวไว้
                ไม้ผล ไม้ยืนต้น หลังน้ำท่วมใหม่ ๆ ขณะที่ดินยังเปียกอยู่ ห้ามนำเครื่องจักรกลหนักเข้าไปในพื้นที่ และห้ามบุคคล รวมทั้งสัตว์เข้าไปเหยียบย่ำบริเวณโคนต้นพืชโดยเด็ดขาด เพราะต้นที่ถูกน้ำท่วมขังจะมีโครงสร้างง่ายต่อการถูกทำลาย และเกิดการอัดแน่นได้ง่าย ซึ่งเป็นผลเสียต่อการไหลซึมของน้ำ รวมทั้งจะกระทบกระเทือนต่อระบบรากของพืช ทำให้ต้นไม้ทรุดโทรมและอาจตายได้ ดังนั้น เพื่อช่วยให้ต้นพืชตั้งตัวเร็วขึ้น ควรมีการพ่นปุ๋ยทางใบให้แก่พืช เพราะในระยะนี้ระบบรากของพืชยังไม่สามารถดูดกินธาตุอาหารพืชจากดินได้ตามปกติ ปุ๋ยทางใบอาจใช้ปุ๋ยน้ำสูตร 12 – 12 – 12 หรือ 12 – 9 – 6  หรือจะใช้ปุ๋ยเกล็ดสูตร 21 – 21 – 21 และ 16 – 21 – 27 ละลายน้ำพ่นให้แก่พืชก็ได้ นอกจากนี้ สามารถเตรียมปุ๋ยทางใบที่มีส่วนผสมของน้ำตาลเด็กซ์โตรส 600 กรัม ฮิวมิคแอซิด 20 ซีซี ปุ๋ยเกล็ดสูตร 15 – 30 – 15 จำนวน 20 กรัม ผสมสารดังกล่าวในน้ำ 20 ลิตร เติมสารจับใบลงไปเล็กน้อย และอาจใส่สารป้องกันกำจัดโรคและแมลงตามความจำเป็น และพ่นสัก 2 – 3 ครั้ง
 สำหรับในพื้นที่ที่ประสบอุทกภัย เมื่อน้ำลดแล้ว และต้องการจะปลูกพืชใหม่ อาจทำได้ 2 วิธี คือ

 

     1. ปลูกแบบไถพรวนน้อยครั้ง โดยใช้เครื่องมือที่มีน้ำหนักเบา และกระทำหลังจากที่ดินเริ่มแห้งเป็นการกำจัดวัชพืชไปด้วยในตัว ลดการรบกวนดิน และ                 2. ปลูกแบบไม่ไถพรวน วิธีนี้เหมาะสำหรับพื้นที่ที่ยังเปียกชื้นอยู่
 รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในครั้งนี้ หากมีพื้นที่ทำการเพาะปลูกซึ่งเสียหายโดยสิ้นเชิง จะมีการให้ความช่วยเหลือตามจำนวนพื้นที่เพาะปลูกที่เสียหายจริง รายละไม่เกิน 30 ไร่ ได้แก่ ข้าว อัตราไร่ละ 1,113 บาท พืชไร่ อัตราไร่ละ 1,148 บาท พืชสวนและอื่น ๆ อัตรา ไร่ละ 1,690 บาท ทั้งนี้ เมื่อเกิดภัยพิบัติและผู้ว่าราชการจังหวัดประกาศเขตพื้นที่การให้ความช่วยเหลือฯ เกษตรกรต้องยื่นแบบความจำนงขอรับการช่วยเหลือ (กษ 01) โดยให้ผู้นำท้องถิ่นรับรอง ก่อนจะมีการตรวจสอบทะเบียนเกษตรกร และพื้นที่เสียหายจริง เพื่อพิจารณาให้ความช่วยเหลือตามขั้นตอนต่อไป หากมีข้อสงสัยสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอและสำนักงานเกษตรจังหวัดใกล้บ้าน
 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ