ข่าว

ปลูกพืชท้องถิ่นบนดินเค็ม อนุรักษ์ให้คนรุ่นหลัง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ปราชญ์ชาวบ้านเมืองกาฬสินธุ์ ปลูกพืชท้องถิ่นบนพื้นที่ดินเค็ม อนุรักษ์ให้คนรุ่นหลัง

 
9 กันยายน 2562 นายขุนเพชร ศรีกุตา ปราชญ์ชาวบ้าน จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า แต่เดิมพื้นที่บ้านโพนสิม ตำบลหัวนาคำ อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ ชาวบ้านประสบปัญหาดินเค็มมาก  

 

ทั้งนี้คือทำนาหนึ่งไร่ได้ข้าวไม่ถึง 50 กิโลกรัม ทำไปก็ไม่ได้เก็บเกี่ยว หรือจะปลูกพืชอื่นก็ไม่ได้ผลแม้กระทั่งหญ้ายังไม่กล้าขึ้น จนต้องปล่อยพื้นที่ทิ้งร้างกว่า 1,000 ไร่  แล้วไปหางานทำอย่างอื่นแทน แต่พอกรมพัฒนาที่ดิน สถานีพัฒนาที่ดินกาฬสินธุ์ มาทำโครงการพัฒนาพื้นที่ดินเค็ม ในปี 2557 มาช่วยไถปรับรูปคันนาใหม่ให้สม่ำเสมอ ปั้นคันนาให้มีขนาดใหญ่สามารถกักเก็บน้ำได้ดีขึ้น

 

พร้อมกับส่งเสริมให้ปลูกโสนอัฟริกัน ใส่ปุ๋ยคอก แกลบสด เพื่อปรับปรุงบำรุงดิน ส่วนบนคันนาให้ปลูกกระถินออสเตรเลีย (อะคาเซีย) ช่วยดูดซับน้ำเค็มไม่ให้ขึ้นมาบนผิวดิน

 

 

ปลูกพืชท้องถิ่นบนดินเค็ม อนุรักษ์ให้คนรุ่นหลัง

 

 

ตนเป็นคนหนึ่งที่เข้าร่วมโครงการพัฒนาพื้นที่ดินเค็ม โดยมีพื้นที่ทั้งหมด 24 ไร่ ได้นำมาเข้าร่วมโครงการประมาณ 10 ไร่ ได้รับการสนับสนุนในการปรับคันนาและฟื้นฟูดิน แล้วได้ทดลองดำนาดู ในปีแรกยังไม่ค่อยเห็นผล แต่พอปีต่อมาดินเริ่มฟื้นคืนความอุดมสมบูรณ์ จนสามารถปลูกข้าวหอมมะลิ 105 และข้าวเหนียว กข 6 ได้ผลผลิตเฉลี่ย 300 กิโลกรัมต่อไร่ และข้อดีของข้าวที่ปลูกบนดินเค็มจะมีความหอมและมีคุณภาพดีกว่าพื้นที่อื่น

 

ส่วนบนคันนานอกจากปลูกอะคาเซียแล้ว ยังได้ทดลองปลูกพืชผักอีกหลายชนิด ทั้ง กล้วย มันแกว ถั่วฝักยาว พริก มะเขือ หน่อไม้ฝรั่ง ซึ่งปลูกแบบปลอดสารพิษทั้งหมด เนื่องจากสังเกตว่าพื้นที่ดินเค็มหากใช้สารเคมีแล้วจะพืชผักจะตาย ช่วยประหยัดต้นทุนและยังปลอดภัยต่อเกษตรกรและผู้บริโภค

 

ปลูกพืชท้องถิ่นบนดินเค็ม อนุรักษ์ให้คนรุ่นหลัง

 


ยังได้ร่วมมือกับอาจารย์มหาวิทยาลัยมหาสารคามในการทดลองปลูกพืชท้องถิ่นที่มีศักยภาพในพื้นที่ดินเค็ม เช่น รากสามสิบ ซึ่งเป็นพืชสมุนไพรประจำถิ่นของหมู่บ้านโพนสิม (รากสามสิบมีรสเฝื่อนเย็นเป็นยาบำรุงกำลัง แก้กระษัย ช่วยลดความดันโลหิตสูง ลดไขมันและน้ำตาลในเลือด กระตุ้นการทำงานของตับอ่อนช่วยขับเสมหะ ช่วยรักษาโรคเกี่ยวกับลำไส้ ช่วยรักษาอาการประจำเดือนผิดปกติของสตรี

 

นอกจากนี้ รากสามสิบสามารถนำมาทำสบู่ และใช้ซักเสื้อผ้า อีกทั้งยังช่วยบำรุงดิน ทำให้ดินชุ่มน้ำ) โดยอาจารย์อยากให้อนุรักษ์พืชท้องถิ่นนี้ให้คงอยู่ เพราะหาไม่ได้จากแหล่งอื่น ซึ่งขณะนี้ได้ทดลองปลูกรากสามสิบบนคันนา เน้นปลูกเพื่อการอนุรักษ์ให้รุ่นลูกหลานได้รู้จักพืชประจำถิ่นของตัวเอง 

 

 

ปลูกพืชท้องถิ่นบนดินเค็ม อนุรักษ์ให้คนรุ่นหลัง

 


หลังการปรับนาร้างสู่นาดี มีพืชผลบนคันนา ทำให้มีรายได้จากการขายข้าว และมีรายได้เสริมจากการขายพืชผักบนคันนา อย่างน้อยวันละ 100-200 บาท ซึ่งตลาดไม่ต้องไปหาที่ไหนไกล ในหมู่บ้านมี 500 หลังคาเรือน ขายผักให้คนในหมู่บ้านก็แทบไม่พอแล้ว ตอนนี้ชาวบ้านตื่นตัวกันมากขึ้น พอเห็นคนที่เข้าร่วมโครงการประสบความสำเร็จจึงอยากเข้าร่วมโครงการบ้าง บางส่วนก็ไปปลูกผักบนคันนาตามบ้าง คนนั้นปลูกอย่างอีกคนปลูกอีกอย่าง สามารถนำมาแลกเปลี่ยนซื้อขายกันในหมู่บ้านเท่านี้ก็อยู่ได้แล้วตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง 

 

ผมในฐานะปราชญ์ชาวบ้านและเป็นหมอดินอาสา มุ่งมั่นที่จะทำเป็นตัวอย่างให้กับชาวบ้าน โดยจะพัฒนาพื้นที่ดินเค็มที่เหลืออีกกว่า 14 ไร่ ทำตามหลักการพัฒนาที่ดินที่ทางสถานีพัฒนาที่ดินกาฬสินธุ์ได้แนะนำไว้ ตอนนี้ปลูกโสนอัฟริกันปรับปรุงดินไปก่อน ถ้าดินดีขึ้นถึงจะเริ่มปลูกข้าว ปลูกผักบนคันนา เราต้องทำเป็นตัวอย่าง หากเราทำได้จะไปแนะนำคนอื่นเขาก็จะเชื่อมั่นแล้วนำไปทำตามเพื่อให้เกิดประโยชน์กับคนในชุมชนต่อไป

 

 

ปลูกพืชท้องถิ่นบนดินเค็ม อนุรักษ์ให้คนรุ่นหลัง

 

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ