ข่าว

  อานิสงส์"อ่างเก็บน้ำห้วยน้ำรี"สู่การสร้างรายได้ชุมชนท่าปลา

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

  อานิสงส์"อ่างเก็บน้ำห้วยน้ำรี"สู่การสร้างรายได้ชุมชนท่าปลา          

         จากเสียงเล็กๆ ของราษฎรที่อยู่ท้ายเขื่อนสิริกิติ์ใน อ.ท่าปลา จ.อุตรดิตถ์ เมื่อ 20 ปีที่แล้ว ที่ดังไปถึงพระเนตรพระกรรณ จนก่อให้เกิดโครงการขนาดใหญ่อ่างเก็บน้ำห้วยน้ำรีอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งใกล้แล้วเสร็จในปี 2564 ที่จะถึงนี้ นำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของชุมชนท่าปลารวมถึงชาวอุตรดิตถ์ถ้วนหน้า

  อานิสงส์"อ่างเก็บน้ำห้วยน้ำรี"สู่การสร้างรายได้ชุมชนท่าปลา

             ปี 2548 พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำรี พร้อมระบบผันน้ำ ระบบส่งน้ำและอาคารประกอบไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตามหนังสือของสำนักราชเลขาธิการ ลงวันที่ 29 กันยายน 2548 เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรและอุปโภคบริโภคของราษฎรที่อพยพจากบริเวณพื้นที่ถูกน้ำท่วมเหนือเขื่อนสิริกิติ์ อ.ท่าปลา จ.อุตรดิตถ์

            เฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เล่าถึงโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำรีในพระราชดำริว่า กรมชลประทานได้เข้ามาดำเนินการก่อสร้างตั้งแต่ปี 2555 โดยผ่านกระบวนการจัดการแก้ไขเรื่องสิ่งแวดล้อม EIA มาโดยตลอด คือการขอใช้พื้นที่ลุ่มนี้ชั้น 1 A การขอใช้พื้นที่ป่าสงวน การขอความร่วมมือจากพี่น้องประชาชนในพื้นที่ วันนี้โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำรีอันเนื่องมาจากพระราชดำริแล้วเสร็จกว่า 50% แล้ว สามารถกักเก็บน้ำได้แล้ว 2 ล้านลูกบาศก์เมตร จากความจุทั้งสิ้น 73 ล้านลูกบาศก์เมตร สามารถปล่อยน้ำให้ราษฎรใช้บรรเทาภัยแล้งไปได้แล้วกว่า 200,000 ลูกบาศก์เมตร

             “เราทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชนว่าวันข้างหน้าเมื่อโครงการเราสร้างเสร็จแล้วความอุดมสมบูรณ์จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน พี่น้องที่อยู่ท้ายเขื่อนสิริกิติ์ซึ่งได้รับความเดือดจากปัญหาภัยแล้งมาตั้งแต่ปี 2526 เราจะเข้าไปวางระบบท่อส่งน้ำให้ใหม่ ทดแทนท่อเก่าที่ชำรุดทรุดโทรม จึงมั่นใจว่าตรงนี้จะมีน้ำอุดมสมบูรณ์อย่างแน่นอน” เฉลิมเกียรติ ยังกล่าวอีกว่า เมื่อโครงการนี้แล้วเสร็จจะสร้าง “ความมั่นคงด้านน้ำ” ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” อย่างแน่นอน

             นอกจากสร้างความมั่นคงด้านน้ำแล้วสิ่งสำคัญคือการสร้างความมั่นคงทางด้านรายได้ให้แก่ชุมชน โดยการสร้างงานสร้างอาชีพให้ชุมชนที่ได้รับผลกระทบรวมถึงการปรับภูมิทัศน์บริเวณอ่างเก็บน้ำให้สวยงามเพื่อให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ สร้างทางเดินหรือสกายวอล์ก จุดชมวิว ร้านอาหาร ร้านกาแฟ ร้านขายสินค้าและของที่ระลึกเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวและสร้างรายได้ให้ชุมชนต่อไป “อ่างเก็บน้ำห้วยน้ำรีเป็นสมบัติให้พี่น้องชาวอุตรดิตถ์ทุกคน นักท่องเที่ยวก็จะมีสถานที่ท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ มีเขื่อนที่สวยงาม มีเส้นทางให้มาออกกำลังกาย ปั่นจักรยาน วิ่ง ทำกิจกรรมต่างๆ นี่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้น ผมคิดว่าเราไม่ได้สร้างเฉพาะเขื่อน เราต้องสร้างสิ่งต่างๆ ให้ประเทศด้วย” นายเฉลิมเกียรติกล่าวทิ้งท้ายถึงสิ่งที่ชาวท่าปลาจะได้รับจากโครงการนี้

              วันนี้นอกจากเราจะได้เห็นความคืบหน้าของโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำรีและชมทัศนียภาพที่สวยงามรอบบริเวณอ่างแล้ว เรายังมีโอกาสได้พูดคุยกับผู้นำชุมชน ผู้ใหญ่บ้านและประธานกลุ่มต่างๆ ซึ่งทุกคนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าโครงการนี้ได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขาในทางที่ดีขึ้น หลังจากที่ผ่านความยากลำบากมากว่า 20 ปี 

 

 ชุมชนบ้านกิ่วเคียน 

บ้านกิ่วเคียน ต.จริม อ.ท่าปลา จ.อุตรดิตถ์ ได้รับการส่งเสริมการแปรรูปเม็ดมะม่วงหิมพานต์ของกลุ่มอาชีพ “กลุ่มเศรษฐกิจพอเพียงบ้านกิ่วเคียน” โดยสนับสนุนการแปรรูปเม็ดมะม่วงหิมพานต์จนได้รับการรับรองมาตรฐานอาหารและยา (อย.) และออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่สวยงามภายใต้แบรนด์ “ห้วยน้ำรี” รวมถึงจัดหาตลาดให้หลายแห่ง เช่น ร้านภูฟ้าน่าน ร้านภูฟ้ากรุงเทพ ฯ กฟผ.เขื่อนสิริกิติ์ หน่วยงานราชการในพื้นที่และภาคเอกชน เป็นต้น

 พิสมัย หารโสภา ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านกิ่วเคียนเล่าให้ฟังว่ากลุ่มเราทำเม็ดมะม่วงหิมพานต์ส่งขายในโครงการสมเด็จพระเทพฯ มาตั้งแต่ปี 2549 

พิสมัยบอกว่าช่วงแรกอาจารย์จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเข้ามาส่งเสริมอาชีพให้ทำเม็ดมะม่วงหิมพานต์อบเกลือก่อน ต่อมาปี 2557 ก็ส่งเสริมให้ทำเพิ่มเป็น 6 รส คือ อบเกลือ ต้มยำ บาร์บีคิว ปาปริก้า สาหร่าย นมเนย และการออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้ นอกจากนี้ยังได้รับการส่งเสริมการเพาะเห็ดนางฟ้า การจัดทำไม้กวาดดอกตอกกง การจักสานตะกร้าทางมะพร้าว โดยสนับสนุนองค์ความรู้ ปัจจัยการผลิตและสร้างความเข้มแข็งในกลุ่มและจัดหาตลาดได้หลายแห่ง

ชุมชนบ้านทรายงาม 

บ้านทรายงาม ต.น้ำหมัน อ.ท่าปลา จ.อุตรดิตถ์ เป็นชุมชนท่องเที่ยวโอท็อปนวัตวิถี ที่มีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติสวยงามคือแก่งทรายงาม และกิจกรรมล่องแพที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามาในชุมชนและยังเป็นหมู่บ้านสมุนไพรอินทรีย์มีชื่อเสียง โดยเฉพาะ “ข่าป่า” สินค้าส่งออกที่สร้างรายได้ให้ชุมชนมาเนิ่นนาน

สุทธนนท์ คำพัฒน์ ผู้ใหญ่บ้านบ้านทรายงาม เล่าถึงผลกระทบจากการสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำรี ว่าหมู่บ้านนี้สูญเสียพื้นที่ทำกินไปบางส่วน แต่สิ่งที่ได้รับคือการช่วยเหลือเยียวยาจากทางกรมชลประทาน เช่น ส่งเสริมการแปรรูปน้ำพริกข่าป่า เมื่อก่อนชาวบ้านก็ทำกินกันเอง พัฒนาชุมชนเข้ามาสนับสนุนเรื่องงบประมาณและต่อยอดผลิตภัณฑ์เป็นน้ำพริกข่าป่า น้ำพริกปลาย่าง น้ำพริกกากหมู น้ำพริกแมงดา น้ำพริกแกงเผ็ด

นางตลับ สนใบ ประธานกลุ่มน้ำพริก กล่าวเสริมว่า น้ำพริกข่าป่าของชุมชนบ้านทรายงามต่างจากที่อื่นเพราะใช้วัตถุดิบในชุมชนซึ่งเป็นอินทรีย์ทั้งหมด ข่าอินทรีย์ของที่นี่เป็นสมุนไพรที่มีชื่อเสียง ส่งออกปีละหลายพันตัน 

นอกจากน้ำพริกข่าป่าแล้ว บ้านทรายงามยังได้รับการส่งเสริม การแปรรูปกล้วยน้ำว้า การเพาะเห็ดนางฟ้าของกลุ่มวนเกษตรบ้านทรายงาม และผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น ไม้กวาดถักและเครื่องจักสานที่สร้างรายได้ให้ชุมชน

ชุมชนบ้านน้ำต๊ะ

บ้านน้ำต๊ะ  ต.น้ำหมัน อ.ท่าปลา จ.อุตรดิตถ์ ได้รับการเยียวยาจากภาครัฐและส่งเสริมการแปรรูปข่า โดยพัฒนาชุมชนได้เข้ามาช่วยพัฒนาอุปกรณ์หั่นข่า ทำให้บ้านน้ำต๊ะเป็นแหล่งผลิตข่าตากแห้งที่ใหญ่ที่สุด 

“แรกเริ่มเราส่งข่าดิบให้หมู่บ้านทรายงามก่อน ตอนหลังเขามีความต้องการทำข่าตากแห้งเพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ เพราะถ้าขายข่าดิบได้กิโลกรัมละ 7-10 บาท แต่ถ้าขายข่าตากแห้งได้กิโลกรัมละ 35-50 บาท ชาวบ้านจึงช่วยกันคิดค้นอุปกรณ์หั่นข่าขึ้นเพราะข่าป่ามีความแข็งกว่าข่าบ้าน มีดธรรมดาหั่นไม่ได้ อุปกรณ์ตัวนี้จะช่วยทำให้หั่นข่าได้เร็วขึ้น แผ่นเรียบ สม่ำเสมอ หลังจากนั้นนำไปตากแห้ง บรรจุหีบห่อ ส่งเข้าโรงงานเพื่อนำไปทำเครื่องปรุงต่อไป ด้วยความช่วยเหลือจากส่วนราชการที่เข้ามาส่งเสริมการแปรรูปข่าทำให้สามารถผลิตข่าตากแห้งได้เร็วขึ้น และสร้างรายได้ให้ชุมชนมากขึ้น

บ้านสีเสียด

บ้านสีเสียด  ต.จริม อ.ท่าปลา จ.อุตรดิตถ์ ได้รับส่งเสริมการแปรรูปกล้วยน้ำว้า (กล้วยตาก) ของกลุ่มอาชีพ “วนเกษตรและแปรรูปผลผลิตบ้านสีเสียด” โดยสนับสนุนการปลูกกล้วยน้ำว้าพันธุ์มะลิอ่อง และสนับสนุนอุปกรณ์ในการจัดทำโรงแปรรูปกล้วยตากภายใต้แบรนด์ “ห้วยน้ำรี” ปัจจุบันการผลิตกล้วยตากเพื่อจำหน่ายไม่ทันยอดการสั่งซื้อ

บ้านน้ำลี

บ้านน้ำลี  ต.น้ำหมัน อ.ท่าปลา จ.อุตรดิตถ์ ได้รับการส่งเสริมการแปรรูปกล้วยน้ำว้า (กล้วยเบรกแตก) ของกลุ่มอาชีพ “สร้างป่าสร้างรายได้ตามแนวพระราชดำริบ้านน้ำรี” โดยสนับสนุนการปลูกกล้วยน้ำว้าและพืชในระบบวนเกษตรพร้อมสนับสนุนการแปรรูปกล้วยน้ำว้ารวมทั้งผลผลิตอื่นๆ ภายใต้แบรนด์ “ห้วยน้ำรี” รวมทั้งจัดหาตลาดให้หลายแห่ง

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ