ข่าว

ประกาศิต"ธรรมนัส"ตลาดนำการเกษตร

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เปิด"ตลาดอ.ต.ก."ทุกจังหวัดทั่วไทย  ประกาศิต"ธรรมนัส"ตลาดนำการเกษตร

            ฉับไว ไม่รอช้า“ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เดินหน้าสนองนโยบาย“ตลาดนำการเกษตร”ด้วยการผนึกหน่วยงานภาครัฐ เอกชนและประชาชนเตรียมจัดตั้ง“ตลาดอ.ต.ก.”ทุกจังหวัดทั่วประเทศเพื่อรองรับสินค้าเกษตรคุณภาพของเกษตรกร โดยผ่านสถาบันเกษตรกรและกลุ่มสหกรณ์ในพื้นที่เพื่อแก้ปัญหาสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ชุมชนให้มีตลาดรองรับ

    ประกาศิต"ธรรมนัส"ตลาดนำการเกษตร

         ขณะเดียวกันจะมีการขับเคลื่อนการส่งเสริมอาชีพแก่เกษตรกรโดยจะให้แต่ละตำบลจัดตั้งสหกรณ์เป็นบริษัทจำกัด โดยนำร่องตำบลละ 1 แห่งเพื่อให้การบริหารจัดการสินค้าเกษตรเป็นไปอย่างมืออาชีพและรวดเร็วเพื่อให้ทันสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งจะเริ่มดำเนินการเร็ว ๆ นี้

ประกาศิต"ธรรมนัส"ตลาดนำการเกษตร

             "วันนี้ผมกำลังจะขับเคลื่อนตลาดอ.ต.ก. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ผมกำกับดูแลให้เกิดขึ้นทุกจังหวัด ๆ ละ 1 แห่ง โดยอ.ต.ก.จะมีหน้าที่ประสานสหกรณ์และบริษัทของท่านในแต่ละตำบลเพื่อรับซื้อพืชผลทางการเกษตร นโยบายตรงนี้จะผ่านไปทางผู้ว่าราชการจังหวัดให้มากำกับดูแลพวกท่าน รับผิดชอบกันตามขั้นตอน โดยมีธ.ก.ส.จะมารองรับในเรื่องแหล่งทุน ซึ่งขณะนี้กำลังขับเคลื่อนเมื่อเป็นรูปธรรมเมื่อไหร่ผมจะกลับมาเยือนชุมพรอีกครั้ง"

             บางช่วงบางตอนที่“ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า”รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กล่าวกับชาวบ้านหงษ์เจริญ ระหว่างลงพื้นที่เป็นประธานมอบที่ดินทำกินที่ยึดมาจากบริษัท สหไทย น้ำมันพืช จำกัดแก่ชาวบ้านจำนวน 105 ครัวเรือน ๆ ละ 5 ไร่สำหรับใช้ในการประกอบอาชีพการเกษตร ภายใต้การกำกับดูแลของสหกรณ์การเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินหงษ์เจริญ จำกัด  อ.ท่าแซะ จ.ชุมพร และเป็นจังหวัดแรกในการเดินทางมาตรวจราชการในฐานะที่รับผิดชอบหน่วยงานส.ป.ก. 

ประกาศิต"ธรรมนัส"ตลาดนำการเกษตร

          "ท่านนายกฯพลเอกประยุทธ์(จันทร์โอชา)ท่านมีความเป็นห่วงเป็นใยพี่น้องทั้ง 14 จังหวัดภาคใต้ ซึ่งถือว่าเป็นด้ามขวาน ด้ามขวานเป็นส่วนสำคัญของขวาน ขวานถ้าไม่มีด้ามสับไม่ได้นะ"

          ร.อ.ธรรมนัสยังกล่าวชื่นชมจ.ชุมพรว่าเป็นจังหวัดที่มีสภาพเศรษฐกิจค่อนข้างดี  ทุกคนจึงโชคดีที่ได้มาอยู่ชุมพร ซึ่งเป็นประตูทางผ่านสู่ดินแดนด้ามขวานทองสปก. โดยตนเองในฐานะกำกับดูแลส.ป.ก.มีนโยบายอย่างเดียวคือจะทวงคืนผืนดิน ซึ่งเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินเพื่อกลับคืนสู่เจ้าของประเทศ

        "เราไม่ได้ให้ที่ดินท่านอย่างเดียว เรายังมีหน่วยงานที่จะมาสร้างที่อยู่อาศัยให้ท่าน   มีการส่งเสริมอาชีพ สร้างรายได้ ต่อไปเราจะไปทวงคืนผืนดินผืนใหญ่ ๆ มาให้พี่น้องประชาชนได้ทำกิน ได้อยู่อาศัยกัน"

          ก่อนกลับร.อ.ธรรมนัสได้หยอดคำหวานเพื่อเอาใจคนใต้

        "ผมคุ้นเคยวัฒนธรรมทางใต้ดี  ผมเกิดที่พะเยาแต่พอ12ขวบย้ายตามพ่อไปอยู่นราธิวาสที่อ.ตากใบจนถึงปัจจุบัน ผมเป็นคนสองบ้านเหนือสุดกับใต้สุด วันนี้อยากจะเรียนพี่น้องว่ารัฐบาลมีนโยบายชัดเจนอยากจะสร้างสังคมไทยให้เป็นสังคมน่าอยู่และพี่น้องประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ดังนั้นกระดูกสันหลังของชาติจะต้องได้รับการดูแลจากภาครัฐอย่างจริงจัง"

ประกาศิต"ธรรมนัส"ตลาดนำการเกษตร

         จากนั้นผู้ว่าฯชุมพร"วิบูลย์ รัตนาภรณ์วงศ์"กล่าวรายงานสภาพเศรษฐกิจและสังคมของจ.ชุมพร โดยระบุว่าปัจจุบันจ.ชุมพรมีประชากรประมาณ 5 แสนคน  มีความเจริญทางเศรษฐกิจเป็นอันดับที่3 ของภาคใต้และอันดับที่32 ของประเทศ มีรายได้เฉลี่ยของประชากรอยู่ที่  168,000 บาทต่อคนต่อปี มีการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสำคัญจาก 3 สาขา ได้แก่ภาคการเกษตรร้อยละ45  ภาคการท่องเที่ยวร้อยละ42  ส่วนที่เหลือเป็นภาคบริการ

    ในส่วนภาคการเกษตรนั้น ผู้ว่าฯชุมพรระบุว่าอันดับแรกคือปาล์มน้ำมัน โดยจ.ชุมพรมีพื้นที่ปลูกปาล์มประมาณ 1 ล้านไร่ สร้างรายได้ประมาณ 1.2 หมื่นล้านต่อปี ถือเป็นรายได้หลักของประชาชนชาวจังหวัดชุมพร อันดับต่อมาเป็นทุเรียน ซึ่งมีพื้นที่ปลูกเป็นอันดับที่2ของประเทศ ในปี 2561 ที่ผ่านมาจ.ชุมพรมีรายได้จากทุเรียนอยู่ที่ประมาณ6.89 พันล้านบาทและอันดับสามเป็นยางพารา ซึ่งในปีที่ผ่านมาสร้างมูลค่ากว่า 5.7 พันล้านบาท

      นอกจากนั้นยังมีกาแฟเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของจังหวัด โดยเฉพาะกาแฟพันธุ์โรบัสต้า  ซึ่งขณะนี้ตลาดทั้งประเทศมีความต้องการประมาณ 6 หมื่นตันต่อปี แต่ขณะนี้เราผลิตได้อยู่ที่ประมาณ 1 หมื่นตันเท่านั้นเอง  จึงนับเป็นอีกพืชอีกชนิดที่อนาคตยังสดใส            

         สำหรับการดำเนินการจัดสรรที่ดินที่ยึดมาได้ของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ(คทช.)ตามนโยบายรัฐบาลในส่วนของส.ป.ก.ชุมพรนั้น มี 2 แปลง โดยแปลงแรกมีเนื้อที่ 954 ไร่ 64 ตารางวาและแปลงที่สองมีเนื้อที่ 6,415.163 ไร่ ได้มาจากการเข้ายึดพื้นที่ของบริษัท สหไทย น้ำมันพืช จำกัด ซึ่งเป็นไปตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุดเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ด้วยการจัดสรรให้กับราษฎรทีี่ไม่มีพื้นที่ทำกิน

        ปราโมทย์ ใสจุล หัวหน้าสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกกรรมจ.ชุมพรเผยที่มาของพื้นที่ดังกล่าว โดยแปลงแรกถือเป็นพื้นที่แรก ๆ ที่ส.ป.ก.ส่งมอบพื้นที่ให้กับคทช.ตั้งแต่ปี 2558 แต่ไม่สามารถดำเนินการจัดสรรให้กับเกษตรกรได้เนื่องจากยังหาข้อยุติไม่ได้ระหว่างหน่วยงานส.ป.ก.กับกรมป่าไม้ แม้จะให้ทางคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความแล้วก็ตาม

         "แปลงแรกส่งให้ทางกฤษฎีกาตีความผลออกมาว่าความขัดแย้งดังกล่าวไม่ใช่เป็นการพิพาทในข้อกฎหมายแต่เป็นความขัดแย้งระหว่างหน่วยงานมากกว่า"

     

   และในระหว่างที่รอข้อสรุปในพื้นที่แปลงแรก ทางส.ป.ก.ชุมพรก็นำเกษตรกรที่คัดเลือกไว้จำนวน 105 รายมาลงในแปลงที่สอง ซึ่งเป็นแปลงที่ได้มาตามคำสั่งคสช.เมื่อปี 2559 หมายเลขNo.83 มีเนื้อที่ 6,415.13 ไร่ ที่ยึดมาจากบริษัท สหไทย น้ำมันพืช จำกัดตามคำสั่งศาลเช่นกัน เมื่อ 19 มิ.ย.2560 จากนั้นได้มอบพื้นที่ให้กำลังทหารมณฑลทหารที่44เข้าควบคุมพื้นที่เพื่อป้องกันชาวบ้านบุกรุก  จนกว่าจะมีการจัดสรรที่ดินแล้วเสร็จ ส่วนอีก 5 พันกว่าไร่ที่ยังไม่มีการจัดสรรเพราะยังมีปาล์มน้ำมันอยู่เต็มพื้นที่  

        “ในส่วนที่เหลือต้องรอให้นโยบายรัฐบาลในการดำเนินการต่อไป ส่วนเกษตรกรที่คัดเลือกไว้จำนวน 105 รายขณะนี้ได้ลงแปลงครบหมดแล้ว ต่อไปจะดำเนินการจะทะเบียนตั้งเป็นสหกรณ์การเกษตรในเขตปฏิรูปที่ดินบ้านหงษ์เจริญจำกัด โดยทุกคนเป็นสมาชิกในการขับเคลื่อนและเป็โครงการนำร่องต้นแบบ ที่จะขยายผลสู่พื้นที่อื่นต่อไป”หน.ส.ป.ก.ชุมพรกล่าวทิ้งท้าย

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

-เกษตร/ทำกิน/สัตว์เลี้ยง 
-เกษตรฯ ลุยเปิดตัว "เกษตรอัจฉริยะ" นำร่องใน 6 พืชสำคัญ
-แฉ ! กระทรวงเกษตรฯยังนำเข้าพาราควอต
-โยกย้าย ล็อตแรก เขย่าแรงบิ๊กเกษตร

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ