ข่าว

เพิ่มน้ำต้นทุน"ห้วยเสนง-อำปึล"แก้แล้งสุรินทร์-บุรีรัมย์

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"ธรรมนัส"เล็งเพิ่มน้ำต้นทุน ห้วยเสนง-อำปึล แก้แล้งสุรินทร์ -บุรีรัมย์ ลำปาวงดส่งน้ำการเกษตร 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยาเหลือน้ำใช้การ1.5พันล้านลบ.ม.

 

15 สิงหาคม 2562 ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ติดตามการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ที่จังหวัดสุรินทร์ พร้อมกล่าวว่า ได้ประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติแล้งแล้ว 2 อำเภอ จากทั้งหมด 17 อำเภอ  

 

โดยกรณีโรงพยาบาลประจำจังหวัดสุรินทร์ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำนั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ประสานกองทัพภาคที่ 2 หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งขุดเจาะบ่อดาลและติดตั้งเครื่องกรองน้ำตั้งแต่วันที่ 11 สิงหาคมที่ผ่านมา จนถึงวันนี้สามารถขุดเจาะบ่อน้ำบาดาลได้แล้ว 8 บ่อ ซึ่งมีปริมาณน้ำเพียงพอต่อการใช้อุปโภค บริโภคภายในโรงพยาบาลแล้ว

 

ส่วนปัญหาการขาดแคลนน้ำในพื้นที่อำเภอเมืองนั้น ได้สูบน้ำจากแหล่งน้ำเหมืองหินเขาสวายขึ้นมาใช้ผลิตน้ำประปา ซึ่งขณะนี้กำลังสูบน้ำจากบ่อที่ 2 ขึ้นมาใช้ คาดว่าจะมีน้ำสำรองได้ถึงอีก 3 เดือนข้างหน้า วิกฤติการขาดแคลนน้ำในพื้นที่อำเภอเมืองสุรินทร์จึงคลี่คลายลงแล้ว ส่วนเรื่องปัญหาคุณภาพน้ำนั้นได้ประสานผู้ว่าราชการจังหวัดให้แก้ไขอย่างเร่งด่วนภายใน 3 วัน

 

ร.อ.ธรรมนัส กล่าวต่อว่า ได้สั่งการให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตรเร่งปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อเติมน้ำในเขื่อนและพื้นที่การเกษตรอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งจะดำเนินการขุดบ่อน้ำบาดาลต่อไป เพื่อให้มีปริมาณน้ำสำรองสำหรับอุปโภค บริโภคไว้ใช้อย่างเพียงพอในระยะยาว

 

"มอบหมายให้กรมชลประทานวางแผนพัฒนาอ่างเก็บน้ำห้วยเสนงและอ่างเก็บน้ำอำปึลเพื่อเพิ่มปริมาณการเก็บกักน้ำให้มากขึ้น เพราะประชาชนรอยต่อจ.สุรินทร์ บุรีรัมย์ ใช้น้ำจากแหล่งนี้"

 

นายศักดิ์ศิริ อยู่สุข ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 6 เปิดเผยว่า เขื่อนลำปาวมีความจุเก็บกัก 1,980 ล้านลูกบาศก์เมตร ปัจจุบัน (14 ส.ค. 62) มีปริมาณน้ำ 408 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 21 ของความจุเก็บกัก น้ำใช้การได้ 308 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 16 ของความจุเก็บกัก มีน้ำไหลเข้าอ่างฯ 0.01 ล้าน ลบ.ม. ส่งน้ำและระบายน้ำวันละ 2.82 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งถือว่าปัจจุบันปริมาณน้ำในอ่างฯ อยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย

 

โดยมีสาเหตุมาจากฝนตกต่ำกว่าค่าเฉลี่ย จึงทำให้มีน้ำไหลเข้าอ่างฯ น้อยกว่าค่าเฉลี่ยค่อนข้างมาก โดยเฉพาะในเดือนกรกฎาคม 2562 มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างฯ เพียง 21 ล้าน ลบ.ม. จากค่าเฉลี่ย 277 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 8 ของค่าเฉลี่ยเท่านั้น ซึ่งหากในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายนนี้ ยังไม่มีฝนตกลงมาในพื้นที่หรือไม่มีน้ำไหลเข้าอ่างฯ เพิ่มขึ้น อาจจะทำให้ปริมาณน้ำในอ่างฯ มีไม่เพียงพอต่อการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้ง 2562/2563

 

จากการติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด มาตั้งแต่ช่วงต้นฤดูฝนที่ผ่านมา โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาวได้ส่งน้ำเพื่อการเกษตร การอุปโภค-บริโภค และรักษาระบบนิเวศ ตามมติการประชุมคณะกรรมการจัดการชลประทาน (JMC) และที่ผ่านมาเขื่อนลำปาวยังได้ระบายน้ำไปเติมน้ำในแม่น้ำชีในช่วงฝนทิ้งช่วง เพื่อช่วยเหลือการประปาที่อยู่ตลอด2ฝั่งลำน้ำชีไปจนถึง จ.อุบลราชธานี

 

ซึ่งการบริหารจัดการน้ำดังกล่าวอยู่ในแผนการส่งน้ำที่ได้วางไว้มาโดยตลอด และจากการประชุมติดตามสถานการณ์เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ที่ประชุมได้มีมติร่วมกันว่า หากมีปริมาณน้ำใช้การเหลือน้อยกว่า 350 ล้าน ลบ.ม. หรือถึงช่วงกลางเดือนสิงหาคม 2562 ปริมาณฝนไม่เป็นไปตามคาดการณ์ จะมีการพิจารณาปรับแผนการส่งน้ำอีกครั้ง ถึงวันนี้ปริมาณน้ำใช้การเหลือเพียง 308 ล้าน ลบ.ม. จึงต้องพิจารณาปรับลดการระบายน้ำลง เพื่อสำรองน้ำไว้ใช้ในการอุปโภคบริโภคซึ่งมีความสำคัญเป็นอันดับแรก

 

นายพงศ์ศักดิ์ ณ ศร ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว กล่าวว่า โครงการฯ ได้ออกประกาศปรับลดการส่งน้ำสำหรับการปลูกพืชฤดูฝน 2562 แจ้งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้นำชุมชน และกลุ่มเกษตรกรผู้ใช้น้ำ จากเดิมที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาวได้ทำการส่งน้ำให้พื้นที่การเกษตรในเขตชลประทาน สำหรับการปลูกพืชฤดูฝน 2562 ตามมติการประชุมคณะกรรมการจัดการชลประทาน (JMC) เฉลี่ยวันละประมาณ 4 ล้าน ลบ.ม. ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2562 เป็นต้นมา

 

ดังนั้นเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง 2562/2563 ที่จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนจำนวนมาก โครงการฯ จึงมีความจำเป็นต้องปรับลดการส่งน้ำเข้าระบบส่งน้ำลดลงตามลำดับ ตามปริมาณน้ำต้นทุนที่มี และหากปริมาณน้ำในอ่างฯ เหลือประมาณ 400 ล้าน ลบ.ม. โครงการฯ จะหยุดส่งน้ำเข้าระบบส่งน้ำ จะมีเพียงการระบายน้ำเพื่อการประปา การอุปโภค-บริโภค และรักษาระบบนิเวศเท่านั้น ในช่วงนี้จึงขอความร่วมมือให้ประชาชนและเกษตรกรร่วมกันใช้น้ำอย่างประหยัด คุ้มค่า และแบ่งปัน ตามปริมาณน้ำที่ส่งเข้าระบบ เพื่อให้มีน้ำเพียงพอสำหรับการอุปโภค-บริโภคในฤดูแล้งหน้านี้

 

ส่วนสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ(สสน.)เตือนเขื่อนน้ำน้อยวิกฤต มีน้ำใช้การน้อยกว่า30% เช่น เขื่อนอุบลรัตน์(-2%),เขื่อนจุฬาภรณ์(3%),เขื่อนป่าสักฯ(3%),เขื่อนคลองสียัด(5%),เขื่อนภูมิพล(5%),เขื่อนสิริกิติ์(8%),เขื่อนกระเสียว(9%),เขื่อนแควน้อย(9%),เขื่อนทับเสลา(12%),เขื่อนลำพระเพลิง(12%),เขื่อนลำนางรอง(12%),เขื่อนแม่กวง(15%),เขื่อนสิรินธร(15%),เขื่อนลำปาว(16%),เขื่อนน้ำพุง(17%),เขื่อนมูลบน(17%),เขื่อนห้วยหลวง(18%),เขื่อนลำแซะ(19%),เขื่อนขุนด่านปราการชล(19%),เขื่อนนฤบดินทรจินดา(19%)

 

สำหรับศูนย์ปฏิบัติการอัจฉริยะน้ำ กรมชลประทาน สรุปสภาพน้ําในอ่างเก็บน้ําขนาดใหญ่และขนาดกลาง ทั่วประเทศ447แห่ง มีปริมาตรน้ําในอ่างฯ 38,268 ล้าน ลบ.ม.คิดเป็นร้อยละ 50(ปริมาตรน้ําใช้การได้ 14,385 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 28) ปริมาตรน้ําในอ่างฯ เทียบกับปี 2561 (53,300 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 70) น้อยกว่าปี 2561 จํานวน 15,032 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ําไหลลงอ่างฯจำนวน 319.28 ล้าน ลบ.ม. ต่อวัน ปริมาณนํ้าระบาย จํานวน 82.13 ล้าน ลบ.ม. สามารถรับน้ําได้อีก 34,531 ล้าน ลบ.ม.

 

ในส่วนเขื่อน4ใหญ่ลุ่มเจ้าพระยา ส่งน้ำอุปโภค บริโภค รักษาระบบนิเวศ การเกษตรให้กับ22จังหวัดภาคกลาง รวมกรุงเทพฯและปริมณฑล เช่นเขื่อนภูมิพล มีน้ำใช้การได้ 666ล้านลบ.ม หรือ7% เขื่อนสิริกิติ์ 740ล้านลบ.ม.หรือ11%เขื่อนแควน้อย83ล้านลบ.ม. 9%เขื่อนป่าสัก27ล้านลบ.ม.3% รวม1,516ล้านลบ.ม. หรือ8% ปริมาณน้ำไหลลงอ่างกว่า 80ล้านลบ.ม. ระบายออก 20.04ล้านลบ.ม.

 

ทั้งนี้ปริมาณน้ำลงสู่แม่น้ําเจ้าพระยา ปริมาณนํ้าไหลผ่าน 257 ลบ.ม./วินาที ผ่านเขื่อนเจ้าพระยา 70 ลบ.ม./วินาที รับนํ้าเข้าระบบส่งนํ้าทุ่งฝั่งตะวันออก รวม 76 ลบ.ม./วินาที โดยผ่าน คลองชัยนาท – ป่าสัก (ประตูระบายน้ำ (ปตร.)มโนรมย์) 54 ลบ.ม./วินาที คลองชัยนาท – อยุธยา (ปตร.มหาราช) 17 ลบ.ม./วินาที และ คลองเล็กอื่นๆ 5 ลบ.ม./วินาที 

 

ส่วนแม่นํ้าป่าสัก เขื่อนพระรามหก 4 ลบ.ม./วินาที รับน้ําเข้าคลองระพีพัฒน์23ลบ.ม./วินาที ผ่านคลองระพีพัฒน์แยกตก (ปตร.พระศรีศิลป์) 5 ลบ.ม./วินาที และผ่านคลองระพีพัฒน์แยกใต้ (ปตร.พระศรีเสาวภาค) 13 ลบ.ม./วินาทีรับนํ้าเข้าระบบส่งนํ้าทุ่งฝั่งตะวันตก รวม 127 ลบ.ม./วินาที โดยผ่าน คลองมะขามเฒ่าอู่ทอง (ปตร.มะขามเฒ่า อู่ทอง) 10 ลบ.ม./วินาที แม่น้ําสุพรรณ (ปตร.พลเทพ) 55 ลบ.ม./วินาที แม่นํ้าน้อย (ปตร.บรมธาตุ) 55 ลบ.ม./วินาที และคลองเล็กอื่นๆ 7 ลบ.ม./วินาที และปริมาณน้ำไหลผ่านอ.บางไทร เฉลี่ย 65 ลบ.ม./วินาที 

 

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ