ข่าว

 ผ่าแผนพัฒนา"ลุ่มน้ำชี" สู่การแก้ปัญหาน้ำอีสานยั่งยืน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

 ผ่าแผนพัฒนา"ลุ่มน้ำชี" สู่การแก้ปัญหาน้ำอีสานยั่งยืน

 

       ลุ่มน้ำชีเป็น 1 ใน 22 ลุ่มน้ำหลักของประเทศและเป็นแม่น้ำสายหลักของภาคอีสาน มีพื้นที่ลุ่มน้ำรวมกว่า 49,000 ตารางกิโลเมตร หรือมากกว่า 30 ล้านไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 14 จังหวัด ได้แก่ ชัยภูมิ ขอนแก่น หนองบัวลำภู อุดรธานี มหาสารคาม นครราชสีมา เลย เพชรบูรณ์ กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ยโสธร อุบลราชธานี ศรีสะเกษ และมุกดาหาร โดยมีลำน้ำสาขาที่สำคัญ เช่น ลำน้ำพรม ลำน้ำพอง ลำน้ำเชิญ ลำน้ำลำปาว และลำน้ำยัง

 

การพัฒนาแหล่งน้ำในลุ่มน้ำชีนั้น แม้ที่ผ่านมาจะมีการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่แล้วหลายแห่ง เช่น เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนจุฬาภรณ์ เขื่อนลำน้ำพุง และเขื่อนลำปาว เป็นต้น ทว่าพื้นที่ที่พัฒนาดังกล่าวจะอยู่ในตอนกลางของลุ่มน้ำเป็นส่วนใหญ่ ไม่ครอบคลุมทั้งลุ่ม โดยเฉพาะในพื้นที่ตอนบนของลุ่มน้ำ มีการพัฒนาน้อยมาก ทำให้การใช้ประโยชน์จากน้ำในลุ่มน้ำชีไม่เต็มศักยภาพเท่าที่ควรจะเป็น อีกทั้งยังประสบปัญหาภัยแล้งและอุทกภัยเป็นประจำ

   โดยเฉพาะปี 2558 และในปีนี้ (2562) ที่เกิดภาวะฝนทิ้งช่วงที่ยาวนานทำให้แม่น้ำชีมีระดับน้ำลดลงต่อเนื่อง น้ำชีแห้งขอดเป็นระยะๆ ส่งผลกระทบต่อพื้นที่การเกษตรนอกเขตชลประทานเกิดความแห้งแล้ง ขาดแคลนทั้งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและการเกษตร

 ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทานกล่าวถึงการแก้ปัญหาเรื่องน้ำในลุ่มน้ำชี ว่ากรมชลประทานได้วางแผนแก้ไขปัญหาทั้งระบบลุ่มน้ำ ซึ่งในระยะเร่งด่วน เพื่อแก้ปัญหาฝนทิ้งช่วง จนทำให้ลำน้ำชีตื้นเขินที่เกิดขึ้นในขณะนี้ โดยกรมชลประทานแก้ไขด้วยการปล่อยน้ำจากเขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์ เพิ่มขึ้นเป็นวันละ 800,000 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) และเขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น อีกวันละ 500,000 ลบ.ม. พร้อมทั้งได้เพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนมหาสารคามและเขื่อนร้อยเอ็ดรวมอีก 700,000 ลบ.ม. 

   ทั้งนี้เพื่อให้สถานีสูบน้ำเพื่อการประปาที่อยู่ข้างตลอดลำน้ำชีนำน้ำไปใช้เพื่ออุปโภคบริโภค ตลอดจนเป็นการรักษาระบบนิเวศของลำน้ำอีกด้วย และที่สำคัญยังได้นำเครื่องจักรเข้าไปขุดลอกเปิดทางน้ำ พร้อมลงพื้นที่ชี้แจงสร้างความเข้าใจให้ประชาชน โดยได้ขอความร่วมมือจากเกษตรกรให้ชะลอการปลูกข้าวออกไป เพราะจะต้องสำรองไว้เพื่อการอุปโภคบริโภค ซึ่งมีความสำคัญมากที่สุด

 นอกจากนี้ภายในเดือนกันยายนนี้ กรมชลประทานร่วมกับหน่วยงานทหารพัฒนาจะดำเนินการพัฒนาแหล่งเก็บกักน้ำบริเวณ 2 ฝั่งลำน้ำชีเร่งด่วนให้แล้วเสร็จจำนวน 11 โครงการ เช่น ขุดลอกอ่างแก่งเลิงจาน ขุดลอกอ่างหนองบ่อ ขุดลอกอ่างห้วยเชียงคำ จ.มหาสารคาม เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อเพิ่มพื้นที่เก็บน้ำฝนระลอกใหม่ที่กำลังจะมาให้ได้มากที่สุด ซึ่งจะสามารถกักเก็บน้ำได้อีกประมาณ 1.34 ล้านลบ.ม. จะได้มีน้ำสำรองเก็บน้ำไว้ในฤดูแล้งถัดไป

อธิบดีกรมชลประทานกล่าวต่อไปว่า แหล่งน้ำหลักสำหรับการใช้น้ำของประชาชนและเกษตรกรใน จ.ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด และยโสธร คือลำน้ำชีและหนองน้ำสาธารณะที่กระจายอยู่โดยรอบ ซึ่งมักจะประสบปัญหาน้ำล้นตลิ่งในช่วงฤดูน้ำหลาก และน้ำแห้งขอดในช่วงฤดูแล้งเป็นประจำ ดังนั้นการพัฒนาปรับปรุงเพิ่มความจุให้แก้มลิงหรือหนองน้ำสาธารณะจะสามารถช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวได้ ซึ่งที่ผ่านมากรมชลประทานได้พัฒนาปรับปรุงแก้มลิงพร้อมอาคารประกอบเพื่อเพิ่มปริมาณการเก็บน้ำไปแล้วจำนวน 138 แห่ง สามารถเก็บน้ำได้ 136 ล้านลบ.ม. พื้นที่รับประโยชน์ถึง 113,236 ไร่

อย่างไรก็ตามจากการลงพื้นที่สำรวจพบว่ายังมีหนองน้ำสาธารณะและแก้มลิงกระจายอยู่สองฝั่งลำน้ำชีอีกมากกว่า 100 แห่งที่สามารถพัฒนาเพิ่มความจุให้เต็มศักยภาพ เช่น เพิ่มแก่งละว้า ความจุจาก 45.784 ล้านลบ.ม.เป็น 48.184 ล้านลบ.ม. แก่งน้ำต้อน สามารถเพิ่มความจุจาก 5 ล้านลบ.ม. เป็น 14 ล้านลบ.ม. บึงกุดเค้า สามารถเพิ่มความจุจาก 21.68 ล้านลบ.ม. เป็น 30 ล้านลบ.ม. เป็นต้น โดยภายในปี 2565 สำนักงานชลประทานที่ 6 และ 7 จะเข้าพัฒนาแก้มลิงพร้อมอาคารประกอบอีกจำนวน 129 แห่ง เก็บน้ำได้เต็มศักยภาพรวม 257.96 ล้านลบ.ม. พื้นที่รับประโยชน์ 171,583 ไร่

นอกจากความพยายามพัฒนาแหล่งเก็บน้ำเดิมแล้ว กรมชลประทานยังมีการพัฒนาแหล่งเก็บน้ำใหม่ควบคู่ไปด้วย โดยปี 2562 ในพื้นที่ของสำนักงานชลประทานที่ 6 รับผิดชอบ กำลังดำเนินการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ 3 แห่ง อยู่ในเขต จ.ชัยภูมิทั้งหมดคือ อ่างเก็บน้ำลำสะพุง อ.หนองบัวแดง อ่างเก็บน้ำลำน้ำชี อ.บ้านเขว้า และอ่างเก็บน้ำโปร่งขุนเพชร อ.หนองบัวระเหว สามารถกักเก็บน้ำได้รวมกันประมาณ 160 ล้านลบ.ม. มีพื้นที่ได้รับประโยชน์ 127,000ไร่ ขณะนี้มีผลงานความก้าวหน้าไปแล้วเฉลี่ยร้อยละ 50  นอกจากนี้ตั้งแต่ปี 2562-2565 จะก่อสร้างอ่างเก็บน้ำใน จ.ชัยภูมิ อีก 3 แห่งเช่นกัน ได้แก่ อ่างเก็บน้ำพระอาจารย์จื่อ อ่างเก็บน้ำห้วยจอมแก้ว และอ่างเก็บน้ำลำเจียง มีความจุรวมกันประมาณ 74 ล้านลบ.ม. เพิ่มพื้นที่รับประโยชน์ได้ 49,000 ไร่

“สภาพลำน้ำชีตั้งแต่ต้นน้ำ จ.ชัยภูมิ ลงมามีความลาดชันสูง น้ำไหลแรงจนมาเข้าเขต จ.ขอนแก่น ไหลต่อลงไปที่ จ.มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ไปจนถึงยโสธร และบรรจบกับแม่น้ำมูลที่ จ.อุบลราชธานี ความยาวถึง 1,047 กิโลเมตร ตลอดลำน้ำมีแหล่งเก็บน้ำช่วยชะลอน้ำอยู่บ้างแต่ไม่มากพอและหลายแห่งตื้นเขิน ทำให้เกิดภาวะวิกฤติทั้งกรณีน้ำท่วมและน้ำแล้งแทบทุกปี จึงมีความจำเป็นต้องวางแผนพัฒนาแหล่งน้ำตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำเพื่อความมั่นคงในเรื่องน้ำให้แก่ลุ่มน้ำชี” อธิบดีกรมชลประทานกล่าวในตอนท้าย

             

         

 สร้าง"ฝายซอยล์ซีเมนต์”แทนหินทิ้งลดรั่วซึม  

      ภัทรพล ณ หนองคาย ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดกลางที่ 6  กรมชลประทาน เผยถึงความสำเร็จในการน้อมนำศาสตร์พระราชาเกี่ยวกับการสร้างฝายชะลอน้ำมาประยุกต์ใช้กับหลักวิศวกรรมชลประทานในการสร้างฝายซอยล์ซีเมนต์ทดแทนฝายหินทิ้งแบบเดิม โดยระบุว่าจะช่วยลดอัตราการรั่วซึม เพิ่มปริมาณน้ำที่เก็บกักในตัวฝาย ราคาถูกกว่าฝายคอนกรีต การก่อสร้างไม่ยุ่งยากชาวบ้านสามารถทำเองได้ ที่สำคัญอายุการใช้งานยืนยาว โดยมีการนำทดลองใช้ในพื้นที่ลุ่มน้ำชีแล้วตั้งแต่ปี 2558

   “เมื่อฤดูแล้งปี 2558 แม่น้ำชีแห้งขอด ฝายชะลอน้ำเดิมไม่สามารถยกระดับน้ำได้เพราะเกิดการระเหยรั่วซึมสูง ทำให้พืชผลทางการเกษตรขาดน้ำยืนต้นตาย จึงได้ร่วมกันพัฒนานวัตกรรมสร้างฝายซอยล์ซีเมนต์ดังกล่าวขึ้นในแม่น้ำชี บริเวณบ้านหนองแวง อ.หนองบัวแดง ผลปรากฏว่า สามารถช่วยยกระดับน้ำเพื่อให้สถานีสูบน้ำในพื้นที่บ้านหนองแวงจำนวน 3 สถานีสูบน้ำช่วยเหลือเกษตรกรได้ เช่นเดียวกับปีนี้ที่เกิดภาวะฝนทิ้งช่วง แต่ฝายดังกล่าวสามารถช่วยแก้ปัญหาไม่ให้พื้นที่การเกษตรขาดน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งยังมีการสร้างสถานีสูบน้ำเพิ่มเป็น 5 สถานี เพื่อช่วยพื้นที่การเกษตรได้เพิ่มขึ้นอีกด้วย” ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดกลางที่ 6 กล่าว

  ทั้งนี้ภายหลังจากประสบผลสำเร็จในการสร้างฝายซอยล์ซีเมนต์ดังกล่าว ก็มีการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการบรรเทาภัยอันเกิดจากน้ำขึ้นเมื่อปี 2559 ที่ จ.ขอนแก่น โดยในเบื้องต้นตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรลุ่มน้ำชีในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น ชัยภูมิ กาฬสินธุ์ มหาสารคาม และร้อยเอ็ด ที่ประสบปัญหาจากน้ำเป็นประจำ ให้ใช้น้ำอย่างประหยัดและรู้คุณค่า ซึ่งมีการพัฒนาสร้างนวัตกรรมต่างๆ ในการช่วยเหลือเกษตรกรให้มีน้ำใช้เพื่อการเกษตรมาอย่างต่อเนื่อง 

 โดยล่าสุดมีการพัฒนาสร้างชุดสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์และระบบกระจายน้ำแบบน้ำหยด พร้อมการสร้างสระแบบซอยล์ซีเมนต์ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่สูงกว่าฝายให้มีน้ำใช้ ผลที่ได้คือสระแบบซอยล์ซีเมนต์สามารถเก็บน้ำใช้น้ำได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เกษตรกรมีน้ำเพียงพอดูแลพืชสวน พืชไร่ตลอดทั้งปี ไม่มีต้นทุนค่าไฟสูบน้ำ ทำให้ภาวะฝนทิ้งช่วงในปีนี้เกษตรกรในพื้นที่ไม่ได้รับผลกระทบใดๆ  

สำหรับนวัตกรรมชุดสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์และระบบกระจายน้ำแบบน้ำหยด พร้อมการสร้างสระแบบซอยล์ซีเมนต์ดังกล่าว ขณะนี้มีเกษตรกรทั้งจากภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ รวมถึงเกษตรกรจากรัฐฉาน สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ เข้ามาอบรมดูงานเพื่อนำไปใช้แล้วเช่นกัน 

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ