ข่าว

แนะวิธีจัดการ"มังคุดลานสกา"ล้นตลาด 

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

จากแปลงใหญ่มังคุดสู่เกษตรเชิงพื้นที่ วิธีจัดการ"มังคุดลานสกา"ล้นตลาด  

           มังคุดล้นตลาด ราคาตกต่ำ กลายเป็นปัญหาซ้ำซากที่เกิดขึ้นทุกปีในหลายพื้นที่ของ จ.นครศรีธรรมราช ถือเป็นแหล่งผลิตมังคุดคุณภาพที่มีชื่อเสียงที่สุดในภาคใต้ โดยมีแหล่งปลูกหลักอยู่ในสองอำเภอคือลานสกาและพรหมคีรี  

         โดยเฉพาะลานสกานั้นปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกทั้งสิ้นกว่า 20,879 ไร่ ในปีนี้ให้ผลผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 9,115 ตัน คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจมากกว่า 300 ล้านบาทและชาวอำเภอลานสกาทุกคนเกิดและเติบโตมาในวิถีชีวิตของชาวสวนมังคุด อาจเรียกได้ว่าลานสกาคือเมืองมังคุด

 แนะวิธีจัดการ"มังคุดลานสกา"ล้นตลาด 

 

          จากข้อมูลสำนักงานเกษตรอำเภอลานสกา ระบุในฤดูกาลผลิตปีที่แล้วผลผลิตกว่าร้อยละ 60 ส่งออกไปยังต่างประเทศ ส่วนที่เหลือร้อยละ40 บริโภคภายในประเทศ โดยปีที่แล้วราคามังคุดคุณภาพส่งออกเฉลี่ยอยู่ที่ 50-70 กิโลกรัม ส่วนผลผลิตด้อยคุณภาพอยู่ที่ 15-30 บาท ทว่าปีนี้ราคากลับตกฮวบเหลือไม่ถึงกิโลกรัมละ 10 บาท

         "ปีนี้มังคุดในพื้นที่ลานสกามีปริมาณมากกว่าปีที่แล้วเยอะมาก ส่วนใหญ่ด้อยคุณภาพทำให้ขายไม่ได้ราคา  ส่งออกก็มีปัญหา พ่อค้าอาศัยจังหวะนี้กดราคาชาวสวนด้วย" เกษตรกรชาวสวนมังคุดรายหนึ่งเผยกับ "คม ชัด ลึก" ถึงปัญหาราคามังคุดในพื้นที่ซึ่งไม่ใช่เฉพาะอำเภอลานสกาเท่านั้นแหล่งผลิตมังคุดในอำเภอใกล้เคียงอย่างพรหมคีรีก็มีปัญหาเช่นกัน 

 แนะวิธีจัดการ"มังคุดลานสกา"ล้นตลาด 

                        ชัยพงค์ ทะนันชัย นักวิชาการส่งเสริมเกษตรชำนาญการ

      ชัยพงค์ ทะนันชัย นักวิชาการส่งเสริมเกษตรชำนาญการ สำนักงานเกษตรอำเภอลานสกา ในฐานะเกษตรตำบลรับผิดชอบอำเภอลานสกาให้ข้อมูลสถานการณ์มังคุดในพื้นที่ลานสกา (ณ วันที่ 9 ส.ค.62) โดยยอมรับว่าปีนี้ผลผลิตมังคุดในอำเภอลานสกาออกมาในปริมาณที่มากเป็นพิเศษและออกมาพร้อมๆ กันหมดเกือบทุกสวนจึงทำให้กระจายผลผลิตไม่ทันส่งผลให้ผลิตล้นตลาด 

       “มังคุดลานสกามีอยู่ 3 ประเภท อันแรกเป็นมังคุดเขาหรือมังคุดป่า รสชาติหอมหวานกรอบอร่อย ลูกเล็กเม็ดลีบ มังคุดชนิดนี้ไม่มีปัญหาเรื่องราคา มีเท่าไหร่ขายหมด ได้ราคาสูงด้วย ต่อมาเป็นมังคุดโบราณ ประเภทนี้ก็ไม่มีปัญหาเรื่องราคาเช่นกัน แต่ที่เป็นปัญหาในปัจจุบันคือมังคุดบ้าน” 

        นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรคนเดิมเผยต่อว่า สำหรับมังคุดบ้านนั้นจะแบ่งออกเป็น 5 เบอร์ โดยเบอร์ 1 ผิวมัน ลูกใหญ่ เบอร์ 2 ผิวลายลูกหญ่ เบอร์ 3 ผิวมันลูกเล็ก เบอร์ 4 ตกไซส์ และเบอร์ 5 ลูกดำ ซึ่งการบริหารจัดการผลผลิตมังคุดของอำเภอลานสกาในช่วงที่ผ่านมามีการดำเนินการโดยคณะกรรมการผ่านศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) อำเภอลานสกามีการแบ่งหน้าที่ดำเนินการแต่ละฝ่ายอย่างชัดเจน 

         เริ่มจากเปิดจุดรวบรวมผลผลิตจากเกษตรกรใน 3  จุด ใน 2 ตำบลได้แก่ลานสกาและขุนทะเล จากนั้นนำผลผลิตทั้งหมดมาคัดแยกขนาดเพื่อบรรจุกล่องที่ศูนย์ ศพก.ลานสกา แล้วก็เปิดให้ผู้สนใจเข้ามาประมูล ซึ่งที่ผ่านมามีการเปิดประมูลทุกวัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 14 กรกฎาคมที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน และคาดว่าจะเปิดประมูลไปจนสิ้นฤดูกาลผลิตประมาณต้นเดือนกันยายน 

        “ณ ตอนนี้มังคุดลานสกามีการกระจายผลผลิตออกสู่ตลาดไปแล้วกว่าครึ่ง หรือประมาณ 4 พันตันจากทั้งหมด 9 พันกว่าตัน โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนช่วยกันกระจายผลผลิตผ่านศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) อำเภอลานสกา”

        จากข้อมูลการประมูลปรากฏว่าราคาประมูลเฉลี่ยในช่วงวันที่ 15 กรกฎาคม-5 สิงหาคม  มังคุดเบอร์ 1 ผิวมันลูกใหญ่ ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 43.82 บาท เบอร์ 2 ผิวลายลูกใหญ่ ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 27.96 บาท เบอร์ 3 ผิวมันลูกเล็ก ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 22.80 บาท เบอร์ 4 ตกไซส์ ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 18.49 บาท และเบอร์ 5 ลูกดำ ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 13.67 บาท นอกจากนี้แล้วยังมีการกระจายผลผลิตไปยังกลุ่มสหกรณ์และสำนักงานพาณิชย์จังหวัดตามภูมิภาคต่างๆ อีกด้วย

        “อย่างเช่นเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ทางกลุ่มได้จัดส่งมังคุดไปยังสหกรณ์เกษตรวิสัย จ.ร้อยเอ็ด ในโครงการข้าวแลกมังคุด จำนวน 3 พันกิโล กิโลละ 25 บาท เป็นเงิน 3.5 หมื่นบาท  ซึ่งราคาในท้องตลาดวันนั้นอยู่ที่ 10-12 บาท ต่อมาวันที่ 27 กรกฎาคม จัดส่งให้สำนักงานพาณิชย์จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จำนวน 3.25 พันกิโล กิโลละ 25 บาทเช่นกัน ราคาท้องตลาดวันนั้นอยู่ที่ 8-10 บาท และล่าสุดเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม ส่งให้สำนักงานพาณิชย์จังหวัดสุรินทร์ จำนวน 1.2 หมื่นกิโล กิโลละ 35 บาท เป็นเงิน 4.2 แสนบาท ขณะนี้ก็มีอีกหลายจังหวัดที่มีแผนออเดอร์เข้ามาซึ่งอยู่ในระหว่างการจัดส่ง”

        ชัยพงค์ ยอมรับว่าปีนี้มังคุดให้ผลผลิตมากกว่าปกติในเกือบทุกจังหวัด เริ่มตั้งแต่ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ไปจนถึงทางจังหวัดชายแดนภาคใต้และผลผลิตก็ออกมาพร้อมๆ กันหมด ทำให้ระบายไม่ทัน แต่เราก็ได้สร้างกระบวนการในการแก้ไขปัญหาเพื่อรับมือล่วงหน้าไว้แล้วในระดับหนึ่งเพียงแต่ผลผลิตออกมาเกินกว่าที่คาดการณ์เอาไว้ 

         “ปีที่แล้วราคาหน้าสวนถูกสุดอยู่ที่กิโลกรัมละ 15-16 บาท แต่ปีนี้ราคาตกต่ำลงมาเหลือกิโลกรัมละ 8 บาท ซึ่งขณะนี้ราคาก็ค่อยๆ เริ่มดีขึ้นแล้ว หลังทุกภาคส่วนเข้ามาดูแลช่วยเหลือ จริงๆ แล้วลานสกาเป็นเมืองมังคุด มังคุดลานสกาเป็นมังคุดมีคุณภาพดีที่สุด ปลูกในที่ดินดี น้ำดี อากาศดี ผลผลิตที่ออกสู่ท้องตลาดคุณภาพค่อนข้างดี จึงขอเชิญชวนชาวไทยช่วยกันกินมังคุดกันเยอะๆ ราคามังคุดจะได้กระเตื้องขึ้นและช่วยพี่น้องเกษตรกรชาวสวนมังคุดด้วย”

        วิเชียรรัตน์ มัชฌิกะ ประธานกลุ่มเกษตรกรทำสวนผลไม้อำเภอลานสกา ในฐานะประธานศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) อำเภอลานสกา เผยว่า ศูนย์ ศพก.แห่งนี้เป็นจุดรวบรวมผลผลิตผลไม้ของอำเภอลานสกา การทำตรงนี้ทำให้สมาชิกได้เห็นและเข้าใจว่าการรวบรวมไม้ผลมีคุณภาพจะต้องทำอย่างไร ทำให้เห็นโอกาสการตลาดอย่างไรต่อไป 

        “ยอมรับว่าปีนี้ยังมีปัญหาหลายเรื่องเพราะผลผลิตออกมาเยอะมาก ข้อดีทำให้เราได้เห็นปัญหาเพื่อนำมาแก้ไขในปีต่อไป  แรงงานถือเป็นปัญหาใหญ่ที่สุด บางสวนยอมปล่อยให้ร่วง เพราะไม่มีแรงงานหรือหาแรงงานมาไม่ทันเก็บ” 

         ด้าน  กุลฤดี พัฒนะอิ่ม รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรกล่าวชื่นชมการทำงานของคณะทำงานกลุ่มแปลงใหญ่มังคุดลานสการะหว่างนำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่ดูกระบวนการระบายผลผลิตมังคุดที่กำลังออกสู่ตลาดจำนวนมากในขณะนี้ โดยระบุว่าเป็นการร่วมมือกันอย่างเข้มแข็งเริ่มตั้งแต่นักวิชาการส่งเสริมที่เป็นคนรุ่นใหม่ร่วมกับชุมชนและยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์ในพื้นที่ในการดำเนินการบริหารจัดการผลผลิตมังคุดจนสามารถนำมาสู่อำนาจการต่อรองในด้านการตลาด โดยเริ่มจากการทำศูนย์คัดแยกขนาด การแพ็กกิ้ง รวมถึงการจัดการประมูล โดยขยายไปยังเครือข่ายอีก 3 จุด ซึ่งเป็นผลมาจากการบริหารจัดการเกษตรเชิงพื้นที่นั่นเอง

           “ลานสกาเป็นแหล่งผลิตมังคุดใหญ่ที่สุดของนครศรีธรรมราชถ้าเราแก้ในจุดนี้ได้ปัญหาการบิรหารจัดการผลไม้มังคุดก็จะหมดไป นอกจากนั้นแล้วเราจะใช้ศูนย์ศพก.แห่งนี้เป็นศูนย์กลางในการแก้ปัญหามังคุดจากทางใต้ลงไป เป็นจุดคัดแยกและรวบรวมผลผลิตด้วย” รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรกล่าวทิ้งท้าย

     

  “มังคุดลานสกา”1ใน6ต้นแบบเกษตรเชิงพื้นที่

              กุลฤดี พัฒนะอิ่ม รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรกล่าวถึงการบริหารจัดการมังคุดลานสกา ภายใต้โครงการเกษตรแปลงใหญ่มังคุดว่า มังคุดลานสกาเป็น 1 ใน 6 ของโครงการนำร่องต้นแบบการพัฒนาเกษตรเชิงพื้นที่ของกรมส่งเสริมการเกษตรในปี 2562  ซึ่งกรมได้วางแนวทางการพัฒนาเพื่อให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น  เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจในชุมชน โดยมีคนรุ่นใหม่มาขับเคลื่อนผ่านโครงการเกษตรแปลงใหญ่ โดยการจัดทำแผนการพัฒนาของกลุ่มจะมีการดำเนินการตั้งแต่ต้นทาง กลางทางและปลายทาง 

            “ในส่วนต้นทางจะเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุนแล้วก็พัฒนาคุณภาพมาตรฐานสินค้าเกษตร ส่วนกลางทางจะมีการแปรรูปผลิตภัณฑ์พัฒนาผลิตภัณฑ์ แพ็กเกจจิ้ง รวมไปถึงความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยที่เป็นหน่วยวิชาการในการพัฒนาพันธุ์ การแปรรูปและออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้ดูสวยงาม ตลอดจนขยายต่อยอดไปสู่แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร อย่างที่นี่โดดเด่นในแง่ของมังคุดร้อยปี รวมกับโอกาสของอำเภอลานสกาเป็นแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดนครศรีธรรมราช จึงเป็นโอกาสในการดำเนินธุรกิจในชุมชนเพื่อสร้างรายได้และเกิดความยั่งยืนในชุมชน” รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรกล่าว

           อย่างไรก็ตามโครงการพัฒนาเกษตรเชิงพื้นที่ที่เป็นโครงการนำร่องต้นแบบในปี 2562 มีทั้งหมด 6 จุดด้วยกัน ได้แก่  1. แปลงใหญ่ผักปลอดภัย อ.สามโคก จ.ปทุมธานี 2.วิสาหกิจชุมชนมะพร้าวอ่อนน้ำหอม อ.บางคนที จ.สมุทรสงคราม 3.แปลงใหญ่มะพร้าว อ.คลองเขื่อน จ.ฉะเชิงเทรา 4.แปลงใหญ่ผัก อ.นามน จ.กาฬสินธุ์ 5.แปลงใหญ่มังคุด อ.ลานสกา จ.นครศรีธรรมราช และ 6.อโวคาโด อ.พบพระ จ.ตาก

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ