ข่าว

 สทนช.ระดมผู้เชี่ยวชาญไทย-เทศจัดทำผังน้ำ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

 ระดมผู้เชี่ยวชาญไทย-เทศจัดทำผังน้ำ นำร่องสองลุ่มน้ำหลัก"น้ำชี-น้ำเพชร"

 

       สทนช.ระดมมันสมองผู้เชี่ยวชาญทั้งในและต่างประเทศถกจัดทำผังน้ำครอบคลุมทั้ง 22 ลุ่มน้ำของประเทศ ภายใต้ พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ 2561 ใช้ 2 ลุ่ม “น้ำชี-น้ำเพชร” เป็นโครงการนำร่องในปี 2563 คาดแล้วเสร็จทั้ง 22 ลุ่มน้ำภายในปี 2564 มั่นใจเกิดการใช้ประโยชน์รอบด้านได้อย่างสมบูรณ์แบบ 

      ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวภายหลังการประชุมผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำทั้งในและต่างประเทศว่าหลังจากที่พระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ.2561 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 27 มกราคม 2562 ซึ่งในบทเฉพาะกาล มาตรา 103 ได้กำหนดไว้ว่า

    “ในระยะเริ่มแรกให้ สทนช.จัดทำผังน้ำและรายการประกอบผังน้ำนำเสนอคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี นับตั้งแต่พระราชบัญญัติฉบับนี้มีผลบังคับใช้”

    ซึ่งขณะนี้สทนช.มีการจัดประชุมปฐมนิเทศและรับฟังความคิดเห็นโครงการจัดทำแผนหลักการจัดทำผังน้ำจากผู้เชี่ยวชาญทั้งในประเทศและต่างประเทศ ได้แก่ ประเทศเยอรมนี เกาหลีใต้ และเนเธอร์แลนด์ เพื่อเป็นข้อมูลในการจัดทำผังน้ำของประเทศไทยที่ได้มาตรฐานสากลและเป็นที่ยอมรับ

   ทั้งนี้พระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ.2561 ได้ให้ความหมายของผังน้ำว่า 

    “เป็นแผนที่หรือแผนผังแสดงระบบทางน้ำที่มีน้ำไหลผ่าน ซึ่งเชื่อมโยงกันตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงทางออกสู่พื้นที่แหล่งน้ำ ทะเล หรือทางออกทางน้ำระหว่างประเทศ ซึ่งระบบทางน้ำดังกล่าวครอบคลุมทั้งแม่น้ำ ลำคลอง ห้วย หนอง บึง กุด ป่าบุ่ง ป่าทาม พื้นที่ชุ่มน้ำ พื้นที่แหล่งกักเก็บน้ำ พื้นที่ทางน้ำหลาก พื้นที่น้ำนอง พื้นที่ลุ่มต่ำ ทางน้ำหรือพื้นที่อื่นใดที่มีลักษณะทำนองเดียวกันไม่ว่าจะเกิดขึ้นตามธรรมชาติหรือมนุษย์สร้างขึ้น โดยทางน้ำดังกล่าวอาจมีน้ำไหลผ่านตลอดทั้งปีหรือบางช่วงเวลาก็ได้” 

        เลขาธิการ สทนช.เผยต่อว่า ในอดีตที่ผ่านมา หน่วยงานต่างๆ  ได้จัดทำผังการระบายน้ำตามภารกิจหน้าที่ของหน่วยงาน เช่น กรมชลประทาน จัดทำผังการระบายน้ำของแม่น้ำสายหลักต่างๆ ซึ่งอยู่ในรูปแบบของไดอะแกรมเส้นเพื่อให้มองถึงความเชื่อมโยงของระบบระบายน้ำต่างๆ หรือกรมโยธาธิการและผังเมืองจัดทำผังระบายน้ำตามพระราชบัญญัติการผังเมือง (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2558 ซึ่งแสดงผลเป็น 4 ผัง ได้แก่ 1.แผนผังกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินตามที่ได้จำแนกประเภท 2.แผนผังแสดงที่โล่ง 3.แผนผังแสดงโครงการคมนาคมและขนส่ง และ 4. แผนผังแสดงโครงการกิจการสาธารณูปโภคเพื่อการระบายน้ำ ซึ่งเป็นการแสดงถึงการกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ ในภาพรวมของแต่ละจังหวัด

     “สทนช.จะได้นำผังน้ำดังกล่าวมาต่อยอดผนวกรวมกับผังน้ำของต่างประเทศที่ออกแบบมาให้รับกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเน้นเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อม มีการกำหนดว่าต้องปลูกพืชชนิดใดใกล้แหล่งน้ำ เพื่อให้ได้ผังน้ำและรายการประกอบผังน้ำที่สมบูรณ์ที่สุด คาดว่าปีหน้า (พ.ศ.2563) จะได้รูปแบบผังน้ำเบื้องต้น โดยจะนำร่องที่ลุ่มน้ำชี หรือลุ่มน้ำเพชรบุรีก่อน ทั้งนี้ในการจัดทำจะมีการฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชนด้วยว่าคิดเห็นอย่างไรต่อผังน้ำ เมื่อประชาชนให้การยอมรับจึงจะนำเอารูปแบบที่ได้ไปต่อยอดจนครบทั้ง 22 ลุ่มน้ำของประเทศไทย ทั้งหมดจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในวันที่ 26 มกราคม 2564” 

           ดร.สมเกียรติ ย้ำด้วยว่าการจัดทำผังน้ำภายใต้พ.ร.บ.น้ำครั้งนี้ จะครอบคลุมระบบน้ำทั้งหมดในพื้นที่ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ซึ่งจะเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชนทั่วไปและหน่วยงานต่างๆ ทั้งในส่วนของผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำข้อมูล วิเคราะห์กำหนดผังน้ำ บังคับใช้ผังน้ำตามกฎหมาย และใช้ประโยชน์เพื่อไปประกอบเป็นข้อมูลในการดำเนินกิจกรรมด้านน้ำ ทั้งในภาวะปกติ ภาวะน้ำแล้ง ภาวะน้ำท่วม เช่น บ้านที่อยู่อาศัยหรือโรงงานอยู่ในเขตพื้นที่น้ำหลากหรือไม่ ระดับน้ำหลากที่เป็นไปได้ในคาบการเกิดต่างๆ นิคมอุตสาหกรรมที่จะก่อสร้างใหม่อยู่ในเขตน้ำหลากหรือไม่เป็น ตั้งอยู่ในพื้นที่กีดขวางการระบายน้ำหรือไม่ ระดับความสูงเท่าใดที่น้ำจะไม่ท่วมซ้ำซาก ช่องทางใดที่จะสามารถระบายน้ำหลากได้อย่างรวดเร็ว เป็นต้น อย่างไรก็ตาม สทนช.จึงต้องการเห็นรูปแบบและแนวคิดที่จะนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ให้มากที่สุดเพื่อให้แผนผังออกมาสมบูรณ์ที่สุด 

ได้ฤกษ์สร้างอาคารที่ทำการถาวร สทนช. 

         ได้ฤกษ์วางศิลาฤกษ์ไปเรียบร้อยแล้วเมื่อวันศุกร์ที่ 9 สิงหาคม  ที่ผ่านมา สำหรับอาคารที่ทำการถาวรสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ที่ ถ.ติวานนท์ ต.บางตลาด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี โดยได้รับเกียรติจาก พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มาเป็นประธานในพิธี

  เป็นอาคารอนุรักษ์พลังงานสูง 16 ชั้นและชั้นใต้ดิน 1 ชั้น สร้างบนเนื้อที่ 14 ไร่ 1 งาน ในพื้นที่ราชพัสดุ ซึ่งเดิมเป็นพื้นที่บางส่วนของกรมชลประทาน โดย สทนช. ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล ออกแบบตามกฎหมายและระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวข้องและยังออกแบบให้เป็นอาคารประหยัดพลังงานที่เลือกใช้กระจกชนิดที่มีค่าการส่งผ่านความร้อนต่ำเพื่อป้องกันความร้อนจากแสงแดดเข้าสู่ตัวอาคาร ลดการใช้พลังงานไฟฟ้าสำหรับระบบปรับอากาศได้เป็นจำนวนมาก 

  อีกทั้งคุณสมบัติพิเศษของกระจกยังไม่ทำให้เกิดการสะท้อนความร้อนไปรบกวนพื้นที่ข้างเคียงอีกด้วย พร้อมกับจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมแล้วเสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และจะได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างภายในเดือนสิงหาคม 2562 ระยะเวลาก่อสร้าง 18 เดือน (540 วัน) โดยสทนช.ได้พิจารณาคัดเลือกโครงการนี้เข้าร่วมโครงการความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐของกรมบัญชีกลาง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2562 และเป็นอาคารเขียวตามมาตรฐาน Thai’s Rating of Energy and Environmental Sustainability for New Construction (TREE-NC) ของสถาบันอาคารเขียวไทย ประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ภายใต้องค์ประกอบ สถานที่ยั่งยืน ระบบคมนาคมขนส่งสะดวก และมีประสิทธิภาพการใช้น้ำของอาคาร เสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีในการรักษาสิ่งแวดล้อมให้องค์กรอีกด้วย

     สำหรับอาคารแห่งนี้นอกจากจะใช้เป็นที่อาคารที่ทำการของ สทนช.แล้ว ยังจะใช้เป็นศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ ศูนย์กลางการบริหารงานด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ สามารถรองรับการประชุมนานาชาติได้อย่างสง่างาม รวมทั้งยังจะใช้เป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงข้อมูลด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นศูนย์วิจัยนวัตกรรม และฝึกอบรมด้านทรัพยากรน้ำ ตลอดจนใช้เป็นศูนย์บัญชาการเฉพาะกิจในกรณีเกิดปัญหาวิกฤติน้ำ 

 โดยเฉพาะชั้นที่ 14 จะเป็นที่ตั้งของห้องศูนย์บัญชาการน้ำ รวบรวม จัดเก็บ และวิเคราะห์ข้อมูลด้านทรัพยากรน้ำของประเทศเพื่อใช้ในการสนับสนุนการตัดสินใจด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของผู้นำประเทศ อีกทั้งภายในอาคารยังมีการออกแบบห้องศาสตร์พระราชาเพื่อเฉลิมพระเกียรติในหลวงรัชกาลที่ 9 เพื่อใช้เสริมสร้างการเรียนรู้และถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำสู่ภาคประชาชน ตลอดจนสืบสาน ต่อยอดพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 อีกด้วย

  ทั้งนี้การสร้างอาคารที่ทำการถาวรเพื่อรองรับขยายภารกิจและบทบาทหน้าที่ของสทนช.ใหม่ ในฐานะศูนย์กลางการบริหารจัดการน้ำของประเทศ ซึ่งประกอบด้วยหน่วยงานในส่วนภูมิภาคที่เรียกว่าสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติภาค (สทนช.ภาค) ประจำทั้ง 4 ภูมิภาค ครอบคลุม 22 ลุ่มน้ำหลักและ 353 ลุ่มน้ำสาขาทั่วประเทศ แบ่งเป็น สทนช.ภาค 1 รับผิดชอบพื้นที่ภาคเหนือ สำนักงานตั้งอยู่ที่จังหวัดลำปาง สทนช.ภาค 2 รับผิดชอบพื้นที่ภาคกลาง สำนักงานตั้งอยู่ที่จังหวัดสระบุรี สทนช.ภาค 3 รับผิดชอบพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สำนักงานตั้งอยู่ที่จังหวัดขอนแก่น และสทนช.ภาค 4 รับผิดชอบพื้นที่ภาคใต้ สำนักงานตั้งอยู่ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี 

  โดยปัจจุบันสำนักงานทั้ง 4 ภาค มีที่ทำการชั่วคราวและบุคลากรที่เริ่มดำเนินการตามภารกิจในพื้นที่แล้ว เพื่อร่วมกับคณะกรรมการลุ่มน้ำ องค์กรผู้ใช้น้ำในพื้นที่และจังหวัด ในการบูรณาการข้อมูล จัดทำแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาน้ำของลุ่มน้ำรวมถึงการบริหารจัดการน้ำให้เป็นรูปธรรม 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ