ข่าว

ตามกรมเจรจาฯล่องใต้ดูการแปรรูปยางพาราสหกรณ์ฯหนองครก

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ตามกรมเจรจาฯล่องใต้สู่เมืองพระยารัษฎา ดูการแปรรูปยางพาราสหกรณ์ฯหนองครก

 

      ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับสหรณ์กองทุนสวนยางเล็ก ๆ อย่าง“หนองครก”ที่สมาชิกร่วมกับต่อสู้ดิ้นรนจากปัญหาราคายางพาราตกต่ำ จนประสบความสำเร็จในการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์หมอนและที่นอนยางพาราและมีส่งออกไปยังจีนและประเทศในภูมิภาคอาเซียน

  

       “ท่องโลกเกษตร”อาทิตย์นี้ล่องใต้สู่จ.ตรัง เมืองพระยารัษฎาที่นำยางพารามาปลูกต้นแรกกับทีมผู้บริหารกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ นำโดย"บุณิกา แจ่มใส"ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาความพร้อมทางการค้า กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์เพื่อดูความสำเร็จในการดำเนินงานของสหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านหนองครก จำกัด ในต.หนองปรือ อ.รัษฎา จ.ตรัง ซึ่งเป็นสหกรณ์แห่งแรกของจังหวัดที่เดินหน้าแปรรูปยางพาราเป็นผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่าหลังเกิดปัญหาราคายางพาราตกต่ำมาตั้งแต่ปี 2559

          และทันทีที่เดินทางไปถึงก็ได้เข้ารับฟังการบรรยายสรุปความเป็นมาและการดำเนินกิจการของสหกรณ์ตั้งแต่เรื่องก่อตั้งจนถึงปัจจุบันจาก“มนัส หมวดเมือง” ผู้จัดการสหกรณ์ฯ โดยเขาให้ข้อมูลว่านับตั้งแต่มีการจดทะเบียนจัดตั้งสหกรณืเมื่อปี 2537 การดำเนินกิจการก็ล้มลุกคลุกคลานมาโดยตลอด แต่ด้วยความร่วมแรงร่วมใจของสมาชิกทำให้สหกรณ์เติบโตมาได้จนถึงวันนี้ สำหรับธุรกิจดั้งเดิมของสหกรณ์ฯนั้นเป็นยางแผ่นรมควัน โดยรับซื้อน้ำยางสดจากสมาชิก 

         ทว่าหลังจากราคายางตกต่ำในช่วงที่ผ่านมาจากในปี 2559 คณะกรรมการฯจึงมีแนวคิดนำน้ำยางพารามาแปรรูปเพิ่มมูลค่าเป็นผลิตภัณฑฺ์หมอนและที่นอนยางพารา โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณของจ.ตรังในการสร้างโรงงานจำนวน 12.35 ล้านบาทในโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ยางพาราและเครื่องจักรและอุปกรณ์การผลิตจากกรมส่งเสริมสหกรณ์จากงบประมาณโครงการไทยนิยมยั่งยืน จนสามารถผลิตหมอน ที่นอนยางพาราคุณภาพในระดับพรีเมี่ยม

          ปัจจุบันสหกรณ์ฯมีกำลังการผลิตหมอนและที่นอนยางพาราได้เฉลี่ยวันละ 1,000 ใบ โดยใช้น้ำยางข้น 60% เป็นวัตถุดิบหลักในการผลิต โดยหมอนยางพารามียอดขายเฉลี่ยวันละ 500 ใบ ราคาขยายส่งอยู่ที่ใบละ 300 บาท ส่วนขายปลีกอยู่ที่ 600-750 บาท โดยมีตลาดส่งออกหลักอยู่ที่ประเทศจีน เมียนมาร์และมาเลเซีย 

          "จีนเป็นตลาดหลักส่งไปเดือนละ 4,000 ใบ ที่นั้นเราได้ไปจดลิขสิทธ์เอาไว้ใช้แบรนด์ของเราเองคือ NONGKLOK(หนองครก) ส่วนเมียนมาร์และมาเลเซีย เรารับจ้างผลิต(OEM)ให้ลูกค้านำไปติดแบรนด์ของเขาเอง ตอนนี้ยอดในประเทศกับส่งออกมีสัดส่วน 60:40 ในอนาคตก็อยากจะส่งไปยังยุโรป ซึ่งขณะนี้ก็มีบางประเทศได้ติดต่อเข้ามาแล้ว"มนัสให้ข้อมูลด้านการตลาด

          หลังจากรับฟังข้อมูลในห้องประชุมสหกรณ์อยู่พักใหญ่จากนั้นมาดูกระบวนการผลิตหมอนและที่นอนยางพาราที่โรงงาน ตั้งอยู่ติดกับที่ทำการสหกรณ์ ซึ่งภายในเป็นที่ตั้งของเครื่องจักรและอุปกรณ์การผลิต จากนั้นมนัสได้นำพาเยี่ยมชมตามจุดต่าง ๆ พร้อมอธิบายกระบวนการผลิตในแต่ละขั้นตอนเรื่องจากการนำน้ำยางข้นเข้าสู่กระบวนการผลิตโดยเครื่องฉีดโฟม ซึ่งเขาบอกว่าเครื่องตัวนี้จะทำหน้าที่ผสมวัตถุดิบคือน้ำยางข้น 60%และสารเคมีต่าง ๆ เข้าด้วยกันจนเป็นเนื้อเดียวกัน จากนั้นฉีดโฟมยางพาราลงโมลด์หรือแม่พิมพ์แบบอัตโนมัติ

        “เราจะอยากได้หมอนรูปแบบใดก็ต้องใช้โมลด์หรือแม่พิมพ์แบบนั้น จะเห็นว่าเนื้อโฟมยางจะนุ่นขาวละเอียด บ่งบอกถึงคุณภาพของเนื้อหมอน”เขาชี้ให้ดูเนื้อโฟมยางพาราในแม่พิมพ์ จากนั้นนำเข้าสู่ตู้นึ่งไอน้ำเพื่อทำให้เนื้อหมอนสุก โดยใช้เวลานิ่งประมาณ 1 ชั่วโมง จากนั้นจึงแกะออกจากแม่พิมพ์นำมาล้างทำความสะอาดด้วยระบบทำความสะอาดอัตโนมัติ เสร็จแล้วนำเข้าเครื่องปั่นหมาดและเข้าตู้อบแห้ง จากนั้นก็นำมาผึ่งลม ก่อนทำให้ใส่ปลอกหมอนบรรจุดแพคเก็จจิ้งเพื่อส่งให้กับลูกค้าต่อไป

         บุณิกา แจ่มใส ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาความพร้อมทางการค้า กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศกล่าวภายหลังนำคณะสื่อมวลชนเยี่ยมชมโรงงานการการผลิตหมอนและที่นอนยางพาราของสหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านหนองครก จำกัด โดยระบุว่าต้องขอชื่นชมความสามารถของกลุ่มชุมชนชาวสวนยยางที่นี่มากหลังจากเกิดวิกฤติราคายางช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทางกลุ่มใช้วิธีการเพิ่มมูลค่าแปรรูปเพื่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น โดยการช่วยเหลือจากหน่วยภาครัฐหลาย ๆ หน่วยงานไม่ว่าจะเป็นกรมส่งเสริมสหกรณ์ การยางแห่งประเทศไทย(กยท.) ธ.ก.ส. รวมถึงทางจังหวัดตรังได้เข้ามาช่วยในเรื่องเงินทุนการกู้ยืมจนปัจจุบันสหกรณ์ฯมีโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพาราที่ทันสมัยและสามารถแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ได้อย่างหลากหลาย

      "ได้คุยกับทางผู้จัดการสหกรณ์หลังราคายางตกต่ำเหลือกิโลละ 43 บาทในวันนี้ แต่เขาสามารถนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น หมอน หรือที่นอนสามารถเพิ่มมูลค่าสูงขึ้นมากกว่า 100 เปอเซนต์ ซึ่งตรงนี้สามารถช่วยเหลือชุมชนและเกษตรกรเพิ่มรายได้ให้กับตัวเอง โดยไม่ต้องหวังพึ่งราคายางที่เป็นไปตามกลไกตลาดโลก ซึ่งเราไม่สามารถกำหนดเองได้ แต่การแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ของที่นี่เขาสามารถกำหนดราคาเองได้"

     ผอ.บุณิกายังกล่าวถึงการนำคณะสื่อมวลชนมาดูงานในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์สร้างความตระหนักรับรู้ในเรื่องการค้าเสรีหรือเอฟทีเอแก่เกษตรกร ซึ่งเป็นต้นทางการผลิต เนื่องจากปัจจุบันอัตราภาษีหลายรายการใน 18 ประเทศทั่วโลกที่มีข้อตกลงทางการค้าเสรีหรือเอฟทีเอกับประเทศไทยได้ลดลงมาเป็นศูนย์  จึงอยากจะขี้ช่องทางให้ผู้ประกอบการที่เป็นสถาบันเกษตรกร กลุ่มสหกรณ์ต่า่ง ๆ ได้รับทราบเพื่อเป็นช่องทางในการขยายตลาดออกไป 

 

     "อุปสรรควันนี้เป็นเรื่องการพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพคงที่และได้มาตรฐาน อย่างสหกรณ์ฯหนองครกตอนนี้เขาผลิตได้มาตรฐานในระดับหนึ่ง ยิ่งถ้าส่งไปยุโรปก็คงต้องทำให้มีมาตรฐานเพิ่มตามที่เขากำหนดต่อไป สิ่งที่อยากฝากนอกเหนือจากการผลิตแล้วควรนำเอานวัตกรรมใหม่ ๆ มาช่วยให้เกิดการพัฒนาที่เป็นรูปธรรมยิ่งขึ้นด้วย" 

          สนใจหมอนและที่นอนยางพาราคุณภาพส่งออกสหกรณ์ฯหนองครกสามารถติดต่อได้ที่มนัส หมวดเมือง ผู้จัดการสหกรณ์ฯโทร.08-6940-2165 ได้ตลอดเวลา

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ