ข่าว

วิธีคิดทำธุรกิจทุเรียนทอดคนรุ่นใหม่

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์ -ทำกินถิ่นอาเซียน โดย - รศ.ดร.พิชัย ทองดีเลิศ   [email protected] 

               ในชีวิตการทำงานเป็นอาจารย์ของผม นอกเหนือจากการได้สอนและถ่ายทอดความรู้ให้กับนิสิตในระดับ ปริญญาตรี ปริญญาโทและปริญญาเอกแล้ว สิ่งที่ผมรู้สึกว่าเป็นผลพลอยได้ที่ได้รับกลับตอบแทนมาก็คือความรู้และประสบการณ์ที่ได้นิสิตได้สะท้อนกลับมาให้เรา ซึ่งการเรียนการสอนในทุกวันนี้จะไปในลักษณะของ Collaborative learning หรือที่เรียกว่าการเรียนแบบร่วมมือ คือทั้งคนเรียนและคนสอนต้องช่วยกันในการถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนความรู้กันรวมทั้งร่วมมือช่วยกันในการทำงานและงานวิจัยต่างๆ ซึ่งข้อดีก็คือใครเก่งเรื่องไหนก็ถ่ายทอดเรื่องนั้นๆให้คนอื่น ความรู้ทางทางเกษตรส่วนหนึ่งที่ผมได้รับก็เป็นผลพวงส่วนหนึ่งที่ได้รับจากนิสิตที่สอนและร่วมทำงานวิจัยกับเรานั่นเอง

   

             เมื่อประมาณเดือนที่แล้วมีนิสิตปริญญาโทคนหนึ่ง ชื่อนายธิปไตย สว่างไสว เป็นชาวจันทบุรี และที่บ้านก็ทำสวนทุเรียนมีพื้นที่อยู่พอสมควร และสนใจทำวิจัยเรื่องการปลูกทุเรียนในระบบ GAP แต่ประเด็นที่จะคุยให้ฟังในวันนี้ไม่ใช่เรื่องการปลูกทุเรียนครับ แต่เป็นเรื่องของวิธีคิดในการทำธุรกิจทุเรียนทอด ซึ่งนิสิตคนนี้ได้เล่าเรื่องและฉายภาพถึงการทำธุรกิจขายทุเรียนทอดนอกเหนือจากการขายทุเรียนสดตามฤดูกาล ซึ่งทั้งหมดนี่ก็เป็นธุรกิจของครอบครัวซึ่งตัวนิสิตเองก็ได้มีส่วนร่วมทำมาตั้งแต่เด็กๆ

                 โดยได้เล่าให้ผมว่าสวนทุเรียนที่มีอยู่ก็ทำกันมาตั้งแต่ยุคปู่ย่าตายาย ในตอนแรกก็มีพื้นที่จำนวนไม่มากแต่ต่อมาภายหลังก็ได้มีการซื้อพื้นที่เพิ่มเติมเพื่อขยายพื้นที่ในการปลูก เนื่องจากเห็นว่าเป็นผลไม้ที่สร้างรายได้เป็นหลักได้ถ้ามีวิธีการปลูกและดูรักษาดีก็สามารถสร้างผลผลิตที่ดีตามความต้องการของตลาดได้ ยิ่งมาในช่วงหลังทุเรียนกลายเป็นผลไม้ที่มีความต้องการจากต่างประเทศมากและมีบรรดาล้งจีนต่างๆเข้ามารับซื้อถึงที่ และนอกเหนือจากนี้ก็ยังสามารถขายให้กับตลาดภายในประเทศได้

                ส่วนในเรื่องของทุเรียนทอดนั้น ธิปไตยได้บอกว่าเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่สามารถสร้างมูลค่าของทุเรียนได้อีกทางหนึ่งและมีตลาดรองรับค่อนข้างมาก ทางครอบครัวจึงได้เริ่มทำทุเรียนทอดโดยในช่วงแรกก็ใช้ทุเรียนในสวนที่ปลูก และจ้างคนงานทำในทุกกระบวนการตั้งการปอก การหั่น การทอด และการบรรจุและนำไปขายที่ตลาดเอง แต่เมื่อผ่านมาระยะหนึ่งก็ดูว่ามีต้นทุนที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบการลงทุนในการผลิตของที่มีคุณภาพออกสู่ตลาด 

              จากตรงนี้เองทำให้ต้องปรับเปลี่ยนวิธีการในการประกอบการ โดยเริ่มจากการไม่ใช้ทุเรียนจากสวนตัวเอง แต่ไปใช้วิธีการซื้อทุเรียนจากล้งจีนที่มีราคาต้นทุนถูกกว่าและสามารถเลือกคุณภาพได้ตามความต้องการ จากนั้นก็ลดเรื่องของจ้างแรงงานโดยนำทุเรียนที่ซื้อมาไปจ้างผู้ประกอบการที่รับจ้างทอด ซึ่งจะทำให้ตั้งแต่ การปอก การหั่น การทอด และการบรรจุลงในบรรจุภัณฑ์ ซึ่งขั้นตอนเราสามารถเลือกรายละเอียดได้ตามความต้องการที่สอดคล้องกันระหว่างราคาและคุณภาพ ซึ่งสามารถจัดเป็นเกรดได้ตามความต้องการของผู้ว่าจ้าง โดยวิธีการที่ว่านี้สามารถทำให้สามารถบริหารจัดการในเรื่องของเวลา ทรัพยากร และต้นการผลิตได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังเป็นวิธีการที่ค่อนข้างสะดวกและสามารถทำให้แบ่งเวลาไปทำธุรกิจอื่นๆต่อยอดได้อีก

        

 

      แต่ในการทำธุรกิจประเภทนี้สิ่งที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือเรื่องของการตลาด เนื่องจากธุรกิจทุเรียนทอดเองก็มีผู้ประกอบการทำเป็นจำนวนมาก ดังนั้นเรื่องของคุณภาพ รสชาติที่แปลกใหม่ ขนาด บรรจุภัณฑ์ที่ทันสมัย การส่งเสริมการขายและการตลาดสินค้าออนไลน์ที่อำนวยความสะดวกในการซื้อ ก็เป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญและมีการพัฒนาให้ดีและทันสมัยขึ้นตลอดเวลา เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปอยู่ตลอดเวลา และเพื่อเป็นการรักษาฐานลูกค้าเก่าและสร้างฐานลูกค้าใหม่ต่อไปในอนาคต

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ