ข่าว

กปม.นำชม "เรือมณีเงิน 5 "เรือลำแรกหลังไทยปลดใบเหลืองจากEU 

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

กปม.นำชม "เรือมณีเงิน 5 "เรือลำแรกหลังไทยปลดใบเหลืองจากEU 

         วันพุธที่ 31 กรกฎาคม 2562 ณ ท่าเทียบเรือแพป.ชานนท์ นายอรุณชัย พุทธเจริญ รองอธิบดีกรมประมง นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่จังหวัดตรัง เยี่ยมชมผลการออกทำประมงนอกน่านน้ำของ “เรือมณีเงิน 5” เรือประมงนอกน่านน้ำลำแรกที่ได้รับอนุญาตให้ออกทำการประมงนอกน่านน้ำไทยหลังประกาศใช้กฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตทำการประมงนอกน่านน้ำไทย พ.ศ.2562 และหลังจากที่สหภาพยุโรปได้ประกาศปลดสถานะใบเหลืองให้กับประเทศไทย

กปม.นำชม "เรือมณีเงิน 5 "เรือลำแรกหลังไทยปลดใบเหลืองจากEU 

 

             นายอรุณชัย พุทธเจริญ รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า หลังจากที่กรมประมงอนุญาตให้ เรือมณีเงิน 5ออกทำการประมงนอกน่านน้ำไทยเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2562 ในบริเวณพื้นที่ Saya de Malha Bank ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของกรอบความร่วมมือว่าด้วยการทำประมงในพื้นที่มหารสมุทรอินเดียตอนใต้ (SIOFA)ซึ่งไทยได้เข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิกตั้งแต่พฤษภาคม 2560 ขณะนี้เรือลำดังกล่าวได้แจ้งกลับเข้าเทียบท่าเรียบร้อยแล้ว

             กรมประมงได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการตรวจเรือ เพื่อลงพื้นที่เข้ามาร่วมตรวจสอบข้อมูลตามมาตรฐานขั้นตอนการปฎิบัติงานของแต่ละหน่วยงาน โดยในวันนี้หลังจากที่ทุกหน่วยงานได้ตรวจสอบและเก็บข้อมูลเรียบร้อยแล้ว ทางกองควบคุมการประมงนอกน่านน้ำและการขนถ่ายสัตว์น้ำ กรมประมง จะทำการปิดฝาระวางเพื่อทำการตรวจสอบข้อมูลจากระบบเฝ้าติดตามอิเล็กทรอนิกส์ โดยจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 24 ชม. เมื่อเสร็จสิ้นขั้นตอนการตรวจสอบแล้วจึงจะอนุญาตให้นำสัตว์น้ำขึ้นท่าได้ ซึ่งในขั้นตอนนี้คาดการณ์ว่าจะใช้เวลาดำเนินการให้แล้วเสร็จประมาณ 4 – 10 วัน

               “ เรือมณีเงิน 5 “ เป็นเรือประมงนอกน่านน้ำมีขนาด 312 .73 ตันกรอส ทำประมงด้วยเครื่องมืออวนลากแผ่นตะเฆ่/เบ็ดมือ ได้แจ้งออกทำการประมงนอกน่านน้ำเป็นระยะเวลา 75 วัน มีการลงทำประมงทั้งหมด 120 ครั้ง แบ่งเป็นอวนลากแผ่นตะเฆ่ 96 ครั้ง เบ็ดมือ 24 ครั้ง สามารถจับสัตว์น้ำได้ทั้งหมด 253.8 ตัน โดยอวนลากสามารถจับสัตว์น้ำได้ทั้งหมด 222.2 ตัน ซึ่งประกอบด้วย ปลาปากคม 77,099 กก. ปลาทูแขก 42,124 กก. ปลาทรายแดง 34,804 กก. และปลาอื่นๆ 68,245 กก. และเบ็ดมือ จับสัตว์น้ำได้จำนวน 31.6 ตันซึ่งประกอบด้วย ปลาตะคอง 25,130 กก. ปลากะพงแดง1,364 กก. ปลาหมูสี 1,301 กก. และปลาอื่นๆ 3,807 กก.

                โดยระหว่างการออกทำประมงนอกน่านน้ำ กรมประมงได้เฝ้าติดตามพฤติกรรมการเดินเรือและพฤติกรรมการทำประมงตลอด 24 ชั่วโมง โดยใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ทันสมัยและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ประกอบด้วย ระบบระบุตำแหน่งเรือประมง (VMS) ระบบการรายงานทางอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Recording and Reporting System : ERS) ซึ่งเป็นช่องทางในการรายงานผลการทำประมง และการขออนุญาตขนถ่ายสัตว์น้ำเพื่อป้องกันปัญหาการทำประมง IUU ในด้านของการขาดการรายงาน และระบบเฝ้าติดตามอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic monitroing system : EM)

                 โดยระบบดังกล่าวจะประกอบด้วยกล้องวงจรปิด (CCTV) ซึ่งบันทึกพฤติกรรมตั้งแต่เรือออกจากท่า จนกระทั่งกลับเข้าท่าและยังได้มีการติดตั้งระบบเซ็นเซอร์บนกว้านที่ใช้ทำการประมงและฝาระวางเก็บสัตว์น้ำ เมื่อมีกิจกรรมการทำประมง ระบบจะส่งสัญญาณการเริ่มและเลิกกิจกรรมเข้ามาในระบบเฝ้าระวังของกรมประมงโดยอัตโนมัติ อีกทั้งหากพบว่าเรือประมงมีพฤติกรรมต้องสงสัย กรมประมงสามารถร้องขอภาพเพื่อให้ระบบถ่ายภาพส่งเข้ามายังระบบเฝ้าระวังได้

            นอกจากนี้ ยังได้จัดส่งผู้สังเกตการณ์บนเรือ (Observer on Board) ร่วมออกเดินเรือทำหน้าที่เป็นผู้สังเกตการณ์บนเรือประมงตลอดเวลา100 % ตั้งแต่ออกเดินทางจากไทยจนกระทั่งกลับไทย ซึ่งเป็นไปตามข้อกำหนดของ SIOFA สำหรับเรือประมงอวนลากที่จะต้องมีผู้สังเกตการณ์บนเรือตลอดเวลาที่ทำการประมง เพื่อทำหน้าที่เก็บข้อมูลทางวิทยาศาสตร์และสังเกตุการณ์พฤติการณ์การทำประมงของเรืองนอกน่านน้ำ รวมถึงประเด็นอื่นที่น่าสนใจ อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในการทำการประมง เช่น จำนวนเรือของประเทศอื่น ๆ อย่างไรก็ตามหลังจากนี้ เจ้าหน้าที่จะทำการถอดวิดีโอที่บันทึกภาพเหตุการณ์ตั้งแต่เรือออกจากท่าจนกระทั่งเรือกลับเข้าท่า นำไปวิเคราะห์พฤติกรรมการทำประมงอย่างละเอียดอีกครั้ง

              การทำประมงในพื้นที่อยู่ภายใต้ความตกลงว่าด้วยการประมงในมหาสมุทรอินเดียตอนใต้ SIOFAจะทำการประเมินระดับการปฏิบัติตามของแต่ละภาคีสมาชิก โดยใช้ SIOFA Compliance Monitoring Scheme ซึ่งแบ่งเป็น 3 ระดับ ได้แก่ Compliance, Non-compliance และ Critically Non-Compliance ซึ่งประเทศไทยสามารถปฏิบัติตามมาตรการอนุรักษ์และบริหารจัดการทรัพยากรของ SIOFA ได้ครบถ้วนทุกข้อและตามกำหนดกรอบเวลา จึงจัดอยู่ในประเทศ Compliance ซึ่งมีเพียงประเทศไทยและฝรั่งเศสเท่านั้น ที่จัดอยู่ในกลุ่มนี้ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมากรมประมงได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์ตามมาตรฐานสากลของเรือประมงที่จะออกทำการประมงนอกน่านน้ำ ได้อย่างสอดคล้องกับระเบียบและมาตรฐานขององค์การระหว่างประเทศมากยิ่งขึ้น

        

        การดำเนินการดังกล่าวนับเป็นการปฏิรูปและปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำประมงนอกน่านน้ำได้อย่างเป็นระบบ ซึ่งผลที่ให้เห็นชัดเจนที่สุด นั่นก็คือ ขณะนี้เรือประมงนอกน่านน้ำของไทยสามารถออกไปทำการประมงนอกน่านน้ำได้อย่างมีศักดิ์ศรี ทำให้เห็นว่านานาประเทศมีความเชื่อมั่นในการทำการประมงของเรือประมงไทยว่ามีระบบการบริหารจัดการการทำประมงนอกน่านน้ำที่มีประสิทธิภาพได้มาตรฐาน ซึ่งถือเป็นโอกาสเริ่มต้นที่ดีของเรือประมงไทย ที่จะได้มีโอกาสแสวงหาแหล่งทำการประมงใหม่ๆ นอกน่านน้ำไทย 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ