ข่าว

ถอดรหัส"เอสเอ็มอี"ยุค4.0 จากผลิตภัณฑ์พื้นบ้านสู่ร้านเซเว่นฯ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

 ถอดรหัส"เอสเอ็มอี"ยุค4.0 จากผลิตภัณฑ์พื้นบ้านสู่ร้านเซเว่นฯ

             “การนำสินค้าเข้าเซเว่นฯ เป็นเพียงแค่ปฐมบท ถ้าเปรียบกับหนังสือเป็นแค่หน้าแรกหน้าสารบัญ ยังมีรายละเอียดอีกมากจะทำอย่างไรให้สินค้าของเราอยู่บนเชลฟ์ได้นานๆ ยังเป็นที่ต้องการของลูกค้า ฉะนั้นการเอาสินค้าเข้าเซเว่นฯ ถือว่ายากแล้ว แต่การที่ทำให้สินค้าอยู่ได้นานนั้นยากยิ่งกว่า”

ถอดรหัส"เอสเอ็มอี"ยุค4.0 จากผลิตภัณฑ์พื้นบ้านสู่ร้านเซเว่นฯ

 

             การกล่าวเปิดประเด็นของ ดร.โอเล่ หรือ ดร.ธนธรรศ สนธีระ กรรมการผู้จัดการบริษัท สยามเนเชอรัล โปรดักส์ จำกัด เจ้าของเครื่องสำอางแบรนด์ “สโนว์เกิร์ล” บนเวทีเสวนา “ถอดรหัสความสำเร็จธุรกิจเอสเอ็มอียุค 4.0” ในงานวันโอกาสดี @ ซีพี ออลล์  ณ ห้องบอลรูม โรงแรมพูลแมน จ.ขอนแก่น เมื่อวันก่อน เป็นการจุดประกายให้ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ให้ความสำคัญในตัวสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ในทุกมิติ 

ถอดรหัส"เอสเอ็มอี"ยุค4.0 จากผลิตภัณฑ์พื้นบ้านสู่ร้านเซเว่นฯ

 ดร.โอเล่ หรือ ดร.ธนธรรศ สนธีระ

             ดร.โอเล่ ยอมรับว่าไม่ง่าย การผลิตสินค้าขึ้นมาสักตัวแล้วได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคในเวลาอันรวดเร็ว นอกจากกระบวนการผลิตที่ได้คุณภาพและมาตรฐานแล้วการตลาดก็เป็นสิ่งสำคัญ สินค้าดีแต่ไม่มีใครรู้จักก็ไม่มีประโยชน์ ดังนั้นการสร้างแบรนด์สินค้าให้เป็นที่รู้จักของผู้บริโภคนั้นเริ่มจากการการส่งผลิตภัณฑ์เข้าประกวดในเวทีต่างๆ เพื่อให้สินค้าของเรามีคนรู้จักมากขึ้นและการนำสินค้าเข้าจำหน่ายในเซเว่น อีเลฟเว่น 

            "ผมก็เลยส่งประกวดทุกเวที แบรนด์แรกสุดเป็นโอท็อป ผลิตภัณฑ์เป็นแชมพู ใช้ชื่อสุภัทรา มาแบรนด์ที่สองเป็นเนเจอร์ลิสต์ ขยับมาเป็นเอสเอ็มอีแล้ว ก่อนมาลงร้านเซเว่นฯ ภายใต้แบรนด์ “สโนว์เกิร์ล” ดร.โอเล่ เผย

              แม้วันนี้ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางภายใต้แบรนด์สโนว์เกิร์ลจะเป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคผ่านช่องทางการจำหน่ายหลักอย่างเซเว่น อีเลฟเว่น ที่มีอยู่กว่าหนึ่งหมื่นหนึ่งพันสาขาทั่วประเทศ แต่นั่นเขามองว่าเป็นแค่ปฐมบทเท่านั้น เป็นแค่ด่านแรกในการทดสอบ สิ่งสำคัญจะทำอย่างไรต่อไปเพื่อให้สินค้าของเราวางอยู่บนเชลฟ์ให้นานที่สุด

             “เครื่องสำอางเป็นแฟชั่นไม่เหมือนอาหาร เป็นสินค้าที่ตกเทรนด์เร็วมาก ถ้าไม่แน่จริงคุณจะอยู่ได้ไม่นานหรอก โจทย์ของเราก็คือทำอย่างไรให้มีผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ๆ ออกมาสู่ตลาดอยู่เสมอ ในเซเว่นฯ ตอนนี้ก็มีสิบกว่าตัว มีตั้งแต่หัวจรดเท้า บอดี้โลชั่น ครีมทาหน้า แชมพู ทำการตลาดมีทั้งออนเชลฟ์และออนไลน์ ขายตามแคตตาล็อก” 

                สำหรับ ดร.โอเล่ นั้นกว่าจะมาถึงวันนี้ไม่ใช่เรื่อง่ายต้องฝ่าฟันอุปสรรคมามากมาย จากเด็กบ้านนอกลูกแม่ค้าขายขนมครก ครอบครัวมีฐานะยากจนต้องต่อสู่ดิ้นรนเรียนจบปริญญาเอกด้านเวชสำอาง ก่อนจะประสบความสำเร็จในธุรกิจในวันนี้

             ในขณะที่ "จักรินทร์ โพธิ์งาม" ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกล้วยหอมทองสานน้ำโขง อ.สร้างคอม จ.อุดรธานี แม้มีความรู้แค่มัธยมปลายแต่สามารถสร้างรายได้นับร้อยล้านในกิจการกล้วยหอมทองให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนกล้วยหอมทองสานน้ำโขงและเครือข่ายที่มีอยู่ทั่วประเทศ จากชีวิตเด็กบ้านนอกครอบครัวมีอาชีพทำนา  เสร็จจากนาก็มุ่งหน้าขายแรงงานที่กรุงเทพฯ ใช้ชีวิตแบบนี้อยู่ 3 ปี ในที่สุดก็โบกมืออำลาชีวิตขายแรงงานกลับมาลงหลักปักฐานด้วยการปลูกกล้วยหอมทองที่บ้านเกิด

              “ผมเป็นลูกชาวนา จบการศึกษาแค่ม.6 เสร็จจากทำนามาหางานทำที่กรุงเทพฯ มีงานอะไรให้ทำก็ทำหมด พอถึงหน้านาก็กลับบ้านไปทำนาต่อ  เป็นอย่างนี้อยู่ประมาณ 3 ปี พ่อบอกว่าไม่อยากให้ไปทำงานที่กรุงเทพฯ แล้ว หาอะไรทำอยู่ที่บ้านนี่แหละ ปลูกอ้อย ปลูกมันก็ไม่ไหว  พอดีในละแวกบ้านมีการปลูกกล้วยหอมทองก็เลยลองปลูกดูบ้าง แต่ไม่มีความรู้ ไม่มีประสบการณ์การตลาด”

               จักรินทร์ เผยต่อว่า จากนั้นก็ค้นคว้าศึกษาข้อมูลการปลูกกล้วยหอมทองด้วยตัวเอง  ปรึกษาผู้รู้ตลอดจนไปดูงานตามที่ต่างๆ และสุดท้ายมีโอกาสมาร่วมฟังการสัมมนา “การปลูกกล้วยหอมทอง อนาคตสดใสจริงหรือ?” จัดโดยสมาคมสื่อมวลชนเกษตรฯที่ ม.เกษตรศาสตร์ บางเขน เมื่อ 20 ปีที่แล้ว การเข้าร่วมสัมมนาในครั้งนั้นได้จุดประกายให้มีความมุ่งมั่นในการปลูกพืชชนิดนี้ ด้วยความหวังว่าจะมีโอกาสทำเงินได้มากกว่าพืชชนิดอื่น

                “ในภาคอีสานเมื่อ 20 ปีที่แล้ว กล้วยน้ำว้าหวีละ 3 บาท 5 บาท  กล้วยหอมทองหวี 10 บาท ส่วนใหญ่ผู้บริโภคซื้อไปไหว้เจ้า แต่ต้องบรรทุกรถมาขายในตัวจังหวัด กล้วยหอมจะออกชุกในช่วงเดือนสิงหาถึงตุลา ปีนั้นผมโชคดี ช่วงออกพรรษามีเทศกาลบั้งไฟพญานาค ที่ อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย มีนักท่องเที่ยวมาเยอะมาก กล้วยของผมออกช่วงนั้นพอดีมีเท่าไหร่ขายเกลี้ยงและเป็นตัวจุดประกายให้เราเดินหน้าพัฒนาต่อไปจนมาถึงในวันนี้”

               ใครปลูกอะไรขายได้ราคาดีก็จะแห่กันปลูก เป็นสัจธรรมลัทธิเอาอย่างของเกษตรกรทั่วไทย ไม่เว้นแม้กระทั่งในพื้นที่ละแวกบ้านของจักรินทร์ใน อ.สร้างคอม จ.อุดรธานี ที่ทุกคนมุ่งมาปลูกกล้วยหอมทอง ส่งผลให้แย่งกันปลูก แย่งกันขาย แย่งกันตัดราคา เป็นโอกาสของพ่อค้าคนกลางในการเข้ามาตั้งราคารับซื้อได้ตามอำเภอใจ  จนในที่สุดก็มีการจัดตั้งเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนให้ชาวบ้านที่ปลูกกล้วยหอมทองทุกคนมาเป็นสมาชิก หลังเจอวิกฤติด้านราคาจากปัญหาที่เกิดขึ้น

                 “ในต่างจังหวัดสินค้าตัวไหนที่ผลิตได้แล้วขายดีเขาก็จะทำตามกัน ทำให้สินค้าเราล้นตลาดเมื่อปี 2542-2543 จากหวีละ 20 บาทเหลือไม่ถึง 10 บาท หลังจากนั้นก็วางแผนคุยกันว่าแต่ละฟาร์มจากนี้ไปเราจะเดินกันต่อยังไง ถ้าทุกคนไม่หันหน้าเข้าหากัน แย่งกันปลูก แย่งกันขาย  พวกเราตายแน่ ก็เลยตั้งวิสาหกิจชุมชนขึ้นมา มีการรวางแผนการผลิต ปลูกช่วงนี้ ขายช่วงนี้ ช่วงหลังมีตลาดส่งออกเข้ามาด้วยส่งไปญี่ปุ่นแล้วก็ส่งเซเว่นฯด้วย” ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกล้วยหอมทองสานน้ำโขงกล่าวย้ำบนเวทีเสวนา

                   ปัจจุบันการผลิตกล้วยหอมทองของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกล้วยหอมทองสานน้ำโขงมีกำลังการผลิตเฉลี่ยสัปดาห์ละ 10 ตัน  โดยผลผลิตเกือบทั้งหมดส่งเซเว่น อีเลฟเว่น ซึ่งผ่านกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐาน ปราศจากสารเคมีใดๆ  ตั้งแต่การปลูก การดูแลรักษา การเก็บเกี่ยว การบ่ม ตลอดจนการบรรจุภัณฑ์ โดยสามารถวางอยู่ในเซเว่นฯ ได้ไม่ต่ำกว่า 5 วัน 

ถอดรหัส"เอสเอ็มอี"ยุค4.0 จากผลิตภัณฑ์พื้นบ้านสู่ร้านเซเว่นฯ

     สมาน กลิ่นนาคะนกร ประธานกลุ่มขนมหวานพื้นเมืองแม่สมาน

                 สมาน กลิ่นนาคะนกร ประธานกลุ่มขนมหวานพื้นเมืองแม่สมาน เจ้าของผลิตภัณฑ์ขนมหวาน “เพชรบ้านแจม” จ.เพชรบุรี  เจ้าของโรงงานขนมหวานนชื่อดังเมืองเพชรบุรี เป็นเอสเอ็มอีชาวบ้านอีกรายที่มีผลิตภัณฑ์วางจำหน่ายอยู่ในเซเว่นฯ มากว่า 10 ปี อาทิ ขนมใส่ไส้ ขนมผิงคลุกงา ลูกอมถั่วกรอบ ลีลาวดี ทองม้วนน้ำตาลโตนด เป็นต้น  ปัจจุบันยอดขายแต่ละเดือนเป็นหลักล้าน

           สมานเติบโตมาจากแม่ค้าหาบเร่ธรรมดา ยึดอาชีพขนมพื้นบ้านขายในหมู่บ้าน ก่อนขยายวงนำส่งร้านค้าดังใน จ.เพชรบุรี เริ่มจากขนมพื้นเมืองเพชรบุรี อย่าง ขนมหม้อแกง ก่อนพัฒนาต่อยอดไปสู่ผลิตภัณฑ์ตัวอื่นๆ ที่สามารถเก็บไว้ได้นาน โดยไปดูงานวิธีการทำขนมหวานชื่อดังทั่วเมืองไทยก่อนนำมาปรับประยุกต์ใช้ในสูตรของตัวเอง โดยใช้วัตถุดิบในพื้นที่เป็นหลัก

   

       อย่างเช่นขนมหวานที่อื่นเขาใช้น้ำตาลทราย แต่ของป้าใช้น้ำตาลโตนด เพราะบ้านเราเป็นแหล่งผลิตน้ำตาดโตนด” สมานเผย พร้อมย้ำว่าสินค้าตัวแรกเข้าเซเว่นฯ เป็นผลิตภัณฑ์ข้าวแต๋นน้ำแตงโม ก่อนจะมีสินค้าอีกหลายตัวตามมา โดยปัจจุบันผลิตภัณฑ์ขนมหวานเพชรบ้านแจมในเซเว่นฯ จะมีสินค้าตัวใหม่ที่พัฒนาต่อยอดจากตัวเดิมเสริมเข้ามาในทุกๆ สองเดือนเพื่อดึงดูดความสนใจของผู้บริโภค 

             “เมื่อก่อนมีเพียงขนมหม้อแกง ต้องทำของสดวันต่อวัน ทำทุกวันส่งตามร้านดังๆ ในเพชรบุรี ไม่มีเวลาพักผ่อน ไม่ได้คิดทำเข้าเซเว่นฯ ด้วยซ้ำ  พอทำขนมแห้งจึงได้พักผ่อนบ้าง พอส่งเซเว่นฯ ได้ก็ดีใจมาก” สมานกล่าวอย่างภูมิใจ  

            นี่เป็นส่วนหนึ่งในเรื่องราวของความสำเร็จของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีความมุ่มมั่นพัฒนามาตรฐานสินค้ามีคุณภาพจนเป็นที่ยอมรับของลูกค้าและกลายเป็นผลิตภัณฑ์เด่นในร้านสะดวกซื้ออย่าง “เซว่น อีเลฟเว่น” ในทุกวันนี้

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ