ข่าว

 เสียงเพรียกจากทุ่งกุลาฯผ่าแผน...ฝ่าวิกฤติฝนทิ้งช่วง2562

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

 เสียงเพรียกจากทุ่งกุลาฯผ่าแผน...ฝ่าวิกฤติฝนทิ้งช่วง2562

             กลายเป็นวาระแห่งชาติของรัฐบาลไปแล้วสำหรับวิกฤติภัยแล้งวันนี้ซึ่งเป็นไปตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ไว้ว่าปีนี้ยังจะเกิด ปรากฏการณ์เอลนีโญอ่อน ซึ่งจะทำให้อุณหภูมิของอากาศจะสูงกว่าปกติ ทำให้เกิดสภาวะความแห้งแล้ง ฝนทิ้งช่วง และปริมาณฝนจะน้อย ส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตรอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะพื้นที่การเกษตรนอกเขตชลประทานกว่า 110 ล้าน จากทั้งหมด 146 ล้านไร่จะได้รับอานิสงส์จากฝนทิ้งช่วงในยามนี้มากที่สุด โดยเฉพาะพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ แหล่งปลูกข้าวหอมชั้นดีในภาคอีสาน ขณะนี้ข้าวที่ปลูกไว้กำลังแห้งตายเป็นจำนวนมาก

 

            “ภัยแล้งปีนี้กระทบโดยตรงต่อสมาชิกกว่า 9,000 ครอบครัว และนาข้าวกว่า 179,000 ไร่ ที่ทำกันมาตั้งแต่เดือนเมษายน ไม่เคยมีน้ำขังในนามาก่อนจนปัจจุบัน หากในเดือนนี้น้ำไม่มี จะสร้างความเสียหายรุนแรงให้นาข้าวหอมมะลิที่ดีที่สุดของทุ่งกุลาร้องไห้ ที่เป็นแหล่งผลิตข้าวส่งครัวไทยครัวโลก”

             เสียงอ้อนวอนจาก “บุญเกิด ภานนท์” ประธานสหกรณ์การเกษตรเกษตรวิสัย อ.เกษตรวิสัย จ.ร้อยเอ็ด ที่ขอความช่วยเหลือไปยังหน่วยฝนหลวงเพื่อช่วยนาข้าวเกือบ 2 แสนไร่กำลังแห้งตาย ขณะหน่วยฝนหลวงยอมรับทำฝนเขตทุ่งกุลาร้องไห้หลายครั้งแต่ฝนไม่ตกตามเป้าหมาย  

           โดย “วาสนา วงษ์รัตน์” ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ขอนแก่น ซึ่งนำทีมเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่บินสำรวจสภาพภูมิอากาศและสภาพพื้นผิวดินที่ขาดแคลนน้ำฝนเผยกับ “คม ชัด ลึก” ว่าหน่วยทำฝนหลวงทั้ง 4 หน่วยที่รับผิดชอบทำฝนเทียมแก้ปัญหาภัยแล้งของภาคอีสาน ตอนนี้ล้วนโฟกัส มาที่พื้นที่ทางตอนกลางของภาคอีสาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ ซึ่งกำลังมีการดำเนินเร่งทำฝนหลวงเพื่อแก้ปัญหา 

          วาสนา ยอมรับว่าจากปฏิบัติการที่ผ่านมาการทำฝนเทียมยังไม่ตกครอบคลุมพื้นที่เป้าหมายที่ต้องการทั้งหมด และฝนยังมีปริมาณน้อย ซึ่งมีการปรับแผนประเมินสถานการณ์ทุกวัน ทั้งประเมินสภาพดินฟ้าอากาศทิศทางลม เพื่อให้ลมพัดฝนไปตกยังจุดที่เป็นไปตามเป้าหมาย

            “ยอมรับว่าทุ่งกุลาร้องไห้โดยเฉพาะพื้นที่ในเขตจังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งเป็นพื้นที่มากที่สุดของทุ่งกุลาร้องไห้ยังมีปัญหาด้านการเบี่ยงเบนของสภาพภูมิอากาศและทิศทางลม เป็นปัญหาสำคัญมากที่สุดที่ทำแล้วฝนไม่ตกตามเป้าหมาย ทางหน่วยฝนหลวงก็มีแผนปฏิบัติการปรับแผนเพื่อให้สามารถแก้ปัญหาให้ได้” 

              ในขณะที่ บุญจันทร์ พรมดี ผู้ใหญ่บ้านบ้านนกเหาะ-ไร่อ้อยพัฒนา หมู่ 11 ต.ดงครั่งใหญ่ อ.เกษตรวิสัย สมาชิกสหกรณ์การเกษตรเกษตรวิสัย ยอมรับกับว่าภัยแล้งปีนี้ได้ส่งผลกระทบรุนแรงกับนาข้าวกว่า 3,500 ไร่ของเกษตรในละแวกนี้ อันเป็นผลมาจากจากฝนทิ้งช่วงจนข้าวแห้งตาย ประกอบกับคลองระบายน้ำจากลำเสียว และลำพลับพลาขาดแคลนน้ำ และตั้งแต่หลังฤดูกาลเก็บเกี่ยวปีที่ผ่านมาจนปัจจุบัน  

              ไม่เฉพาะพื้นที่ทุ่งกุลาฯ ที่เจอปัญหาแล้งหนัก แม้กระทั่งจ.นครราชสีมา ก็เจอปัญหานี้เช่นกัน  หลังชาวบ้านใน ต.บัลลังก์ อ.โนนไทย จ.นครราชสีมา ต้องประสบปัญหาอย่างหนักทั้งขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคและน้ำเพื่อการเกษตร ทั้งที่ตำบลแห่งนี้อยู่ติดกับอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกรที่มีพื้นที่กักเก็บน้ำมากกว่า 8,000 ไร่  แต่วันนี้มีปริมาณน้ำที่เหลืออยู่เพียงเล็กน้อยไม่ถึง 14% ของความจุอ่าง จึงจำเป็นต้องปล่อยน้ำลงสู่คลองส่งน้ำขนาดเล็กเพื่อให้ชาวบ้านที่อยู่ท้ายอ่างเก็บน้ำสูบน้ำเข้าไปเก็บไว้ในสระน้ำหมู่บ้านใช้ในการผลิตน้ำประปาหมู่บ้านเท่านั้น 

                คำรน เพราะนิสัย ชาวบ้านในตำบลบัลลังก์ บอกว่า ชาวบ้านจำเป็นต้องนำเครื่องสูบน้ำจำนวน 4 เครื่องมาติดตั้งเพื่อสูบน้ำจากลำน้ำลำเชียงไกรที่เหลืออยู่เพียงเล็กน้อยเข้าไปเก็บไว้ในสระน้ำของหมู่บ้านจำนวน 3 หมู่บ้าน เพื่อให้ประชาชนได้มีน้ำใช้อุปโภค บริโภคจำนวน 700 หลังคาเรือน ก่อนที่ปริมาณน้ำภายในลำน้ำลำเชียงไกรจะแห้งขอดจนหมด ซึ่งขณะนี้ชาวบ้านกำลังได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก

               แต่หากมาดูปริมาณน้ำในเขื่อนต่างๆ ทั่วประเทศก็พบว่ามีปริมาณค่อนข้างต่ำจากข้อมูลสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ล่าสุด (ณ 23 ก.ค.) พบว่าเขื่อนขนาดใหญ่ทั่วประเทศจำนวน 35 แห่ง 18 แห่งมีปริมาณน้ำค่อนข้างน้อย โดยเฉพาะปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนหลักของลุ่มเจ้าพระยาที่เป็นอู่ข้าวอู่น้ำของประเทศก็มีปริมาณน้ำน้อยมากเช่นกัน 

                ไม่ว่าจะเป็นเขื่อนภูมิพลมีปริมาณน้ำใช้งานได้เพียง 807 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) หรือร้อยละ 8 ของปริมาณการกักเก็บ เขื่อนสิริกิติ์มีปริมาณน้ำที่ใช้งานได้ 473 ล้านลบ.ม. หรือร้อยละ 7 ของปริมาณการกักเก็บ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดนมีปริมาณน้ำที่ใช้งานได้ 93 ล้านลบ.ม. หรือร้อยละ 10 ของปริมาณการกักเก็บ และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์มีปริมาณน้ำที่ใช้งานได้ 41 ล้านลบ.ม. หรือร้อยละ 4 ของปริมาณการกักเก็บเท่านั้น เมื่อรวมปริมาณน้ำที่ใช้งานได้ของ 4 เขื่อนหลักดังกล่าวขณะนี้เหลือเพียง 1,414 ล้านลบ.ม.เท่านั้น และมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ  หากฝนยังไม่ตกลงมา

               โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาแหล่งปลูกข้าวที่สำคัญของประเทศก็ต้องประสบชะตากรรมไม่ต่างจากพื้นที่ทุ่งกุลาฯ ล่าสุดอธิบดี "ทองเปลว กองจันทร์" อธิบดีกรมชลประทานได้สั่งการให้ทุกโครงการชลประทานบริหารตามแนวทางของกรมชลประทานที่วางแผนไว้อย่างเคร่งครัด โดยประสานกับกลุ่มผู้ใช้น้ำและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เพื่อให้การใช้น้ำเกิดประสิทธิภาพและประหยัดน้ำที่สุด โดยได้วางแนวทางปฏิบัติไว้ 3 แนวทาง ซึ่งแนวทางแรกให้ทุกโครงการชลประทานประสานกับกลุ่มผู้ใช้น้ำในแต่ละพื้นที่ปฏิบัติตามแผนส่งน้ำในแต่ละรอบเวรอย่างเคร่งครัด เพื่อให้น้ำไปทั่วถึงเกษตรกรและผู้ใช้น้ำทุกภาคส่วนอย่างเป็นธรรม โดยเฉพาะรักษาพื้นที่เพาะปลูกคือนาข้าวที่ปลูกแล้วประมาณ 6.21 ล้านไร่ 

                  แนวทางที่สองได้สั่งกำชับให้สถานีสูบน้ำของอปท.ทั้ง 339 แห่ง สูบน้ำตามรอบเวรที่กรมชลประทานได้วางแผนไว้เพื่อป้องกันการสูบนอกแผนงาน อันจะกระทบต่อพื้นที่อื่นและแนวทางสุดท้ายสำหรับเกษตรกรในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาที่เป็นพื้นที่นาดอน ให้เจ้าหน้าที่สร้างความเข้าใจให้เกษตรกรชะลอการปลูกข้าวไปจนกว่าจะมีฝนปกติเพื่อป้องกันความเสียหายที่เกิดขึ้น และ 4.โครงการบางระกำโมเดลที่กรมชลประทานได้ส่งเสริมให้ปลูกข้าวในเดือนเมษายน เพื่อให้เกี่ยวข้าวเสร็จก่อนน้ำหลาก ขณะนี้เก็บเกี่ยวหมดแล้ว โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษายมน่าน ได้ประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรในพื้นที่ทราบว่าจะเริ่มงดส่งน้ำเพื่อการเกษตรตั้งแต่ 31 กรกฎาคม 2562 เป็นต้นไปตามแผนที่วางไว้ 

                 “ขณะนี้ปริมาณน้ำใช้การได้ใน 4 เขื่อนหลัก มีประมาณ 1,400 ล้านลบ.ม. ระบายออกวันละ 45 ล้านลบ.ม. เพื่อการอุปโภคบริโภคและรักษานิเวศดันน้ำเค็มในช่วงน้ำทะเลขึ้นสูง รักษาระบบประปา เพื่อการเกษตร เพื่อการอุตสาหกรรม และอื่นๆ ซึ่งหากระบายปริมาณนี้เท่ากันทุกวันและไม่มีฝนตกอาจจะหมดใน 40 วันตามที่หลายฝ่ายวิตกกังวล ขอยืนยันว่าภายใน 40 วันยังจะไม่เกิดภาวะวิกฤติขาดน้ำแน่นอน เพราะเมื่อเทียบกับสถานการณ์น้ำในปี 2558 แล้วปีนี้ยังดีกว่า" อธิบดีกรมชลประทานกล่าวยืนยัน

                  สำหรับการปลูกพืชในเขตชลประทาน (นาปี) ปี 2562 ข้อมูล ณ 23 กรกฎาคม 2562 แผนการเพาะปลูกทั้งประเทศข้าวนาปีรวม 16.21 ล้านไร่ ปัจจุบันเพาะปลูกแล้ว 11.23 ล้านไร่ (69%) ในส่วนพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาแผนการเพาะปลูกข้าวนาปี 7.65 ล้านไร่ ปัจจุบันปลูกแล้ว 6.21 ล้านไร่ (81.14%) ของแผน 

         

                 

    ทั้งนี้กรมชลประทานยืนยันว่าพื้นที่ส่วนใหญ่ในเขตชลประทานยังคงมีน้ำเพียงพอสำหรับทุกกิจกรรมอันประกอบไปด้วย น้ำเพื่อการเกษตร อุปโภคบริโภค อุตสาหกรรม และรักษาระบบนิเวศ

               อย่างไรก็ตามแม้ในเขตชลประทานจะมีน้ำเพียงพอแต่จะต้องใช้อย่างประหยัดและคุ้มค่า เน้นการใช้น้ำแบบรอบเวร โดยเฉพาะในเดือนสิงหาคม-กันยายน โดยขอความร่วมมือการประปาส่วนภูมิภาค การประปาส่วนท้องถิ่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้สูบตามระยะเวลาที่กำหนดและให้ลดระยะเวลาการสูบลง พร้อมทั้งสนับสนุนการปลูกพืชเแบบเปียกสลับแห้งที่ช่วยลดปริมาณการใช้น้ำได้ถึง 20-30% พร้อมกันนี้กรมชลประทานได้เตรียมพร้อมเครื่องสูบน้ำ 1,935 เครื่อง และรถส่งน้ำไปกระจายทุกภาคของประเทศไทยพร้อมเข้าช่วยเหลือพื้นที่ที่อาจประสบภัยทั้งในและนอกเขตชลประทานด้วย 

                “หลักการบริหารจัดการน้ำในวันนี้ทำเพื่อให้สอดคล้องกับฤดูฝนและพร้อมรับมือฤดูแล้งหน้า แม้สถานการณ์ภาพรวมในปีนี้ยังมีน้ำใช้การมากกว่าปี 2558 ก็ตาม แต่การประหยัดน้ำจะช่วยป้องกันวิกฤติที่อาจเกิดขึ้นในสภาวะอากาศที่ผันผวนเช่นปัจจุบันได้” อธิบดีกรมชลประทานกล่าวในที่สุด 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ