ข่าว

อ่างฯแห้งขอดรับมือแล้งยาวพื้นที่"อีสานใต้"น่าห่วงที่สุด

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

 อ่างฯแห้งขอดรับมือแล้งยาวพื้นที่"อีสานใต้"น่าห่วงที่สุด

    

         แล้งหนักหลังฝนทิ้งช่วงร่วม 2 เดือน หลายพื้นที่ในภาคอีสานสถานการณ์เริ่มรุนแรงและขยายวงกว้างอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ต้นข้าวเริ่มเหี่ยวเฉายืนต้นตายกันทุกพื้นที่ แม้ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้นำเครื่องบินกรมฝนหลวงและการบินเกษตร มาบินโปรยสารเคมีเพื่อทำฝนเทียมอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังพบว่ามีฝนตกลงมาไม่มากเท่าที่ควร

อ่างฯแห้งขอดรับมือแล้งยาวพื้นที่"อีสานใต้"น่าห่วงที่สุด

             เห็นได้จากอ่างเก็บน้ำห้วยเสนง (ห้วย-สะ-เน๋ง) ต.เฉนียง (ฉะ-เนี๋ยง) อ.เมือง จ.สุรินทร์ ขณะนี้ ถึงขั้นวิกฤติหนัก น้ำแห้งขอด ลดระดับลงมากที่สุดในรอบ 41 ปีตั้งแต่มีการสร้างและเปิดใช้อ่างเก็บน้ำขึ้นมา และยังเป็นอ่างเก็บน้ำหัวใจหลักของคนเมืองสุรินทร์ที่จะต้องใช้เป็นแหล่งน้ำดิบในการผลิตน้ำประปาถึงเดือนละ 1 ล้านลบ.ม. แต่ขณะนี้พบว่าประมาณน้ำลดลงเหลือเพียงไม่ถึง 2 ล้านลบ.ม. และจะสามารถใช้น้ำได้อีกประมาณไม่เกิน 2 เดือนข้างหน้าเท่านั้น จากความจุอ่างทั้งหมด 20.8 ล้านลบ.ม.

             ขณะที่กระแสในโลกโซเชียลเริ่มตื่นตัวถึงสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำห้วยเสนง ต่างเริ่มหวั่นวิตกเกรงจะมีน้ำไม่เพียงพอต่อการผลิตน้ำประปาเลี้ยงคนเมือง เริ่มมีการแชร์ข้อมูลข่าวสารตามเพจต่างๆ และวิพากษ์วิจารณ์ถึงสถานการณ์ภัยแล้งอย่างกว้างขวางไปต่างๆ นานา 

            ไม่เพียงอีสานใต้ที่ส่อเกิดวิกฤติภัยแล้ง พื้นที่ต้นแม่น้ำมูลอย่างโคราช จ.นครราชสี มาจากสถานการณ์ฝนทิ้งช่วงในหลายพื้นที่ขณะนี้เริ่มได้รับผลกระทบเป็นวงกว้างแล้วโดยเฉพาะอำเภอโนนสูง  

            ประพัฒน์ กล้ากลาง เกษตรกรผู้เลี้ยงวัวบ้านหนองตะไก้ ต.มะค่า อ.โนนสูง จ.นครราชสี มาเผยกับ “คม ชัด ลึก” ถึงสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่ขณะนี้ แม้จะมีฝนตกลงมาบ้างแต่ก็ยังไม่เพียงพอสำหรับกักเก็บน้ำไว้เลี้ยงสัตว์และทำการเกษตร จึงต้องออกตระเวนไปตักน้ำตามแหล่งนี้สาธารณะที่ยังคงพอมีน้ำให้สามารถใช้ได้ แต่ก็เป็นการสิ้นเปลืองในส่วนของค่าน้ำมันที่จะต้องใช้มากขึ้นเนื่องจากแหล่งน้ำอยู่ไกลออกไปต้องใช้ระยะเดินทางนานขึ้น

             “ในส่วนของน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคนั้น ขณะนี้ยังคงพอมี แต่เพื่อเป็นการประหยัดให้มีน้ำใช้ไปได้ตลอดจนกว่าฝนตกลงมาเพิ่ม ผู้นำหมู่บ้านจึงประกาศให้เปิดปิดน้ำเป็นเวลาโดยจะเปิดน้ำในช่วงเวลา 08.00–19.00 น. และขอความร่วมมือชาวบ้านให้ใช้น้ำเท่าที่จำเป็นเนื่องจากเป็นที่คาดการณ์กันว่าปัญหาภัยแล้งในปีนี้ค่อนข้างรุนแรงและต่อเนื่องไปอีกหลายเดือนขอให้ชาวบ้านช่วยกันประหยัด” 

              สำหรับในพื้นที่ลุ่มน้ำชี โครงการชลประทานทุกแห่งที่มีพื้นที่ติดกับแม่น้ำชี ประสานกับทางจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันจัดรอบเวรสูบน้ำของสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าที่ตั้งอยู่ตลอดริมแม่น้ำชี ให้สูบน้ำตามรอบเวรของตนหรือสูบเท่าที่จำเป็นเท่านั้น

            ในขณะที่กรมชลประทานก็ได้ติดตามสถานการณ์ฝนและสภาพน้ำในแม่น้ำสายหลักต่างๆ อย่างใกล้ชิด พร้อมเก็บกักน้ำให้ได้มากที่สุด วอนทุกภาคส่วนต้องร่วมใจกันใช้น้ำอย่างประหยัดและจริงจัง หลังฝนมีแนวโน้มตกน้อยลง 

อ่างฯแห้งขอดรับมือแล้งยาวพื้นที่"อีสานใต้"น่าห่วงที่สุด

              ล่าสุด"ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล” รองอธิบดีกรมชลประทานได้ออกมาชี้แจงในเรื่องนี้หลังจากการพยากรณ์อากาศของกรมอุตุนิยมวิทยาว่า มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามันตอนบนและประเทศไทย ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณอ่าวตังเกี๋ยและชายฝั่งของประเทศเวียดนามตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นในระยะนี้ โดยบริเวณด้านตะวันตกของภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนมีการกระจายของฝนมากกว่าภาคอื่นๆ แต่ปริมาณฝนที่ตกยังคงน้อยกว่าค่าปกติ ส่งผลต่อปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำต่างๆ น้อยลงด้วย

              สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง ปัจจุบัน (15 ก.ค.62) มีปริมาณน้ำในอ่างรวมกันทั้งสิ้น 35,114 ล้านลูกบาศก์เมตร (ล้านลบ.ม.) หรือคิดเป็นร้อยละ 49 ของความจุอ่างรวมกันทั้งหมดและมีแนวโน้มน้ำไหลลงอ่างลดลงในเกือบทุกอ่างมีปริมาณน้ำใช้การได้ประมาณ 13,093 ล้านลบ.ม. อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั้งประเทศยังสามารถรองรับน้ำได้รวมกันมากกว่า 38,000 ล้านลบ.ม. 

              เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 8,596 ล้านลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 35 ของความจุอ่างรวมกันมีปริมาณน้ำใช้การได้ 1,900 ล้านลบ.ม. ซึ่ง 4 เขื่อนหลักยังสามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 16,200 ล้านลบ.ม.

             ด้านแม่น้ำสายหลักต่างๆ ทั่วประเทศ ส่วนใหญ่ยังอยู่ในเกณฑ์น้ำน้อยเฉพาะแม่น้ำเจ้าพระยามีปริมาณน้ำไหลผ่านที่สถานี C.2 อ.เมืองนครสวรรค์ 358 ลบ.ม.ต่อวินาที ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่งประมาณ 7.95 เมตร มีแนวโน้มลดลง และยังคงการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาในอัตรา 60 ลบ.ม.ต่อวินาที เพื่อรักษาระบบนิเวศทั้งในลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำแม่กลองให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ส่วนที่ อ.บางไทร มีปริมาณน้ำไหลผ่านประมาณ 67 ลบ.ม.ต่อวินาที

                 ขณะเดียวกันกรมชลประทานได้ติดตามสภาวะอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดเพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์ คาดการณ์สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำและสภาพน้ำท่าในแม่น้ำสายหลักและแม่น้ำสาขาต่างๆ พร้อมกำชับให้ทุกโครงการชลประทานทั่วประเทศเก็บกักน้ำไว้ในอ่างให้ได้มากที่สุด พร้อมบูรณาการทุกหน่วยงานลงพื้นที่ประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจให้ประชาชนและทุกภาคส่วนให้ร่วมใจกันใช้น้ำอย่างประหยัดเพื่อให้ปริมาณน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัดเพียงพอสำหรับอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศ 

                 ส่วนพื้นที่เพาะปลูกข้าวด้านท้ายเขื่อนอุบลรัตน์ รองอธิบดีกรมชลประทานย้ำว่าขณะนี้มีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อยไม่เพียงพอที่จะสนับสนุนการเพาะปลูกข้าวในเขตชลประทานหนองหวายได้อย่างเต็มศักยภาพ จึงวางแนวทางที่จะนำน้ำที่มีอยู่บริเวณหน้าฝายหนองหวายประมาณ 20 ล้านลบ.ม. ส่งไปช่วยพื้นที่นาข้าวที่ขาดน้ำก่อน ด้วยการส่งน้ำเป็นรอบเวรแบบประณีตหรือส่งน้ำแบบเปียกสลับแห้งเพื่อให้เพียงพอต่อการหล่อเลี้ยงต้นข้าวไม่ให้ยืนต้นตาย

               ส่วนพื้นที่ที่ยังไม่ได้เพาะปลูกขอความร่วมมือจากเกษตรกรให้ทยอยเพาะปลูกตามปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่เช่นเดียวกับพื้นที่อื่นๆ ทั้งนี้สำนักงานชลประทานที่ 6 จะประชุมร่วมกับกฟผ.เขื่อนอุบลรัตน์ ผู้แทนกลุ่มผู้ใช้น้ำและหน่วยที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน เพื่อร่วมกันพิจารณาแนวทางการจัดสรรน้ำจากเขื่อนอุบลรัตน์ให้เป็นไปอย่างทั่วถึงและเป็นธรรมต่อไป

                “ขอยืนยันว่ากรมชลประทานไม่ได้นิ่งนอนใจในการรับมือกับสถานการณ์ฝนที่มีแนวโน้มจะตกน้อยกว่าค่าปกติ ได้เน้นย้ำให้ทุกโครงการชลประทานติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมกับบูรณาการการทำงานกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือจากเกษตรกรให้ร่วมใจกันใช้น้ำตามรอบเวรอย่างเคร่งครัด พร้อมรณรงค์ให้ทุกภาคส่วนตระหนักถึงการใช้น้ำอย่างประหยัดและเกิดประโยชน์สูงสุด นอกจากนี้ยังได้วางมาตรการให้ความช่วยเหลือโดยเตรียมเครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องสูบน้ำและรถบรรทุกน้ำที่พร้อมจะให้การสนับสนุนได้ทันทีอีกด้วย” ทวีศักดิ์ ย้ำทิ้งท้าย

 

                 สทนช.ประเมิน“สุรินทร์-บุรีรัมย์”เสี่ยงขาดน้ำ 

            สทนช.ประเมินพื้นที่ฝนน้อยล่าสุด 240 อำเภอ 36 จังหวัด นอกเขตชลประทานเสี่ยงขาดน้ำ ชงข้อมูลคาดการณ์น้ำไหลเข้าอ่างทบทวนจัดสรรน้ำสิ้นฤดูฝน-แล้งหน้า  

            ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวถึงสถานการณ์ฝนภาพรวมของประเทศขณะนี้หลังปริมาณฝนตกลดลงตามที่กรมอุตุนิยมวิทยและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) คาดการณ์ เว้นในภาคเหนือตอนบน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และภาคใต้ตอนล่าง ที่ยังคงมีการกระจายของฝนมากกว่าบริเวณอื่นๆ 

               อย่างไรก็ตาม สทนช.ยังคงติดตามปริมาณฝนสะสม 15 วัน ที่มีปริมาณฝนตกน้อย เพื่อวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำและเฝ้าระวังสถานการณ์แล้ง เพื่อชี้เป้าหมายพื้นที่เสี่ยงให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องดำเนินการเฝ้าระวังและเตรียมการรับมือ ล่าสุด (15 ก.ค.) พบว่ามีพื้นที่ฝนตกในปริมาณน้อยจำนวน 240 อำเภอ 36 จังหวัด ได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 105 อำเภอ 12 จังหวัด ภาคเหนือ 61 อำเภอ 11 จังหวัด ภาคใต้ 70 อำเภอ 9 จังหวัด ภาคตะวันออก 2 อำเภอ 2 จังหวัด ภาคกลาง 1 อำเภอ 1 จังหวัด และภาคตะวันตก 1 อำเภอ 1 จังหวัด ตามลำดับ ส่งผลทำให้ความเสี่ยงขาดแคลนน้ำในพื้นที่นอกเขตชลประทานและอาจจะขยายวงกว้างได้โดยเฉพาะสุรินทร์และบุรีรัมย์ที่มีความเสี่ยงขาดแคลนน้ำมากที่สุด

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ