ข่าว

 จากหนอนกระทู้สู่"โรคใบด่าง" มหันตภัยร้าย"ข้าว-ข้าวโพด-มัน"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

 จากหนอนกระทู้สู่"โรคใบด่าง" มหันตภัยร้าย"ข้าว-ข้าวโพด-มัน"

                 เคราะห์ซ้ำกรรมซัดสำหรับเกษตรกรไทย ไม่เฉพาะต้องเจอกับปัญหาราคาตกต่ำไม่ว่ายางพาราหรือปาล์มน้ำมันเท่านั้น ยังต้องประสบปัญหากับโรคระบาดในเกือบทุกพืช โดยเฉพาะพืชเศรษฐกิจหลักอย่างมันสำปะหลัง ข้าวโพดและข้าวที่ต้องเจอทั้งโรคใบด่าง เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลและหนอนกระทู้ 

 

                 โดยเฉพาะอย่างยิ่งหนอนกระทู้สายพันธุ์ใหม่ที่ระบาดอย่างหนักในหลายพื้นที่ภาคเหนือและอีสานในช่วงที่ผ่านมา เกินกว่าจะแก้ไขเยียวยา บางรายต้องสิ้นเนื้อประดาตัว ในขณะที่หน่วยงานรับผิดชอบก็ไม่สามารถทำอะไรมากนัก โดยเฉพาะ จ.ตาก แหล่งปลูกข้าวโพดขนาดใหญ่ ก่อนหน้านี้ต้องมาเจอหนอนกระทู้พันธุ์ใหม่ระบาดกัดกินไร่ข้าวโพดในหลายตำบลของ อ.พบพระ แม้เกษตรกรต้องพึ่งสารเคมีเพื่อกำจัดแต่ก็ยังไม่ได้ผล แต่กลับเพิ่มการระบาดอย่างต่อเนื่อง 

                “หนอนกระทู้พวกนี้เป็นสายพันธุ์ใหม่ ที่พัฒนาตัวเองจนสามารถต้านทานสารเคมีชนิดเก่าได้ เกษตรกรที่ฉีดพ่นสารเคมีที่ผ่านมาไม่สามารถกำจัดได้ดี เพราะแมลงหรือหนอนกระทู้ดื้อยา”

               สมาน เทพารักษ์ หัวหน้ากลุ่มอารักขาพืช สำนักงานเกษตรจังหวัดตาก ได้ระบุสาเหตุการระบาดของหนอนกระทู้ในข้าวโพดไว้ก่อนหน้านี้ ทั้งยังแนะนำให้ใช้สารเคมีชนิดใหม่ที่กรมวิชาการเกษตรได้คิดค้นและต้องพ่นในช่วงหนอนกระทู้ออกหากินตั้งแต่เวลาช่วงเย็นเป็นต้นไป  พร้อมทั้งหมั่นดูแล

               ไม่ใช่เฉพาะพื้นที่ภาคเหนือเท่านั้น แต่หนอนกระทู้ยังลามไปยังพื้นที่ภาคอีสานอีกด้วย อย่างกรณี ชัยสรรค์ อภัยนอก เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดใน อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา กล่าวยอมรับในเวทีสัมมนามหันตภัยร้ายหนอนลายจุดในข้าวโพด ว่าขณะนี้หนอนกระทู้ลายจุดได้เข้าโจมตีแปลงข้าวโพดที่ทำอยู่ จำนวน 500 ไร่ จึงต้องใช้สารเคมีกำจัดหนอนเข้ามาปราบ ส่งผลทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น ราวๆ เกือบ 30 เปอร์เซ็นต์ จากเดิมที่มีต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 5,000 บาทต่อไร่ เพิ่มขึ้นไปอีก 1,500 บาทต่อไร่

                 เช่นเดียวกับ ดร.ดำรงศักดิ์ แก้ววงษ์ไหม หรือที่รู้จักในนามอาจารย์ทองก้อน เจ้าของ “ไร่ทองก้อน” ใน ต.ขนงพระ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา และแกนนำเครือข่ายเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง กล่าวกับ “คม ชัด ลึก” ถึงโรคระบาดในพืชในพื้นที่ จ.นครราชสีมา ว่าขณะนี้มี 2 พืช ได้แก่ หนอนกระทู้ลายจุดระบาดในข้าวโพดและโรคใบด่างระบาดในมันสำปะหลัง ซึ่งขณะนี้เกษตรกรบางรายต้องประสบปัญหาแทบสิ้นเนื้อประดาตัว เนื่องจากยังไม่มีวิธีการใดเข้ามาแก้ไขปัญหานี้ได้ นอกจากทำลายทิ้งเท่านั้น

                  “ตอนนี้เกษตรกรทำอะไรไม่ได้เลย หนอนตัวนี้ร้ายมาก มันเจาะกลางลำตันข้าวโพดหักเป็นสองท่อนเลย ใช้สารเคมีกำจัดก็เอาไม่อยู่ บางรายเสียหายทั้งแปลง ไม่เฉพาะข้าวโพดนะตอนนี้มันลามไประบาดในมันสำปะหลังและนาข้าวแล้วด้วย ทั้งที่มันสำปะหลังมีการระบาดของโรคใบด่างอยู่แล้วก็ต้องมาเจอหนอนกระทู้เข้าไปอีก ยอมรับว่าปีนี้หนักจริงๆ ทั้งมันสำปะหลัง ทั้งข้าวโพดและข้าว” อาจารย์ทองก้อนกล่าวอย่างหมดอาลัย        

                 ไม่ใช่แค่พื้นที่นครราชสีมาแต่ยังลามไปถึงตอนกลางของอีสาน อย่างเช่น สมบูรณ์ สลับศรี เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ที่บ้านคำเกิด ต.กระจาย อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร ซึ่งมีพื้นที่เพาะปลูกทำไร่มันสำปะหลังกว่า 30 ไร่ ต่างได้รับผลกระทบจากกองทัพหนอนชอนใบ และหนอนกระทู้ ระบาดในไร่มันสำปะหลังเช่นกัน โดยมันสำปะหลังที่กำลังเจริญเติบโตมีอายุประมาณ 2 เดือน ได้รับความเสียหายขยายพื้นที่ออกเป็นวงกว้าง เนื่องจากเหล่าบรรดาตัวหนอนขยายพันธุ์อย่างรวดเร็ว เข้ามากัดกินส่วนใบของต้นมันสำปะหลังจนหมดทั้งต้น เหลือเพียงส่วนก้าน และต้นเท่านั้น  

                 ไม่ใช่แค่หนอนกระทู้และโรคใบด่าง แต่ยังมีหนอนเพลี้ยหอย ศัตรูร้ายของมันอีกตัวที่กำลังระบาดอยู่ในขณะนี้เช่นกัน โดยเฉพาะในพื้นที่ จ.ลำพูน แค่สองอำเภอคือ ลี้ และทุ่งหัวช้าง ได้รับความเสียหายจากหนอนเพลี้ยหอยไปแล้วเกือบ 2,000 ไร่ ทั้งนี้เป็นผลมาจากสภาพภูมิอากาศร้อนและแห้งแล้ง จึงเหมาะกับการระบาดของหนอนเพลี้ยหอย

                  "เฉพาะในพื้นที่ อ.ลี้ และ อ.ทุ่งหัวช้าง ซึ่งมีพื้นที่ปลูกทั้งหมด 1,985 ไร่ "จำเนียร แสนราชา" เกษตรจังหวัดลำพูน ได้ให้ข้อมูล พร้อมแนะนำเกษตรกรควรหมั่นสำรวจแปลงอย่างสม่ำเสมอและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยเตรียมการป้องกันหรือขอคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรประจำตำบล เพื่อหาทางควบคุมป้องกันก่อนที่จะเกิดความเสียหายแก่ผลผลิต

                 สำหรับลักษณะการทำลายและการระบาดของหนอนเพลี้ยหอย มักพบระบาดตามกิ่งของไม้ยืนต้น และมันสำปะหลัง กรณีมันสำปะหลังให้แช่ท่อนพันธุ์ก่อนปลูกด้วยวิธีการเดียวกันกับเพลี้ยแป้ง การพ่นสารทางใบในมันสำปะหลังไม่ค่อยได้ผล ถ้าจะพ่นสารต้องถอนต้นที่พบระบาดมากแล้วนำไปเผาทำลายแล้วพ่นบริเวณที่พบเป็นรัศมีโดยรอบ

                   ส่วนแนวทางแก้ปัญหาภาครัฐ ล่าสุด "กฤษฎา บุญราช" รมว.เกษตรและสหกรณ์ ได้สั่งการผ่านไลน์ด่วนที่สุดเรื่อง ขอทราบสถานการณ์การระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลัง ให้ปลัดเกษตรและอธิบดีกรมวิชาการเกษตร รวมทั้งผู้เกี่ยวข้อง รายงานสถานการณ์ล่าสุดว่าเป็นอย่างไร เช่นพื้นที่ระบาดมีกี่ไร่ ที่ไหนบ้าง และระบาดระดับความรุนแรงเท่าไร จากที่พบโรคระบาดใบด่างมันสำปะหลัง เมื่อเดือนพฤษภาคม 2562 มีการระบาดอยู่ 5 อำเภอในพื้นที่ จ.สระแก้ว และมิถุนายน สำรวจพบการระบาดเพิ่ม เป็น 8 อำเภอ โดยแจ้งผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว ให้เร่งบูรณาการหน่วยงานเกี่ยวข้องเพื่อหยุดยั้งการระบาดและกำจัดต้นตอของโรค 

                  พร้อมกันนี้ขอทราบแนวโน้มต่อไปสถานการณ์การระบาดจะมากขึ้นหรือลดลง มีความต้องการช่วยเหลือในเรื่องอะไรบ้างในเรื่องการแก้ไขปัญหาใบด่างระบาดในมันสัมปะหลังนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้แพร่กระจายมากกว่านี้ยังแหล่งเพาะปลูกมันสำปะหลังขนาดใหญ่ของประเทศ รวมทั้งได้ให้ปลัดกระทรวงเกษตรฯ เรียกประชุมอธิบดีที่เกี่ยวข้อง ผู้ตรวจราชการเขตและเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญของกรมวิชาการเกษตร เพื่อระดมสมองหาแนวทางแก้ไขปัญหา เช่น วิธีระงับปัญหา มาตรการสกัดกั้น การเยียวยาช่วยเหลือเกษตรกรที่ผลผลิตประสบโรคระบาด การขอความร่วมมือจากหน่วยงานอื่นๆ เพื่อระดมกำลังแก้ไขปัญหาด้วย 

                  ขณะเดียวกันเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้นำคณะทำงานด้านการเกษตรของพรรคลงพื้นที่รับฟังปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรมันสำปะหลังในพื้นที่ ต.ชัยมงคล อ.เมือง จ.นครราชสีมา และมีแนวทางที่ได้เตรียมไว้คือการประกันรายได้เพื่อให้เกษตรกรที่ผลิตมันสำปะหลังที่มีคุณภาพสามารถมีรายได้มีหลักประกันว่าจะสามารถขายได้กิโลกรัมละเท่าไร

                 “วันนี้ถือว่ามารับฟังข้อมูลล่วงหน้า จึงให้ความมั่นใจว่าจะดูแลทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียมเพื่อร่วมกันพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศชาติต่อไป” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และว่าที่รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ กล่าวย้ำทิ้งท้ายก่อนอำลา

             

เตือนเกษตรกรเฝ้าระวังหนอนกระทู้กล้าระบาด  

               สำราญ สาราบรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เผยว่า กรมส่งเสริมการเกษตรได้รับแจ้งรายงานการระบาดของหนอนกระทู้กล้าในหลายพื้นที่ ประกอบกับระยะนี้เข้าสู่ช่วงฤดูฝน เกษตรกรในทุกภาคของประเทศไทยเริ่มทำการเพาะปลูกข้าวแล้ว และข้าวส่วนใหญ่อยู่ในระยะกล้า ซึ่งเป็นระยะที่เหมาะต่อการเข้าทำลายของหนอนกระทู้กล้า ซึ่งอาจทำให้ต้นข้าวได้รับความเสียหายและผลผลิตลดลง ลักษณะอาการและการเข้าทำลายตัวเต็มวัยเป็นผีเสื้อกลางคืน ปีกคู่หน้าสีเทาปนน้ำตาล ปีกคู่หนังสีขาว บินเก่งสามารถอพยพได้ไกลเป็นระยะทางหลายสิบหรือหลายร้อยกิโลเมตร วางไข่เป็นกลุ่มบริเวณยอดอ่อนของข้าว ตัวหนอนมีสีเทาถึงเขียวแกมดำ ด้านหลังมีลายตามความยาวของลำตัวจากหัวจรดท้าย แต่ละปล้องมีจุดสีดำ ตัวหนอนฟักจากไข่ช่วงเช้าตรู่ และรวมกลุ่มกันกัดกินส่วนปลายใบข้าว กลางวันจะหลบอยู่ในดินใต้เศษใบพืชในพื้นที่นาที่แห้ง บางส่วนอยู่บนต้นข้าว ส่วนที่อยู่เหนือน้ำในนาที่ลุ่มชอบเข้าดักแด้ในดินหรือบนต้นหญ้าตามขอบแปลง ตัวหนอนโตเต็มที่ยาวประมาณ 3.5–4 มิลลิเมตร กว้าง 5–6 มิลลิเมตร วงจรชีวิตจะแตกต่างกันตามพื้นที่ระบาด

                  ดังนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาการระบาดของหนอนกระทู้กล้าและศัตรูข้าวทุกชนิด กรมส่งเสริมการเกษตรได้สั่งการให้สำนักงานเกษตรจังหวัดทุกจังหวัดเร่งสำรวจติดตามสถานการณ์การระบาดของหนอนกระทู้กล้าและศัตรูข้าวชนิดอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง พร้อมประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนเกษตรกรให้เฝ้าระวังและหมั่นสำรวจแปลงนาอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงการให้คำแนะนำวิธีการป้องกันกำจัดที่ถูกต้องและเหมาะสมให้เกษตรกรทราบ เพื่อนำไปใช้เป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ โดยรายงานสถานการณ์ให้กรมทราบทุกสัปดาห์

                  สำหรับการป้องกันกำจัดให้เกษตรกรสำรวจแปลงนาอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง กำจัดวัชพืชตามคันนาหรือบริเวณใกล้เคียงเพื่อทำลายแหล่งอาศัยของหนอนกระทู้กล้า หากเริ่มพบการระบาดให้ระบายน้ำเข้าแปลงนาในระยะกล้าจนท่วมยอดของต้นกล้า แล้วเก็บตัวหนอนไปทำลาย นำต้นหญ้าหรือฟางข้าวมากองไว้บนคันนา เพื่อล่อให้ตัวหนอนเข้าไปอาศัยในเวลากลางวัน จากนั้นเวลาบ่ายให้เก็บเอาตัวหนอนไปทำลาย การใช้เหยื่อพิษที่มีส่วนผสมของสารหนูเขียว 0.5 ลิตร รำข้าว 100 ลิตร น้ำตาลทรายแดง หรือน้ำตาลปีบ 20 ลิตร และน้ำผสมกันพอชื้นๆ แล้วหว่านลงบนคันนา เมื่อหนอนกินเข้าไปแล้วเกิดเป็นพิษตาย หรือใช้สารเคมีกำจัดแมลง เช่น มาลาไทออน อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือเฟนิโตรไทออน อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นเมื่อพบใบข้าวถูกทำลายมากกว่า 15 เปอร์เซ็นต์ 

                  อย่างไรก็ตาม ขณะนี้หนอนกระทู้กล้าในนาข้าวได้เริ่มระบาดในพื้นที่ภาคอีสาน ซึ่งเริ่มทำนาปี โดยพบพื้นที่การระบาดในจังหวัดต่างๆ ได้แก่ อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด บุรีรัมย์ 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ