ข่าว

กรมข้าวผนึกม.ก.เปิดตัวโรงเรียน"ปุ๋ยสั่งตัดทางอากาศ"แห่งแรก

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

กรมการข้าวผนึกม.เกษตรฯช่วยชาวนาลดต้นทุน เปิดตัวโรงเรียน"ปุ๋ยสั่งตัดทางอากาศ"แห่งแรก

      ก้าวไปอีกขั้นในการรับรู้ข้อมูลของเกษตรกร เมื่อกรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดย สถานีวิทยุกระจายเสียงมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมูลนิธิมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นำร่องโครงการปุ๋ยสั่งตัดทางอากาศแห่งแรกของประเทศ โดยจะมีพิธีเปิดโครงการอย่างเป็นทางการในวันอังคารที่ 25 มิถุนายน 2562 เวลา 09.00 น. ณ ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าว จังหวัดเชียงใหม่

 กรมข้าวผนึกม.ก.เปิดตัวโรงเรียน"ปุ๋ยสั่งตัดทางอากาศ"แห่งแรก

       ผศ.อนุพร สุวรรณวาจกกสิกิจ ผู้อำนวยการสถานีวิทยุมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หรือสถานีวิทยุม.ก.(เคยูเรดิโอ พลัส)

         ทัั้งนี้ เพื่อเป็นองค์ความรู้ในกระบวนการผลิตปุ๋ยสั่งตัดเพื่อลดต้นทุนภาคการเกษตร และยังเป็นการน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปฏิบัติ ร่วมกันสืบสาน รักษา และต่อยอด ตามพระปฐมบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อให้เกิดประโยชน์สุข สร้างความเข้มแข็งในภาคการเกษตรไทยอย่างยั่งยืนสืบไปด้วย

             ผศ.อนุพร สุวรรณวาจกกสิกิจ ผู้อำนวยการสถานีวิทยุมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หรือสถานีวิทยุม.ก.(เคยูเรดิโอ พลัส) กล่าวถึงการร่วมมือในครั้งนี้ว่า เป็นผลมาจากการที่รัฐบาลได้เล็งเห็นความสำคัญของปุ๋ยสั่งตัด โดยให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินโครงการสนับสนุนการผลิตหรือจัดหาปุ๋ยสั่งตัดผ่านสถาบันเกษตรกรในช่วงที่ผ่านมา และมอบหมายให้ กรมวิชาการเกษตร ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร กรมพัฒนาที่ดิน กรมส่งเสริมสหกรณ์ ดำเนินการร่วมกัน โดยมีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นผู้ขับเคลื่อนในด้านการเรียนรู้ การฝึกอบรม และเผยแพร่องค์ความรู้ให้แก่เกษตรกร ซึ่งจากข้อมูลกรมการข้าวระบุว่าในปี 2560 ประเทศไทยมีพื้นที่นาทั้งประเทศกว่า 56 ล้านไร่ แต่มีการใช้ปุ๋ยสั่งตัดแค่ 23,000 ไร่ หรือแค่ 0.4% เท่านั้น ถือว่าน้อยมาก แต่ถ้าชาวนาทั้งประเทศหันมาใช้ปุ๋ยสั่งตัด จะลดต้นทุนในการผลิตข้าวได้ประมาณ 1,000 บาทต่อไร่ต่อฤดูปลูก

               ผอ.สถานีวิทยุ ม.ก.(เคยู เรดิโอ พลัส) ระบุอีกว่า สาเหตุสำคัญที่ยังไม่สำเร็จตามเป้าหมายก็เพราะว่าเกษตรกรส่วนใหญ่ยังมีความรู้ความเข้าใจเรื่องดินและปุ๋ยสำหรับผลิตข้าวไม่ถูกต้อง ทำให้ต้นทุนการผลิตสูง ขณะที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้คิดค้นเทคโนโลยี “ปุ๋ยสั่งตัด” ซึ่งเป็นผลงานวิจัยของ ศ.ดร. ทัศนีย์ อัตตะนันทน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านปฐพีวิทยา ผู้คว้ารางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่นประเภททีมปี 52 ซึ่งวิธีนี้เป็นวิธีการให้ธาตุอาหารแก่พืชตามสภาพของพื้นที่ ซึ่งจะนำไปช่วยลดต้นทุนด้านการเกษตร และทำให้สภาพดินมีความอุดมสมบูรณ์มากขึ้น จึงได้เผยแพร่ให้ความรู้เรื่องดินและเทคโนโลยี “ปุ๋ยสั่งตัด” ให้แก่เกษตรกรและผู้สนใจในหน่วยงานต่างๆ มากว่า 17 ปี 

 กรมข้าวผนึกม.ก.เปิดตัวโรงเรียน"ปุ๋ยสั่งตัดทางอากาศ"แห่งแรก

               ดังนั้นทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยสถานีวิทยุกระจายเสียงมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มูลนิธิมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงร่วมกับ กรมการข้าว โดยศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวเชียงใหม่ และศูนย์วิจัยข้าวเชียงใหม่ ดำเนิน “โครงการนำร่องโรงเรียนปุ๋ยสั่งตัดทางอากาศ” ด้านการจัดการเนื้อหา การผลิตรายการ และการเผยแพร่องค์ความรู้เทคโนโลยีปุ๋ยสั่งตัด ออกสู่สาธารณชน ผ่านทางเครือข่ายสถานีวิทยุกระจายเสียงมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยออกอากาศทั้ง 4 ภูมิภาค ในระบบเอเอ็มสเตอริโอ และยังสามารถรับชม-รับฟัง ทั้งภาพและเสียงผ่านโมบายแอพพลิเคชั่น ทั้งในระบบแอนดรอยด์ ระบบ iOS และผ่านสื่อโซเชียลเฟซบุ๊กไลฟ์, ยูทูบไลฟ์ ซึ่งสามารถรับชม-รับฟังย้อนหลังได้ เพื่อให้เกษตรกรไทย บุคลากร ทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง และผู้ที่สนใจทั่วไป นำไปใช้ในการประกอบอาชีพสนับสนุนซึ่งกันและกัน อันจะส่งผลดีต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศโดยรวม

              สำหรับโครงการความร่วมมือเผยแพร่องค์ความรู้ภายใต้ “โครงการนำร่องโรงเรียนปุ๋ยสั่งตัดทางอากาศ” ครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกในพื้นที่ภาคเหนือ มีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อเสริมสร้างความรู้และความเข้าใจการนำเทคโนโลยี “ปุ๋ยสั่งตัด” ไปใช้ในการปลูกข้าว ให้แก่ เกษตรกร บุคลากร ทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องและผู้ที่สนใจทั่วไป เพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรนำเทคโนโลยี “ปุ๋ยสั่งตัด” มาประยุกต์ใช้ในการทำเกษตรของตนเอง เพื่อสร้างเครือข่ายผู้ใช้เทคโนโลยี “ปุ๋ยสั่งตัด” แบบครบวงจร และเพื่อดำเนินการให้เป็นโรงเรียนปุ๋ยสั่งตัดทางอากาศต้นแบบ ในการพัฒนาและต่อยอดโครงการให้เป็นต้นแบบในการขยายโครงการต่อไป 

            เบื้องต้นได้นำร่องให้เกษตรที่ได้รับคัดเลือกเพื่อเป็นต้นแบบในการเรียนรู้ นำไปใช้ได้จริงและนำไปเผยแพร่ จำนวน 44 คน ก่อนจะประเมินผลเพื่อพัฒนาและขยายผลของโครงการระยะต่อไป

     

                           มั่นใจชาวนาแก้จนด้วย“ปุ๋ยสั่งตัด”

            วิรัตน์ เอื้องไพบูลย์ ผู้อำนวยการศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวเชียงใหม่ กล่าวถึงโรงเรียน “ปุ๋ยสั่งตัดทางอากาศ" โดยความร่วมมือของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยสถานีวิทยุมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (สถานีวิทยุม.ก.) ร่วมกับกรมการข้าวในการดำเนินการจัดตั้งขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาให้แก่เกษตรกรใน 3 เรื่องด้วยกัน ประการแรกจะช่วยในการลดต้นทุนการผลิต

           เนื่องจากที่ผ่านมาเกษตรกรจะใส่ปุ๋ยตามอำเภอใจ โดยไม่ใส่ใจว่าธาตุอาหารจะมีปริมาณที่เพียงพอหรือไม่ และที่สำคัญการซื้อปุ๋ยสำเร็จรูปมาใส่จะทำให้ต้นทุนการผลิตยิ่งสูงขึ้น ดังนั้นการซื้อแม่ปุ๋ยมาผสมเองก็จะทำให้ลดต้นทุนลงไปเกือบครึ่ง ประการต่อมาจะช่วยแก้ปัญหาในเรื่องของดินที่เสื่อมสภาพ และจะเป็นการใช้ปุ๋ยให้เหมาะกับดิน ดังนั้นการจะใส่ปุ๋ยชนิดใดจะต้องนำดินไปตรวจก่อน เมื่อรู้ว่าดินบริเวณนั้นขาดธาตุอาหารชนิดใดก็จะเติมลงไปได้ และประการสุดท้ายเป็นเรื่องของระบบนิเวศ สิ่งแวดล้อม หากใส่ปุ๋ยมากเกินความจำเป็นก็จะมีปัญหาในเรื่องสารตกค้างในดิน จะมีผลกระทบต่อระบบนิเวศ สิ่งแวดล้อมได้

            "มีเกษตรกรสมัครใจที่จะเข้าร่วมโครงการจำนวน 44 คน มาจากศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวเชียงใหม่ 24 คน และศูนย์วิจัยข้าวเชียงใหม่อีก 20 คน ส่วนรายละเอียดเนื้อหาการอบรมทางสถานีวิทยุ ม.ก. จะเป็นคนดำเนินการ ซึ่งก็จะช่วยให้เกษตรกรมีองค์ความรู้ในเรื่องปุ๋ยสั่งตัดมากขึ้น โดยกลุ่มคนนี้จะเป็นเกษตรกรในระดับแกนนำที่จะนำไปขยายผลในพื้นที่ ในชุมชนของตัวเองต่อไป

            ดร.ประทีป วีระพัฒนนิรันดร์ ประธานมูลนิธิพลังนิเวศและชุมชน ในฐานะครูใหญ่โรงเรียนปุ๋ยสั่งตัดทางอากาศ กล่าวถึงผลสำเร็จจากการใช้ปุ๋ยสั่งตัดในภาคการเกษตรว่า อันดับแรกจะช่วยในการลดการใช้ยาฆ่าแมลงได้ถึง 80% เนื่องจากหากใช้สูตรปุ๋ยที่ถูกต้องตามความต้องการของพืช ก็จะช่วยให้ต้านทานโรคและแมลงได้ โดยไม่ต้องใช้ยาปราบศัตรูพืช  อันดับต่อมาจะช่วยลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยลงประมาณ 40% จากปกติ เนื่องจากต้องใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน ดังนั้นธาตุอาหารที่ไม่จำเป็นก็ถูกตัดออกไป และที่สำคัญจะทำให้ชาวนามีรายได้เพิ่มเฉลี่ย 1,000 บาทต่อไร่ อย่างไรก็ตามปุ๋ยสั่งตัดนั้นจะใช้ได้กับทุกพืช ไม่เฉพาะนาข้าวเท่านั้น

             “ในวันอังคารที่ 25 มิถุนายน ซึ่งเป็นวันเปิดโครงการโรงเรียนปุ๋ยสั่งตัดทางอากาศแห่งแรกที่เชียงใหม่ ก็จะมีการฉายคลิปกระบวนการผลิตปุ๋ยสั่งตัดจำนวน 16 คลิป ตั้งแต่การเริ่มเตรียมดิน เตรียมแม่ปุ๋ย การตรวจวัดค่าดิน จนกว่าข้าวหรือพืชที่ใช้จะให้ผลผลิต ซึ่งเป็นองค์ความรู้ที่สำคัญมาก และเป็นการมาเปิดให้แก่เกษตรกรที่นี่เป็นที่แรก ในฐานะโครงการนำร่อง หากเกษตรกรนำไปใช้อย่างถูกวิธี ผมมั่นใจว่าจะเป็นผลดีต่อภาคการเกษตรไทยไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนแก่ตัวเกษตรกรเองและประเทศชาติด้วย” ดร.ประทีปกล่าว 

             นอกจากนี้ ดร.ประทีปยังเรียกร้องให้รัฐบาลใหม่หันมาสนใจชาวนาอย่างจริงจัง โดยเฉพาะในเรื่องการใช้ปุ๋ยสั่งตัดแทนการใช้ปุ๋ยผสมเสร็จ เพื่อการลดต้นทุนซึ่งเป็นปัญหาหลักในเรื่องของต้นทุนการผลิต ส่วนพืชเศรษฐกิจชนิดอื่นให้ใช้คำแนะนำปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน  โดยปัจจัยความสำเร็จคือจะต้องตั้ง “คลินิกดิน” ในชุมชน และ “กองทุนแม่ปุ๋ย” ให้เกษตรกรกู้ปลอดดอกเบี้ยระยะเวลา 5 ปี

      

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ