ข่าว

 เป้า3เสาหลัก ก้าวย่างสำคัญสู่การตั้งกระทรวงน้ำ...?

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

  เป้า3เสาหลักปฏิรูปจัดการน้ำประเทศ ก้าวย่างสำคัญสู่การตั้งกระทรวงน้ำ...?

 

             กล่าวสำหรับแนวทางการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศของรัฐบาลภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีที่ผ่านมานั้น ได้ดำเนินการจัดตั้ง 3 เสาหลักขึ้นมา เพื่อการบริหารจัดการน้ำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และมีความมั่นคง ยั่งยืน

 เป้า3เสาหลัก ก้าวย่างสำคัญสู่การตั้งกระทรวงน้ำ...?

           

              ประกอบด้วย เสาแรกพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 27 มกราคม 2562 เสาที่สอง แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบไปเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2562 ที่ผ่านมา  ประกอบด้วย 6 ด้านคือ ด้านที่ 1 การจัดการน้ำอุปโภคบริโภค ด้านที่ 2 การสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิตน้ำเพื่อการเกษตรและอุตสาหกรรม ด้านที่ 3 การจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย ด้านที่ 4 การจัดการคุณภาพน้ำและอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ ด้านที่ 5 การอนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำที่เสื่อมโทรมและการป้องกันการพังทลายของดิน และด้านที่ 6 การบริหารจัดการ

              ส่วนเสาที่สาม รัฐบาลได้จัดตั้งสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ขึ้นมาให้เป็นหน่วยงานหลักด้านนโยบายการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ เพื่อให้มีเอกภาพเป็นหนึ่งเดียว ลดความซ้ำซ้อนของหน่วยงานด้านน้ำที่มีอยู่กว่า 40 หน่วยงานใน 7 กระทรวง

                พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวะหว่างเป็นประธานในพิธีเปิดงานการบริหารงาน“สร้างรู้ สื่อสาร การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำฤดูฝนปี 2562” ณ สโมสรกองทัพบก เมื่อสัปดาหืที่ผ่านมา โดยระบุว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญในการบริหารจัดการน้ำมาโดยตลอด ซึ่งได้มีการจัดตั้ง 3 เสาหลักดังกล่าวขึ้นมาบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ ทำให้รัฐบาลสามารถจัดสรรงบประมาณเพื่อใช้ในการแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวกับน้ำทั้งระบบและการจัดหาแหล่งน้ำต้นทุนให้สอดคล้องกับความต้องการใช้น้ำทั้งในปัจจุบัน และในอนาคตที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในแต่ละปี ได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

                จะเห็นได้จากผลการดำเนินงานที่ผ่านมา มีความชัดเจนและเป็นรูปธรรมในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการจัดการเรื่องน้ำอุปโภคบริโภค ซึ่งจะดำเนินการครบทุกหมู่บ้านในปี 2562 การสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต ได้ดำเนินการก่อสร้างแหล่งน้ำระบบกระจายน้ำใหม่ พัฒนาและฟื้นฟูแหล่งน้ำพื้นที่เกษตรน้ำฝน เพิ่มประสิทธิภาพแหล่งน้ำเดิม และพัฒนาแหล่งน้ำรองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษ/อุตสาหกรรมใหม่ ทำให้ประชาชนได้รับประโยชน์กว่า 4.35 ล้านครัวเรือน มีพื้นที่รับประโยชน์ 3.15 ล้านไร่ และได้ปริมาณน้ำที่เก็บกักเพิ่มขึ้นอีก 4,318 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) นอกจากนี้ ในด้านการจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย ได้ดำเนินการปรับปรุงทางน้ำ ป้องกันน้ำท่วมชุมชน/เมือง สามารถ ป้องกันพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยได้ถึง 7.85 ล้านไร่ ชุมชนเมือง 69 แห่ง

                 “ผลการดำเนินงานที่สำคัญอย่างยิ่ง คือ การลดพื้นที่ความเสียหายจากภัยแล้งและน้ำท่วม โดยจากสถิติการประกาศพื้นที่ภัยแล้ง ระหว่าง พ.ศ. 2551- 2557 มีการประกาศพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งเป็นประจำทุกปี และมีหมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบตั้งแต่ 12,033 หมู่บ้าน จนถึงสูงสุดในปี 2556 จำนวน 30,085 หมู่บ้าน หลังจากนั้น เมื่อรัฐบาลได้วางแนวทางในการบริหารจัดการน้ำใหม่ ทำให้นับตั้งแต่นั้นจนถึงปัจจุบัน จำนวนหมู่บ้านที่ประกาศภัยแล้งลดลงกว่าเดิมมาก และไม่มีการประกาศภัยแล้งเลยในปี 2561 สำหรับปี 2562 นี้ มีการประกาศภัยแล้งใน 3 จังหวัด เป็นพื้นที่ได้รับผลกระทบเพียง 235 หมู่บ้านเท่านั้น ทำให้สามารถลดงบประมาณในการช่วยเหลือเยียวยาน้ำท่วมและภัยแล้งได้จำนวนมาก” นายกรัฐมนตรีกล่าวย้ำ

                  ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สทนช. กล่าวว่า แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี จะสร้างกลไกการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างบูรณาการ สร้างความสมดุลระหว่างการพัฒนา และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน เกิดประโยชน์กับประชาชน โดยได้ตั้งเป้าหมายที่จะให้ทุกหมู่บ้านเข้าถึงดื่มสะอาดได้มาตรฐานและราคาที่เหมาะสม จำนวน75,032 หมู่บ้าน ภายในปี 2573 มีการพัฒนาน้ำต้นทุน 27,299 ล้าน ลบ.ม. ทั้งแหล่งน้ำใหม่และพื้นที่เกษตรน้ำฝน เพิ่มพื้นที่กระจายน้ำ 31 ล้านไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ชลประทาน 18 ล้านไร่ และพื้นที่เกษตรน้ำฝน 13 ล้านไร่ พัฒนาแหล่งน้ำชุมชนเพื่อการเกษตร 10,000 แห่ง ได้ปริมาณน้ำ 6,000 ล้าน ลบ.ม. สามารถป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนเมืองและพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ 764 แห่ง ลดผลกระทบจากอุทกภัย 15 ล้านไร่ มีการพัฒนาระบบบำบัดน้ำเสีย 741 แห่ง การฟื้นฟูป่าต้นน้ำ 3.5 ล้านไร่ ก่อสร้างฝายชะลอน้ำ 541,894 แห่ง

                   อย่างไรก็ตามต่อมาได้ปรับปรุงการบริหารจัดการทรัพยกรน้ำของประเทศใหม่ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยเพิ่มเสาหลักที่ี่สี่ คือ การพัฒนาองค์ความรู้ นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่จะขับเคลื่อนแผนแม่บท ซึ่ง สทนช. ได้ เล็งเห็นถึงความสำคัญของการนำรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวกับน้ำทั้งหมดมารวมไว้ในที่เดียว และได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำนวัตกรรมการบริหารจัดการน้ำในรูปแบบ Nearly Real time Analytic ช่วยให้การเข้าถึงข้อมูลและการใช้งานเป็นไปได้สะดวก รวดเร็วและทันท่วงที ซึ่งนำไปสู่การตัดสินใจในการบริหารจัดการน้ำได้แม่นยำมากขึ้น เรียกนวัตกรรมนี้ว่า “One Map” และยังได้ดำเนินการพัฒนา Application และงานวิจัยต่าง ๆ ร่วมกับหน่วยงานทั้งภายในประเทศ และนานาชาติ เพื่อนำองค์ความรู้ใหม่ ๆ ผสมผสานกับศาสตร์พระราชา และปราชญ์ชาวบ้านมาใช้ในการบริหารจัดการน้ำในรูปแบบปัญหาและความต้องการที่แตกต่างกัน

                 ทั้งนี้เพื่อให้ไปสู่เป้าหมายตามวิสัยทัศน์ที่กำหนดไว้ คือ “ทุกหมู่บ้านมีน้ำสะอาดอุปโภค บริโภค น้ำเพื่อการผลิตมั่นคง ความเสียหายจากอุทกภัยลดลง คุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน บริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน ภายใต้การพัฒนาอย่างสมดุล โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน” โดยมี สทนช. ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางในการกำกับ และขับเคลื่อนแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี รวมทั้งติดตามและประเมินผลการดำเนินงานของหน่วยงานให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ได้กำหนดไว้

                 นอกจากนี้ สทนช.ยังได้บูรณาการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีของหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องมาใช้รับมือ สถานการณ์ฤดูฝน ปี 2562 นี้อีกด้วย โดยเฉพาะการวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม รวมถึงแนวทาง เงื่อนไข การแจ้งเตือน ซึ่งขณะนี้ได้เชื่อมโยงข้อมูลของหน่วยงานด้านน้ำของประเทศร่วมกัน และกำหนดเกณฑ์การปฏิบัติงานของศูนย์ปฏิบัติการรับมือสถานการณ์น้ำในช่วงฤดูฝนตามระดับความรุนแรง และผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ซึ่งมีทั้งหมด 3 ศูนย์ปฎิบัติการ ได้แก่

              1. ระดับที่ 1 ระดับสีเขียว เมื่อกรมอุตุนิยมวิทยาประกาศเข้าสู่ฤดูฝน “ศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ” ของ สทนช. จะเป็นหน่วยงานหลักในการประสาน ติดตาม ข้อมูลจากหน่วยงานด้านน้ำ เพื่อวิเคราะห์และติดตามสถานการณ์ประจำวัน

                2. ระดับที่ 2/3 หรือ ระดับสีเหลือง/ส้ม เมื่อมีพายุก่อตัวและคาดว่าจะมีผลกระทบต่อประเทศไทย หรือความกดอากาศต่ำพาดผ่าน มีปริมาณฝนตกชุกหนาแน่นครอบคลุมหลายจังหวัด คิดเป็นปริมาณฝนสะสม 3 วัน มากกว่า 200 มม. ปริมาณน้ำในลำน้ำมากกว่า 60% ของความจุลำน้ำ และมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำมากกว่า 60% และมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง หรือสูงกว่าเส้นควบคุมบนของ Rule Curve “ศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤติ” จะเริ่มปฏิบัติงานทันทีคาดว่าภายในกลางเดือนกรกฏาคมนี้ และ

                  3. ระดับ 4 ระดับสีแดง ซึ่งเป็นระดับสูงสุด เมื่อมีสถานการณ์รุนแรงและมีผลกระทบในวงกว้าง การดำเนินการจะถูกยกระดับเป็น “ศูนย์บัญชาการเฉพาะกิจ” ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้บัญชาการศูนย์ฯ ตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 โดยทุกหน่วยงานต้องรายงานข้อมูลต่อ สทนช. ทุก 3 ชั่วโมง ส่วนในพื้นที่วิกฤติต้องรายงานความเคลื่อนไหวทุกชั่วโมง โดยมีการประชุมวันละ 3 ครั้ง เวลา 08.00 น. 14.00 น. และ 20.00 น. โดยข้อมูลดังกล่าวจะส่งต่อไปยังกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง ของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบโดยเร่งด่วนต่อไป

                ขณะเดียวกัน สทนช. ยังได้บูรณาการร่วมกับกระทรวงมหาดไทย เพิ่มประสิทธิภาพกลไก 4 ด้าน ในการรับมือสาธารณภัยจากวิกฤติน้ำตามหลักสากลการจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ได้แก่ 1.ด้านป้องกันและลดผลกระทบ การบริหารจัดการและจัดสรรน้ำตามเกณฑ์อย่างเหมาะสมในภาวะปกติ จัดทำแผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำท่วม/น้ำแล้ง ในแต่ละลุ่มน้ำ พร้อมบูรณาการข้อมูลสารสนเทศด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย และจัดทำเกณฑ์เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ ณ สถานีควบคุม 2. ด้านเตรียมความพร้อม การกำหนดเขตภาวะน้ำแล้งล่วงหน้า และแผนเตรียมกรณีน้ำท่วมฉุกเฉิน ติดตาม เฝ้าระวัง วิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์ประเมินพื้นที่เสี่ยง และแจ้งเตือนประชาชน รวมถึงหน่วยงานในพื้นที่เพื่อรับมือ 3. ด้านรับมือ/เผชิญเหตุ การประกาศเขตภาวะน้ำแล้งอย่างรุนแรงและมาตรการ การผันน้ำข้ามลุ่มเพื่อบรรเทาภาวะน้ำแล้ง รวมทั้งบัญชาการและอำนวยการแก้ไขปัญหาจนกว่าวิกฤติจะผ่านพ้นไป 4. ด้านฟื้นฟูเยียวยา ชดเชยเยียวยา รวบรวมข้อมูลความเสียหาย พื้นที่วิกฤติน้ำ เพื่อวางแผนการป้องกันและแก้ไขระยะยาว

    อาจกล่าวได้ว่าหลัง 3 เสาหลักมีผลการบังคับใช้ตามกฎหมาย การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศเริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น มีเอกภาพ ไม่ซ้ำซ้อน สามารถวางแผนพัฒนา ป้องกัน และแก้ไขปัญหาน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผลสูงสุด และยั่งยืน ถือเป็นการเตรียมความพร้อมก้าวไปสู่การจัดตั้งกระทรวงน้ำในอนาคต แต่จะเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนอยู่ที่รัฐบาลใหม่ ต้องเฝ้าจับตาอย่างใกล้ชิด

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ