ข่าว

 ผนึก23องค์กรเครือข่าย ใช้"บึงกาฬโมเดล"ต้นแบบเพิ่มมูลค่ายาง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

 ผนึก23องค์กรเครือข่ายยางพาราทั่วไทย ใช้"บึงกาฬโมเดล"ต้นแบบเพิ่มมูลค่ายาง

  

            เครือข่ายอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง ไทย-ลาว จังหวัดบึงกาฬ จับมือวิทยาลัยเทคนิคบึงกาฬและเครือข่าย 23 องค์กร ลงนามความร่วมมือด้านการพัฒนา-วิจัย สร้างนวัตกรรมด้านยางพารา ก้าวไปสู่ “บึงกาฬโมเดล” หวังเป็นต้นแบบการแก้ไขปัญหายางพาราอย่างเป็นระบบครบวงจร นับเป็นการบูรณาการความร่วมมือกิจการร่วมค้า เป็นการร่วมทุนแห่งแรกและครั้งแรกของประเทศไทย สร้างแบรนด์สินค้าร่วมกัน ผลักดันเกิดศูนย์การพัฒนานวัตกรรมยางแห่งแรกของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

 ผนึก23องค์กรเครือข่าย ใช้"บึงกาฬโมเดล"ต้นแบบเพิ่มมูลค่ายาง

 ธวัชชัย ศรีทอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ

 

             พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการพัฒนา การวิจัยและสร้างนวัตกรรมด้านยางพารา ครั้งนี้ มี ธวัชชัย ศรีทอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ เป็นประธานกล่าวเปิดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลง (เอ็มโอยู) อำนวย ปะติเส อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะที่ปรึกษาสภาเครือข่ายยางและสถาบันเกษตรกรยางพาราแห่งประเทศไทย (สยยท.) อุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานสภาเครือข่ายยางและสถาบันเกษตรกรยางพาราแห่งประเทศไทย และ ถวิล สุวรรณมณี นายกสมาคมสื่อมวลชนเกษตรแห่งประเทศไทย ร่วมเป็นสักขีพยาน โดยการลงนามครั้งนี้ได้กำหนดกรอบความร่วมมือเป็นระยะเวลา 3 ปี

               “วันนี้มีการลงนามเอ็มโอยูกัน แต่สิ่งที่ต้องติดตามดูหลังจากนี้ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นบ้างที่เป็นรูปธรรม ไม่ใช่แค่ลงนามเฉยๆ แล้วหายไปเลย” ธวัชชัย ศรีทอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ กล่าวตอนหนึ่งระหว่างเป็นประธานในพิธีเปิดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง 23 องค์กร ณ หอประชุมวิทยาลัยเทคนิคบึงกาฬ จ.บึงกาฬ เมื่อเร็วๆ นี้ โดยย้ำว่าปัญหาของยางพาราวันนี้อยู่ที่ราคาตกต่ำ ขณะเดียวกันเกษตรกรชาวสวนยางเองก็ยังถูกพ่อค้ารับซื้อยางเอาเปรียบกดราคา ทำให้เกษตรกรได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก หากมีการแปรรูปเพิ่มมูลค่าจากโรงงานในพื้นที่ โดยองค์กรเครือข่ายเกษตรกรเองก็จะทำให้ชาวสวนยางลืมตาอ้าปากได้

             รองผู้ว่าฯ บึงกาฬระบุว่า เมื่อคราวที่คณะรัฐมนตรีสัญจรที่ จ.เพชรบูรณ์ ได้อนุมัติงบประมาณจำนวน 1,400 ล้านบาท สำหรับพัฒนาจังหวัดบึงกาฬให้เป็นเมืองยางพาราครบวงจร หรือ “บึงกาฬโมเดล” เริ่มตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ขณะเดียวกันรัฐบาลได้มีโครงการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 5 จ.บึงกาฬ ก็จะมีความสะดวกในการขนส่งสินค้ายางพาราไปยังประเทศจีน โดยผ่านทางสปป.ลาวและเวียดนาม ซึ่งจะช่วยย่นระยะเวลาการขนส่งเป็นอย่างมาก

 ผนึก23องค์กรเครือข่าย ใช้"บึงกาฬโมเดล"ต้นแบบเพิ่มมูลค่ายาง

    ภคพล บุตรสิงห์ ประธานเครือข่ายอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง ไทย-ลาว

                  ภคพล บุตรสิงห์ ประธานเครือข่ายอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง ไทย-ลาว จ.บึงกาฬ กล่าวถึงความร่วมมือครั้งนี้ ในฐานะผู้นำในการรวมรวมเกษตรกรและเครือข่ายสมาคมการค้ายาง จ.บึงกาฬ สันนิบาตสหกรณ์ สภาเกษตรกร และเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน ซึ่งเป็นกลุ่มพันธมิตรในความร่วมมือครั้งนี้ โดยระบุว่าเป็นความร่วมมือครั้งสำคัญในการบูรณาการความร่วมมือกิจการร่วมค้าของสหกรณ์การเกษตรเครือข่ายสภาเกษตรกรจังหวัดบึงกาฬ กับบริษัท อาร์ ที แอล เวิล์ดเทรด จำกัด ซึ่งเป็นการร่วมทุนแห่งแรกและครั้งแรกของประเทศไทยที่จะสร้างแบรนด์สินค้าร่วมกันทั้งภายในและต่างประเทศ ใน CLMVT ประกอบด้วย ประเทศกัมพูชา สปป.ลาว เมียนมาร์ เวียดนาม และประเทศไทย 

                ทั้งนี้ มีหน่วยงานจากหลายภาคส่วนมาจับมือร่วมกัน คาดว่าจะส่งผลให้เกิดความสำเร็จในการแก้ไขปัญหายางพาราทั้งระบบทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยเริ่มจากในพื้นที่จังหวัดบึงกาฬ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการปลูกยางมากที่สุดของภาคตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 8.3 ล้านไร่ ซึ่งความร่วมมือครั้งนี้เป็นการสร้างต้นแบบที่เรียกว่า “บึงกาฬโมเดล” นับเป็นความพร้อมขยายผลความสำเร็จไปในพื้นที่จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและประเทศไทย และขยายไปในเขตอาเซียน และทั่วโลกต่อไป ซึ่งหากภาครัฐให้การสนับสนุนก็จะได้นำรูปแบบดังกล่าวไปใช้ในพื้นที่ปลูกยางพาราในภาคอื่นๆ ของประเทศไทยต่อไป

               อุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานสภาเครือข่ายยางและสถาบันเกษตรกรยางพาราแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การลงนามครั้งนี้เชื่อมั่นว่าจะเกิดประโยชน์อย่างแน่นอน  ซึ่งที่ผ่านมาสภาเครือข่ายยางและสถาบันเกษตรกรยางพาราแห่งประเทศไทยได้ทำบันทึกความร่วมมือกับประเทศเมียนมาร์แล้ว ซึ่งรัฐบาลควรให้การสนับสนุนอย่างจริงจังและเป็นวาระเร่งด่วน เพราะหากประสบความสำเร็จแล้วจะได้นำรูปแบบดังกล่าวไปพัฒนาปรับใช้ในพื้นที่หรือจังหวัดต่างๆ ที่มีการปลูกยาง ก็จะช่วยแก้ปัญหาในระยะยาวได้ 

 ผนึก23องค์กรเครือข่าย ใช้"บึงกาฬโมเดล"ต้นแบบเพิ่มมูลค่ายาง

               “ขอฝากรัฐบาลหรือพรรคการเมืองที่จะมารับผิดชอบดูแลด้านยางพารา ขอให้คัดสรรคนทำงานที่เป็นคนเก่ง คนดี คนที่มีความรู้ความสามารถมาแก้ปัญหายางพาราจริงๆ เนื่องจากในอดีตจนถึงวันนี้เกิดปัญหาเรื้อรังสั่งสมมานาน คนรับกรรมคือเกษตรกรชาวสวนยาง ซึ่งหากแก้ควรแก้ไขตั้งแต่คนที่จะมานั่งเก้าอี้บริหารองค์กรยาง รวมทั้งควรแก้ระบบ ระเบียบ กฎเกณฑ์ การทำงาน และงบประมาณที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการบริหารงาน รวมทั้งควรรับฟังความคิดเห็นจากคนในพื้นที่ และเปิดโอกาสให้เครือข่ายเกษตรกรเข้ามามีบทบาทในการมาร่วมแก้ไขเพิ่มมากขึ้น” 

                ชาญชัย แสนจันทร์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคบึงกาฬ กล่าวภายหลังพิธีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ว่ามีเป้าหมายเพื่อแก้ไขปัญหายางพารา และยกระดับราคายางในพื้นที่ ทั้งในด้านการพัฒนาผลิต และการแปรรูปยางอย่างครบวงจร ผ่านกลไกในการวิจัย การทดสอบ และการสร้างมาตรฐาน รวมทั้งสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับมูลค่ายางในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและประเทศ อย่างเป็นรูปธรรม มีการดำเนินการวิจัยและพัฒนาตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เพื่อให้เกิดเป็นศูนย์การพัฒนานวัตกรรมยางแห่งแรกของภาคอีสาน ในการให้บริการเรื่องยางแบบเบ็ดเสร็จ (One stop service) อันนำไปสู่การทำวิสาหกิจชุมชนในการแปรรูปยางเป็นผลิตภัณฑ์ของทุกภูมิภาคทั่วประเทศ สามารถช่วยสร้างอาชีพมีรายได้ที่ดีให้แก่เกษตรกรชาวสวนยางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และประเทศไทย สอดรับกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 โดยเกษตรกรและผู้ประกอบการ สามารถประกอบอาชีพและสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ยางพาราได้ เกิดความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน

                การลงนามครั้งนี้ได้กำหนดขอบเขตหน้าที่ทั้ง 23 หน่วยงานเพื่อให้เกิดความร่วมมือในการดำเนินกิจกรรมอย่างใกล้ชิด โดยวิทยาลัยเทคนิคบึงกาฬนั้นได้ให้ความร่วมมือด้านการผลิตบุคลากรด้านการวิจัย พัฒนาเทคโนโลยี สร้างนวัตกรรมใหม่พัฒนาเครือข่ายการแปรรูปยางตลอดห่วงโซ่อุปทานให้เข้มแข็ง ตลอดจนการถ่ายทอดองค์ความรู้ในรูปแบบต่างๆ โดยความร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรอื่นในภาคอีสานและในประเทศ  

 

              โดยสภาเครือข่ายยางและสถาบันเกษตรกรยางพาราแห่งประเทศไทย(สยยท.นการตลาดของผลิตภัณฑ์ยางพาราของไทยและประเทศคู่แข่ง รวมถึงให้ความร่) จะร่วมมือประสานงานในการสร้างเครือข่ายและหาทุนฝึกอบรมของอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางสำหรับเกษตรกรชาวสวนยางในประเทศไทย เพื่อให้เป็นอาชีพในการสร้างมูลค่าเพิ่ม ตลอดจนเชื่อมโยงกับกลุ่มเกษตรและสถาบันเกษตรกรยางพารา, สภาเครือข่ายอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง ไทย-ลาว จังหวัดบึงกาฬ สาขาสยยท.แห่งประเทศไทย, สหกรณ์การเกษตรเครือข่ายสภาเกษตรกรจังหวัดบึงกาฬ จำกัด, วิสาหกิจชุมชนเศรษฐกิจแนวคิดใหม่ในอาเซียน และสันนิบาตสหกรณ์จังหวัดบึงกาฬ เป็นศูนย์กลางในการประสานงานภาคเกษตรกรกับองค์กรเครือข่ายต่างๆ ให้เกิดความร่วมมือในการทำวิจัยเกี่ยวกับการศึกษาและวิเคราะห์ด้านการตลาดทั้งประเทศและต่างประเทศของผลิตภัณฑ์ยางพาราของไทย ตลอดจนการศึกษาและวิเคราะห์ศักยภาพ โอกาสและอุปสรรคด้าวมมือในส่งเสริมด้านการตลาด และการทำ Business Matching กับประเทศคู่ค้าต่างๆ 

               ส่วนมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยคณะเศรษฐศาสตร์ ร่วมกับวิทยาลัยเทคนิคบึงกาฬ ให้ความร่วมมือด้านการผลิตบุคลากร ด้านการทำวิจัย พัฒนาเทคโนโลยี สร้างนวัตกรรมใหม่ พัฒนาเครือข่ายการแปรรูปยางตลอดห่วงโซ่คุณค่าให้เข้มแข็ง ตลอดจนการถ่ายทอดองค์ความรู้ในรูปแบบต่างๆ โดยร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรอื่นในภาคอีสานและหน่วยงานพันธมิตรอื่นในประเทศและต่างประเทศที่ได้ลงนามความร่วมมือ สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ และพัฒนาแผนเศรษฐกิจวิสาหกิจนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ยางพารา

               นับเป็นอีกก้าวความร่วมมือในการปฏิรูปอุตสาหกรรมยางพาราครั้งใหญ่ โดยการขับเคลื่อนของภาคประชาสังคมประกอบด้วย ภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันเครือข่ายเกษตรกร ตลอดจนเกษตรกรชาวสวนยางเพื่อมีเป้าหมายเพื่อแก้ปัญหาราคายางตกต่ำนั่นเอง 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ