ข่าว

จากลุ่มเจ้าพระยาสู่"แม่โขงเดลต้า"ตอนจบ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

จากลุ่มเจ้าพระยาสู่"แม่โขงเดลต้า"ตอนจบ  9สายเหลือ7สิ้นลายมังกรเหลือแค่"งูยักษ์"

                  "ศ.ชุง เฮือง ชอง” นักวิจัยอาวุโสด้านมานุษยวิทยาจากศูนย์วิจัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยแห่งชาติโฮจิมินห์ นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญเรื่องแม่น้ำโขงอีกรายที่ขึ้นเหนือล่องใต้จากต้นกำเนิดสู่ปลายแม่น้ำโขงมาเกือบค่อนชีวิต ทำให้รับรู้ข้อมูลแก่นรากของปัญหาผ่านงานวิจัยในทุกมิติได้อย่างลึกซึ่ง ศ.ชอง ไม่ใช่แค่นักสถิติทีี่เก็บข้อมูลมาประมวลผลเพื่อหาข้อสรุป แต่เขาได้ชื่อว่านักมานุษยวิทยาของเวียดนามตัวเป้งที่เก่งเรื่องแม่น้ำโขงชนิดหาตัวจับยากคนหนึ่ง

จากลุ่มเจ้าพระยาสู่"แม่โขงเดลต้า"ตอนจบ แปลงนาข้าวในจ.เตี่ยนยาง ประเทศเวียดนาม

 

              งานวิจัยของเขาไม่ใช่แค่ที่เวียดนาม แต่ยังเชื่อมเครือข่ายวิจัยกับมหาวิทยาในประเทศเพื่อนบ้านมาอย่างยาวนาน ทำให้เขามองปัญหาอย่างทะลุ จากบนสุดเรื่องนโยบายสู่ล่างสุดในระดับชุมชน

             “ผมเคยทำงานวิจัยเรื่องแม่โขงร่วมกับทางมหาวิทยาลัยในประเทศไทยหลายแห่ง เช่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนครก็เคยไปเก็บข้อมูลงานวิจัยร่วมกัน เห็นว่าข้อมูลงานวิจัยของแต่ละประเทศจะต่างกัน แม่น้ำโขงไหลผ่านประเทศไหนงานวิจัยของประเทศนั้นก็จะแน่นและลึก ทำไมเราไม่เอางานวิจัยของสถาบันการศึกษาของแต่ละประเทศมาจอยกันมันจะได้ข้อมูลที่เป็นภาพรวมตลอดทั้งสาย”

จากลุ่มเจ้าพระยาสู่"แม่โขงเดลต้า"ตอนจบ เขื่อนไชยยะบุรี สปป.ลาว

               ศ.ชอง มองถึงการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงว่ามีส่วนสำคัญอย่างมากที่ทำให้ปริมาณน้ำในพื้นที่แม่โขงเดลต้าลดลง ส่งผลต่อความอุดมสมบูรณ์ของธาตุอาหารในดินที่เกิดจาการสะสมของตะกอนบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงลดลงไปด้วย

              “ตอนนี้จีนสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงเสร็จแล้ว 8 แห่ง จาก 10 แห่ง ลาวก็ไม่ต่ำกว่า 20 แห่งทั้งที่สร้างเสร็จแล้วและกำลังสร้าง เฉพาะเขื่อนอย่างเดียวได้สร้างปัญหาอย่างน้อย 3 อย่างคือ อย่างแรกเป็นสาเหตุสำคัญทำให้น้ำที่ไหลลงมาข้างล่างน้อยลง อย่างที่สองทำให้พวกตะกอนดินที่เป็นอาหารสัตว์น้ำลดน้อยลง ความอุดมสมบูรณ์ที่เดลต้าก็ลดน้อยลงไปด้วย และอย่างที่สามปริมาณน้ำจืดที่ลดลงส่งผลกระทบต่อปริมาณอาหารของสัตว์น้ำด้วย"

              ศ.ชอง ยอมรับว่าปัญหาอีกประการคือการใช้น้ำเพื่อประโยชน์ภาคการเกษตรที่มุ่งเป้าไปที่การเพิ่มผลผลิตสินค้าเกษตร ซึ่งก็เป็นอีกปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำในแม่โขงเดลต้าด้วย เพราะมีการใช้น้ำในปริมาณที่มากและสิ้นเปลืองในช่วงที่ผ่านมา ในขณะที่บางปีก็เกิดปรากฏการณ์เอลนีโญและลานิญญา ซึ่งหากเกิดเอลนิโญหรือภาวะแล้งจัดเมื่อไหร่ทั้งลุ่มน้ำโขงก็จะเจอปัญหาในสภาพที่ไม่ต่างกัน แต่ที่เดลต้าจะหนักกว่า เพราะอยู่ติดทะเล เมื่อน้ำจืดมีไม่พอที่จะไปผลักดันน้ำเค็มก็จะส่งผลให้น้ำเค็มรุกล้ำเข้ามาในลำน้ำสาขาของแม่น้ำโขง โดยได้ยกตัวอย่างที่จ.เกิ่นเทอ ตั้งอยู่ห่างจากชายฝั่งทะเลประมาณ 50 กิโลเมตรขณะนี้ยังได้รับผลกระทบจากน้ำเค็มรุกเข้ามาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

จากลุ่มเจ้าพระยาสู่"แม่โขงเดลต้า"ตอนจบ

             “เป็นนโยบายที่ผิดพลาดของเวียดนามเองด้วย ก็คือต้องการจะเป็นที่หนึ่งในการส่งออกข้าว ก็เลยมุ่งส่งเสริมชาวนาผลิตข้าวเพิ่ม จากที่เคยปลูกปีละ 2 ครั้งก็เพิ่มเป็น 3 ครั้ง แล้วทีนี้ทั้งปีคุณไม่มีเวลาที่จะบูรณะฟื้นฟูดินเลย ดินไม่ได้พัก ขณะเดียวกันการเร่งผลผลิตต่อพื้นที่ให้สูงขึ้น ใช้ปุ๋ยเคมีในขณะที่น้ำจืดก็มีไม่พอ สารเคมีเหล่านี้ก็ยิ่งตกค้างอยู่ในดินทีี่ปลูกข้าว อันนี้แหละที่ส่งผลให้เกิดภาวะเรือนกระจกยิ่งทำให้เกิดภาวะโลกร้อนมากขึ้น”

              ส่วนอีกปัจจัยปรมาจารย์ด้านแม่น้ำโขงคนเดิมระบุอีกว่า การเร่งผลิตพวกเสบียงอาหารจำพวกการทำประมงน้ำจืด เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ฟาร์มกุ้ง ฟาร์มหอย ฟาร์มปูมีเป็นจำนวนมากในพื้นที่เดลต้า ในขณะที่มีหัวอาหารสารพัดสำหรับสัตว์น้ำเหล่านี้ เมื่อเจอวิกฤติในช่วงที่น้ำจืดน้อย สารอาหารจำพวกนี้ก็ไม่สลายแต่ยังคงตกค้างในท้องน้ำยิ่งทำให้เกิดมลภาวะทางน้ำ น้ำเสีย น้ำเข้าในเดลต้ามากขึ้น

              “แม่โขงเดลต้า หรือมังกร 9 สายที่เขาพูดกันตอนนี้มันหายไปแล้ว 2 มังกรเหลืออยู่แค่ 7 มังกร หนึ่งในนั้นเป็นเพราะเวียดนามเองได้สร้างเขื่อนกั้นน้ำไว้ที่เรียกว่าเขื่อนบาลายเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าและผันน้ำมาใช้ทางการเกษตร ส่วนมังกรที่สองก็อยู่ใกล้ๆ กัน แต่สายนี้เป็นผลมาจากเขื่อนข้างบน ปริมาณน้ำลงมาไม่พอ ทำให้สายน้ำแห้งขอดจนทุกวันนี้แทบไม่มีน้ำหล่อเลี้ยง จนกลายเป็นเกาะแทนที่จะเป็นน้ำ ก็เลยใช้ศัพท์ว่าตอนนี้ไม่ใช่มังกรแล้วแต่มันเป็นแค่งูยักษ์” ศ.ชอง กล่าวติดตลก

               สำหรับแนวทางการป้องกันนั้น เขามองว่าแม้จะมีกรอบความร่วมมือต่างๆ มากมายในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (MRC) ซึ่งประกอบด้วย 4 ประเทศได้แก่ ไทย สปป.ลาว กัมพูชาและเวียดนาม คณะกรรมการความร่วมมือแม่โขง-ลานช้าง หรือคณะกรรมการความร่วมมือมิสซิสซิปปี้-แม่โขง แต่เป็นองค์กรก่อตั้งในเชิงการเมืองมากกว่าและผลประโยชน์ก็ตกแก่มหาอำนาจหรือผู้ริเริ่มเท่านั้น ไม่ได้ลงถึงประชาชนในพื้นที่หรือประเทศที่ได้รับผลกระทบจากแม่น้ำโขงไหลผ่าน

              “กรอบความร่วมมือในแม่น้ำโขงมีหลายโครงการ แต่ละกรอบก็มีเป้าหมายไม่เหมือนกันและผู้ที่เข้ามาเล่นก็ไม่เหมือนกัน ใครเป็นใหญ่ผลประโยชน์ก็ตกอยู่กับฝ่ายนั้น

              อย่างกรอบความร่วมมือมิสซิสซิปปี้-แม่โขง มีสหรัฐเป็นผู้ริเริ่ม เพื่อต้องการหาพันธมิตรความร่วมมือในภูมิภาคนี้ หรือกรอบอนุภูมิภาคแม่โขง-ล้านช้าง ซึ่งก่อตั้งขึ้นมาเมื่อปี 2016 อันนี้มันไม่ใช่ความร่วมมือแม่น้ำโขงหรอก แต่ตั้งขึ้นมาเพื่อตอบสนองเบลท์แอนด์โรดของจีนมากกว่า”

             แต่สิ่งที่ ศ.ชอง ได้ตั้งข้อสังเกตคือทุกกรอบความร่วมมือเป็นบทบาทของภาครัฐทั้งหมด โดยภาคประชาสังคมหรือภาคประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมแต่อย่างใด ทำให้ความร่วมมือต่างๆ ในลุ่มแม่น้ำโขงจึงอ่อนแอ

                “ทุกครั้งมีแต่รัฐคุยกันประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับรู้ข่าวสารเรื่องพวกนี้เลย ความจริงต้องส่งเสริมเรื่องพวกนี้ เรื่องการศึกษาวิจัย เรื่องการดูงานการไปเยี่ยมเยือนซึ่งกันและกัน การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ข้อมูลข่าวสารของชาวบ้านและชุมชนที่อาศัยอยู่กับแม่น้ำโขง คุณเจอปัญหาอะไรบ้างก็มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันแล้วก็ผลักดันไปสู่ภาครัฐ ผมยังยืนยันว่าภาคประชาชนจะต้องแข่งแกร่งเท่านั้นแม่น้ำโขงจึงจะอยู่รอด” นักวิจัยอาวุโสจากมหวิทยาลัยแห่งชาติโฮจิมินห์ กล่าวสรุปทิ้งท้าย

               แม่น้ำโขงเปรียบดั่งสายน้ำแห่งชีวิตที่หล่อเลี้ยงผู้คนหลายร้อยล้านผ่านหลายประเทศตั้งแต่จีน เมียนมาร์ สปป.ลาว ไทย กัมพูชาและเวีดนาม เมื่อใดที่ระดับน้ำจากแม่น้ำโขงขึ้นสูง พืชพันธุ์และผู้คนที่อาศัยสองฝั่งโขงมีชีวิตชีวา แต่หากเมื่อใดที่กระแสน้ำโขงลดและน้ำเค็มรุกเข้ามาบ่งบอกถึงสัญญาณแห่งความตายใกล้จะมาเยือน โดยเฉพาะบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง หรือแม่โขงเดลต้า หรือที่คนเวีดนามรู้จักในนาม “กู่ลองยาง”  

 

 4ประเทศผนึกจีนเชื่อมข้อมูลน้ำในแม่น้ำโขง 

            ระหว่างวันที่ 4–5 มิถุนายน ที่ผ่านมา สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) นำโดยดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ หัวหน้าคณะผู้แทนประเทศไทยเข้าร่วมประชุมคณะทำงานร่วมสมัยวิสามัญสาขาทรัพยากรน้ำครั้งที่ 1 ประจำปี 2562 ร่วมกับประเทศจีนและอีก 4 ประเทศสมาชิกท้ายน้ำโขง

จากลุ่มเจ้าพระยาสู่"แม่โขงเดลต้า"ตอนจบ

ได้แก่ เมียนมาร์ ลาว ไทย กัมพูชา และเวียดนาม  ภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง พร้อมเชื่อมข้อมูลระดับน้ำและปริมาณน้ำฝน 2 สถานีหลักในจีนใช้บริหารจัดการน้ำในฤดูฝนปีนี้

  การประชุมครั้งนี้เลขาธิการ สทนช. ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานฝ่ายไทยได้ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการแลกเปลี่ยนข้อมูลอุทกวิทยา กรณีฤดูน้ำหลากสำหรับแม่น้ำโขง–ล้านช้าง ของคณะทำงานร่วมสาขาทรัพยากรน้ำเพื่อสนับสนุนความร่วมมือด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำระหว่างประเทศจีนและประเทศท้ายน้ำ  โดยฝ่ายจีนจะให้ข้อมูลระดับน้ำและปริมาณฝนในช่วงฤดูน้ำหลากตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน–31 ตุลาคมของทุกปี 

    โดยจัดส่งข้อมูลรายชั่วโมง 2 ครั้งต่อวัน เวลา 09.00 น. และ 21.00 น. จากสถานีอุทกวิทยา 2 แห่ง คือ สถานีสถานีจิ่งหง ในแม่น้ำโขงท้ายเขื่อนจิ่งหง และสถานีหม่านอัน ในลำน้ำสาขาของแม่น้ำโขง ณ สาธารณรัฐประชาชนจีน ให้แก่ศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานกลางของประเทศไทย

   สำหรับประเทศสมาชิกที่เหลืออยู่ระหว่างการมอบหมายหน่วยงานภายใน โดยบันทึกความเข้าใจฉบับนี้มีผลครอบคลุมเป็นระยะเวลา 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2562 เป็นต้นไป และสามารถรับข้อมูลได้ทันทีในช่วงฤดูฝนปีนี้ อีกทั้งยังสามารถขยายระยะเวลาการใช้บังคับไปได้อีก 5 ปี หากประเทศสมาชิกมีความเห็นชอบร่วมกันก่อนที่บันทึกความเข้าใจเดิมจะหมดอายุลง และยังสามารถปรับปรุงหรือแก้ไขเนื้อหาได้หากมีความเห็นชอบร่วมกัน 

  อนึ่ง กรอบความร่วมมือแม่โขง–ล้านช้าง (Mekong – Lancang Cooperation : MLC) จัดตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศแม่โขง–ล้านช้าง ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2558 เพื่อเป็นเวทีที่ส่งเสริมความร่วมมืออย่างรอบด้านของประเทศสมาชิก คือ ไทย กัมพูชา จีน ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม โดยมีการกำหนดเสาหลักความร่วมมือที่สำคัญจำนวน 3 ด้าน คือ ด้านการเมืองและความมั่นคง ด้านเศรษฐกิจและการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้านสังคม วัฒนธรรมและปฏิสัมพันธ์ของประชาชน 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ