ข่าว

จากลุ่มเจ้าพระยาสู่"แม่โขงเดลต้า"ตอน1

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

จากลุ่มเจ้าพระยาสู่"แม่โขงเดลต้า"ตอน1  วิกฤติน้ำเค็มรุก"ความเหมือนที่แตกต่าง"

 

        ภูมิภาคเอเชียได้ชื่อว่าเป็น "ครัวของโลก” จากข้อมูลองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ในปี 2016 ระบุว่า ภูมิภาคเอเชีย มีพื้นที่ปลูกข้าวมากที่สุดคิดเป็นสัดส่วน 90% ของพื้นที่ปลูกข้าวทั่วโลก โดยจีนครองแชมป์มากที่สุดร้อยละ 30 หรือประมาณ 144 ล้านตันต่อปี รองลงมาเป็นอินเดีย ร้อยละ 22 หรือประมาณ 106 ล้านตันต่อปี ส่วนเวียดนามและไทยรั้งอันดับ 5 และ 6 ตามลำดับ

จากลุ่มเจ้าพระยาสู่"แม่โขงเดลต้า"ตอน1

       ผศ.เฮือง เวียด อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องแม่น้ำโขงแห่งมหาวิทยาลัยโฮจิมินห์

       แม้เวียดนามรั้งอันดับ 5 ครองสัดส่วนร้อยละ 5 ผลิตข้าวได้เฉลี่ย 27 ล้านตันต่อปี ส่วนไทยรั้งอันดับ 6 ครองสัดส่วนร้อยละ 3 แต่สองประเทศนี้กลับส่งออกข้าวมากที่สุดในโลก

      จากข้อมูลกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ปี 2561 ประเทศไทยมีส่งออกข้าวที่ปริมาณ 10 ล้านตัน มูลค่า 4,525 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 158,000 ล้านบาท ขณะเวียดนาม ที่ส่งออกข้าวจำนวน 5.9 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่าเกือบ 2,700 ล้านดอลลาร์ โดยมีปลายทางส่งออกส่วนใหญ่คือจีน และฟิลิปปินส์

     ในขณะที่แหล่งปลูกข้าวหลักของไทยอยู่ในแถบพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ส่วนเวียดนามอยู่บริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง หรือแม่โขงเดลต้า ทางตอนใต้ของประเทศ ครอบคลุม 13 จังหวัด รวมพื้นที่กว่า 40,000 ตารางกิโลเมตร

จากลุ่มเจ้าพระยาสู่"แม่โขงเดลต้า"ตอน1 แปลงนาข้าวในจ.เตี่ยนยาง

     ทว่าจากนี้ไปในอีก 3-5 ปีข้างหน้าพื้นที่สองลุ่มน้ำของทั้งสองประเทศอาจจะต้องเจอวิกฤติครั้งใหญ่ส่งผลทำให้พื้นที่ปลูกข้าวและพืชเกษตรอื่นลดลง ไม่เฉพาะจากนโยบายรัฐที่ให้ลดพื้นที่ปลูกข้าวหันไปปลูกพืชอื่นที่ใช้น้ำน้อย แต่ต้นตอของปัญหาใหญ่มาจากปริมาณน้ำที่ใช้สำหรับอุปโภคบริโภคและน้ำเพื่อการเกษตรกลับลดลง 

     ทั้งนี้เป็นผลมาจากสองปัจจัยคือ สภาวะภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปกับการกระทำของมนุษย์ ส่งผลทำให้เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ ทั้งน้ำท่วม น้ำแล้งเกิดขึ้นบ่อยและยาวนานมากขึ้น ส่วนการกระทำของมนูษย์มีทั้งการสร้างเขื่อนเก็บกักน้ำบริเวณต้นน้ำส่งผลให้พื้นที่ปลายน้ำมีปัญหา การทิ้งขยะลงในแม่น้ำทำให้เกิดน้ำเน่าเสีย การใช้สารเคมีทางการเกษตรทำให้มีสารตกค้างในดินและมีผลต่อภาวะโลกร้อนด้วย

       พื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาถือเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของไทย เมื่อปลายปี 2558-2559 เจอปัญหาน้ำเค็มรุกครั้งใหญ่จากปากแม่น้ำเจ้าพระยาลึกเข้ามาถึงจังหวัดปทุมานี จนพื้นที่เกษตรได้รับความเสียหายอย่างหนัก ไม่เฉพาะแปลงข้าวเท่านั้น แต่ยังคาบเกี่ยวไปถึงแหล่งปลูกกล้วยไม้ด้วย

    จากข้อมูลกรมส่งเสริมการเกษตรที่ได้สำรวจความเสียหายในเดือนมกราคม 2559 พบว่ามีแหล่งปลูกกล้วยไม้ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำเค็มรุกพื้นที่น้ำจืดกระจายอยู่ใน 3 พื้นที่ ประกอบด้วย อ.สามพราน จ.นครปฐม พื้นที่ปลูกกล้วยไม้ 1,214ไร่ อ.เมือง และ อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร พื้นที่รวมกัน 2,000 ไร่ และเขตทุ่งครุ เขตจอมทอง และเขตบางขุนเทียน กรุงเทพฯ มีพื้นที่ปลูกกล้วยไม้เสียหายคิดเป็นเนื้อที่รวม 50 ไร่

จากลุ่มเจ้าพระยาสู่"แม่โขงเดลต้า"ตอน1 แปลงนาข้าวสองข้างทางระหว่างโฮจิมินห์สู่จ.เตี่ยนยาง

    ส่วนการแก้ปัญหาในขณะนั้น ทางกรมชลประทานได้ปล่อยน้ำออกท้ายเขื่อนแม่กลองหรือเขื่อนท่าม่วงใน อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี ระบายลงแม่น้ำแม่กลองเพื่อผลักดันน้ำเค็ม

      “ปัญหาสมุทรสงครามไม่ใช่ภัยแล้ง แต่เป็นภัยน้ำเค็มหนุน ซึ่งหากกรมชลประทานไม่ปล่อยน้ำผลักดันน้ำเค็ม เมื่อน้ำเค็มหนุนเข้าคลองต่างๆ ทั้งจังหวัดซึ่งมีกว่า 300 คลอง จะส่งให้เกษตรกรทั้งชาวสวนมะพร้า ชาวสวนส้มโอ และสวนลิ้นจี่ได้รับความเดือดร้อน”

    นี่คือปัญหาที่ ชัยยันต์ อยู่ศิริ ประธานสภาเกษตรกร จ.สมุทรสงคราม เคยให้มุมมองไว้ว่าจังหวัดสมุทรสงครามเป็นพื้นที่ปลายน้ำและอยู่ใกล้ทะเล ปริมาณน้ำที่เขื่อนปล่อยมาไม่มากพอที่จะผลักดันน้ำเค็มได้ จึงทำให้ผลผลิตการเกษตรเกิดความเสียหาย ไม่ว่าจะเป็น ส้มโอ มะพร้าว และลิ้นจี่ เรื่องน้ำเค็มหนุนเข้าสวน เกษตรกรต้องช่วยตัวเองเป็นหลัก

       เช่นเดียวกับ เปรม ณ สงขลา เกษตรกรเจ้าของสวนเคหการเกษตรใน อ.ลาดหลุมแก้ว จ.ปทุมธานี ที่มองผ่าน "คม ชัด ลึก” ว่าปัญหาน้ำเค็มรุกพื้นที่เกษตรยังคงเป็นปัญหาใหญ่ในลุ่มเจ้าพระยา ซึ่งเป็นแหล่งปลูกข้าวหลักของประเทศ โดยเป็นผลมาจากปรากฏการณ์เอลนีโญ มีสภาพแห้งแล้งยาวนาน ส่งผลพืชเกษตรได้รับความเสียหายอย่างหนักในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

จากลุ่มเจ้าพระยาสู่"แม่โขงเดลต้า"ตอน1 แม่น่ำสงเตียน 1ใน9สาขาของแม่น้ำโขงไหลผ่านจ.เตี่ยนยาง

     “ช่วงหน้าแล้งทุกปี พื้นที่ลุ่มเจ้าพระยามักจะเจอปัญหาน้ำทะเลหนุนจนทำให้พื้นที่เกษตรได้รับความเสียหาย อย่างเมื่อปี 2558-2559 น้ำเค็มรุกเข้ามาถึงปทุมธานี แต่บังเอิญว่าตอนนั้นทางการได้ประกาศงดปลูกข้าวนาปรังจึงไม่ได้รับผลกระทบมากนัก แต่พืชอื่นๆ ได้รับความเสียหาย เช่น ทุเรียนเมืองนนท์ สวนกล้วยไม้ต่างๆ และพืชยืนต้นอื่นที่ไม่ใช่ข้าว”

       ในขณะที่มาตรการป้องกันน้ำเค็มรุกพื้นที่การเกษตรในลุ่มเจ้าพระยานั้น รัฐบาลโดยสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) หน่วยงานด้านนโยบายน้ำของประเทศก็ได้วางแผนแนวทางป้องกันทั้งระยะสั้นและระยะยาว  โดยระยะสั้นนั้นได้วางแผนจัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ และป้องกันน้ำเค็มตลอดฤดูแล้งผ่านเขื่อนเจ้ำพระยา จ.ชัยนาท และเขื่อนพระรามหก จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อควบคุมปริมาณน้ำไหลผ่านสถานีวัดน้ำ C.29 อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยาเหนือปากคลองสำแล (คลองประปำ) ให้มีอัตราการไหลเฉลี่ย 80-100 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งจะสามารถควบคุมความเค็มไม่ให้ไหลย้อนถึงปากคลองสำแลได้ขั้นต่ำวันละ 8 ล้านลูกบาศก์เมตร ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำต้นทุนในช่วงต้นฤดูด้วย ส่วนระยะยาวมีการปรับปรุงแนวคันควบคุมน้ำทะเลพร้อมอาคารประกอบ และงานปรับปรุงขุดลอกคลองมหาชัย

        “ในระยะยาวจะมีการปรับปรุงแนวคันแก้มลิงคลองมหาชัย–คลองสนามชัยที่ จ.สมุทรสาคร พร้อมปรับปรุงก่อสร้างอาคารบังคับน้ำตามแนวคันแก้มลิงคลองมหาชัย–คลองสนามชัย เพื่อควบคุมน้ำทะเลไหลเข้ามา ซึ่งอาคารดังกล่าวจะช่วยป้องกันการรุกล้ำของน้ำเค็มและเป็นการเพิ่มประสิทธิภพในการเก็บกักน้ำในแก้มลิง นอกจากนี้ยังสามารถช่วยระบายน้ำออกจากแก้มลิงคลองมหาชัย–คลองสนามชัยไหลลงสู่ทะเลในช่วงมีน้ำหลากได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นด้วย”

จากลุ่มเจ้าพระยาสู่"แม่โขงเดลต้า"ตอน1

        ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เผยกับ "คม ชัด ลึก” ถึงแนวทางการป้องกันและแก้ปัญหาน้ำเค็มรุกล้ำเข้ามาในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา แม้ปัจจุบันปัญหาน้ำเค็มรุกพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาจะได้รับการแก้ไข ในขณะพื้นที่แม่โขงเดลต้ากำลังกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่ยังหาทางออกไม่เจอ บางพื้นที่ถูกน้ำทะเลรุกเข้าไปเป็นระยะทางหลายสิบกิโลเมตร เช่น จ.เกิ่นเทอ ตั้งอยู่ห่างจากชายฝั่งทะเลเข้ามาในแผ่นดินใหญ่ราว 50 กิโลเมตรก็ถูกน้ำเค็มรุกเข้ามาเต็มพื้นที่เรียบร้อยแล้ว

        แต่สิ่งที่น่ากังวลในสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงหรือแม่โขงเดลต้าในวันนี้คือการกัดเซาะพื้นที่ริมตลิ่งของลำน้ำสาขาแม่น้ำโขงบริเวณปากแม่น้ำ ซึ่งเป็นผลมาจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น แต่หากลึกเข้ามาจะมีปัญหาเรื่องคุณภาพน้ำเสียในแม่น้ำโขงจากสารเคมีเกษตร ขยะ สิ่งปฏิกุล รวมถึงสารตกค้างจากหัวอาหารสำหรับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ยิ่งช่วงหน้าแล้งลำน้ำสาขาของแม่น้ำโขงบางสายกลับแห้งขอดจนดินแตกระแหง ซึ่งปัญหาดังกล่าวจะมีผลกระทบประชาชนกว่า 20 ล้านคนที่อาศัยอยู่ในบริเวณแม่โขงเดลต้า หรือ “กู่ลองยาง” ในภาษาเวียดนาม  

      จ.เตี่ยนยาง ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้ของนครโฮจิมินห์ประมาณ 160 กิโลเมตร มีพื้นที่ปลูกข้าวใหญ่สุดของเวียดนาม กลับต้องเจอปัญหาทั้งน้ำแล้งและน้ำเค็ม จนถึงขณะนี้ทางการเวียดนามเชื่อว่าพื้นที่การเกษตรในเขตสามเหลี่ยมแม่น้ำโขงจะได้รับความเสียหายประมาณ 590,500 เฮกตาร์ หรือราว 5.94 ล้านไร่ จากพื้นที่ทั้งหมด 1.53 เฮกตาร์ หรือประมาณ 9.56 ล้านไร่ โดยจังหวัดที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดได้แก่ เตี่ยนยาง ล็องอาน เกียนยาง เบ๊นแตร จร่าวิญ โห่วยาง ช็อกจรัง และบักเลียว

จากลุ่มเจ้าพระยาสู่"แม่โขงเดลต้า"ตอน1 แปลงนาข้าวในจ.เตี่ยนยาง

 

 

        “ปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่แม่โขงเดลต้าวันนี้ มีสาเหตุมาจาก 2 ปัจจัย คือ ประการแรกมาจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง ส่วนอีกประการมาจากการกระทำของมนุษย์”

          ผศ.หว่าง เวียด อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องแม่น้ำโขงแห่งมหาวิทยาลัยโฮจิมินห์กล่าวกับ "คณะสื่อมวลชนไทย" ระหว่างการลงพื้นที่สำรวจสภาพปัญหา “แม่โขงเดลต้า” แหล่งผลิตอาหารหลักที่สำคัญของเวียดนาม ตามคำเชิญของสำนักข่าวสารแห่งชาติเวียดนาม (VietnanNews Agency หรือ VNA) นำโดย “อ.ทรงฤทธิ์ โพนเงิน” อดีตนักสื่อสารมวลชนเชี่ยวชาญภูมิภาคอินโดจีน ที่ปัจจุบันผันตัวเองมาเป็นอาจารย์พิเศษคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน 

จากลุ่มเจ้าพระยาสู่"แม่โขงเดลต้า"ตอน1

  ผศ.หว่าง เวียด ขณะให้สัมภาษณ์สื่อไทย

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ