ข่าว

จากไหปลาร้าเพิ่มมูลค่าสู่"ครกหิน"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

จากไหปลาร้าเพิ่มมูลค่าสู่"ครกหิน" ผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาบ้านโพนพิสัย 

                ที่ไหนมีน้ำ ที่นั่นย่อมมีปลา ที่ไหนมีนาที่นั่นย่อมมีข้าว ฉันใดก็ฉันนั้น และเมื่อมีทั้งปลาและข้าวแล้วภาชนะที่จะนำมาใส่เพื่อเก็บรักษาก็จำเป็นเช่นกัน มีข้าวก็ต้องมียุ้งฉาง มีปลาก็จะต้องมีไหเพื่อเก็บรักษาคุณภาพปลาเอาไว้กินนานๆ ด้วยการทำปลาร้า ปลาแดกตามวิถีชีวิตชาวลุ่มน้ำ โดยเฉพาะลุ่มน้ำโขงแล้ว ปลาร้า ปลาแดก ถือเป็นของคู่กัน หากมีปลาเยอะ ก็จะต้องหาวิธีถนอมเอาไว้กินได้นานๆ  

               และที่ อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย มีการปั้นไห เพื่อบรรจุน้ำ และใส่ปลาร้าปลาแดกเอาไว้กินนานๆ มาตั้งแต่โบราณแล้ว จนกลายเป็นวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของคนลุ่มน้ำ และแม้เวลาผ่านไปนานแค่ไหน ช่างปั้นไหของอำเภอแห่งนี้ก็ยังคงสืบทอดภูมิปัญญาบรรพบุรุษและปั้นไหเอาไว้จำหน่ายเป็นอาชีพและสร้างรายได้ให้ครอบครัว

จากไหปลาร้าเพิ่มมูลค่าสู่"ครกหิน" จากไหปลาร้าเพิ่มมูลค่าสู่"ครกหิน"

   

           ที่บ้านโพนเงิน ต.ชุมช้าง เสวียน ศิลาคม เจ้าของธุรกิจ ส.ศิลาครกหิน วัย 64 ปี บอกว่า เขาเป็นครอบครัวที่ยึดอาชีพปั้นไหไพ หรือไหปากกว้าง ก้นกว้าง สำหรับใส่น้ำ ใส่เกลือเก็บไว้กินได้นานๆ รวมถึงเอาไว้ใส่ปลาร้า แต่ไหสำหรับใส่ปลาร้านั้นจะทำปากเล็กลงมาเพื่อหาฝาปิดได้ง่ายไม่ให้แมลงวันบินเข้าไปไข่ทำให้เกิดหนอนได้ เขาเองเคยปั้นไหกับครอบครัวมานานตั้งแต่รุ่นพ่อรุ่นแม่ โดยในอดีตหมู่บ้านนี้มีคนปั้นไหประมาณ 100 หลังคาเรือน แต่พอมาถึงปัจจุบัน แทบไม่เหลือคนทำเลย เนื่องจากตลาดไม่มี ทำไปก็ไม่ได้ขาย ทำให้หลายครอบครัวเลิกกิจการไป และทุบเตาที่ใช้เผาไหด้วย

         แต่สำหรับเขาเองแล้วก็เลิกทำไปด้วยเช่นกัน โดยหันไปทำสวน ทำนา และไปเสี่ยงโชคที่เมืองนอก แต่ท้ายที่สุดก็ไปไม่รอด จึงกลับมาพลิกฟื้นภูมิปัญญาบรรพบุรุษอีกครั้งหนึ่ง โดยหันกลับมาทำไหไพและปั้นครกเพื่อส่งขาย แต่ก็ทำได้ไม่นานพบว่าตลาดไหไพตัน เนื่องจากคนหันไปซื้อถังพลาสติกใส่น้ำแทนไหไพ จึงหันมาทำเฉพาะครกแทน โดยครกของเขานั้นเป็นครกพิเศษ เพราะดินที่อำเภอโพนพิสัยเป็นดินชนิดที่พอเผาแล้วจะกลายเป็นหิน ทำให้ลูกค้าชื่นชอบและเขาสามารถตีตลาดได้ทั่วประเทศ อีกทั้งครกหินของเขานั้น ปั้นเท่าไรก็ไม่พอขาย มีลูกค้ามารอคิวเหมาเตากันเลยทีเดียว

          “ความพิเศษของดินที่นี่ ดินเป็นดินดาด ปลูกพืชไม่ได้ผล ชาวบ้านจึงไม่ค่อยนิยมปลูกพืชทำสวนทำไร่นัก ก่อนหน้านี้ไม่มีปัญหาเรื่องดิน เพราะไปเอาที่ไหนก็ได้ แต่หลังๆ ดินทุกตารางนิ้วมีเจ้าของทำให้เดือดร้อน และลำบากเรื่องการหากิน  จึงใช้วิธีซื้อที่ดินเอาไว้และค่อยๆ ขุดดินเอามาปั้นครก”

            เสวียนเผยต่อว่า ดินที่นี่มีสีขาว ละเอียด เวลาเอามาเผาจะกลายเป็นหินโดยที่ไม่ต้องเพิ่มเติมหรือใส่ส่วนผสมอะไรเข้าไป ส่วนดินที่อื่นหากเอามาเผาจะเป็นเพียงดินเผาเหมือนกับที่ด่านเกวียน  จ.นครราชสีมา แต่ดินที่นี่จะพิเศษและดีกว่า ความพิเศษของดินนี้เอง ที่จะต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญและผู้ชำนาญในการดู หากดูแล้วจะรู้เลยว่าดินดาดนี้ใช้ปั้นได้หรือไม่ เพราะหากมีเศษดินผสมซึ่งจะทำให้ดินออกสีแดงเวลาเผาก็จะไม่ได้คุณภาพอย่างที่ต้องการ จะต้องใช้ดินดาดที่มีคุณสมบัติพิเศษเท่านั้น

            ส่วนวิธีการทำนั้น เขาแจงรายละเอียดว่าเมื่อได้ดินมาจะต้องเอาดินมาตาก เสร็จแล้วนำมาบดให้ละเอียดแล้วร่อน จากเอาไปหมักในน้ำ ก่อนจะเอามาทำเป็นก้อนและเข้าสู่กระบวนการปั้นครก โดยครกที่นี่มีหลายขนาดราคาตั้งแต่ 35-1,000 บาท ส่วนครกที่ขายดีเป็นครกขนาดกลางๆ ราคาประมาณ 500 บาท โดยพ่อค้าแม่ค้าส้มตำนิยมนำไปทำส้มตำขาย และมีคำสั่งซื้อหรือออเดอร์มากมายจนผลิตไม่ทันและเน้นผลิตขายส่งไม่ขายปลีก เพราะแค่ขายส่งก็ทำแทบไม่ทันแล้ว

            นอกจากดินที่มีความพิเศษกว่าที่อื่นแล้ว ยังมีเตาเผา ที่เขาคิดค้นและทำขึ้นมาเอง โดยลองผิดลองถูกมานาน จนกระทั่งได้เตาเผาที่มีขนาดใหญ่ ยาวประมาณ 20 เมตร เผาครกได้ทีละ 500 ใบ พอเผาเสร็จก็มีคนมาซื้อเหมาลอตไปเลย เผาครกแต่ละครั้งจะขายได้ประมาณ 40,000-50,000 บาท และจะเผาเพียงสัปดาห์ละ 1 ครั้งเท่านั้น โดยเผาได้เพียงอาทิตย์ละ 2 เตา ส่วนการเผาครก 1 เตา จะต้องใช้เวลา 2 คืน 2 วัน กว่าจะได้ครกที่คุณภาพดีอย่างที่ต้องการ โดยครกที่ปั้นเสร็จแล้วจะต้องตากแดด 5 แดด หรือ 5 วัน ถึงจะแห้งดีพอเอาเข้าเตาเผาได้

             ส่วนแรงงานที่ใช้ เป็นแรงงานในหมู่บ้าน ที่สมัครใจมาทำงานที่นี่ เพราะได้ทำงานใกล้บ้านแถมรายได้ดีอีกต่างหาก ช่างปั้นครกจะได้ค่าจ้างใบละ 10 บาท แต่ละวันจะปั้นได้กี่ใบก็ตามแต่สะดวก นอกจากช่างปั้นครกแล้ว ยังมีช่างผสมดิน ร่อนดิน หมักดิน และช่างเผา ที่ต้องอาศัยคนงานแต่ละวันประมาณ 12 คน นอกจากดินที่หายากแล้ว เขาบอกว่าปัญหาหนึ่งของการทำอาชีพนี้คือไม้ฟืนที่จะเอามาเผาครก เพราะไม้เริ่มหายาก ทุกวันนี้เขาหันมาใช้ไม้ยูคาลิปตัสที่เป็นไม้แขนง เนื่องจากโรงงานไม่เอา ทำให้พอมีไม้สำหรับเผาครกได้ รวมถึงไม้หัวไร่ปลายนาที่ชาวบ้านเข็นมาขายให้ แต่หากวันหนึ่งไม่มีไม้สำหรับทำฟืนก็คงเดือดร้อนเหมือนกัน 

              “ตอนนี้ในอำเภอโพนพิสัยมีธุรกิจปั้นไห ปั้นครกเหลือเพียง 4 ครอบครัวเท่านั้นจาก 100 ครอบครัวที่เคยทำ และ 4 ครอบครัวที่เหลือ เป็นบรรดาคนงานที่เคยมารับจ้างทำงานกับเราและแยกตัวออกไปทำธุรกิจของตนเอง ซึ่งเราก็ไม่หวง เพราะทุกวันนี้ส่งขายแทบไม่ทัน  ตลาดครกหินกว้างมาก มีอยู่ทั่วประเทศ ทุกบ้าน ทุกครอบครัวต้องใช้ครก ตำน้ำพริก ตำส้มตำ จนทำให้ผลิตไม่พอขาย”

               ทุกวันนี้บ้านของเสวียนกลายเป็นแหล่งศึกษาดูงานจากคนทั่วโลก ทั้งจากอเมริกา เกาหลี ญี่ปุ่น กัมพูชา สปป.ลาวและอีกหลายประเทศเพื่อมาดูกรรมวิธีการผลิต แต่หากจะเอาไปทำบ้างคงยาก เพราะปัญหาใหญ่คือดิน ดินที่อื่นจะไม่เหมือนดินโพนพิสัย สนใจดูงานติดต่อเสวียน ศิลาคม เจ้าของธุรกิจ ส.ครกหิน เลขที่ 51 หมู่ 15 บ้านโพนเงิน ต.ชุมช้าง อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย โทร.08-1059-7856 หรือใช้เส้นทางถนนสาย หนองคาย–โพนพิสัย ข้ามสะพานเข้าสู่ตัวอำเภอโพนพิสัยเลี้ยวขวา ตรงไปเรื่อยๆ จนถึงตำบลชุมช้าง เข้าไปที่วัดป่า จะเจอเตาเผาของเสวียนอยู่ข้างวัดพอดี

 

                                       แจกันดินเผาลายพญานาคต้นแบบ 

              นอกจากเครื่องปั้นดินเผาที่เน้นผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ในครัวเรือนและเป็นงานฝีมือมาตั้งแต่บรรพบุรุษแล้ว ยังได้มีการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ โดยนักออกแบบผลิตภัณฑ์ที่นำเอาดินชุดโพนพิสัยไปสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์แบบใหม่ โดยยังคงยึดรูปแบบจากภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่สืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน โดยใช้แนวคิดที่จะนำรูปแบบศิลปะชาวบ้านที่มีอยู่ในภูมิภาคนี้มาสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์เชิงวัฒนธรรม 

จากไหปลาร้าเพิ่มมูลค่าสู่"ครกหิน"

             ทั้งนี้ เมืองโพนพิสัย และจังหวัดหนองคาย มีความโดดเด่นเรื่องพญานาค จึงได้พัฒนาผลิตภัณฑ์เป็นแจกันจากรูปทรงไหไพที่ชาวบ้านเคยทำมาแต่เดิม มาพัฒนารูปทรงใหม่ ลักษณะฐานเป็นรูปทรงคล้ายเชี่ยนหมากของอีสาน ตรงกลางปากแจกันเจาะรูไม่ใหญ่นัก เพื่อเวลาใส่ดอกไม้จะได้ไม่ทำให้ดอกไม้ล้ม และประดับด้วยลายพญานาคกับหม้อปูรณฆฏะ หรือ หม้อแห่งความอุดมสมบูรณ์ เพื่อแฝงคุณค่าและความเป็นสิริมงคลให้กับผู้ที่เลือกซื้อหาไปใช้ โดยผู้พัฒนาผลิตภัณฑ์นี้คือ อาจารย์ดร.ณัฐพงศ์ พรหมพงศธร อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่สอนการออกแบบผลิตภัณฑ์และเชี่ยวชาญเรื่องงานปั้นและงานเซรามิก ได้เป็นผู้ออกแบบแจกันลายพญานาคนี้

       สำหรับแจกันลายพญานาคนี้เป็นการออกแบบมาเพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาสู่ผลิตภัณฑ์ชุมชนต่อไป โดยคุณสมบัติพิเศษของดินชุดโพนพิสัยคือมีส่วนผสมของแร่เหล็กอยู่เป็นจำนวนมาก ทำให้เวลาเผาในอุณหภูมิที่สูงกว่า 750 องศา และใช้น้ำเคลือบขี้เถ้าซึ่งเป็นวัสดุที่หาง่ายในท้องถิ่น และเผาเคลือบที่อุณหภูมิ 1,220 องศาเซลเซียส จะทำให้มีความโดดเด่นและงดงามของเนื้อดินที่จะมีความนูนและมีจุดดำเด่นชัดออกมา ซึ่งดินในพื้นที่อื่นทำไม่ได้แบบนี้ ส่วนลวดลายพญานาคนั้น ใช้ดินขาววาดก่อนนำไปเผา เพื่อให้เห็นความเด่นชัดของลายพญานาคที่ต้องการนำเสนอ

       นอกจากผลิตภัณฑ์แจกันลายพญานาคแล้ว ยังมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชิ้นเล็ก ๆ เพื่อสะดวกต่อการซื้อหา ไม่ว่าจะเป็นเชิงเทียนประดับ ทรงครกลายพญานาค และช้อนที่ระลึกพญานาค ซึ่งเป็นต้นแบบเพื่อรอนำไปสู่พื้นที่และมอบแก่ชาวบ้านดำเนินการผลิตเพื่อเป็นสินค้าของฝาก ของที่ระลึกต่อไป 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ