ข่าว

 ม.ก.วิจัยสำเร็จอ้อยปลอดโรค"ใบขาว"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

 ม.ก.วิจัยสำเร็จอ้อยปลอดโรค"ใบขาว" ส่งมอบท่อนพันธุ์ขยายผลสู่เกษตรกร         

 

     หลังประสบความสำเร็จการศึกษาวิจัยโรคใบขาวในอ้อยจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อด้วยเทคโนโลยีการผลิตท่อนพันธุ์แบบปราณีตแนวใหม่ของทีมนักวิจัยคณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จากนั้นจึงได้มอบกล้าท่อนพันธุ์จำนวน 100,000 ต้นเพื่อขยายผลสู่เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยต่อไป 

     ม.ก.วิจัยสำเร็จอ้อยปลอดโรค"ใบขาว"

 ม.ก.วิจัยสำเร็จอ้อยปลอดโรค"ใบขาว"

            รศ.สุภาพร กลิ่นคง ภาควิชาโรคพืช คณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  หัวหน้าทีมนักวิจัยได้กล่าวถึงการใช้ต้นพันธุ์อ้อยปลอดโรคใบขาวจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อและผ่านกระบวนการอนุบาลต้นกล้าจนถึงการผลิตต้นอ้อยเพื่อใช้เป็นท่อนพันธุ์ปลอดโรคใบขาวในแปลงว่าเป็นวิธีการในการดำเนินการป้องกันกำจัดโรคใบขาวอ้อยที่ได้ผลแบบยั่งยืนในระยะยาวอย่างต่อเนื่อง ภายใต้โครงการการขยายผลเทคโนโลยีการผลิตต้นพันธุ์อ้อยปลอดโรคใบขาว โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) มาตั้งแต่ปี 2559 

              จากนั้นในปี 2560 ได้มีการจัดทำแปลงพันธุ์ขยายอ้อยปลอดโรคใบขาว”และในปี 2562 มีการส่งเสริมและติดตามเทคโนโลยีการผลิตท่อนพันธุ์อ้อยปลอดโรคใบขาวแบบประณีตแนวใหม่สำหรับเกษตรกร ซึ่งได้ดำเนินการผลิตต้นพันธุ์อ้อยปลอดโรคโดยใช้เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับระบบการผลิตพันธุ์อ้อยปลอดโรคใบขาวได้มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง และปัจจุบันได้มีการนำมาใช้อย่างเป็นรูปธรรมได้แก่ การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่ออ้อยปลอดโรคใบขาว การขยายพันธุ์อ้อยในเชิงอุตสาหกรรมด้วยระบบไบโอรีแอคเตอร์ การอนุบาลต้นกล้าในระบบโรงเรือนกันแมลงการพัฒนาเทคนิคที่มีความไวสูงมาใช้ตรวจเชื้อไฟโตพลาสมาปริมาณน้อย ๆ ในทุกส่วนของต้นอ้อย เช่น เทคนิคพีซีอาร์ (PCR : Polymerase chain reaction) และเทคนิคแลมป์(LAMP: Loop mediated isothermal amplification) เป็นต้น

               หัวหน้าทีมนักวิจัยเผยต่อว่าสำหรับโครงการนำร่องผลิตต้นพันธุ์อ้อยปลอดโรคใบขาวนี้ ได้ผลิตอ้อยปลอดโรคใบขาวพันธุ์ขอนแก่น 3 และ LK92-11 รวมจำนวน 100,000 ต้น เพื่อนำไปแจกจ่ายสู่เกษตรกรใช้ปลูกทดแทนอ้อยเป็นโรคและลดพื้นที่การระบาดของโรคใบขาว และถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตอ้อยปลอดโรคใบขาวให้กับเจ้าหน้าที่โรงงานน้ำตาลและผู้สนใจต่าง ๆ ได้นำไปใช้ปลูกขยายพันธุ์ทดแทนอ้อยเป็นโรคใบขาว และได้รับความรู้เรื่องเทคโนโลยีการผลิตต้นพันธุ์อ้อยปลอดโรคใบขาว และการจัดทำแปลงพันธุ์ขยายอ้อยปลอดโรคใบขาวด้วย

          ผศ.ดร.สุตเขตต์ นาคะเสถียร คณบดีคณะเกษตร มหาวิทาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวระหว่างเป็นประธานในพิธีมอบกล้าพันธุ์อ้อยปลอดโรคใบขาว ภายใต้โครงการการส่งเสริมและติดตามเทคโนโลยีการผลิตท่อนพันธุ์อ้อยปลอดโรคใบขาวแบบประณีตแนวใหม่สำหรับเกษตรกร โดยมี ผศ.ดร.อุดมศักดิ์ เลิศสุชาตวนิช ภาควิชาโรคพืช คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รายงานความเป็นมาโครงการฯ จากนั้น ผศ.สุภาวดี โพธิยะราช ผู้อำนวยการฝ่ายการวิจัยมุ่งเป้า สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กล่าวถึงโครงการวิจัยมุ่งเป้า และมอบต้นกล้าพันธุ์อ้อยปลอดโรคใบขาวร่วมกับคณบดีคณะเกษตรด้วย 

       อย่างไรก็ตามที่ผ่านมามีการระบาดของโรคใบขาวในอ้อยได้สร้างความเสียหายคิดเป็นมูลค่าไม่น้อยกว่า 2,000 ล้านบาท โดยสาเหตุโรคเกิดจากเชื้อไฟโตพลาสมา ซึ่งมีการแพร่กระจายของเชื้อโดยการถ่ายทอดติดไปกับท่อนพันธุ์จากต้นหรือตอที่เป็นโรคใบขาวและยังสามารถถ่ายทอดเชื้อได้ โดยมีแมลงปากดูดพวกเพลี้ยจักจั่นเป็นแมลงพาหะ จากการขยายกำลังการผลิตอ้อยโดยการเพิ่มพื้นที่ปลูกทำให้เกิดการขาดแคลนท่อนพันธุ์ จึงทำให้เกิดการขนย้ายท่อนพันธุ์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นท่อนพันธุ์ที่มีเชื้อไฟโตพลาสมาแฝงอยู่ข้ามไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ทำให้เกิดการกระจายของโรคไปยังทุกแหล่งเพาะปลูก ส่งผลให้การแพร่ระบาดของโรคใบขาวเป็นไปอย่างรวดเร็ว และชาวไร่อ้อยส่วนใหญ่มักเก็บอ้อยที่ปลูกส่งโรงงานไว้ใช้ทำพันธุ์ต่อ ทำให้พื้นที่ปลูกอ้อยมีการระบาดโรคเพิ่มขึ้นและขยายวงกว้างขึ้นในทุกปี เกิดการสะสมโรคใบขาวก่อให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรงในระยะยาว

 

 

       นับเป็นอีกก้าวของความสำเร็จในการแก้ปัญหาโรคใบขาวในอ้อยที่เป็นปัญหาหนักอกของเกษตรกรชาวไร่อ้อยมาอย่างยาวนานผ่านโครงการวิจัยโรคใบขาวในอ้อยจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อด้วยเทคโนโลยีการผลิตท่อนพันธุ์แบบปราณีตแนวใหม่ของทีมนักวิจัยคณะเกษตร ม.เกษตรฯกำแพงแสนในวันนี้

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ