ข่าว

จากทุ่งบางระกำสู่...บางพลวงโมเดล

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

จากทุ่งบางระกำสู่...บางพลวงโมเดล ศาสตร์พระราชาแก้ปัญหาน้ำ"ปราจีน-บางปะกง"

 

             ภายหลังจากกรมชลประทานบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง น้อมนำ “ศาสตร์พระราชา” แก้มลิง มาใช้ในการป้องกันและแก้ปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา โดยได้ดำเนินโครงการปรับการเพาะปลูกข้าวทุ่งบางระกำ หรือ โครงการบางระกำโมเดล ประสบผลสำเร็จต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการมากขึ้น สามารถเพิ่มพื้นที่ได้ถึง 382,000 ไร่ และสามารถรองรับน้ำหลากได้ 550 ล้าน ลบ.ม. พร้อมทั้งได้ขยายโครงการมาดำเนินการในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาใต้ จ.นครสวรรค์ จำนวน 12 ทุ่ง ประมาณ 1.15 ล้านไร่ สามารถรับน้ำหลากได้ถึง 1,533 ล้าน ลบ.ม.

จากทุ่งบางระกำสู่...บางพลวงโมเดล

 

 

                ผลดีจากการดำเนินโครงการดังกล่าว นอกจากจะใช้เป็นแก้มลิงธรรมชาติรองรับน้ำหลากไม่ให้ท่วมพื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญๆ แล้ว ยังส่งผลให้เกษตรกรสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ก่อนที่จะเกิดน้ำท่วม น้ำหลาก ไม่เกิดความเสียหายใดๆ ในช่วงที่มีน้ำอยู่ในทุ่ง สามารถประกอบอาชีพด้านประมงเป็นรายได้เสริม นอกจากนี้การพักนาทำให้เกิดปุ๋ยอินทรีย์อย่างดี ข้าวที่ปลูกมีผลผลิตเพิ่มขึ้น ในขณะที่ต้นทุนการผลิตลดลง เพราะใช้ปุ๋ยน้อยลง ลดค่าใช้จ่าย เกษตรกรมีรายได้ที่มั่นคง ยั่งยืน

                 ก่อนหน้านี้ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้กรมชลประทานนำ “บางระกำโมเดล” ไปขยายผลดำเนินโครงการในพื้นที่อื่นๆ ที่ประสบปัญหาในลักษณะใกล้เคียงกัน และมีแหล่งน้ำต้นทุนเพียงพอ ซึ่งกรมชลประทานได้พิจารณาเบื้องต้นพบว่า พื้นที่ที่มีลักษณะขยายผลได้คือ พื้นที่ลุ่มต่ำท้ายเขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์ และพื้นที่ทุ่งบางพลวง จ.ปราจีนบุรี

                ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวในส่วนของพื้นที่ลุ่มต่ำท้ายเขื่อนลำปาว โดยระบุว่า กรมชลประทานได้ศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมไว้ 2 กรณี คือ เปิดพื้นที่ให้รับน้ำนองเช่นเดียวกับบางระกำโมเดล โดยปล่อยน้ำให้เกษตรกรทำนาและเก็บเกี่ยวให้เสร็จก่อนน้ำหลาก เมื่อถึงเดือนกันยายนจึงปล่อยให้เป็นพื้นที่เก็บน้ำได้ประมาณ 16 ล้าน ลบ.ม. แต่แนวทางนี้ ยังมีเกษตรกรบางส่วนไม่พร้อมดำเนินการ จึงเสนออีกแนวทางหนึ่งคือการขุดลอก เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพระบบระบายน้ำออกจากที่ลุ่มต่ำได้ภายใน 2 อาทิตย์ หรือทำพนังกั้นน้ำโอบป้องกันน้ำเข้าท่วม เนื่องจากปัญหาน้ำท่วมที่นี่ไม่ได้เกิดขึ้นซ้ำซากเป็นประจำทุกปี ประกอบกับภายหลังจากที่มีการเพิ่มความจุให้แก่เขื่อนลำปาว ทำให้สามารถเก็บน้ำได้เพิ่มมากขึ้นอีกประมาณ 500 ล้าน ลบ.ม. รวมไปถึงการคาดการณ์ที่แม่นยำของกรมอุตุนิยมวิทยาทำให้สามารถวางแผนบริหารจัดการน้ำไว้ล่วงหน้าได้

              นอกจากนี้ในอนาคตโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว มีแผนการปรับปรุงระบบส่งน้ำระยะทางรวมกว่า 600 กิโลเมตร เป็นคลองคอนกรีตเสริมเหล็กทั้งหมด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการกระจายน้ำให้ได้รวดเร็ว และทั่วถึงเต็มพื้นที่ชลประทานที่มีอยู่มากกว่า 3 แสนไร่ ซึ่งระบบกระจายน้ำที่มีประสิทธิภาพ จะทำให้มีต้นทุนน้ำสมบูรณ์เพียงพอแม้ในฤดูแล้ง และจะเป็นรากฐานสำคัญที่จะช่วยให้เกษตรกรมีรายได้ที่มั่นคง

              ส่วนพื้นที่ทุ่งบางพลวง กลับเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพที่จะขยายผลบางระกำโมเดลได้ ล่าสุดกรมชลประทาน โดยโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาบางพลวง นำโครงการบางระกำโมเดลมาขยายผลดำเนินโครงการบริหารจัดการน้ำทุ่งบางพลวง เพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัย หรือ “บางพลวงโมเดล”  โดยได้บูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มเกษตรกร กลุ่มของหน่วยงานฝ่ายปกครอง และกลุ่มหน่วยงานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

              “ทุ่งบางพลวง” เป็นพื้นที่การเกษตรที่อยู่ในเขตชลประทาน ตั้งอยู่บริเวณฝั่งซ้ายของแม่น้ำปราจีนบุรีต่อเนื่องถึงแม่น้ำบางปะกง เนื้อที่ประมาณ 499,000 ไร่ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ลุ่มต่ำ ครอบคลุมพื้นที่ 4 อำเภอ ของ จ.ปราจีนบุรี ได้แก่ อ.เมือง อ.ศรีมหาโพธิ์ อ.ศรีมโหสถ และ อ.บ้านสร้าง รวมถึง 3 อำเภอของ จ.ฉะเชิงเทรา ได้แก่ อ.บางคล้า อ.ราชสาส์น และ อ.พนมสารคาม

             ในอดีตพื้นที่ทุ่งบางพลวงจะประสบปัญหาอุทกภัยเป็นประจำ ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรได้รับความเสียหาย กรมชลประทานได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาด้วยการปรับปรุงพื้นที่โครงการ ก่อสร้างคันกั้นน้ำริมแม่น้ำปราจีนบุรีต่อเนื่องแม่น้ำบางปะกง และก่อสร้างประตูระบายน้ำบริเวณคลองสายหลักที่เชื่อมต่อกับแม่น้ำ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรให้สามารถทำกิจกรรมการเกษตรในทุ่งบางพลวงได้

             อย่างไรก็ตามการแก้ไขปัญหาดังกล่าว พบว่าในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน ของทุกปี เป็นช่วงใกล้เก็บเกี่ยวข้าว เมื่อมีการปิดประตูระบายน้ำ ปริมาณน้ำจะไม่สามารถไหลบ่าเข้าทุ่งได้ จึงไหลเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรอื่นๆ รวมไปถึงชุมชนริมแม่น้ำในพื้นที่ อ.ศรีมหาโพธิ์ อ.บ้านสร้าง และพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญในเขต อ.เมืองปราจีนบุรี ความขัดแย้งจึงเกิดขึ้นเป็นประจำเกือบทุกปี

             ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวถึงการแก้ปัญหาในระยะยาว กรมชลประทานจึงมีแนวคิดในการดำเนิน “โครงการบริหารจัดการน้ำทุ่งบางพลวงเพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัยจังหวัดปราจีนบุรี” หรือ “บางพลวงโมเดล” ในลักษณะที่คล้ายกับโครงการบางระกำโมเดล เพื่อให้เกษตรกรสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ก่อนน้ำหลาก หลังจากนั้นจะใช้เป็นทุ่งรับน้ำหลาก โดยจะต้องปรับปฏิทินการเพาะปลูกพืช (crop pattern)ใหม่ จากเดิมเกษตรกรจะเริ่มเตรียมแปลงเพาะปลูกประมาณกลางเดือนพฤษภาคม เนื่องจากต้องรอน้ำฝนและเก็บเกี่ยวกลางเดือนกันยายน ปรับเป็นเริ่มเตรียมแปลงภายในเดือนเมษายนและเก็บเกี่ยวให้เสร็จสิ้นภายในช่วงกลางเดือนสิงหาคม ก่อนฤดูน้ำหลากจะมา

             นอกจากนี้แนวทางแก้ปัญหาดังกล่าว ยังเป็นการแก้ไขปัญหาให้เกษตรกรและชุมชนไม่เกิดความเสียหายทั้งสองกลุ่ม ตลอดจนช่วยลดความขัดแย้ง ลดความเสียหายต่อผลผลิตรวมทั้งยังช่วยแก้ไขปัญหาอุทกภัย จ.ปราจีนบุรี อีกด้วย

             “ในช่วงเดือนเมษายนที่ต่อเนื่องมาจนถึงต้นเดือนพฤษภาคม 2562 ที่ผ่านมากรมชลประทานได้ส่งน้ำสนับสนุนสำหรับการเตรียมแปลงปลูกข้าวให้แก่เกษตรกรพื้นที่นำร่อง ในเขต อ.ศรีมหาโพธิ รวม 3 ตำบล คือ ต.หาดยาง ต.ดงกระทงยาม ต.บางกุ้ง โดยการสนับสนุนน้ำประมาณ 6.4 ล้าน ลบ.ม. ในพื้นที่การเกษตรปลูกข้าว ประมาณ 2 หมื่นไร่ ซึ่งแนวทางนี้เป็นการแก้ไขปัญหาให้เกษตรกรและชุมชนไม่เกิดความเสียหายทั้งสองกลุ่ม (win–win) ตลอดจนช่วยลดความขัดแย้ง ลดความเสียหายต่อผลผลิต และช่วยแก้ไขปัญหาอุทกภัย จ.ปราจีนบุรี อีกด้วย" อธิบดีกรมชลประทานกล่าว

              ทั้งนี้หากการดำเนินโครงการบางพลวงโมเดลในพื้นที่นำร่องดังกล่าวประสบผลสำเร็จก็จะขยายผลไปดำเนินในพื้นที่อื่นๆ ของทุ่งบางพลวง ซึ่งมีพื้นที่ที่มีศักยภาพในการดำเนินโครงการได้ประมาณ 2 แสนไร่ ต้องใช้น้ำสำหรับเตรียมแปลงประมาณ 64 ล้าน ลบ.ม.

              ในอนาคตเพื่อให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นและเกิดความยั่งยืน กรมชลประทานมีแผนที่จะดำเนิน “โครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำบ้านวังชัน” ซึ่งจะเป็นอาคารบังคับน้ำในแม่น้ำปราจีนบุรี ช่วยผันน้ำเข้าทุ่งบางพลวง เพื่อสนับสนุนการเกษตรและแก้ไขปัญหาอุทกภัยใน จ.ปราจีนบุรี

                “บางพลวงโมเดล” จะประสบสำเร็จเหมือน “บางระกำโมเดล” หรือไม่...สิ้นฤดูฝนปีนี้มีคำตอบ

 

                      

                         ใช้“เกษตรทฤษฎีใหม่”แก้ปัญหาราษีไศลโมเดล 

              กรมชลประทานใช้ศาสตร์พระราชาแก้ปัญหาเขื่อนราษีไศล-หัวนา เดินหน้าโครงการชลประทานเกษตรทฤษฎีใหม่ประยุกต์ ได้ฤกษ์นำร่องในพื้นที่ 500 ไร่ ลงจอบขุดสระ 23 พฤษภาคมนี้ มั่นใจสร้างรายได้ที่มั่นคงมีอาชีพที่ยั่งยืน พร้อมยืนยันการจ่ายเงินชดเชยที่เหลืออีกเกือบ 600 ล้านบาทได้ภายในมีนาคม 2563

             มนัส กำเนิดมณี รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทานจะได้ดำเนินการเร่งรัดจ่ายค่าทดแทนที่ดินให้แก่ราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างเขื่อนราษีไศล-หัวนา ที่เหลืออยู่อีก 18,000 ไร่ เป็นจำนวนเงิน 599 ล้านบาท ให้แล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคม 2563 อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ราษฎรที่ได้รับผลกระทบสามารถนำเงินไปใช้เกิดประโยชน์สูงสุดสร้างรายได้ที่มั่นคงและยั่งยืน

                  กรมชลประทานจึงขออนุมัติงบประมาณจำนวน 13 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการชลประทานเกษตรทฤษฎีใหม่ประยุกต์ระยะที่ 1 เป็นโครงการนำร่องภายใต้โครงการแก้ไขปัญหาราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างเขื่อนราษีไศลและเขื่อนหัวนา ทั้งนี้ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่มีที่ดินทำกินอยู่แล้ว และต้องการประกอบอาชีพการทำเกษตรแบบผสมผสานที่มีรายได้ทุกวัน โดยมีเกษตรกรที่ประสงค์เข้าร่วมโครงการจำนวน 100 คน พื้นที่ประมาณ 500 ไร่ โดยในเบื้องต้นได้จัดการอบรมให้ความรู้เรื่องเกษตรทฤษฎีใหม่และเข้าใจหลักการศาสตร์ของพระราชาไปแล้ว

                “ขณะนี้เราได้ส่งเจ้าหน้าที่ชลประทานลงไปสำรวจลักษณะภูมิประเทศในแต่ละแปลงเกษตร พร้อมทีมสถาปนิกและวิศวกร เพื่อออกแบบแปลนให้ตรงกับหลักการเกษตรทฤษฎีใหม่ประยุกต์ โดยแต่ละแปลงจะมีการออกแบบพื้นที่ไร่นาและสระน้ำที่แตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับสภาพภูมิประเทศของแปลงนั้นๆ ตลอดจนปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่และสภาพดินด้วย หลังจากตกแต่งแปลงแล้วเสร็จ จึงเริ่มลงมือทำการเกษตรตามหลักเกษตรทฤษฎีใหม่ โดยหน่วยงานราชการภายใต้สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่เกี่ยวข้อง จะร่วมบูรณาการกันเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่โครงการ ในส่วนของกรมชลประทานจะดำเนินการขุดสระให้ทุกแปลง โดยเริ่มขุดแปลงแรกในวันที่ 23 พฤษภาคม 2562 นี้ ที่ จ.สุรินทร์” มนัสกล่าวย้ำทิ้งท้าย

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ