ข่าว

 ขิด"ลายแห่นาค"สานต่อภูมิปัญญาสู่การค้าตลาดออนไลน์

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

 ขิด"ลายแห่นาค"กลุ่มทอผ้าโนนเสลา สานต่อภูมิปัญญาสู่การค้าตลาดออนไลน์

 

       ตลาดสินค้าท้องถิ่นผ่านการซื้อขายออนไลน์ ดูเหมือนกำลังเป็นความท้าทายใหม่สำหรับชุมชนทั้งขนาดใหญ่และเล็ก โดยเฉพาะที่บ้านโนนเสลา ต.หนองตูม อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ ซึ่งเป็นหมู่บ้านเก่าแก่ มีฝีมือด้านการทอผ้าขิด ซึ่งเป็นการทอรูปแบบอีสานที่ได้รับความนิยมจากผู้สนใจ เนื่องจากความสวยงามและความยากของลายที่จะต้องอาศัยช่างฝีมือที่มีความชำนาญเท่านั้นถึงจะทำได้

 ขิด"ลายแห่นาค"สานต่อภูมิปัญญาสู่การค้าตลาดออนไลน์

 ขิด"ลายแห่นาค"สานต่อภูมิปัญญาสู่การค้าตลาดออนไลน์

 

     ที่หมู่บ้านนี้ชาวบ้านได้รวมกลุ่มกันทอผ้า โดยมี สุขุม แผลงรักษา ในวัย 48 ปี เป็นผู้นำพาชาวบ้านคิด ทำ และดูแลเรื่องการตลาด ทำให้ “กลุ่มผ้าขิดย้อมสีธรรมชาติโนนเสลา”แห่งนี้ได้รับความสนใจ โดยเฉพาะการนำผ้าสวยๆ ขึ้นขายทางเพจในเฟซบุ๊กในชื่อ “ผ้าขิดโนนเสลา” ยิ่งทำให้ยอดจำหน่ายวิ่งไม่หยุด บางครั้งไม่พอขายก็มี

     สุขุม เล่าให้ฟังว่า เขาเป็นคนหมู่บ้านนี้ ก่อนหน้านี้ทำธุรกิจจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง แต่ส่วนตัวชอบผ้าและชอบการทอผ้า จึงได้รวมกลุ่มกับชาวบ้านที่ทอผ้าอยู่แล้วมารวมกลุ่มกันทอและจำหน่ายเมื่อ 4 ปีก่อน โดยมีสมาชิกประมาณ 18-19 คน เดิมชาวบ้านก็ทอผ้าขิดลายโบราณกันอยู่แล้ว แต่พอเขามาทำรวมกลุ่มและอยากจะให้มีลายใหม่ๆ โดยเฉพาะในหมู่บ้านโนนเสลามีชื่อเสียงโด่งดังเรื่อง “การแห่นาคโหด” จึงได้คิดค้นให้นักออกแบบออกแบบลายแห่นาค ซึ่งมีทั้งนาคคู่และนาคเดี่ยว ปรากฏว่าได้รับความสนใจจากลูกค้ามากจนผลิตออกมาไม่พอขาย

       ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ทำมีทั้งผ้าพันคอ ผ้าคลุมไหล่ ย่าม ผ้าถุง และหมอนขิด ซึ่งเป็นสินค้าโอท็อปขึ้นชื่อของหมู่บ้าน เพราะหมอนขิดนั้นชาวบ้านที่นี่ทำมานานและการทอจะเน้นผ้าฝ้ายและเน้นย้อมสีธรรมชาติ ทำให้สามารถเพิ่มมูลค่าสินค้าได้อย่างมาก

       “ก่อนหน้านี้เราก็ใช้สีเคมี และเพิ่งมาเป็นสีธรรมชาติเมื่อ 2 ปีก่อน ปรากฏว่าลูกค้าสนใจมาก แม้สีจะไม่สด และไม่ฉูดฉาดแต่ก็เป็นที่ต้องการ โดยมีทั้งสีคราม สีแดงจากครั่ง สีเหลือง สีน้ำตาล ได้หมด และพอทอออกมาทั้งลายขิดทั่วไปและลายแห่นาคก็ยิ่งมีคนสนใจมาก ทุกวันนี้เน้นขายออนไลน์ 100 เปอร์เซ็นต์เพราะไม่ค่อยได้ออกไปขายตามงานเท่าใดนัก เนื่องจากผลิตสินค้าไม่ทัน”

         สุขุม เล่าหลังเข้าร่วมกลุ่มชาวบ้านและทำการตลาดจนประสบความสำเร็จ ส่วนวัตถุดิบนั้นมีทั้งทำเองและซื้อมา ฝ้ายซื้อมาจากเมืองเลย สกลนคร แม่ฮ่องสอน ลำพูน อุบลราชธานี และอื่นๆ และกำลังส่งเสริมการปลูกต้นฝ้ายเพื่อผลิตเส้นฝ้ายเอง แต่คาดว่าจะไม่ทันต่อความต้องการเพราะสมาชิกในกลุ่มส่วนใหญ่เป็นช่างทอ จึงเน้นซื้อวัตถุดิบจากที่อื่นมาแทน เพื่อเป็นการส่งเสริมอาชีพพี่น้องเกษตรกรในพื้นที่อื่นด้วย

           สำหรับรายได้เขาบอกว่ามีรายได้ต่อเดือนประมาณ 30,000-40,000 บาท ซึ่งเพียงพอต่อต่อการดำรงอยู่ เพราะปกติสมาชิกจะทอผ้าแค่ปีละ 6 เดือน หลังจากนั้นก็ลงนา สินค้าที่สต็อกอยู่ก็ระบายออกได้ทั้งปี บางปีไม่พอขาย ต้องจ้างทอเพิ่ม ส่วนความพิเศษของผ้าทอจากบ้านโนนเสลาคือสามารถใช้ได้ทั้ง 2 ด้าน ทั้งด้านหน้าและด้านหลังในขณะที่ผ้าของกลุ่มอื่นอาจจะใช้ได้เพียงด้านเดียวเท่านั้น นอกจากนั้นคือความคงทน นุ่ม หนา และลาย แบบไม่ซ้ำใคร ทำให้ลูกค้าชื่นชอบมาก

            ในขณะที่ราคาจำหน่าย หากมาซื้อเองที่กลุ่มราคาจะต่ำกว่าขายในเพจเฟซบุ๊กประมาณ 20-30 เปอร์เซ็นต์ เช่นขายในเฟซบุ๊กราคา 1,500 บาท รวมค่าส่ง แต่หากมาซื้อเองที่หมู่บ้านก็จะเหลือเพียง 1,300 บาทเท่านั้น ส่วนการจำหน่ายทางออนไลน์นั้น เขาบอกว่าคือโอกาสสำคัญ เพราะทุกวันนี้ทุกคนหันไปซื้อขายผ่านออนไลน์ทั้งนั้นและหากกลุ่มเกษตรกรกลุ่มอื่นสามารถยกระดับเอาสินค้าตนเองไปสู่ตลาดออนไลน์ได้จะถือเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญที่ทำให้ประสบความสำเร็จเช่นกัน

           และหากมีโอกาสอยากให้รัฐเข้ามาช่วยส่งเสริมและฝึกอบรมเรื่องการอบรมเพื่อทำให้ผ้าหอม คงทน และเป็นเสน่ห์ให้แก่ผลิตภัณฑ์ชุมชน เนื่องจากที่ผ่านมาพยายามจะอบผ้าแต่กลิ่นไม่ติดทนนานเท่าไหร่ จึงอยากให้รัฐเข้ามาส่งเสริมด้านนี้

           ใครสนใจสินค้า หรืออยากจะติดต่อขอดูงาน สามารถประสานได้ที่ สุขุม แผลงรักษา เบอร์ติดต่อ 08-1090-5215 ได้ทุกวัน อุดหนุนสินค้าท้องถิ่นเพื่อชีวิตที่ดีของคนไทย

                                            

                                               กว่าจะมาเป็น“ผ้าทอลายขิด”

           จากข้อมูลกรมหม่อนไหมระบุ ผ้าทอลายขิด เป็นผ้าพื้นเมืองของภาคอีสาน บางส่วนของภาคเหนือและภาคกลางของไทย นับว่าเป็นศิลปะพื้นฐานที่สะท้อนให้เห็นภาพ ลักษณะ ลวดลาย และวิวัฒนาการของท้องถิ่นเดิมของไทยที่มีมาแต่โบราณ ชาวอีสานถือว่าในกระบวนการทอผ้าด้วยกันแล้ว การทอผ้าขิดต้องอาศัยความชำนาญ และมีชั้นเชิงทางฝีมือสูงกว่าการทอผ้าอย่างอื่นๆ เพราะทอยากมาก มีเทคนิคการทอที่ซับซ้อนมากกว่าการทอผ้าธรรมดา เพราะต้องใช้เวลา ความอดทน และความละเอียด ลออ มีกรรมวิธีที่ยุ่งยากทอได้ช้าและผู้ทอต้องมีประสบการณ์และพรสวรรค์ในการทอ

           การทอผ้าลายขิด คือการทอผ้าที่ทอแบบ “เก็บขิด” หรือ “เก็บดอก” เหมือนผ้าที่มีการปักดอก การทอผ้าดอกนี้ชาวอีสานเรียกกันว่า “การทอผ้าเก็บขิด” ลวดลายของขิดแต่ละลายจะมีรูปแบบที่สวยงาม มีความมันวาว นูนลอยออกมาบนผืนผ้า ชาวอีสานโดยทั่วไปนิยมทอผ้าขิดเพื่อทำเป็นหมอน สังเกตว่าลวดลายขิดจะอยู่บริเวณส่วนกลางของตัวหมอน ส่วนหน้าหมอนนั้นนิยมเย็บปิดด้วยผ้าฝ้ายสีแดง ลวดลายหมอนขิดส่วนใหญ่เป็นลวดลายที่ผู้ทอได้รับแรงบันดาลใจมาจากธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความเชื่อ เช่น ลายแมงงอด ลายอึ่ง ลายช้าง ลายม้า ลายพญานาค ลายดอกแก้ว ลายดอกจันทร์ ลายตะเภาหลงเกาะ ลายขอ ลายสิงห์ ลายคชสีห์อองน้อย ลายแมงมุม ลายกาบ ลายหอปราสาท หรือธรรมาสน์ เป็นต้น

           แต่เดิมชาวภาคอีสานนิยมทอลวดลายขิดด้วยเส้นใยฝ้ายสีคราม ส่วนปัจจุบันนิยมใช้สีสันสดใสและพัฒนาการย้อมด้วยสีธรรมชาติจากเปลือกไม้ ใบไม้

           ผ้าลายขิดในภาคอีสานนอกจากทอในกลุ่มภูไทหรือผู้ไทยและไทลาวอื่นๆ แล้ว ยังทอในกลุ่มไทกูย หรือส่วย เขมร ในบริเวณภาคอีสานตอนล่างด้วยเช่นกัน โดยทอทั้งหมอนขิด ขิดหัวซิ่น ขิดตีนซิ่น สไบลายขิด และที่น่าสนใจคือผ้าขาวม้าไหมเชิงขิด มีลักษณะการทอที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะกลุ่ม คือนิยมใช้เส้นไหมทอมากกว่าการใช้เส้นฝ้ายทอเหมือนกลุ่มอื่นๆ

           ปัจจุบันยังคงมีการทอผ้าขาวม้าเชิงขิดในกลุ่มวัฒนธรรมไทกูย หรือส่วย เขมร ที่อยู่ จ.สุรินทร์ ศรีสระเกษ และบุรีรัมย์

            สำหรับลวดลายและกรรมวิธีการทอลักษณะเฉพาะของผ้าทอลายขิด สังเกตดูได้จากลายซ้ำของเส้นที่พุ่งขึ้นเป็นแนวสีเดียวกันตลอด อาจจะเหมือนกันทั้งผืนหรือไม่เหมือนกันทั้งผืนก็ได้ แต่ต้องมีลายซ้ำที่มีจุดจบแต่ละช่วงของลายเห็นได้ชัดผ้าทอลายขิดอีสาน ตามที่ได้ทอกันมาตั้งแต่สมัยดั้งเดิมในอดีตจนถึงปัจจุบันนี้ อาจแบ่งกลุ่มผ้าทอลายขิดได้เป็น 4 ประเภท คือ ขิดลายสัตว์ ขิดลายพันธุ์ไม้ ขิดลายสิ่งของเครื่องใช้ และขิดลายเบ็ดเตล็ด

     ส่วนประเภทของผ้าลายขิดที่ทอมี 3 ประเภท ได้แก่ 1.ผ้าลายขิดพื้นสีเดียว คือในผ้าผืนเดียวกันนั้นจะมีเพียงลายเดียว และสีเดียวตลอดทั้งผืน 2.ผ้าลายขิดมีเชิง คือ ทอแบบประเภทที่ 1 แล้วมาเพิ่มเชิงผ้าในผืนเดียวกันด้วยการทอลวดลายอื่นเข้าไป ส่วนมากจะเป็นสีเดียวกัน และ 3.ผ้าขิด-หมี่ คือการทอผ้าลายขิดผสมกับผ้ามัดหมี่ทอสลับกันเป็นช่วงๆ ในผ้าผืนเดียวกันนั้น สีของผ้ามักจะเป็นสีเดียวกัน แต่เล่นระดับของสีเข้ม-อ่อน สลับกันไปเป็นช่วงๆ บางทีมีสีอื่นๆ สลับลงไปด้วย แต่มักอยู่ในเฉดที่ใกล้เคียงกัน

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ