ข่าว

"ไอซีที"กับงานส่งเสริมการเกษตร:จากอดีตสู่ปัจจุบัน ตอน7

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์ -ทำกินถิ่นอาเซียน โดย - รศ.ดร.พิชัย ทองดีเลิศ   [email protected] 

 ต่อจากอาทิตย์ที่แล้ว

            จากคราวที่แล้วผมได้บอกว่าการส่งเสริมการเกษตรที่อยู่ในยุคของโซเชียลมีเดียทำให้ภาพการใช้ไอซีทีช่วยในการส่งเสริมการเกษตรนั้นเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ในช่วงที่มีสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตทำให้ใช้งานได้แบบคล่องตัวบวกกับแอพพลิเคชั่นที่ใช้งานได้ง่าย จึงทำให้การส่งเสริมการเกษตรในช่วงนี้ดูจะเป็นยุคที่ค่อนข้างเห็นภาพการใช้ไอซีทีที่ชัดเจนและเป็นจริงเป็นจังมากกว่าที่ผ่านมา

 

จากจุดนี้เองจึงทำให้เกิดการสื่อสารสองทางทั้งระหว่างนักส่งเสริมการเกษตรด้วยกัน นักส่งเสริมการเกษตรกับเกษตรกร และเกษตรกรกับเกษตรกร เพิ่มมากขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นผลดีในการทำกิจกรรมทางการเกษตร นอกจากนี้ก็ยังทำให้เกิดกิจกรรมการส่งเสริมแบบมีส่วนร่วม เกิดชุมชนสังคมทางการเกษตร เกิดเครือข่ายการเกษตรในหลายระดับ และสิ่งสำคัญที่เกิดขึ้นก็คือเกษตรกรเองมีการใช้งานสื่อสังคมเพื่อการเกษตรกันอย่างกว้างขวาง ซึ่งเป็นการใช้งานเพิ่มมากขึ้นชนิดที่เรียกได้ว่าแบบก้าวกระโดด

ข้อมูลส่วนหนึ่งที่ผมเคยได้จากการลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลและสังเกตการณ์ในพื้นที่ ทำให้เห็นภาพอีกด้านหนึ่งว่าสื่อสังคมเป็นช่องทางสำคัญที่ใช้ในการสื่อสารของเกษตรกรในยุคปัจจุบัน การยอมรับการใช้งานของเกษตรกรเป็นไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งขัดแย้งกับความคิดของผมในช่วงก่อนลงพื้นที่มาก ที่มองว่าเกษตรกรน่าจะยังมีการใช้ไอซีทีบ้าง แต่ไม่ได้มากมายอะไร เนื่องจากยังมีข้อจำกัดแบบเดิมๆ ที่เคยค้นพบมาจากการวิจัยช่วงก่อนหน้านี้ 

เป็นเรื่องที่น่าดีใจที่เห็นเกษตรกรใช้ไลน์ในการติดตามเพื่อนเกษตรกรด้วยกันเพื่อมาเข้าร่วมประชุม เกษตรกรเปิดภาพในสมาร์ทโฟนให้เราดูภาพพื้นที่และศัตรูพืชที่พบ เกษตรกรเปิดเพจในเฟซบุ๊กให้เราดูรูปภาพผลผลิตที่ขายแบบออนไลน์ รวมถึงถามเราถึงแอพพลิเคชั่นที่จะสามารถใช้ประโยชน์ทางการเกษตรได้ จากจุดนี้ทำให้เห็นว่าเรื่องของไอซีทีถูกใช้จากความต้องการที่แท้จริงของเกษตรกร

              จนมาถึงช่วงนโยบาย ไทยแลนด์ 4.0 ที่รัฐบาลส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในทุกภาคส่วน ในภาคการเกษตรเองก็ได้รับแรงผลักดันจากตรงนี้ด้วยเช่นกัน จึงทำให้เกิดการใช้บิ๊กดาต้า, เอไอ และการทำตลาดออนไลน์เพื่อช่วยสนับสนุนการดำเนินงานในภาคการเกษตรเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นงานวิจัยที่คาบเกี่ยวในช่วงเวลานี้ จึงมีขอบเขตในการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องของ อี-คอมเมิร์ซ, ออนไลน์มาร์เก็ต, บิ๊กดาต้า ที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร 

             และทำให้เห็นว่าเกษตรกรได้รับรู้เรื่องราวเกี่ยวกับอี-คอมเมิร์ซ และมีความสนใจในการขายสินค้าเกษตรผ่านทางระบบออนไลน์มากขึ้น เนื่องจากทราบนโยบายของรัฐผ่านนักส่งเสริมการเกษตร และข้อดีผ่านสื่อประชาสัมพันธ์ต่างๆ ทำให้เกษตรกรเกิดความสนใจและมีแรงจูงใจในการทำตลาดออนไลน์ โดยมีความมุ่งหวังคือขายของได้เพิ่มมากขึ้น ไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง ทำให้ผู้บริโภครู้จักจุดเด่นของสินค้า มีโอกาสที่จะซื้อของอย่างต่อเนื่อง

       

 

     และที่สำคัญคือการขายของผ่านตลาดออนไลน์ไม่ใช่เรื่องยากหรือไกลตัวอีกต่อไป เพราะมีแอพพลิเคชั่นที่รองรับการเปิดร้านค้าและให้บริการดูแลให้คำปรึกษาโดยที่มีค่าใช้จ่ายน้อยมาก จึงถือได้ว่าเป็นยุคที่เกษตรกรให้ความสำคัญกับการค้าขายผ่านตลาดออนไลน์และมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเป็นประวัติการณ์ถ้าเทียบกับช่วงก่อนหน้านี้ที่ผ่านมา อีกส่วนหนึ่งที่เป็นตัวผลักดันก็คือนโยบายของรัฐบาลที่ชัดเจนและให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างจริงจัง 

                   ส่วนจะเป็นอย่างไรต่อไปมาอ่านกันต่อในครั้งหน้าครับ !

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ