ข่าว

"ไอซีที"กับงานส่งเสริมการเกษตร : จากอดีตสู่ปัจจุบัน ตอน6

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์ - ทำกินถิ่นอาเซียน โดย – รศ.ดร.พิชัย ทองดีเลิศ  [email protected] 

 

            ครั้งที่แล้วผมได้เขียนถึงเรื่องของกลุ่มทางการเกษตรที่เกิดขึ้นบนโซเชียลมีเดีย และมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยที่อาจจะมีท่านผู้อ่านหลายๆ ท่านเข้าไปเกี่ยวข้องหรือเป็นสมาชิกในกลุ่มเหล่านี้ด้วยก็อาจเป็นได้ ซึ่งกลุ่มต่างๆ ทางการเกษตรที่เกิดขึ้น ส่วนใหญ่เกิดขึ้นเพราะมีความสนใจหรือมีกิจกรรมทางการเกษตรร่วมกัน ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้ก็มีวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันออกไป เช่นเพื่อทำให้เกิดรายได้ การแลกเปลี่ยนความรู้ การอบรมให้ความรู้ทางการเกษตร รวมถึงการขายผลผลิตทางการเกษตรในลักษณะของกลุ่มและเครือข่าย

 

          แต่ในความเป็นจริงเมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่ง กลุ่มที่ขาดความเข้มแข็งและไม่สามารถรักษาจำนวนสมาชิกไว้ได้ก็จะค่อยๆ ล้มหายไป เหลือแต่เพียงกลุ่มที่เข้มแข็งด้านกิจกรรม สมาชิก และการได้รับการสนับสนุนจากองค์กรที่เกี่ยวข้อง แม้ว่ากลุ่มที่เกิดขึ้นบนสื่อสังคมเหล่านี้อาจจะไม่ใช่เกษตรกรที่แท้จริง แต่เมื่อมองภาพรวมในภาคการเกษตรก็ถือได้ว่าเป็นกลไกอีกส่วนหนึ่งที่ช่วยสนับสนุนในการขับเคลื่อนกิจกรรมในภาคการเกษตร

         และเมื่อมองแบบเปรียบเทียบกับกลุ่มเกษตรกรจริงๆ แล้ว กลุ่มเกษตรกรที่เข้ามาใช้สื่อสังคมช่วยในการเกษตรก็จะเป็นกลุ่มเกษตรกรที่มีความรู้ในระดับมัธยมศึกษาขึ้นไป และก็มีอีกกลุ่มหนึ่งที่สามารถอ่านและเขียนได้แต่ก็มีการเรียนรู้และใช้งานบ่อยๆ โดยให้คนที่อยู่รอบๆ ตัวช่วยสอน ก็สามารถใช้งานโซเชียลมีเดีย โดยเน้นเฉพาะด้านการสื่อสารระหว่างบุคคลโดยใช้ Line เป็นหลัก ส่วน Facebook ในช่วงนี้กลุ่มเกษตรกรยังใช้กันค่อนข้างน้อย และส่วนใหญ่ใช้สื่อสารเพื่อปรึกษาในเรื่องการทำการเกษตรและค้าขายเป็นหลัก มีบ้างที่ใช้ในการติดต่อกับนักส่งเสริมการเกษตร ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นพวกผู้นำกลุ่ม เพราะมีอุปกรณ์ที่เป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ในการใช้งานที่ค่อนข้างพร้อมและสามารถจ่ายค่าบริการเครือข่ายได้

         ในช่วงเวลาที่สื่อสังคมมีการใช้งานขยายตัวแบบก้าวกระโดดนี่เอง ก็ได้ส่งผลให้สื่อสังคมในรูปแบบของแอพพลิเคชั่นในมีการนิยมใช้สูงขึ้นไปด้วย แต่แตกต่างจากช่วงก่อนหน้านี้คือเป็นการใช้งานบนอุปกรณ์สื่อสารเคลื่อนที่อย่างสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตเพิ่มมากขึ้นแทนที่การใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ ซึ่งทำให้ทั้งนักส่งเสริมและผู้ใช้งานที่เกี่ยวข้องกับภาคเกษตรและเกษตรกรมีการใช้สื่อสังคมบนอุปกรณ์เคลื่อนที่เหล่านี้มากขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องใช้ผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์ให้ยุ่งยากต่อไป 

          ประกอบกับอุปกรณ์สื่อสารประเภทสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตก็เริ่มมีราคาถูกลง ค่าบริการเครือข่ายก็ไม่แพงเหมือนในอดีต รวมถึงแอพพลิเคชั่นใหม่ๆ ที่ออกมาก็มีการปรับปรุงเรื่องภาษา สัญลักษณ์และการสั่งงานด้วยเสียงที่ช่วยให้การใช้งานง่ายขึ้น จึงทำให้นักส่งเสริมและเกษตรกรสามารถพกพาและนำไปใช้งานได้กว้างขวางขึ้น

      

 

   ดังนั้นจึงเป็นปัจจัยที่ทำให้การใช้ไอซีทีช่วยในการส่งเสริมการเกษตรในช่วงที่มีสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตที่ทำให้ใช้งานได้แบบคล่องตัว บวกกับแอพพลิเคชั่นที่ใช้งานได้ง่ายจึงทำให้การส่งเสริมการเกษตรในช่วงนี้ดูจะเป็นยุคที่ค่อนข้างเห็นภาพการใช้ไอซีทีที่ชัดเจนและเป็นจริงเป็นจังมากกว่าที่ผ่านมา ในครั้งหน้าผมจะขยายให้อ่านต่อว่าหลังจากนี้จนถึงปัจจุบันนี้มีอะไรที่เกิดขึ้นกับภาคการเกษตรของเราทั้งในด้านบวกด้านลบและผลกระทบที่เกิดขึ้นโดยรวม

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ