ข่าว

 สหกรณ์จับมือทีเส็บเดินหน้า "ไมซ์เพื่อชุมชน"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

 จับมือทีเส็บเดินหน้า "ไมซ์เพื่อชุมชน" ชู50สหกรณ์แหล่งทำเงินสู่ชุมชน

 

             ก้าวสู่ปีที่สองสำหรับโครงการ “ไมซ์เพื่อชุมชน” โดยความร่วมมือระหว่างกรมส่งเสริมสหกรณ์กับสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือทีเส็บ ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ปี 2561  มีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนและพัฒนาสหกรณ์ที่มีศักยภาพในพื้นที่ต่างๆ ให้เป็นจุดหมายรองรับการจัดประชุมและศึกษาดูงานในประเทศ ตามแนวคิด “ประชุม เที่ยว เรื่องเดียวกัน”  สอดรับกับนโยบายรัฐบาลที่ต้องการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจฐานราก โดยใช้อุตสาหกรรมไมซ์เป็นกลไกผลักดันให้เกิดการจับคู่ธุรกิจสินค้าในชุมชนและองค์กรธุรกิจต่างๆ กระตุ้นให้เกิดการพัฒนาชุมชนและกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น

 สหกรณ์จับมือทีเส็บเดินหน้า "ไมซ์เพื่อชุมชน"

 

                “ทีเส็บมีความต้องการที่จะส่งเสริมให้มีแหล่งศึกษาดูงานภายในประเทศแห่งใหม่ให้เกิดขึ้นอีกหลายๆ แห่ง เพื่อให้โครงการไมซ์เพื่อชุมชน เป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมอุตสาหกรรมไมซ์ภายในประเทศ และสามารถบรรลุเป้าหมายมีนักเดินทางไมซ์ในประเทศไม่ต่ำกว่า 29 ล้านคน สร้างรายได้สู่ชุมชนต่างๆ ไม่น้อยกว่า 62,000 ล้านบาท” 

               สราญโรจน์ สุทัศน์ชูโต ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมตลาดในประเทศของทีเส็บเผยต่อว่า โครงการไมซ์เพื่อชุมชนปีที่ 2 นี้ จะมีการต่อยอดจากปีแรกที่มีสหกรณ์เข้าร่วม 35 แห่ง แต่ในปีนี้จะเพิ่มขึ้นอีก 50 สหกรณ์ กระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาค ซึ่งได้รวบรวมสหกรณ์ที่มีความหลากหลายและมีเรื่องเล่าที่แตกต่างมากขึ้น โดยเฉพาะสหกรณ์โคนมนครปฐม จำกัด และสหกรณ์โคเนื้อกำแพงแสน จำกัด จ.นครปฐม ซึ่งสหกรณ์ทั้ง 2 แห่งมีความพร้อมในการรองรับตลาดไมซ์ได้เป็นอย่างดี

 สหกรณ์จับมือทีเส็บเดินหน้า "ไมซ์เพื่อชุมชน"

                โดยสหกรณ์โคเนื้อมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสนนั้น เป็นสหกรณ์โคเนื้อที่มีวัวพันธุ์กำแพงแสน วัวพันธุ์แรกของประเทศไทย สามารถจัดกิจกรรมเชิงความรู้วิชาการ อาทิ งานเพาะพันธุ์โคเนื้อมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน ซึ่งถือเป็นโคเนื้อพันธุ์ไทยพันธุ์แรกของโลก  มีขั้นตอนการผสมให้ได้สายพันธุ์ชั้นดี อีกทั้งยังสามารถสาธิตการผสมเทียมที่เข้าใจได้ง่าย รวมไปถึงกิจกรรมสันทนาการ เช่น แนะนำการย่างเนื้อที่ถูกวิธี การใช้น้ำจิ้มปรุงรสที่เหมาะสมกับสเต๊ก ความสนุกสนานของการป้อนนมลูกวัว การโชว์ความสามารถของสัตว์ในฟาร์ม 

                 ในขณะที่สหกรณ์โคนมนครปฐม จำกัด สามารถนำเสนอขั้นตอนการผลิตนมแบบเข้าใจได้ง่าย รวมทั้งสาธิตการทำบิงซู โดยใช้วัตถุดิบจากนมโค และเยี่ยมชมโรงงานแปรรูปนมสดครบวงจรและชิมไอศกรีมนมสด ซึ่งเป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์แปรรูปนมที่ขายดีของสหกรณ์

               “ทั้งสองสหกรณ์นี้เป็นสหกรณ์ที่มีเรื่องเล่า มีสถานที่และอาหารอร่อยให้ได้ลิ้มลองและประสบการณ์ใหม่ๆ กับการประชุมสัมมนาที่ไม่ใช่ในกรุงเทพฯ ซึ่งการเดินทางมาจังหวัดนครปฐม เป็นเมืองรองที่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ เพียงใช้เวลาในการเดินทางแค่ชั่วโมงกว่าๆ ที่นี่ถือว่ามีสิ่งที่น่าสนใจมากมายที่พร้อมกระจายรายได้สู่ชุมชนและสหกรณ์ อยากให้ทุกคนมาลองชมเมืองรองที่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ” สราญโรจน์ กล่าวเชิญชวนผู้ประกอบการและชุมชนต่างๆ ให้จัดแพ็กเกจการท่องเที่ยวและการศึกษาดูงานตามเมืองรองต่างๆ  ซึ่งสิ่งที่เราคาดหวังคือ ให้การประชุมสัมมนาในเมืองรองแตกต่างไปจากเดิมมีสถานที่ใหม่ๆ อยากให้ทุกท่านได้ลองประสบการณ์ใหม่ๆ เพิ่มศักยภาพของคนในองค์กรโดยการออกมาประชุมที่เมืองรอง 

                  อัชฌา สุวรรณนิตย์ ผู้อำนวยการกองพัฒนาสหกรณ์ภาคการเกษตรและกลุ่มเกษตรกร กรมส่งเสริมสหกรณ์กล่าวเสริมว่า ไมซ์เพื่อชุมชนเป็นนโยบายหนึ่งที่รัฐบาลให้ความสนใจ เพื่อเปิดโอกาสให้สหกรณ์ได้เกิดความร่วมมือกับภาคเอกชน เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน ซึ่งในส่วนของภาคเอกชนจะได้ความรู้และประสบการณ์ใหม่ๆ นอกเหนือจากการประชุมทางวิชาการ ต่อไปอาจจะเป็นแนวทางในการจัดกิจกรรมศึกษาดูงานเรื่องชุมชน อาหารพื้นเมือง สินค้าและของดีแต่ละชุมชน หรือการท่องเที่ยวในเชิงธรรมชาติ ได้เห็นถึงวิถีชีวิตของคนในชุมชนต่างๆ ตลอดจนเรื่องราวประวัติความเป็นมาของชุมชน  

                “สหกรณ์เองก็อาจจะได้รับคำแนะนำจากภาคเอกชนเกี่ยวกับเทคโนโลยีและช่องทางการตลาดเพื่อนำมาปรับใช้กับธุรกิจของสหกรณ์ หรือนำไปแนะนำให้ชาวบ้านในชุมชนเพื่อผลักดันให้เกิดสินค้าตัวใหม่ ซึ่งแต่ละสหกรณ์ก็มีของดีที่ไม่เหมือนกัน ทั้งพืชผัก ผลไม้ โคเนื้อ โคนม สุกร ไข่ไก่ และอาหารแปรรูป”

               “การจัดทำโครงการไมซ์เพื่อชุมชนในครั้งนี้เป็นการบูรณาการความร่วมมือทั้งหน่วยงานราชการ องค์กรธุรกิจ มูลนิธิและภาคประชาสังคม โดยมีเป้าหมายในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับฐานรากที่ตรงตามเจตนารมณ์ของรัฐบาลในการส่งเสริมการกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น และนับเป็นโอกาสอันดีหรับสหกรณ์ในพื้นที่ต่างๆ ที่มีความพร้อมและมีศักยภาพในด้านการผลิตสินค้าและบริการ จะได้เปิดพื้นที่ต้อนรับตัวแทนของภาคเอกชน ซึ่งเป็นคณะผู้เข้าร่วมประชุมกับทางทีเส็บเข้ามาศึกษาดูงาน และนำไปสู่การแลกเปลี่ยนประสบการณ์องค์ความรู้ด้านธุรกิจให้แก่สหกรณ์”

                 นับเป็นอีกก้าวของสหกรณ์ในการเรียนรู้ประสบการณ์จากมืออาชีพทั้งช่องทางการตลาด การพัฒนาดีไซน์รูปแบบสินค้าและบรรจุภัณฑ์ การแบ่งปันความรู้ด้านเทคโนโลยีที่ทันสมัย ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้สมาชิกสหกรณ์เกิดความเข้าใจและพัฒนาสินค้าให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดในยุคปัจจุบัน อันจะส่งผลทำให้สมาชิกสหกรณ์มีโอกาสในการพัฒนาอาชีพ สร้างรายได้เพิ่มขึ้น และยกระดับความเข้มแข็งของชุมชนให้เกิดความยั่งยืนในที่สุด

             

                 

                            สหกรณ์ “โคเนื้อ-โคนม” พร้อมรองรับไมซ์เพื่อชุมชน

               สำหรับ สหกรณ์โคเนื้อมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน จำกัด เป็นผลสืบเนื่องมาจากการวิจัยการปรับปรุงพันธุ์โคพันธุ์กำแพงแสนของมาหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ต่อมาปี 2536 ได้จัดตั้งเป็นสหกรณ์โคเนื้อกำแพงแสนขึ้นทำหน้าที่รวบรวมผลผลิตจากสมาชิกมาเข้าโรงแปรสภาพและจัดการตัดแต่งและจำหน่าย ปัจจุบันมีสมาชิก 246 รายและมีโคประมาณ 8,000 ตัว   

             ขณะนี้การดำเนินธุรกิจของสหกรณ์มี 4 ธุรกิจหลัก ประกอบด้วย 1.ธุรกิจรวบรวมผลผลิต เป็นการรวบรวมโคก่อนขุน 2.ธุรกิจแปรรูป เป็นการนำโคเนื้อมาแปรสภาพ ซึ่งเป็นธุรกิจหลัก 3.ธุรกิจสินเชื่อ เป็นการให้สินเชื่อแก่สมาชิกในการขุนโคเนื้อ และ 4.ธุรกิจจัดหาสินค้ามาจำหน่าย ส่วนรายได้ของสมาชิกแต่ละเดือนไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับปริมาณของวัวแต่ละคน แต่โดยเฉลี่ยจะได้ผลตอบแทนเป็นกำไรประมาณ 8,000–10,000 บาท ต่อตัว ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับต้นทุนการผลิตของแต่ละคนด้วย

           ปัจจุบันปริมาณโคเนื้อที่สหกรณ์ชำแหละส่งตลาดประมาณ 120 ตัวต่อเดือน โดยผลิตภัณฑ์ของสหกรณ์จะเป็นเนื้อโคขุนตัดแต่ง ซึ่งมีหลายๆ ชิ้นส่วนและมีผลิตภัณฑ์แปรรูปก็จะเป็นไส้กรอก เบอร์เกอร์ เนื้อแดดเดียว เนื้อเสียบไม้  ส่วนตลาดหลักได้แก่ ห้างโมเดิร์นเทรด อาทิ เดอะมอลล์ บิ๊กซี แมคโคร โรงแรม ร้านอาหาร และจุดจำหน่ายของสหกรณ์เอง

             ส่วนทิศทางหรือเป้าหมายในการอนาคตนั้น สหกรณ์ต้องการพัฒนายกระดับมาตรฐานสินค้าโคเนื้อของสหกรณ์ให้เข้าสู่ระบบมาตรฐานต่างๆ ซึ่งขณะนี้สหกรณ์กำลังก่อสร้างโรงแปรสภาพโคมาตรฐาน GMP HACCP ฮาลาล และมาตรฐาน GHP เพื่อการส่งออก โดยมุ่งเป้าไปยังตลาดประเทศเพื่อนบ้านและตลาดของสินค้าที่เป็นอาหารที่ทำจากเนื้อโค แปรรูปเพื่อส่งออกไปยังต่างประเทศ  

                 “จริงๆ แล้วตัวสหกรณ์อยู่ในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งเรามีประสบการณ์ในเรื่องของการศึกษาดูงานจากทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์อยู่แล้ว ความพร้อมของเราคือเรามีพันธมิตรเป็นมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และส่วนของศูนย์ส่งเสริมและฝึกอบรมการเกษตรแห่งชาติ ซึ่งตรงนั้นจะมีที่พัก มีห้องสัมมนา ซึ่งเรียกได้ว่าสมารถดำเนินการได้ทันที ซึ่งเรารับการดูงานแบบนี้เป็นประจำอยู่แล้ว สามารถรองรับได้ตั้งแต่สิบกว่าคนขึ้นไปจนถึงหลักร้อย” สุรชัย เปี่ยมคล้า ผู้จัดการสหกรณ์โคเนื้อ ม.เกษตรฯ กำแพงแสน กล่าว 

             ส่วน สหกรณ์โคนม นครปฐม จำกัด ได้จดทะเบียนสหกรณ์เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2514 เป็นสหกรณ์ประเภทบริการ และในปี 2539 ได้เปลี่ยนแปลงเป็นสหกรณ์ประเภทการเกษตร มาจนถึงปัจจุบัน  มีการดำเนินงานใน 6 ธุรกิจหลัก ประกอบด้วย 1.ธุรกิจรวบรวมน้ำนมดิบ 2.ธุรกิจแปรรูปผลิตภัณฑ์นม 3.ธุรกิจแปรรูปอาหารสัตว์ 4.ธุรกิจจัดหาสินค้ามาจำหน่าย 5.ธุรกิจสินเชื่อ และ 6.ธุรกิจส่งเสริมการเลี้ยงโคนม

              ปัจจุบันมีสมาชิกจำนวน 248 คน จำนวนโคนมที่เลี้ยงประมาณ 8,300 ตัว รายได้เฉลี่ยของสมาชิกจะอยู่ที่ 22,000 บาทต่อเดือน ปริมาณน้ำนมโคที่รับซื้อจากสมาชิกประมาณ 31 ตันต่อวัน มีผลิตภัณฑ์นมพร้อมดื่มที่หลากหลาย ส่วนช่องทางการตลาดมีจำหน่ายที่ร้านค้าของสหกรณ์ 4 ร้านค้า จำหน่ายผ่านตัวแทนจำหน่ายในพื้นที่ภายใน จ.นครปฐม กาญจนบุรี และกรุงเทพมหานคร  ในอนาคตสหกรณ์ได้วางแผนการพัฒนาตัวผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลายมากขึ้นและมีการเพิ่มช่องการทางการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ให้มีเพิ่มมากขึ้นด้วย  

              “ปกติสหกรณ์มีการรับกลุ่มศึกษาดูงานอยู่แล้ว มีการจัดกิจกรรมตามความต้องการของกลุ่มที่จะเขามาศึกษาดูงาน เช่น ต้องการศึกษาเรื่องศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบก็จะพาไปดูงานที่ศูนย์ หรือต้องการศึกษาดูงานเรื่องการผลิต ก็พาดูงานส่วนของโรงงานผลิต หรือต้องการดูในส่วนของการผลิตอาหารสัตว์ก็ดูในส่วนของการผลิตอาหารสัตว์ ซึ่งโดยส่วนใหญ่คณะที่ต้องการมาศึกษาดูงานจะแจ้งในหนังสือว่าต้องการดูงานส่วนไหนของสหกรณ์ เราก็จะทราบถึงวัตถุประสงค์ในการศึกษาดูงานของแต่ละคณะ และทางสหกรณ์จะได้เตรียมความพร้อม ซึ่งเป็นการตอบสนองความต้องการของผู้ที่จะมาศึกษาดูงานด้วย” สังวาลย์ ทิมหอม ผจก.สหกรณ์โคนมนครปฐม จำกัด กล่าวย้ำ

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ