ข่าว

 เปิดสาระ"พ.ร.บ.สหกรณ์"ฉบับใหม่เข้มงวดปล่อยกู้มุ่งดูแลสมาชิก

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

 เปิดสาระ"พ.ร.บ.สหกรณ์"ฉบับใหม่เข้มงวดปล่อยกู้มุ่งดูแลสมาชิก

 

            ดีเดย์!  19 พฤษภาคม 2562 พระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) สหกรณ์ฉบับใหม่ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2562 ประกาศใช้ หลังลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 20 มีนาคม ที่ผ่านมา และจะมีผลบังคับใช้ภายใน 60 วันหลังจากที่ประกาศในราชกิจจาฯ โดยพ.ร.บ.ฉบับใหม่นี้มีการแก้ไขเนื้อหาพ.ร.บ.เดิมในหลายมาตรา โดยเฉพาะมาตรา 89/2 เน้นกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์และเครดิตยูเนี่ยน  มีการกำหนดหลักเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อ ประเมินรายได้และความสามารถชำระหนี้ใหม่ประกอบการพิจารณาเพื่อป้องกันความเสี่ยงและลดปัญหาหนี้ครัวเรือนของสมาชิกสหกรณ์

 เปิดสาระ"พ.ร.บ.สหกรณ์"ฉบับใหม่เข้มงวดปล่อยกู้มุ่งดูแลสมาชิก วิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์

 เปิดสาระ"พ.ร.บ.สหกรณ์"ฉบับใหม่เข้มงวดปล่อยกู้มุ่งดูแลสมาชิก

 

               “คม ชัด ลึก” ถือโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ “วิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์” รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์  ถึงความคืบหน้าในการดำเนินการเรื่องดังกล่าวในฐานะเป็นผู้รับผิดชอบร่างพ.ร.บ.สหกรณ์ฉบับใหม่มาตั้งแต่ต้น โดยเฉพาะการจัดทำร่างอนุบัญญัติหรือกฎหมายลูก 23 ฉบับเพื่อให้สอดคล้องตามพ.ร.บ.สหกรณ์ฉบับใหม่

+คืบหน้าการแก้ไขปรับปรุงเนื้อหาพ.ร.บ.สหกรณ์ฉบับใหม่

             หลังพ.ร.บ.สหกรณ์ฉบับใหม่ประกาศในราชกิจจาฯ เราจะมีการประชุมหารือกับคณะทำงานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด 5 ครั้งเพื่อจัดทำร่างอนุบัญญัติหรือกฎหมายลูก 23 ฉบับประกอบพ.ร.บ.สหกรณ์ฉบับใหม่ ซึ่งประกอบไปด้วยกฎกระทรวง ระเบียบนายทะเบียนสหกรณ์ และประกาศหลักเกณฑ์นายทะเบียนสหกรณ์ เพื่อให้สอดคล้องตามพ.ร.บ.สหกรณ์ฉบับใหม่ โดยแบ่งเป็นอนุบัญญัติทั่วไป 10 ฉบับ ซึ่งส่วนใหญ่จะออกเป็นระเบียบนายทะเบียนสหกรณ์ เช่นเรื่องสมาชิกสมทบและการรับฝากเงิน กับอีกส่วนหนึ่งที่ต้องออกเป็นกฎกระทรวงตามมาตรา 89/2 เน้นการกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์และเครดิตยูเนี่ยนอีก 13 ฉบับ 

 เปิดสาระ"พ.ร.บ.สหกรณ์"ฉบับใหม่เข้มงวดปล่อยกู้มุ่งดูแลสมาชิก

               โดยคณะทำงานประชุมหารือเพื่อพิจารณาร่างกฎกระทรวง ตั้งแต่วันที่ 26 เมษายน 2562 หลังจากนั้นวันที่ 2 พฤษภาคม 2562 จะประชุมรับฟังความเห็นเบื้องต้นจากผู้แทนสหกรณ์ออมทรัพย์และเครดิตสหกรณ์ยูเนี่ยน ก่อนจะนำเผยแพร่ทางเว็บไซต์กรมส่งเสริมสหกรณ์ เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องได้เสนอความคิดเห็นอีกครั้ง จากนั้นในวันที่ 14 พฤษภาคม 2562 กรมจะจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นการออกกฎกระทรวง ตามมาตรา 89/2 พร้อมถ่ายทอดวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ไปทั่วประเทศ เมื่อขั้นตอนต่างๆ เสร็จสิ้นแล้วจะรวบรวมความเห็นเสนอไปยังกระทรวงเกษตรและสหกรณ์นำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบเพื่อประกาศใช้ต่อไป 

+ร่างอนุบัญญัติ 10 ฉบับกับ 13 ฉบับต่างกันอย่างไร

              10 ฉบับ ส่วนใหญ่จะเป็นระเบียบนายสหกรณ์ ซึ่งเราสามารถที่จะออกไปได้เลย แต่มีบางส่วน 1-2 ฉบับที่เป็นเรื่องของกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา 33 ที่แก้ อันนั้นก็ต้องรับฟังความคิดเห็น แต่บางเรื่องเช่น เรื่องระเบียบนายทะเบียนสหกรณ์ว่าด้วยการรับฝากเงินจากนิติบุคคลที่ตามกฎหมายฉบับนี้มีอยู่ด้วย ที่แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 46 เรื่องของการรับฝากเงิน อันนี้จะออกเป็นระเบียบนายทะเบียนสหกรณ์ ซึ่งจะเป็นร่างให้เขาไปถือใช้กับระเบียบนายสหกรณ์ว่าด้วยสมาชิกสมทบ เป็นต้น อันนี้นายทะเบียนสหกรณ์สามารถออกไปได้เลย 

+ระหว่างพ.ร.บ.เดิมกับพ.ร.บ.ใหม่มีประเด็นไหนเพิ่มเติมเข้ามา 

                  สิ่งที่เพิ่มเติมขึ้นมาก็คือมาตรา 89/2 ในเรื่องหลักเกณฑ์ที่จะกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์และเครดิตยูเนี่ยน ซึ่งพ.ร.บ.เดิมไม่มี ออกมาเพื่อจะให้สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนและสหกรณ์ออมทรัพย์ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ป้องกันความเสี่ยง ความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นในสหกรณ์ ซึ่งแต่เดิมไม่มีเรื่องพวกนี้ และในเรื่องของสหกรณ์ที่จะรับจดทะเบียนจะดำเนินการต่อไปในอนาคตในมาตรา 33 ที่จะออกกฎกระทรวงจะระบุชัดเจนว่าสหกรณ์การเกษตร สหกรณ์ออมทรัพย์ ทำอะไรได้บ้าง เพราะปัจจุบันนี้สหกรณ์บางแห่งทำแบบอเนกประสงค์ ทำได้หมดทุกอย่าง ซึ่งไม่ตรงกับเรื่องที่เราจะส่งเสริมและพัฒนาสหกรณ์ ซึ่งพ.ร.บ.เดิมไม่มีกำหนด

+พ.ร.บ.ใหม่ครอบคลุมสหกรณ์ทั้ง 7 ประเภทหรือไม่

                ถ้ามาตรา 89/2 จะเน้นเฉพาะออมทรัพย์กับเครดิตยูเนี่ยน ถ้ามาตราอื่น เช่น มาตรา 22 ที่แก้ไขใหม่หรือมาตราที่เกี่ยวในเรื่องของการอุทธรณ์ เรื่องของบทกำหนดโทษอันนี้จะเกี่ยวข้องกับสหกรณ์ทุกประเภท เช่นเดียวกับอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการสหกรณ์ที่มีการแก้ไขในพ.ร.บ.ใหม่ก็จะครอบคลุมสหกรณ์ทุกประเภทเช่นกัน ที่เจาะจงเฉพาะออมทรัพย์และเครดิตยูเนี่ยน จะอยู่ในมาตรา 89/2 เท่านั้น 

+ไฮไลท์หรือหัวใจความสำคัญของพ.ร.บ.ฉบับนี้คืออะไร 

               เรื่องที่มีผลกระทบต่อสมาชิก ซึ่งแบงก์ชาติให้ความสำคัญอย่างมาก เพราะในระบบเศรษฐกิจการเงินปัจจุบันสหกรณ์เป็นผู้เล่นลำดับ 3 รองจาธนาคารพาณิชย์และแบงก์ของรัฐ แล้วก็มาเป็นสหกรณ์ มีความเปราะบางต่อระบบเศรษฐกิจ เพราะถ้าเกิดอะไรขึ้นมากับกลุ่มนี้ก็จะเกิดความเสียหาย ดังนั้นแบงก์ชาติเขาจึงให้ความสำคัญ เพราะถ้าเกิดวิกฤติขึ้นในสหกรณ์จะทำให้เรื่องของความมีเสถียรภาพทางการเงินเสียไป 

               และที่แบงก์ชาติมีความกังวลเป็นพิเศษคือเรื่องของหนี้สินครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นมากในปัจจุบันนี้  ตอนนี้ระดับหนี้สินครัวเรือนของประชาชนอยู่ที่ประมาณ 78% ของจีดีพี ถือว่าประชาชนเป็นหนี้มากขึ้น  แบงก์ชาติจึงจำเป็นต้องเข้ามาคุมฝั่งของแบงก์รัฐ ธนาคารพาณิชย์ เช่น ควบคุมเรื่องของการปล่อยสินเชื่อ เรื่องของอสังหาริมทรัพย์ที่บอกว่าต้องมีเงินดาวน์อย่างน้อย 30% เพื่อให้หนี้เสียน้อยลง ในมาตรา 89(4) มีการให้กู้ ตัวนี้ที่เราจะออกมาในเรื่องของการคุม เรื่องของการให้สินเชื่อสมาชิกให้มีความรอบคอบรัดกุมมากขึ้น แล้วก็สมาชิกสหกรณ์ใช้เงินไปเพื่อที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ครอบครัวของเขา ไม่ใช่ว่ากู้ไปแล้วก็เป็นภาระหนี้สินครัวเรือน

+มีการกำหนดกรอบวงเงินกู้ต่อรายหรือไม่

                ตัวเนื้อหาในอนุบัญญัติไม่ได้ระบุ แต่เรากำลังดูกันอยู่ว่าเหมาะสมยังไง แต่ส่วนหนึ่งเราจะให้ไปสอดคล้องกับระเบียบกระทรวงศึกษาธิการที่ต้องเหลือเงินไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ในการให้กู้ แล้วส่วนหนึ่งตัวสมาชิกสหกรณ์เองก็เป็นหนี้หลายทาง เช่น หนี้แบงก์ หนี้เช่าซื้อรถ เช่าซื้อบ้าน รถ และหนี้สหกรณ์ รายได้ไม่พอต่อการครองชีพ ตรงนี้ก็ต้องดูทั้งระบบ ซึ่งอาจจะมีผลกระทบกับสหกรณ์บ้าง เพราะปัจจุบันนี้หลายสหกรณ์ปล่อยสินเชื่อแก่สมาชิกเกินความสามารถในการชำระหนี้ของสมาชิก ต้องใช้เวลาปรับลดลง สิ่งที่ดำเนินการเพื่อที่จะป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาหนี้เสียในระบบเศรษฐกิจทั้งโดยภาพรวมและตัวสมาชิกเอง  

+พ.ร.บ.สหกรณ์ฉบับใหม่มีการแบ่งขนาดสหกรณ์หรือไม่  

                 การทำกฎกระทรวงคราวนี้ เราจะแบ่งสหกรณ์ออกเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่ม 5 พันล้านขึ้นไป กับกลุ่ม 5 พันล้านลงมา เกณฑ์กำกับระดับความเข้มข้นก็จะต่างกัน เพราะกลุ่มที่เกิน 5 พันล้าน ปัจจุบันมีอยู่ประมาณ   150 แห่ง และในอนาคตก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะเงินเข้ามาในระบบของสหกรณ์ค่อนข้างมากขึ้น 

+ร่างอนุบัญญัติ 13 ฉบับที่จะเสนอครม.มีขั้นตอนอย่างไร

                    การเสนอเราจะดูเป็นเรื่องๆ ไป ทั้ง 13 ฉบับ คือรับฟังความคิดเห็น แล้วถ้าฉบับไหนต้องแก้บ้างเราอาจต้องดูเป็นบางเรื่องไป แต่อันไหนที่ไม่มีปัญหา เช่น 89/(1) เรื่องการแบ่งขนาดสหกรณ์ เรื่องธรรมาภิบาลของสหกรณ์ เพราะอันนี้เป็นเรื่องที่สหกรณ์ปัจจุบันก็ทำอยู่แล้ว อาจจะออกไปก่อนได้ แต่ถ้าเรื่องไหนไม่ติดขัดเราก็ทยอยออกไปได้ 

                                           

 กรอบเวลาการจัดทำร่างอนุบัญญัติมาตรา89/2 (13 ฉบับ) และอนุญญัติอื่น (10 ฉบับ)

26 เม.ย.62   

    - ประชุมคณะทำงานพิจารณาเกณฑ์การกำกับดูแลสอ.และสค.มาตรา 89/2

    - พิจารณาร่างกฎกระทรวงตามมาตรา 89/2 (13 ฉบับ)

29 เม.ย.62 

   - ประชุมคณะทำงานจัดทำร่างอนุบัญญัติตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ (ฉบับที่...) พ.ศ...

    - พิจารณาร่างอนุบัญญัติอื่น (10 ฉบับ)           

 2 พ.ค.62  

     - ประชุมคณะทำงานหารือเพื่อรับฟังความเห็นเบื้องต้นจากผู้แทนสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน

     - พิจารณาร่างกฎกระทรวงตามมาตรา 89/2 (13 ฉบับ)

 3 พ.ค.62   

     - เสนอร่างกฎกระทรวงตามมาตรา 89/2 (13 ฉบับ) ขึ้นเว็บไซต์เพื่อรับฟังความคิดเห็น      

14 พ.ค.62  

     - จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นการออกกฎกระทรวงตามมาตรา 89/2

19 พ.ค.62

     - เสนอกฎกระทรวงตามมาตรา 89/2 ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์พิจารณานำเสนอคณะรัฐมนตรีเห็นชอบ

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ