ข่าว

อนุมัติงบกลาง1,226ล.รับมือแล้งยาว

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

อนุมัติงบกลาง1,226ล.รับมือแล้งยาว มุ่งเป้าพื้นที่เสี่ยง32จว.144โครงการ

 

                  ตามมติคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติงบกลางปี 2562 วงเงิน 1,226 ล้านบาท สำหรับใช้เป็นค่าใช้จ่ายในโครงการเพิ่มแหล่งเก็บกักน้ำและเพิ่มต้นทุนตามที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.)เสนอเมื่อวันที่ 30 พ.ค.ที่ผ่านมาเพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้งและรองรับน้ำในฤดูฝน ปี 2562 ในพื้นที่ 32 จังหวัด จำนวน 144 โครงการ โดยที่มาของการของบกลางนั้น" สมเกียรติ ประจำวงษ์" เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.)ได้ชี้แจงในประเด็นดังกล่าว เนื่องจากปัจจุบันกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ประกาศเขตภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) ใน 5 จังหวัด 14 อำเภอ 

อนุมัติงบกลาง1,226ล.รับมือแล้งยาว

สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสทนช.

 

           ซึ่งประกอบด้วย จังหวัดร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ นครราชสีมา ตราด และชลบุรี ทำให้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี มีความห่วงใยในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยรองนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายในการประชุมคณะอนุกรรมการวิเคราะห์ติดตามสถานการณ์และการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ครั้งที่ 1/2562 เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2562 ให้ สทนช. วิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงที่คาดว่าจะขาดแคลนน้ำเพิ่มเติมในช่วงปลายฤดูแล้ง

            หลังจากที่ สทนช.ได้วิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงทั่วประเทศแล้วจึงได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จำนวน 10 หน่วยงานเพื่อร่วมกันวางแผนแก้ไขปัญหาเร่งด่วน เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2562 และมีหน่วยงานที่เสนอโครงการเพื่อแก้ไขปัญหา จำนวน 6 หน่วยงาน ได้แก่ กรมชลประทาน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมพัฒนาที่ดิน กรมทรัพยากรน้ำบาดาล การประปาส่วนภูมิภาค กองทัพบก ร่วมกับมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ 

อนุมัติงบกลาง1,226ล.รับมือแล้งยาว

          โดยโครงการที่เสนอขึ้นมานั้นต้องเป็นโครงการที่สอดคล้องกับพื้นที่ประสบปัญหา สามารถดำเนินการได้ทันทีและต้องแล้วเสร็จภายใน 90 วัน ภายหลังการวิเคราะห์ กลั่นกรอง แผนงานโครงการที่ตรงวัตถุประสงค์ข้างต้น สามารถสรุปโครงการเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนรายพื้นที่จำนวน 4 โครงการ ประกอบด้วย 1. โครงการในพื้นที่ประกาศภัยแล้ง 5 จังหวัด 34 โครงการ 2. โครงการในพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค ใน 13 จังหวัด 51 โครงการ

              3.โครงการในพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรนอกเขตชลประทาน ใน 2 จังหวัด รวม 14 โครงการและ 4. โครงการในพื้นที่แล้งซ้ำซาก และหาน้ำยาก ใน 13 จังหวัด รวม 45 โครงการ ทั้งนี้โครงการข้างต้นจะสามารถช่วยบรรเทาภัยแล้งได้ใน 32 จังหวัด รวม 144 โครงการ วงเงินรวม 1,226 ล้านบาท เมื่อแล้วเสร็จจะสามารถเพิ่มปริมาณน้ำได้ 28.12 ล้าน ลบ.ม. มีครัวเรือนรับประโยชน์ 85,474 ครัวเรือน หลังจากนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้เร่งดำเนินการให้ความช่วยเหลือประชาชนต่อไป

อนุมัติงบกลาง1,226ล.รับมือแล้งยาว

             ล่าสุดปัญหาภัยแล้งเริ่มส่งผลกระทบในหลายพื้นที่ภาคอีสาน บ้านเหล่า ม.3 ต.เม็กดำ อ.พยัคฆภูมิพิสัย จ.มหาสารคามก็เป็นอีกพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งอย่างหนักจากสภานการณ์ภัยแล้งในขณะนี้ทำให้กรมชลประทานได้บูรณาการร่วมกับสำนังกานป้องกันและบรรเทาสาะารณภัยจังหวัดมหาสารคามนำรถบรรทุกน้ำเข้าช่วยเหลือชาวบ้านในพื้นที่ดังกล่าว หลังได้รับความเดือดร้อน อย่างหนักจากสถานการณ์ภัยแล้ง หลังแหล่งนผลิตประปาของหมู่บ้าน ไม่สามารถผลิตน้ำประปาสำหรับใช้อุปโภคบริโภคได้มานานกว่า 3 เดือน 

          ในเบื้องต้นโครงการชลประทานมหาสารคามร่วมกับสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยมหาสารคาม อบต.เม็กดำ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สนับสนุนรถบรรทุกน้ำเข้าไปแจกจ่ายบริการน้ำให้กับประชาชนวันละ 30,000 ลิตร ตั้งแต่วันที่ 4 เมษายน 2562 เป็นต้นมา  

          ขณะเดียวกันการบริหารจัดการน้ำแหล่งต้นทุนในเขื่อนต่าง ๆ ก็มีความสำคัญ โดยเฉพาะโครงการส่งน้ำ-และบำรุงรักษาลำปาวหรือเขื่อนลำปาว ถือเป็นแหล่งน้ำต้นทุนหลักในภาคอีสานตอนกลาง  หลังจากสิ้นเดือนเมษายน 2562 นี้ โครงการฯจะทำการหยุดส่งน้ำเพื่อการเกษตร หลังจากที่ได้ส่งน้ำให้เกษตรกรทำนาปรังไปแล้วเกือบเต็มพื้นที่       

          "ขณะนี้ข้าวได้เริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว แต่เขื่อนลำปาวยังคงต้องระบายน้ำลงลำปาว เพื่อรักษาระบบนิเวศ วันละ 400,000 ลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) และระบายน้ำนอนคลองให้กลุ่มผู้เลี้ยงกุ้งที่อยู่ในเขตชลประทาน ผ่านทางคลองส่งน้ำขวา กม.28 อีกประมาณวันละ 100,000 ลูกบาศก์เมตร รวมทั้งกิจกรรมใช้น้ำด้านอื่นด้วยและขอยืนยันว่าปริมาณน้ำที่มีอยู่เพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคตลอดช่วงฤดูแล้งนี้อย่างแน่นอน" ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทานเผยข้อมูล 

อนุมัติงบกลาง1,226ล.รับมือแล้งยาว

            สถานการณ์น้ำในเขื่อนลำปาว ปัจจุบันมีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำประมาณ 481 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น ร้อยละ 24 ของความจุอ่างฯ มีเป็นปริมาณน้ำใช้การได้ประมาณ 381 ล้าน ลบ.ม. คาดการณ์ว่าเมื่อถึงสิ้นเดือนพฤษภาคม 2562 จะมีน้ำเหลือในอ่างฯประมาณ 400 ล้าน ลบ.ม. ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยเล็กน้อย แต่ยังอยู่ในเกณฑ์ควบคุม และเพียงพอที่จะจัดสรรให้เกษตรกรด้านท้ายอ่างฯ ได้ทำนาปีในช่วงต้นฤดูกาลได้ตามปกติ แม้ว่าในปีนี้จะมีการคาดการณ์กันว่าฤดูฝนปีนี้จะมาล่าช้าจากต้นเดือนพฤษภาคมไปกลางเดือนพฤษภาคมก็ตาม ซึ่งทางโครงการฯได้แจ้งเตือนเกษตรกรให้งดการทำนาปรัง ครั้งที่ 2 ไปแล้วก่อนหน้านี้  

          ขณะเดียวกันโดยโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาวยังได้วางแผนเตรียมเก็บกักน้ำในช่วงฤดูฝนที่กำลังจะมาถึงนี้ ให้เต็มศักยภาพของความจุอ่างฯประมาณ 1,900 ล้าน ลบ.ม. เพื่อเป็นน้ำต้นทุนและช่วยบรรเทาอุทกภัยให้พื้นที่ลุ่มต่ำของลุ่มน้ำปาวด้วย 

           “ในอนาคตโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว มีแผนการปรับปรุงระบบส่งน้ำระยะทางรวมกว่า 600 กิโลเมตร เป็นคลองคอนกรีตเสริมเหล็กทั้งหมด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการกระจายน้ำให้ได้รวดเร็ว และทั่วถึงเต็มพื้นที่ชลประทานที่มีอยู่มากกว่า 300,000 ไร่ ซึ่งระบบกระจายน้ำที่มีประสิทธิภาพ จะทำให้มีต้นทุนน้ำสมบูรณ์เพียงพอแม้ในฤดูแล้ง และจะเป็นรากฐานสำคัญที่จะช่วยให้เกษตรกรมีรายได้ที่มั่นคง”รองอธิบดีกรมชลประทานกล่าวทิ้งท้าย 

 

                               

  แล้งจัด น้ำน้อยทำถนนคลองชลประทานทรุด!

 

            ในช่วงฤดูแล้งทุกปีมักจะพบปัญหาถนนคันคลองชลประทานทรุดหลายแห่ง หลายคนอาจเข้าใจว่า การสร้างถนนคันคลองชลประทานได้มาตรฐานหรือไม่ ในอดีตนั้นถนนคันคลองจะใช้ดินที่เกิดขึ้นจากการขุดหรือลอกคูคลองนำมาถมเป็นคันคลองสำหรับสร้างเป็นถนนเพื่อใช้เป็นเส้นทางลำเลียงผลผลิต ซึ่งจะรับน้ำหนักบรรทุกได้ไม่มากนัก โดยเฉพาะคันคลองชลประทานในพื้นที่ราบลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง ในเขตจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี นครปฐม และพื้นที่บางส่วนของจังหวัดสระบุรี นครนายก ฉะเชิงเทรา ที่เกิดจากการทับถมของตะกอนดิน ซึ่งชั้นตะกอนดินด้านบนเป็นดินเหนียวอ่อน จึงทำให้รับน้ำหนักบรรทุกได้ต่ำกว่าชั้นดินในพื้นที่อื่น ๆ ของประเทศ

อนุมัติงบกลาง1,226ล.รับมือแล้งยาว

         ดังนั้นคันคลองชลประทานในพื้นที่ดังกล่าวจึงมีความเสี่ยงต่อการทรุดตัว และยิ่งในปัจจุบันพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง มีการพัฒนาเศรษฐกิจ ชุมชนเมืองอย่างมาก พื้นที่การเกษตรถูกปรับเปลี่ยนเป็นพื้นที่อยู่อาศัย โรงงานอุตสาหกรรม และอื่นๆ ถนนคันคลองชลประทานจึงไม่ได้เป็นแค่ถนนที่ใช้ลำเลียงผลผลิตทางการเกษตรของเกษตรกรเท่านั้น แต่ยังใช้สัญจร ตลอดจนใช้ขนส่งสินค้าทั่วไป จึงทำให้ถนนคันคลองชลประทานทรุดอย่างที่เป็นข่าวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้งที่น้ำในลำคลองค่อนข้างน้อย

         จากการศึกษา ปัจจัยที่ทำให้เกิดการทรุดตัวของคันคลองชลประทานพบว่า เกิดจากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นเกิดการกัดเซาะของน้ำทำเอาดินหลุดออกไป การเพิ่มปริมาณตะกอนในลำน้ำทำให้ทิศทางการไหลของน้ำเปลี่ยนไป การมีน้ำหนักบรรทุกเกินพิกัดบนคันคลอง การลดระดับของน้ำในลำน้ำ อย่างกะทันหันทำชั้นดินที่ไม่แข็งแรง เช่น ดินเหนียวอ่อน หรือมีชั้นทรายบางๆ การเกิดการแตกร้าว จึงทำให้ดินทรุดตัว ถนนบนคันคลองก็ทรุดตัวตามไปด้วย 

          ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทานกล่าวถึงประเด็นดังกล่าว โดยระบุว่าในระยะเริ่มต้นของการพัฒนาระบบชลประทาน คันคลองชลประทานไม่ได้ถูกออกแบบให้รับภาระน้ำหนักบรรทุกมาก ๆ เนื่องจากชั้นตะกอนดินด้านบนที่เป็นดินเหนียวอ่อนนั้นรับน้ำหนักบรรทุกได้ต่ำเมื่อระดับน้ำในคลองลดต่ำลง การทรุดตัวของคันคลอง จึงเกิดขึ้นไม่มาก แต่ในปัจจุบันจากการพัฒนาของประเทศ และการขยายตัวของชุมชนเมือง ทำให้คันคลองชลประทานต้องแบกรับภาระน้ำหนักบรรทุกมากขึ้น เมื่อมีการลดระดับของน้ำในคลองลง ทำให้แรงดันน้ำที่ช่วยพยุงคันคลองชลประทานหายไป เป็นผลให้เกิดปัญหาการทรุดตัวของถนนบนคันคลองตามมามากมายหลายแบบ โดยที่ขนาดของการทรุดตัวมีแนวโน้มที่มีขนาดใหญ่มากขึ้น 

          อย่างไรก็ตามเพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงหรือป้องกันการทรุดตัวของถนนคันคลองชลประทาน โดยเฉพาะคันคลองชลประทานที่อยู่ในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง จะต้องควบคุมแรงที่กระทำกับถนนไม่ให้มากเกินกว่าความสามารถของชั้นดินเหนียวอ่อนจะรับได้ ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมน้ำหนักของรถที่สัญจรให้เป็นไปตาม ข้อกำหนดอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงฤดูแล้ง เมื่อระดับน้ำในคลองเริ่มลดลง หรือการรักษาระดับน้ำในคลองให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัย และหลีกเลี่ยงการใช้น้ำจนน้ำในคลองแห้ง

          นอกจากนี้ในการปรับปรุงถนน และก่อสร้างอาคารต่างๆบนคันคลอง ตลอดจนการขุดลอกคลอง ต้องพิจารณา เสถียรภาพของลาดตลิ่งคลองให้เป็นไปตามเกณฑ์กำหนดอย่างเคร่งครัด ส่วนคันคลองไหนที่จะมีการใช้เป็นเส้นทางสัญจรหลัก มีปริมาณรถยนต์ที่จะใช้จำนวนมาก จะต้องมีการออกแบบก่อสร้างที่แตกต่างจากถนนคันคลองทั่วไป

        รู้เท่าทัน ป้องกัน ถนนบนคันคลองทรุดได้  

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ