ข่าว

 หมากผู้หมากเมีย ไม้ประดับชื่อแปลก

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์ - ไม้ใบทำเงิน โดย - อุดม ฐิตวัฒนะสกุล    [email protected] 

 

       หมากผู้หมากเมีย:Cordyline fruticosa(L.) ไม้ประดับที่มีชื่อเรียกในแต่ละถิ่นแตกต่างกัน อีกทั้งยังมีพันธุ์ที่หลากหลายก็ยังมีชื่อเฉพาะโดยแตกต่างกันออกไปอีก นับเป็นไม้ประดับอีกสกุลหนึ่งที่มีการนำมาปลูกประดับ ตกแต่ง และใช้งานอย่างต่อเนื่องยาวนานตามความเหมาะสมในแต่ละวัตถุประสงค์ที่ผสมผสานกับการพัฒนาต่อเชื่อมในภูมิปัญญาของแต่ละท้องที่ 

 หมากผู้หมากเมีย ไม้ประดับชื่อแปลก

 หมากผู้หมากเมีย ไม้ประดับชื่อแปลก

 หมากผู้หมากเมีย ไม้ประดับชื่อแปลก

 

       หมากผู้หมากเมียมีถิ่นกำเนิดไม่ห่างจากเส้นศูนย์สูตร มีการกระจายตัวออกไปโดยรอบ โดยเฉพาะแถบภูมิภาคเอเชียตะออกเฉียงใต้ ไล่เรียงไปจนถึงหมู่เกาะต่างๆในเขตมหาสมุทรแปซิฟิก และรวมถึงอีกหลายประเทศที่มีสภาพภูมิอากาศที่คล้ายคลึงกัน จนทำให้พืชชนิดนี้กระจายตัวออกไปได้ดี เนื่องจากเมล็ดมีขนาดเล็กและมีการพักตัวยาวนานในระดับหนึ่ง 

 หมากผู้หมากเมีย ไม้ประดับชื่อแปลก

       และยังถูกนำพาโดยสัตว์จำพวกนกนำเมล็ดไปตกในที่ต่างๆ และเจริญงอกงามได้ดีอีกทั้งยังเกิดการกลายพันธุ์ออกไป แต่ลักษณะทั่วไปก็ยังคงไม่แตกต่างกันมากนัก ทำให้ไม้ชนิดนี้เป็นเสมือนสัญลักษณ์หรือตัวแทนของไม้ในเขตร้อนชื้นอีกชนิดหนึ่งที่ทำให้ผู้คนในเขตสภาพอากาศอื่นๆ มักชื่นชอบและหาใช้กันเพื่อการประดับตามความต้องการที่แปลกออกไป จากการใช้ไม้อื่นๆที่ไม่มีในพื้นที่นั้นๆ

        ด้วยชื่อที่ใช้เรียกขานแตกต่างไปจากไม้ชนิดอื่นทั่วไปคือมีการเรียกชื่อเพศรวมทั้งสองเพศมาไว้ในต้นเดียวกัน จนได้ชื่อ “หมากผู้หมากเมีย” ซึ่งจากการสืบค้นรวมถึงได้ฟังคำบอกเล่าต่อๆกันมาถึงลักษณะลำต้นที่ดูคล้ายต้นหมากที่มีผลสำหรับใช้ขบเคี้ยวร่วมกับใบพลูและปูนแดงอย่างที่เคยได้รับความนิยมของคนในสมัยก่อน 

        โดยลำต้นเมื่ออายุมากหน่อยก็จะมีเนื้อไม้ โตสูงเป็นลำขึ้นไปในระดับหนึ่ง เมื่อใบหลุดร่วงก็จะเห็นลำต้นคล้ายกับลำต้นหมาก หากดูในส่วนของช่อดอกที่ออกมาเหนือกาบใบ ใกล้บริเวณส่วนยอดก็ดูเป็นพวงเมื่อติดเมล็ดจนสุกก็ยิ่งดูคล้ายผลของหมากที่ติดผลอย่างมากมาย ยิ่งทำให้ดูคล้ายทะลายหมากมากขึ้น ซึ่งในหลาย ๆ ส่วนก็ล้วนมีลักษณะคล้ายกับหมากขนาดใหญ่ที่ย่อส่วนลงมา และการที่ถูกเรียกว่าคอร์ดิไลน์นั้นด้วยเหตุมีรากศัพย์จากภาษากรีกที่อยู่ในสกุล เรียกว่า Kordyle ซึ่งมีความหมายว่าไม้กระบอง โดยเห็นได้จากส่วนรากที่แทงลึกลงไปในดินหรือบางครั้งก็เกิดขึ้นได้กับบางส่วนของลำต้นเหนือพื้นดินขึ้นมา 

 หมากผู้หมากเมีย ไม้ประดับชื่อแปลก

        นับเป็นความพิเศษอย่างหนึ่งของพืชสกุลนี้เลยก็ว่าได้ ส่วนกรณีของคนไทยในอดีตมักจะตั้งชื่อคำนำหน้าพันธุ์พืชด้วยหมากนั้น ตามร่องรอยการบันทึกในหลักศิลาจารึกครั้งสมัยสุโขทัย ก็มีการเรียกคำนำหน้าผลไม้ต่างๆด้วยคำว่าหมากแทบทั้งสิ้น อย่างเช่น หมากพร้าว(มะพร้าว) หมากขาม(มะขาม) หมากม่วง(มะม่วง) และยังมีการละเล่นอื่นๆที่ใช้คำนำหน้าว่าหมาก อย่างเช่น หมากกระดาน หมากรุก หมากล้อม เป็นต้น นอกจากนี้ในส่วนของต้นไม้ก็มีคำเรียกแบบมีเอกลักษณ์อย่างเฉพาะในบ้านเรา เช่น หมากเหลือง หมากแดง หมากงาช้าง ซึ่งโดยแท้จริงนั้นต้นหมากต่างๆก็คือปาล์ม (Palm) ตามที่มีการเรียกแบบสากลทั่วๆไป

         จากลักษณะทางกายภาพที่ดูคล้ายคลึงกับหมากแต่กลับไม่ใช่หมาก ดังนั้นเพื่อการเข้าใจและไม่ก่อให้เกิดความสับสนทางการสื่อสาร จึงมีการเพิ่มคำสร้อยจากสิ่งที่ได้เห็นแต่มิได้เป็นไปตามนั้น เหมือนจะใช่แต่ก็แค่เหมือน จึงจำเป็นต้องเรียกลักษณะที่เห็นอย่างหลากหลายมารวมไว้ด้วยกัน เพื่อให้เกิดความแตกต่างไปจากหมาก แต่ยังคงอยู่ซึ่งความเหมือนในลักษณะเชื่อมโยงกันจนมีความแปลกโดยชื่อ 

         ซึ่งทุกวันนี้เราได้รู้จักและนำไม้ชนิดนี้มาใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวาง ทั้งการนำต้นมาใช้ปลูกประดับโดยตรงหรือใช้ในการตัดใบจัดประดับร่วมกับดอกไม้ แม้กระทั่งนำส่วนต่างๆอย่างราก ใบ หรือดอก ของต้นหมากผู้หมากเมีย มาใช้เป็นยารักษาอาการต่างๆทั้งภายนอกและภายใน ตามที่มีการบันทึกในตำรับยาพื้นบ้านทั่วไป 

  

      นอกจากนี้ยังคงใช้เป็นอาหารจากการแปรรูปอย่างง่ายโดยการเก็บได้จากพื้นที่ปลูกใกล้ๆบ้าน ที่สำคัญประการหนึ่งของไม้ชนิดนี้คือยังมีการปลูกตามความเชื่อที่ต้องกำหนดให้อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของบ้านและควรปลูกในวันอังคารเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่บ้านและผู้อยู่อาศัยซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วเป็นเรื่องของความสุขและความสบายใจ ในสภาพแวดล้อมที่มีความเกี่ยวข้องกับชีวิตทั้งทางตรงและทางอ้อมด้วยไม้ที่มีชื่อ “หมากผู้หมากเมีย” และนี่คืออีกอย่างหนึ่งในวิถีการใช้ไม้ประดับที่อยู่รอบตัวเรา..

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ