ข่าว

ไอซีทีกับงานส่งเสริมการเกษตร : จากอดีตสู่ปัจจุบัน(3)

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์ - ทำกินถิ่นอาเซียน โดย – รศ.ดร.พิชัย ทองดีเลิศ   [email protected] 

 

                ในครั้งที่แล้วผมทิ้งท้ายไว้ว่าเรื่องของคนเป็นปัญหาและอุปสรรคของการใช้งานไอซีทีในช่วงแรกๆ เพราะนักส่งเสริมการเกษตรส่วนหนึ่งจะไม่ถนัดเกี่ยวกับการใช้ไอซีที ส่วนผู้ที่รู้เรื่องพวกนี้จริงและถนัดในการใช้งานกลับเป็นนักวิชาการคอมพิวเตอร์และผู้ที่ทำงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศในหน่วยงาน แต่ในทางตรงกันข้ามก็จะขาดความรู้ในเรื่องราวของงานส่งเสริมการเกษตรไปด้วยเช่นกัน

 

                ดังนั้นในสถานการณ์ช่วงนั้น จึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรที่ทำงานด้านส่งเสริมการเกษตรให้มีความรู้ความสามารถรวมถึงทัศนคติที่ดีในการใช้ไอซีที โดยเน้นอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ทั้งด้านฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ เพื่อเตรียมนักส่งเสริมการเกษตรให้มีความพร้อมรองรับการทำงานส่งเสริมด้วยการใช้ไอซีทีเป็นปัจจัยสนับสนุน แต่ในสถานการณ์ที่เป็นจริงพบว่าบุคลากรที่ทำงานส่งเสริม มีความรู้พื้นฐาน อายุ และทัศนคติที่มีต่อเรื่องของไอซีทีต่างกัน

                โดยส่วนหนึ่งคิดว่าเป็นสิ่งที่ดีมีประโยชน์และสามารถนำมาช่วยในงานส่งเสริมการเกษตรได้ บางส่วนคิดว่าเป็นภาระและอุปสรรคต่อการทำงาน ยากต่อการใช้งานและต้องมาศึกษาเรียนรู้กันใหม่เพื่อให้งานได้ นอกจากนี้บางส่วนก็มองว่าการทำงานส่งเสริมนั้นใช้คนก็ดีอยู่แล้วเรื่องของไอซีทีจะทำงานแทนคนนั้นคงจะมาทดแทนกันไม่ได้

             ด้วยเหตุนี้จึงเป็นคำถามว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้นักส่งเสริมการเกษตรที่มีความรู้สึกไม่ค่อยดียอมรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นและหันมาเรียนรู้เพื่อให้สามารถปรับทัศนคติไปจนถึงสามารถใช้งานในหน้าที่เพื่อช่วยสนับสนุนการทำงานส่งเสริมได้อย่างที่ควรจะเป็นตามภาระงานที่รับผิดชอบกันอยู่ โดยที่ไม่ต้องมีความเก่งและเชี่ยวชาญในระดับสูงกันทุกคน เพียงแค่สามารถใช้ในหน้าที่ได้บ้างและค่อยๆ เรียนรู้พัฒนาศักยภาพกันไปในระยะยาว รวมถึงปรับตัวให้เข้ากับเทคโนโลยีที่ยังจะต้องเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ

             ในอีกด้านหนึ่งรูปแบบของการใช้ไอซีทีในงานส่งเสริมก็เป็นอีกตัวแปรหนึ่งที่มีความสำคัญและมีผลต่อทิศทางและวิธีการในการส่งเสริมการเกษตร เพราะโดยปกตินักส่งเสริมการเกษตรจะเป็นบุคคลหลักในการทำหน้าที่ถ่ายข้อมูลข่าวสารและเทคโนโลยีทางการเกษตรไปสู่เกษตรกรกลุ่มเป้าหมาย แต่เมื่อมีไอซีทีเข้ามาเป็นตัวช่วยในการทำงาน ซึ่งเป็นนโยบายที่ถูกกำหนดมาจากระดับกระทรวง ดังนั้น จึงมีความจำเป็นต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับนโยบาย 

             การใช้ไอซีทีเพื่อการส่งเสริมการเกษตรในช่วงนั้นเป็นยุคเริ่มต้นจึงมีไม่กี่รูปแบบ การใช้เว็บไซต์ช่วยในการถ่ายทอดข้อมูลข่าวสารและเทคโนโลยีการเกษตร การใช้เว็บบอร์ดช่วยในการซักถามและตอบปัญหาทางการเกษตร การใช้ฐานข้อมูลเพื่อช่วยเหลือในการค้นหาข้อมูลทางการเกษตร จึงเป็นรูปแบบหลักๆ ของการส่งเสริมการเกษตรในช่วงนั้น ส่วนช่องทางหลักก็เป็นการใช้ผ่านคอมพิวเตอร์แบบตั้งโต๊ะและแบบพกพา 

       

             นอกจากนี้ก็มีการใช้พวกแท็บเล็ตและสมาร์ทโฟนบ้างแต่ก็ยังไม่มาก เนื่องจากแอพพลิเคชั่นต่างๆ ยังไม่ค่อยรองรับระบบ และอุปกรณ์พกพาพวกนี้ยังมีราคาค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับคอมพิวเตอร์ปกติทั่วไป จากการวิจัยที่ศึกษาในช่วงนี้ จึงพบว่ารูปแบบการใช้งานเป็นการใช้งานผ่านเครื่องพิวเตอร์เป็นหลัก และใช้เว็บไซต์เป็นช่องทางในการทำงานส่งเสริมการเกษตร โดยถ่ายทอดข้อมูลด้วยตัวอักษรและภาพนิ่งเป็นส่วนใหญ่ จะมีบ้างที่เป็นคลิปภาพเคลื่อนไหวสั้นที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของยูทูบ

              แต่สิ่งสำคัญที่ขาดหายไปก็คือการสื่อสารสองทางที่ยังทำได้ไม่ดี ถ้าเปรียบเทียบกับการใช้นักส่งเสริมที่ทำงานในพื้นที่โดยตรง ซึ่งตรงนี้ก็เป็นปัญหาอีก แต่มีแนวทางแก้ไขให้ในสัปดาห์หน้าครับ !

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ