ข่าว

"ไทยนิยม ยั่งยืน" ปลดล็อก"อุปกรณ์"สู่สหกรณ์มั่นคง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

 อานิสงส์โครงการ"ไทยนิยม ยั่งยืน" ปลดล็อก"อุปกรณ์"สู่สหกรณ์มั่นคง

 

               ไทยนิยม ยั่งยืน เป็นโครงการที่ต่อยอดมาจากโครงการสานพลังประชารัฐ เริ่มเห็นผลเป็นรูปธรรม หลังรัฐบาลอุดหนุนงบกลางปี 2561 วงเงิน 1,786.781 ล้านบาท ให้แก่สถาบันเกษตรกรในการสร้างโกดัง ฉาง ลานตาก และจัดซื้ออุปกรณ์รวบรวมและแปรรูปผลผลิตการเกษตร โดยตั้งเป้าไม่น้อยกว่า 7 แสนตันต่อปี ขณะนี้ดำเนินการแล้วเสร็จ ทันรองรับผลผลิตในฤดูกาลปีนี้ ซึ่งทำให้สหกรณ์ใช้ประโยชน์ในการเก็บชะลอและดูดซับสินค้าเกษตร ทั้งข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง และยางพารา ไม่ให้ทะลักล้นตลาดพร้อมนำเทคโนโลยีมาใช้แปรรูปสินค้าเกษตร เพื่อยกระดับคุณภาพและราคาผลผลิตให้เพิ่มสูงขึ้น

 

           สำหรับงบประมาณที่รัฐบาลอุดหนุนจำนวน 1,786.781 ล้านบาทให้แก่สถาบันเกษตรกรนั้น ประกอบด้วย 3 โครงการหลัก ได้แก่ 1.โครงการจัดเก็บพืชผลทางการเกษตร หรือแก้มลิง วงเงิน 1,074.98 ล้านบาท ใช้ก่อสร้างโกดัง ฉาง ลานตาก ไซโลและเครื่องอบลดความชื้น รวบรวมผลผลิตไม่น้อยกว่า 7 แสนตัน/ปี                 2.โครงการสนับสนุนอุปกรณ์แปรรูปผลผลิตทางการเกษตร วงเงิน 415.441 ล้านบาท ใช้สร้างอุปกรณ์แปรรูปและตรวจสอบคุณภาพผลผลิตเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าเกษตร 9 ชนิด ได้แก่ ข้าว ผักผลไม้ สมุนไพร ปาล์มน้ำมัน กาแฟ โคนม ประมง ปศุสัตว์ และมันสำปะหลัง โดยนำไปสร้างโรงสีข้าว ห้องเย็น อาคารแปรรูปผลผลิต และจัดซื้อเครื่องชั่ง เครื่องคัดเกรดและอุปกรณ์แปรรูปเพื่อพัฒนาคุณภาพและสร้างมูลค่าเพิ่มผลผลิต ไม่น้อยกว่า 56,000 ตัน/ปี 

           และ 3.โครงการเพิ่มศักยภาพการรวบรวมและการแปรรูปยางพารา ในสถาบันเกษตรกร วงเงิน 283.997 ล้านบาท สร้างโรงรวบรวมและอุปกรณ์แปรรูปยางพารา ไม่น้อยกว่า 150,000 ตันต่อปี

              “ความคืบหน้าของทั้ง 3 โครงการ ขณะนี้การก่อสร้างปัจจัยพื้นฐานและอุปกรณ์การตลาดต่างๆ ส่วนใหญ่ดำเนินการแล้วเสร็จตั้งแต่ปลายปี 2561 และสามารถทันใช้รองรับผลผลิตทางการเกษตรในพื้นที่ต่างๆ ได้ทันฤดูกาลปี 2561/62”

                พิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เผยความคืบหน้าโครงการไทยนิยม ยั่งยืน โดยโครงการจัดเก็บผลผลิตทางการเกษตร หรือแก้มลิง ขณะนี้ได้ดำเนินการเสร็จแล้ว 132 สหกรณ์ และได้ใช้ประโยชน์แล้ว 87 แห่ง สามารถรวบรวมผลผลิตข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง 162,446.298 ตัน  ส่วนโครงการสนับสนุนอุปกรณ์แปรรูปผลผลิตทางการเกษตร ดำเนินการเสร็จแล้ว 93 สหกรณ์ ได้ใช้ประโยชน์แล้ว 49 แห่ง รวบรวมผลผลิตได้ 15,077.37 ตัน มูลค่า 300.6913 ล้านบาท และสามารถใช้ในการแปรรูปผลผลิตการเกษตร 2,649.094 ตัน มูลค่า 66.7683 ล้านบาท และสุดท้ายโครงการเพิ่มศักยภาพการรวบรวมและแปรรูปยางพาราในสถาบันเกษตรกรขณะนี้ดำเนินการเสร็จแล้ว 57 สหกรณ์ ใช้ประโยชน์รวบรวมผลผลิตยางพาราแล้ว 27,786.72 ตัน และสามารถแปรรูปยางพาราคิดเป็นมูลค่า 45.0197 ล้านบาท

               “กรมส่งเสริมสหกรณ์มอบหมายให้ผู้ตรวจราชการและสหกรณ์จังหวัดทุกจังหวัดลงพื้นที่ติดตามการดำเนินโครงการ ไทยนิยม ยั่งยืน ในทุกสหกรณ์ที่ได้รับสนับสนุนงบประมาณ ภาพรวมสหกรณ์ส่วนใหญ่ดำเนินการด้วยความเรียบร้อยเสร็จทันเวลาและสามารถใช้ประโยชน์อุปกรณ์และเครื่องมือต่างๆ ในการเก็บชะลอและรวบรวมผลผลิตจากเกษตรกรในพื้นที่ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ทำให้เกษตรกรไม่ต้องขนส่งผลผลิตไปขายนอกพื้นที่ ช่วยประหยัดต้นทุนค่าขนส่ง"

                อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เผยต่อว่า ขณะนี้มีหลายสหกรณ์ใช้ประโยชน์จากเครื่องมือและอุปกรณ์การตลาดที่ได้รับ นำไปรวบรวมข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง ยางพารา ในช่วงที่ผลผลิตออกมาจำนวนมาก เพื่อเก็บชะลอไว้ไม่ให้ออกสู่ตลาดพร้อมกัน ทำให้ราคาสินค้าเกษตรมีเสถียรภาพ สำหรับในปี 2562 มีแผนอบรมการใช้ประโยชน์จากอุปกรณ์การตลาดและเครื่องมือสำหรับรวบรวมและแปรรูปสินค้าเกษตรแต่ละชนิดให้แก่เจ้าหน้าที่ของสหกรณ์ เพื่อเตรียมพร้อมรองรับผลผลิตแต่ละชนิดที่จะออกตามฤดูกาล รวมถึงการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ มาใช้ในการพัฒนาคุณภาพและแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าให้แก่ผลผลิต 

             นอกจากนี้ยังมีหลักสูตรพัฒนาผู้จัดการสหกรณ์เป็นนักบริหารมืออาชีพ ส่งเสริมความรู้การทำแผนธุรกิจ การพัฒนาขีดความสามารถในการบริหารโกดังเก็บสต็อกสินค้า และการเชื่อมโยงธุรกิจกับภาคเอกชน เพื่อขยายช่องทางตลาดรองรับผลผลิตของเกษตรกรต่อไปในอนาคตด้วย 

                ไพรัช เจ้ยชุม ประธานกรรมการสหกรณ์กองทุนสวนยางในเขตปฏิรูปที่ดินบ้านทางเกวียน จำกัด ต.โคกม่วง อ.เขาชัยสน จ.พัทลุง หนึ่งในสถาบันเกษตรกรที่รับอานิสงส์จากโครงการไทยนิยม ยั่งยืน กล่าวยอมรับกับ"คมชัดลึก"ว่า โครงการไทยนิยม ยั่งยืน ของรัฐบาลได้สร้างความยั่งยืนให้แก่สหกรณ์ฯ บ้านทางเกวียนจริงๆ เนื่องจากที่ผ่านมาสหกรณ์มีปัญหาในเรื่องการขาดเครื่องมืออุปกรณ์มาสนับสนุนการดำเนินการ โดยอุปกรณ์ที่มีอยู่ก็ใช้การไม่ได้ เนื่องจากใช้งานมานานจนเกิดชำรุด หากจะซื้อเครื่องใหม่ก็ไม่มีงบประมาณอย่างเพียงพอ ไม่ว่าจะเป็นจักรรีดยางหรือรถโฟล์กลิฟต์

             “สหกรณ์ได้มาล้านกว่าบาทจากโครงการไทยนิยม ยั่งยืน ก็นำมาซื้อจักรรีดยาง 7 คู่ 5 แรงม้า 2 ตัว และรถโฟล์กลิฟต์ 1 คัน จักรรีดยางตัวเก่าชำรุดใช้งานไม่ได้เต็มที่ ยิ่งช่วงที่ผลผลิตยางออกมาเยอะทำไม่ทัน พอได้จักรรีดยางตัวใหม่ก็ดีขึ้น รถโฟล์กลิฟต์ก็เช่นกันคันเก่าชำรุดใช้งานไม่ได้ ต้องใช้คนงานขนยางแผ่นเพื่อไปส่งโรงงาน ซึ่งต้องใช้เวลานานและคนงานก็ไม่พอ เพราะยางมีปริมาณมากในแต่ละวัน ได้รถโฟล์กลิฟต์คันใหม่ทำให้สามารถประหยัดทั้งเวลาและแรงงานได้มากขึ้น” ประธานสหกรณ์ฯ บ้านทางเกวียน เผย 

             เขายอมรับว่าแม้ช่วงนี้สถานการณ์ราคาดีขึ้นมาเล็กน้อย โดยน้ำยางข้นราคาอยู่ที่ 47-49 บาทต่อกิโลกรัม และยางแผ่นอยู่ที่ 52-53 บาทต่อกิโลกรัม แต่ผลผลิตยางช่วงนี้มีปริมาณน้อย เนื่องจากอยู่ในช่วงที่ต้นยางผลัดใบทำให้ต้องหยุดกรีดไปจนกว่าหมดฤดูยางผลัดใบอีกประมาณ 1-2 เดือนสำหรับในพื้นที่ภาคใต้ ทำให้รายได้จากยางอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ จึงจำเป็นต้องหารายได้เสริมจากกิจกรรมอื่น เช่นปลูกพืชเสริมในสวนยาง ขุดบ่อเลี้ยงปลาเพื่อหารายได้เสริมอีกทางหนึ่งด้วย 

     

                 เช่นเดียวกัน สหกรณ์โคนมเชียงราย จำกัด ต.ธารทอง อ.พาน จ.เชียงราย อีกหนึ่งในสหกรณ์ที่ได้รับอานิสงส์จากโครงการไทยนิยม ยั่งยืน โดยสหกรณ์ดังกล่าวได้รับการสนับสนุนเครื่องอุปกรณ์ต่างๆ จำนวน 5 รายการ ประกอบด้วย 1.ชุดพาสเจอร์ไรซ์ ขนาดเท่ากับหรือไม่น้อยกว่า 2 ตันต่อชั่วโมง โดยได้เริ่มใช้ประโยชน์จากการใช้พาสเจอร์ไรซ์น้ำนมดิบที่รับจากสมาชิกสหกรณ์จำนวน 38 ราย เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2561 ในปริมาณน้ำนมดิบ 5.7 ตันต่อวัน เข้าสู่กระบวนการผลิตนมถุงพาสเจอร์ไรซ์ 36,799 ถุงต่อวัน สามารถย่นระยะเวลาการพาสเจอร์ไรซ์จาก 1 ชั่วโมงต่อ 1 ตันเป็น 1 ชั่วโมงต่อ 3 ตัน 

               2.ชุด HOMOGINIZER เท่ากับหรือไม่น้อยกว่า 3 ตันต่อชั่วโมง 3.ชุดเครื่องตรวจเช็กคุณภาพน้ำนมดิบ ขนาด 220-240 โวลต์ โดยสมาชิกได้รับประโยชน์จากเครื่องดังกล่าวคือสามารถทำให้สมาชิกรู้ผลการตรวจสอบคุณภาพได้อย่างรวดเร็วแม่นยำ สามารถลดค่าใช้จ่ายสมาชิกได้มูลค่า 300 บาทต่อการตรวจสอบคุณภาพน้ำนมดิบ 1 ตัวอย่างหรือมูลค่า 11,400 บาทต่อวัน และใช้ตรวจหา SCC ทั้งในนมรวมสหกรณ์และน้ำนมดิบจากสมาชิกรายฟาร์มเพื่อเฝ้าระวังและปรับปรุงคุณภาพน้ำนมดิบได้อย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับนโยบายใช้นมคุณภาพดีมาตรฐานสูงผลิตนมโรงเรียน  4.รถห้องเย็นสำหรับการขนส่งผลิตภัณฑ์นม และ 5.ห้องเย็นสำหรับจัดเก็บผลิตภัณฑ์นมที่ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์

               “สหกรณ์เราได้มาทั้งหมด 5 อย่างจากโครงการไทยนิยม ยั่งยืน รวมมูลค่ากว่า 10 ล้านบาท ตอนนี้ทุกอย่างที่ได้มาใช้งานได้ดีทั้งหมด จากแต่ก่อนมีปัญหามาก อุปกรณ์เก่าชำรุดบ้าง ใช้งานไม่ได้บ้าง แต่ไม่มีงบจัดซื้อใหม่ ตอนนี้เหลือเพียงแท็งก์เก็บน้ำนมดิบขนาดประมาณ 10 ตัน 2 ใบทีี่ใช้อยู่ปัจจุบันเป็นแท็งก์ที่ดัดแปลงมา ปีนี้(2562)ก็ขอไปเหมือนกันแต่ทางเจ้าหน้าที่บอกว่าสหกรณ์เราได้มาแล้วเมื่อปีที่แล้วต้องรอก่อน” 

              ศรีวรรณ เชิดชูชน ผู้จัดการสหกรณ์โคนมเชียงราย จำกัด เผย พร้อมขอบคุณรัฐบาลและกรมส่งเสริมสหกรณ์ที่มีโครงการดีๆ สนับสุนนกิจการของสหกรณ์โคนมเชียงรายให้เดินหน้าต่อไปอย่างมั่นคง โดยไม่ต้องกังวลในเรื่องผลผลิตที่อาจจะไม่ได้คุณภาพจากอุปกรณ์ที่ไม่ได้มาตรฐาน เนื่องจากการใช้งานมานาน

               นับอีกก้าวความสำเร็จของการดำเนินโครงการไทยนิยม ยั่งยิืน ของรัฐบาลในการช่วยเหลือสถาบันเกษตรกร หรือสหกรณ์การเกษตร ให้ก้าวเดินได้อย่างมั่นคงต่อไปในอนาคต

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ