ข่าว

 เสียงสะท้อนจากแกนนำเกษตรกรไม่แบน3สารอันตราย"ใครได้-ใครเสีย"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

 เสียงสะท้อนจากแกนนำเกษตรกร ไม่แบน3สารอันตราย"ใครได้-ใครเสีย"

 

           ในที่สุดการประชุมของคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่มีรองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม “อภิจิณ โชติกเสถียร” เป็นประธาน เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา มีมติยืนตามมติเดิมเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2561 ยังไม่มีการยกเลิกการใช้วัตถุอันตรายในภาคเกษตรทั้ง 3 รายการ ได้แก่ พาราควอต ไกลโฟเสต และคลอร์ไพริฟอส โดยจะยืดเวลาออกไปอีก 2 ปี หรือภายในวันที่  1 มกราคม 2564 หรือจนกว่าจะหาสารทดแทนได้

            โดยที่ประชุมมีมติสนับสนุนให้ใช้ต่อ 16 เสียง ให้ยกเลิก 5 เสียง และงดออกเสียง 5 เสียง หลังกรรมการแต่ละคนได้รับฟังข้อมูลจากทุกฝ่าย หากยกเลิกเกษตรกรจะได้รับผลกระทบทันที เพราะยังไม่มีสารอื่นมาทดแทน 

 

            “อย่าไปกล่าวโทษกรรมการวัตถุอันตรายเลย เขาก็ตัดสินใจไปตามข้อมูลที่ได้รับ ต้องไปถามองค์กรหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบดีกว่าว่าได้ชี้แจงข้อมูลต่อที่ประชุมอย่างไร ทำไมก่อนหน้านี้ให้สัมภาษณ์บอกว่าพร้อมถ้าหากกรรมการมีมติให้มีการยกเลิก แต่พอชี้แจงในที่ประชุมกลับเป็นอีกอย่าง” แหล่งข่าวในกรรมการวัตถุอันตรายให้ความเห็นต่อ “คม ชัด ลึก”

           สอดรับกับการยืนยันของ “กฤษฎา บุญราช” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ก่อนหน้านี้ โดยระบุว่า หากยกเลิกสารทั้ง 3 ชนิดในปีนี้จะกระทบต่อเกษตรกร 25 ล้านคนที่คุ้นเคยกับการใช้สารเคมีมานาน กระทรวงเกษตรฯ จึงได้เสนอความเห็นในที่ประชุมว่า ควรใช้ระยะเวลา 2 ปีในการหานวัตกรรมใหม่ๆ มาทดแทน โดยระหว่างนี้ทุกส่วนต้องเร่งทำเกษตรปลอดภัย และเกษตรอินทรีย์ ให้เต็มพื้นที่เกษตรทั่วประเทศ 149 ล้านไร่  พร้อมกันนี้ภายใน 2 ปี หน่วยงานของกระทรวงเกษตรฯ จะจูงใจเกษตรกรและกลุ่มเกษตรกรเข้ามาทำเกษตรปลอดภัย ปล่อยเงินกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นพิเศษ และหาตลาดเข้ามารองรับสินค้าดังกล่าว 

        “หากให้เลิกใช้สารเคมีใน 1 ปี เรากังวลว่าจะมีผลกระทบต่อเกษตรกรจำนวนมาก และการเผาซากพืชจะมีมากขึ้น เพราะใช้ยาปราบศัตรูพืชไม่ได้ จึงได้มีข้อเสนอต่อคณะกรรมการ ใช้เวลาปรับวิธีปฏิบัติทำเกษตรปลอดภัยทั่วประเทศใน 2 ปี ผมยืนยันจะทำให้เห็นเป็นแผนชัดเจน เป็นรูปธรรม ซึ่งรู้ว่าจะต้องโดนกระแสโจมตีจากกลุ่มที่ต้องการให้ยกเลิก แต่หากให้เลิกภายใน 1 ปี ก็สามารถทำได้ และถ้ามีผลกระทบเกิดขึ้นกับเกษตรกร อย่ามาต่อว่ากระทรวงเกษตรฯ” กฤษฎากล่าวย้ำ

         อย่างไรก็ตามในการประชุมดังกล่าว กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมวิชาการเกษตร ได้ส่งร่างแผนปฏิบัติการยกเลิกการใช้ 3 สารเคมีในการดำเนินการตามมาตรการจำกัดการใช้วัตถุอันตรายทั้ง 3 ชนิด โดยกรมวิชาการเกษตรได้เสนอร่างประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 5 ฉบับ ซึ่งมีสาระสำคัญเกี่ยวกับมาตรการต่างๆ ในการจำกัดการใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิด พร้อมทั้งการจัดอบรมให้ความรู้โครงการนำร่องทดสอบหลักสูตร ผู้พ่นสารพาราควอตเพื่อกำจัดวัชพืชในมันสำปะหลังและอ้อยใน จ.นครราชสีมา และนครปฐม ตลอดจนการจัดทำโครงการวิจัยเพื่อลดการใช้สารเคมีและหาวิธีการทดแทนการใช้สารเคมี รวมทั้งศึกษาผลกระทบของสารที่มีต่อสิ่งแวดล้อม ผู้ผลิต และผู้บริโภค 

           สุกรรณ์ สังข์วรรณะ เกษตรกรพันธุ์แท้มาแต่กำเนิด โดยยึดอาชีพทำไร่อ้อยที่บ้านดอนหอคอย ต.ยุ้งทะลาย อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี ที่ปัจจุบันรั้งตำแหน่งเลขาธิการสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย  เป็นหนึ่งในแกนนำเกษตรกรที่ต่อต้านการห้ามใช้สารเคมีกำจัดวัชพืช โดยเฉพาะพาราควอต เนื่องจากยังไม่มีสารเคมีตัวใดทดแทนได้ ในขณะอีก 2 ตัวไกลโฟเสตและคลอร์ไพริฟอสยังพอจะมีสารตัวอื่นทดแทน โดยเขาให้เหตุผลว่าหากยกเลิกหรือแบนทันทีธุรกิจเกษตรต้องล่มสลายอย่างแน่นอน เพราะยังไม่มีสารเคมีตัวใดที่มีประสิทธิภาพมากพอและยังมีราคาถูกเทียบเท่ากับพาราควอต

           “อย่างสวนทุเรียนยังจำเป็นต้องใช้พาราควอตในการกำจัดวัชพืชในสวน พาราควอตจะทำลายเฉพาะสีเขียวจะไม่ทำลายระบบรากของพืชหลัก ไม่เหมือนกับไกลโฟเสต เช่นเดียวกันอ้อยที่ผมทำอยู่ทุกวันนี้ก็ต้องใช้สารพาราควอตเหมือนกันในการกำจัดวัชพืชในแปลงหรือข้าวโพดในช่วง 45 วันแรกวัชพืชจะต้องไม่มี ไม่อย่างนั้นธาตุอาหารที่เราใส่ลงไปก็จะไม่ไปถึงพืชหลัก ถามว่าถ้าไม่ใช้สารพวกนี้แล้วจะไปใช้อะไร ก็ไม่มีให้เลือก จะจ้างแรงงานก็สู่ค่าแรงไม่ไหว แล้วก็หาแรงงานยากมากทุกวันนี้”

        เขายอมรับว่าที่ผ่านมารัฐได้ออกประกาศให้มีการจำกัดการใช้ ทำให้สารเคมีเหล่านี้มีราคาพุ่งพรวดเกือบเท่าตัว อย่างพาราควอตจากเมื่อก่อนลิตรละ 80-90 บาท ขณะนี้ราคาถีบตัวสูงขึ้นไปอยู่ที่ 160-180 บาทต่อลิตร ส่งผลให้ต้นทุนของเกษตรกรสูงขึ้น นอกจากนี้พ่อค้าเริ่มมีการกักตุนสินค้าเหล่านี้กันแล้ว ซึ่งก็ไม่เป็นผลดีต่อเกษตรกรอย่างแน่นอน 

          “ถามว่าอันตรายไหมต้องบอกว่าสารเคมีทุกตัวเป็นอันตรายหากใช้ไม่ถูกวิธี ยาพาราเซตามอลก็เหมือนกัน หากกินเข้าไปมากกว่าปกติก็อาจเสียชีวิตได้ ยาพาราปกติเขาให้กินครั้ง 1-2 เมตร ถ้าคุณกินทีเดียว 18 เม็ด ถ้าล้างท้องหรือพบแพทย์ไม่ทันรับรองเสียชีวิตแน่นอน สารเคมีเหล่านี้ก็เหมือนกัน”

          เลขาธิการสมาพันธ์เกษตรปลอดภัยมองว่าถึงแม้กรรมการวัตถุอันตรายจะมีมติไม่แบน แต่ความเสียหายของภาคการเกษตรในวันนี้ก็เกิดขึ้นแล้วจากการจำกัดการใช้ ทั้งในเรื่องของราคาสูงขึ้น การลดการนำเข้า ส่งผลทำให้มีการลักลอบนำเข้ามามากขึ้นและที่สำคัญสารเคมีเหล่านี้หมดอายุสิทธิบัตรแล้วใครก็สามารถผลิตได้ หากไม่มีการเข้มงวดในเรื่องคุณภาพและมาตรฐานก็จะมีผลเสียต่อภาคการเกษตรด้วยเช่นกัน

         “เมื่อมีมติออกมาเช่นนี้ พวกคุณบริษัทผู้ผลิตทั้งหลายจะต้องเข้ามาช่วยเกษตรกร ช่วยข้าราชการในการแนะนำให้ความรู้ถึงวิธีการใช้ เพราะไม่มีใครไม่ว่าข้าราชการหรือเกษตรกรจะรู้ดีไปกว่าเจ้าหน้าที่บริษัทผู้ผลิต อันนี้ประการแรก ส่วนประการต่อมาราคาขายจะต้องลดลงเหมือนตอนที่ยังไม่มีการจำกัดปริมาณการใช้ เพราะไม่เช่นนั้นคนที่รวยก็คือพ่อค้า ส่วนเกษตรกรก็ยังจนเหมือนเดิมหรืออาจจนลงมากกว่าเดิมด้วย เพราะต้นทุนจากราคาสารเคมีที่สูงขึ้น นี่คือ 2 ประเด็นหลักที่พวกผมเตรียมจะเดินหน้าเรียกร้องกับบริษัทค้าสารเคมีต่อไป” สุกรรณ์ยืนยัน

           เช่นเดียวกับมุมมองของ “อุทัย สอนหลักทรัพย์” ประธานสภาเครือข่ายยางและสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย (สยยท.) ที่ระบุว่าเห็นด้วยกับมติกรรมการวัตถุอันตรายที่ยังไม่แบนสารเคมีทั้ง 3 รายการ แม้โดยส่วนตัวเห็นว่าสารเคมีทั้ง 3 ตัวนั้นเป็นอันตรายต่อสุขภาพผู้ใช้หรือผู้ที่ได้รับสารเหล่านี้เข้าไป เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีสารเคมีตัวใดมาทดแทนสารเหล่านี้ได้ จึงยังมีความจำเป็นต่อภาคเกษตร

          “เห็นด้วยกับมติดังกล่าวแต่มีข้อแม้ว่าต้องหาสารตัวอื่นมาทดแทนที่มีประสิทธิภาพเหมือนกันหรือใกล้เคียงและราคาต้องไม่แพงกว่าสารตัวนี้ ถ้าแบนทันทีเกษตรกรเดือดร้อนแน่นอน จ้างแรงงานก็ไม่ไหว ค่าแรงสูงแล้วก็หาคนทำก็ยากมากด้วย ผมเป็นหนึ่งในคณะกรรมการพิิจารณาการใช้สารเคมีที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้ง ก็มีการประชุมในเรื่องนี้ เขาก็เสนอสารทดแทนเหมือนกันแต่ราคาแพงกว่าพาราควอต 5 เท่า แล้วประสิทธิภาพการใช้งานก็น้อยว่าแล้วจะเอามาทำไม ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ก็รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมให้เกษตรกรลดต้นทุนการผลิตไม่ใช่หรือ” อุทัยกล่าวย้ำ  

         

 อย่างไรก็ตามในส่วนของเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) ก็ได้ออกแถลงการณ์ในทันทีที่กรรมการวัตถุอันตรายมีมติิออกมา โดยเนื้อหาระบุว่า เครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษร้ายแรง 686 องค์กร รู้สึกผิดหวังและเศร้าสลดที่คณะกรรมการวัตถุอันตราย มีมติไม่แบนพาราควอต สารพิษร้ายแรงที่มากกว่า 50 ประเทศทั่วโลกห้ามใช้แล้ว สวนทางกับข้อเสนอของกระทรวงสาธารณสุข และคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สภาเกษตรกรแห่งชาติ สภาเภสัชกรรม แพทยสภา เครือข่ายประชาคมวิชาการ เครือข่ายนักธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) ที่เรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการยกเลิกสารพิษนี้ ภายในปี 2562

               สำคัญที่สุดผิดหวังต่อบทบาทของ กฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และข้าราชการระดับสูงกลุ่มหนึ่งในกระทรวงดังกล่าว ซึ่งมีบทบาทอย่างสำคัญที่ทำให้ตัวแทนของกระทรวงเกษตรฯ ทั้ง 5 คนในคณะกรรมการวัตถุอันตรายเสนอให้มีการใช้พาราควอตต่อไป โดยจะให้มีการพิจารณาเรื่องนี้ใหม่เมื่อพ้นระยะ 2 ปีไปแล้ว การกระทำดังกล่าวถือเป็นการเพิกเฉยต่อข้อมูลทางวิชาการอันหนักแน่นและเสียงเรียกร้องขององค์กรต่างๆ ปล่อยให้มีการใช้สารพิษร้ายแรง ซึ่งคุกคามต่อชีวิตของเกษตรกร ผู้บริโภค และเด็กทารกทุก 1 ใน 2 คนที่จะลืมตามาดูโลก

                                        

       

 

    

   

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ