ข่าว

"เหลียวหน้า แลหลัง" แนวทางจัดการน้ำของประเทศ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"เหลียวหน้า แลหลัง" แนวทางจัดการน้ำ  หลังพ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำมีผลบังคับใช้

 

                 มีผลบังคับใช้ไปเรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 27 มกราคม ที่ผ่านมาสำหรับ “พระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ.2561” นับเป็นกฎหมายน้ำฉบับแรกของประเทศไทยที่มีแผนการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบครบวงจร ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ สทนช. ในการขับเคลื่อนแผนน้ำของประเทศ โดยมุ่งหวังให้เกิดการบูรณาการการใช้ พัฒนา บริหารจัดการ ฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำที่เป็นเอกภาพ มีมาตรการป้องกันแก้ไขน้ำแล้งน้ำท่วม พร้อมวางหลักเกณฑ์ในการประกันสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนในการเข้าถึงทรัพยากรน้ำสาธารณะ มีองค์กรในการบริหารจัดการน้ำระดับชาติ ระดับลุ่มน้ำ และระดับองค์กรผู้ใช้น้ำสะท้อนการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อร่วมกันบริหารจัดการน้ำของประเทศ 

"เหลียวหน้า แลหลัง" แนวทางจัดการน้ำของประเทศ

ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสทนช.

 

 

                 “ขั้นตอนต่อไปสทนช.เตรียมความพร้อมในการนำกฎหมายลูกต่างๆ อาทิ การกำหนดพื้นที่ลุ่มนํ้าและการอนุญาตการใช้นํ้า และการเก็บค่านํ้า เป็นต้น เพื่อออกไปรับฟังความคิดเห็นในคราวเดียวกัน โดยเฉพาะเรื่องการเก็บค่านํ้า สทนช.อยู่ในช่วงศึกษาการเก็บค่านํ้าของชลประทานและการจัดเก็บค่านํ้าบาดาล เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายมากที่สุด และการน้ำใช้ในขั้นพื้นฐานการดำรงชีพจะไม่มีการเก็บค่านํ้าอย่างแน่นอน ส่วนจะเก็บจากอุตสาหกรรมขนาดไหน เก็บอย่างไร ตรงนี้จะต้องไปรับฟังความคิดเห็นและศึกษาให้รอบคอบที่สุด”

                 ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวในระหว่างงานการสัมมนาเรื่อง “เหลียวหน้า....แลหลังแนวทางการบริหารจัดการน้ำของชาติ 20 ปี ภายใต้การแจ้งเกิดพ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ.2561” เมื่อวันที่ 29 มกราคม ที่ผ่านมา โดยระบุว่าทิศทางการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำหลังจากนี้จะมุ่งเน้นในการแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำให้มีความเป็นเอกภาพ ตลอดจนบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้สามารถบริหารทรัพยากรน้ำให้มีความประสานสอดคล้องกันในทุกมิติอย่างสมดุลและยั่งยืนใน 8 เรื่อง ประกอบด้วย การจัดสรร การใช้ การพัฒนา การบริหารจัดการ การบำรุงรักษา การฟื้นฟู การอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ และสิทธิในน้ำ รวมถึงการจัดทำนโยบายและแผนบริหารทรัพยากรน้ำให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติทั้งใน 3 ระดับ คือ ระดับชาติ ระดับลุ่มน้ำและระดับองค์กรผู้ใช้น้ำ

"เหลียวหน้า แลหลัง" แนวทางจัดการน้ำของประเทศ

                 ดร.สมเกียรติ กล่าวถึงบทบาทของสทนช.ภายใต้บังคับพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำจากนี้ไปจะทำหน้าที่เป็นเสนาธิการน้ำและเป็นสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน โดยให้อำนาจและหน้าที่สำคัญในการจัดทำผังน้ำเชื่อมโยงการดำเนินงานกับคณะกรรมการลุ่มน้ำ หน่วยงานของรัฐ  อปท. และภาคส่วนต่างๆ ให้เป็นไปตามพ.ร.บ.น้ำ อำนวยการและกำกับดูแลโครงการสำคัญระดับชาติหรือโครงการเร่งด่วน ตลอดจนบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่ออำนวยการแก้ไขปัญหาภาวะวิกฤติน้ำที่นายกรัฐมนตรีบัญชาการจัดตั้งศูนย์บัญชาการเฉพาะกิจ ในขณะที่สทนช.ภาคนั้น มีบทบาททำหน้าที่เป็นสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการลุ่มน้ำและดำเนินการให้มีการจัดตั้งองค์กรผู้ใช้น้ำ 

               สำหรับประโยชน์จากการบริหารทรัพยากรน้ำภายใต้บังคับพ.ร.บทรัพยากรน้ำ เลขาธิการ สทนช. ย้ำว่าจะทำให้นโยบายการบริหารทรัพยากรน้ำอย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะในระดับลุ่มน้ำจะมีแผนแม่บทการใช้ การพัฒนา การบริหารจัดการ การบำรุงรักษา การฟื้นฟู และการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำในเขตลุ่มน้ำ ซึ่งจะเป็นแผนที่ที่กำหนดทางเดินให้ไปถึงจุดหมายที่ทำให้มีความมั่นคงและยั่งยืนด้านน้ำ มีการบริหารจัดการน้ำครอบคลุมทุกบริบทของน้ำ ทั้งน้ำในบรรยากาศ น้ำบนดิน น้ำใต้ดิน และน้ำทะเล โดยองค์กรระดับชาติ ระดับลุ่มน้ำ และองค์กรผู้ใช้น้ำ ในขณะที่ประชาชนเองก็จะมีสิทธิใช้น้ำตามสิทธิขั้นพื้นฐานและมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำด้วย 

               นอกจากนี้ สทนช.จะเร่งขับเคลื่อนแผนแม่บทบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี ให้สอดคล้องกับพื้นที่เป้าหมาย (Area Based) ทั่วประเทศจำนวน 66 พื้นที่ แบ่งเป็นพื้นที่ประสบปัญหาด้านน้ำ 53 พื้นที่ รวม 34.62 ล้านไร่ น้ำท่วม 11.24 ล้านไร่ น้ำแล้ง 6.87 ล้านไร่ ประสบปัญหาทั้งน้ำท่วมและน้ำแล้ง 16.51 ล้านไร่ ปัญหาน้ำเค็มรุกล้ำ 0.001 ล้านไร่ และพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจ 13 พื้นที่ 10.81 ล้านไร่ ทั้งนี้ในเบื้องต้นแผนงานโครงการที่มีศักยภาพดำเนินการได้ตั้งแต่ปี 2563 แบ่งเป็น ปี 2563 จำนวน 46 โครงการ วงเงิน 34,166 ล้านบาท ปี 2564 จำนวน 52 แห่ง วงเงิน 189,755 ล้านบาท ดำเนินการปี 2565 จำนวน 7 แห่ง วงเงิน 76,738 ล้านบาท รวมทั้งศึกษา SEA ใน 5 ลุ่มน้ำสำคัญ ได้แก่ สะแกกรัง ปราจีนบุรี-บางปะกง ภาคใต้ฝั่งตะวันออก ชี มูล เป็นต้น

               ผศ.อิทธิพร ศรีเสาวลักษณ์ ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย สทนช.กล่าวเสริมว่า ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และมีส่วนร่วมในการร่างกฎหมายฉบับนี้ โดยยอมรับว่าก่อนจะมีพ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ.2561 ซึ่งเป็นกฎหมายน้ำฉบับแรกของประเทศนั้น ประเทศไทยมีกฎหมายใช้บังคับอยู่ในระดับหนึ่ง อาทิ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  กฎหมายระดับพ.ร.บ. เช่น พ.ร.บ.การชลประทานหลวง และพ.ร.บ.อื่นๆ อีกประมาณ 36 ฉบับ และอนุบัญญัติอีกประมาณ 2,418 ฉบับ รวมถึงระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารทรัพยากรน้ำแห่งชาติฉบับแรก พ.ศ.2531 

                  “ในหลาย ๆ รัฐบาลพยายามร่างพ.ร.บ.น้ำ แต่ไม่เคยประสบความสำเร็จ ไปได้ครึ่งๆ กลางๆ สุดท้ายมีอันเป็นไปทุกทีและมาเสร็จในรัฐบาลนี้และสภาชุดนี้ ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ต่างจากระะเบียบสำนักนายกฯ ต่างจากคำสั่งที่ออกมา เพราะถ้าเป็นกฎหมายจะแก้ยาก แต่ถ้าเป็นระเบียบสำนักนายกฯ สามารถยกเลิกได้ทันที”

                  ผศ.อิทธิพร ระบุอีกว่า การมีกฎหมายฉบับนี้ขึ้นมาอย่างน้อยก็ทำให้การบิรหารจัดการน้ำได้อย่างเป็นระบบ เพราะในกฎหมายแบบนี้ระบุชัดว่าจะเป็นการบริหารจัดการน้ำในรูปของคณะกรรมการ เป็นองค์รวมไม่บริหารแยกส่วน มีตั้งแแต่คณะกรรการระดับชาติ คือ คณะกรรมการน้ำแห่งชาติ (กนช.) ที่ีมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน โดยมีสทนช.ทำหน้าที่เลขาฯ รับคำสั่งจากกนช.ไปดำเนินการบูรณาการหน่วยงานต่างๆ ส่วนระดับล่างจะมีคณะกรรการระดับลุ่มน้ำ โดยมี สทนช.ภาคทำหน้าที่เลขานุการและระดับล่างสุดเป็นองค์กรผู้ใช้น้ำ ต่อไปก็จะทำให้การบริหารจัดการน้ำเป็นระบบมากขึ้น จะไม่มีลักษณะต่างคนต่างทำ ซึ่งจะทำให้ปัญหาระหว่างต้นน้ำและปลายน้ำไม่เกิดขึ้น

                     “กฎหมายฉบับนี้ได้แบ่งผู้ใช้น้ำออกเป็น 3 ประเภท คือการใช้น้ำเพื่อยังชีพ การใช้น้ำเพื่อธุรกิจอุตสาหกรรมและการใช้น้ำเพื่ออุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เช่น ใช้น้ำในนิคมอุตสาหกรรม ทั้ง 3 ประเภทจะต้องออกเป็นกฎกระทรวง ส่วนใครบ้างจะอยู่ประเภทที่หนึ่ง สองหรือสาม ก็จะต้องไปรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่ก่อน โดยกฎหมายจึงให้เวลาไว้ 2 ปีก่อนจะออกเป็นกฎกระทรวง” 

                 ที่ปรึกษากฎหมาย สทนช. ย้ำด้วยว่าถึงแม้จะแบ่งประเภทการใช้น้ำอย่างชัดเจนแต่ยังมีผู้ใช้น้ำอีกส่วนหนึ่งยังไม่จ่ายค่าน้ำ  โดยเฉพาะผู้ที่อยู่นอกเขตพื้นที่ชลประทานและผู้ที่ไม่ใช้น้ำบาดาล ซึ่งหลังจากมีการออกกฎกระทรวงแบ่งประเภทผู้ใช้น้ำชัดเจนแล้ว คนกลุม่นี้ก็จะต้องจ่ายค่าน้ำด้วย  

"เหลียวหน้า แลหลัง" แนวทางจัดการน้ำของประเทศ

                 “ที่จริงการเก็บค่าน้ำไม่ใช่เจตนาของกฎหมายฉบับนี้โดยตรง แต่เป็นการเตือนผู้ใช้น้ำว่าน้ำเป็นทรัพยากรธรรมชาติจะต้องใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ไม่ฟุ่มเฟือยสุรุ่ยสุร่าย เราจะต้องใช้อย่างระมัดระวัง เตือนให้ผู้ใช้น้ำว่าให้ใช้น้ำอย่างมีคุณค่า เพราะฉะนั้นเจตนาจริงๆ ไม่ใช่ไปเอาเป็นรายได้จากการเก็บค่าน้ำ ผมอยู่ในคณะกรรมการร่างกฎหมายน้ำ 4 ฉบับพอเจอประเด็นเก็บค่าน้ำแกว่งเลย ในที่สุดก็ล้มเลิกไป เพราะเขากลัว โดยคนที่มาท้วงติงส่วนใหญ่จะมองไปที่เกษตรกร  กลัวว่าจะมีปัญหาถ้ามีการเก็บค่าน้ำ ดังนั้นในกฎหมายฉบับนี้ผู้ใช้น้ำในภาคเกษตรกรรมจะไม่มีผลกระทบจากการใช้น้ำแต่อย่างใด" ผศ.อิทธิพร กล่าวย้ำทิ้งท้าย

"เหลียวหน้า แลหลัง" แนวทางจัดการน้ำของประเทศ

"เหลียวหน้า แลหลัง" แนวทางจัดการน้ำของประเทศ

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ