ข่าว

 "ทุเรียนต้นคู่"นวัตกรรมจากภูมิปัญญา

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

 "ทุเรียนต้นคู่"นวัตกรรมจากภูมิปัญญา ช่วยชาวสวนแก้ปัญหา"รากเน่าโคนเน่า"          

 

การปลูกทุเรียนแบบต้นคู่ของเกษตรกรในพื้นที่ จ.จันทบุรี นั้น ถือเป็นภูมิปัญญาที่เกิดจากแนวคิดเพื่อแก้ปัญหาพื้นที่ที่ปลูกทุเรียนมีลมแรง ประสบกับภาวะน้ำท่วมขังอันเป็นที่มาของโรครากเน่าโคนเน่าในทุเรียน ที่สำคัญในการปลูกรูปแบบนี้เป็นการเพิ่มผลตอบแทนต่อพื้นที่ ซึ่งจะมีปริมาณผลผลิตทุเรียนเพิ่มขึ้นมากกว่าถึงร้อยละ 30 ในขณะที่ต้นทุนการผลิตใกล้เคียงกับการปลูกแบบต้นเดี่ยว

จึงทำให้สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตร(สสก.)ที่ 3 จ.ระยอง กรมส่งเสริมการเกษตร ได้นำวิธีการดังกล่าวนี้ไปส่งเสริมและสนับสนุนให้แก่เกษตรกรชาวสวนทุเรียนในพื้นที่ภาคตะวันออก  

 

 "ทุเรียนต้นคู่"นวัตกรรมจากภูมิปัญญา

 

ชาตรี บุญนาค ผอ.สสก.ที่ 3 จ.ระยอง เผยกับ “คม ชัด ลึก” ว่าการปลูกทุเรียนต้นคู่แบบยกโคกเดียว เป็นวิธีการหนึ่งที่ได้ผ่านการทดลองในพื้นที่ศึกษาของกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มาแล้ว ซึ่งต่อมาเกษตรกรได้นำมาดำเนินการในพื้นที่ของตนเองและขยายพื้นที่ปริมาณมากขึ้นในปัจจุบัน โดยมีนักวิชาการส่งเสริมการเกษตรจากสำนักงานเกษตรอำเภอ และสำนักงานเกษตรจังหวัด เข้าไปช่วยกำกับดูแล และเก็บข้อมูลเชิงประจักษ์เพิ่มเติม เป็นการศึกษาวิจัยเพื่อการต่อยอดในรูปแบบเน้นการมีส่วนร่วมของเกษตรกร 

“ข้อดีในการปลูกแบบต้นคู่ ประการแรกก็คือจะช่วยให้การยึดและประสานระหว่างกันของรากมีความมั่นคงมากยิ่งขึ้น ทำให้การโค่นล้มของทุเรียนที่จะเกิดจากแรงลม หรือภัยธรรมชาติน้อยลง ลดปัญหาความสูญเสียของผลผลิตทุเรียน ประการที่สอง เมื่อทุเรียนเจริญเติบโตขึ้นเป็นสองต้นคู่กันต่อหลุมที่มีการบริหารจัดการหลุมที่ดีแล้ว จะส่งผลให้ระบบรากสามารถหาอาหารได้ดีขึ้น จึงทำให้ผลผลิตทุเรียนมีปริมาณมากขึ้น อีกทั้งคุณภาพของผลผลิตเพิ่มมากขึ้นด้วย”

นอกจากนั้น แล้วยังสามารถการจัดการผลผลิตได้ดีกว่าและมีอาหารเลี้ยงผลได้สมบูรณ์กว่า ต้นทุเรียนไม่โทรม ทำให้สามารถฟื้นตัวหลังการเก็บเกี่ยวได้เร็วขึ้น ในส่วนของกิ่งก้านที่เบียดกันระหว่างสองต้นนั้น เกษตรกรจะต้องทำการลิดออกตั้งแต่ยังเล็ก และปล่อยให้กิ่งทุเรียนแผ่ออกด้านข้างของแต่ละต้น โดยหลักการปลูกจะใช้หลักทางสภาพอากาศตามธรรมชาติ คือจะปลูกให้คู่กันในแบบระยะชิดระหว่างต้นในแนวทิศเหนือกับทิศใต้ ซึ่งจะทำให้ต้นทุเรียนทั้ง 2 ต้น ได้รับแสงแดดตลอดทั้งวันตั้งแต่เช้าจนเย็นพร้อมกันทั้งสองต้น

“ขณะนี้มีเกษตรกรที่สนใจการปลูกทุเรียนต้นคู่ได้เข้ามาศึกษาดูงานกันอย่างต่อเนื่อง สำนักงานส่งเสริมพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง จึงได้จัดกิจกรรมอบรมให้ความรู้แก่นักส่งเสริมการเกษตรมืออาชีพ เพื่อเรียนรู้การบริหารจัดการพื้นที่ปลูกทุเรียนแบบ 2 ต้นคู่ ในพื้นที่ปลูกของเกษตรกร เช่น สวนทุเรียนของนายธีรภัทร อุ่นใจ เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติประจำปี 2561 สาขาอาชีพทำสวน หมู่ 8 ต.ตะเคียนทอง อ.เขาคิชฌกูฏ จ.จันทบุรี นอกจากนั้นแปลงเรียนรู้การปลูกทุเรียนต้นคู่นี้ยังมีเกษตรกรผู้สนใจจากจังหวัดต่างๆ เข้ามาศึกษาดูงาน ซึ่งทุกคนได้มีโอกาสในการเข้าถึงนวัฒกรรมใหม่ๆ ในการเพาะปลูก แล้วนำไปถอดองค์ความรู้เพื่อนำไปปฎิบัติใช้ในพื้นที่ของตนเองและขยายผลสู่เกษตรกรรายอื่นๆ ที่สนใจต่อไป” ผอ.สสก.ที่3 ระยองกล่าว

ปิยะ สมัครพงษ์ เกษตรจังหวัดจันทบุรี ระบุว่า แปลงปลูกทุเรียนต้นคู่ของนายธีรภัทร อุ่นใจ เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2561 สาขาอาชีพทำสวนนั้น เป็นแปลงเกษตรที่อยู่ในระบบการส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ตามนโยบายของกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งได้สนับสนุนการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่เกษตรกรแปลงใหญ่ มีการทำการผลิตแบบลดต้นทุนขณะที่ให้ผลผลิตดีมีคุณภาพ และตรงตามความต้องการของตลาด ตลอดถึงการสร้างสุขภาพของเกษตรกรอันเป็นผลมาจากการทำการผลิต

 

 "ทุเรียนต้นคู่"นวัตกรรมจากภูมิปัญญา

“เกษตรกรรายนี้ มีความเด่นในเรื่องของการใช้เทคโนโลยีเพื่อทำการเพาะปลูก มีการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้ สภาพของสวนมีความสะอาด ทุเรียนมีความสมบูรณ์ทุกต้น โรครากเน่าโคนเน่าในทุเรียนจะไม่มี มีการนำระบบชีวภาพในการเพาะปลูกมาประยุกต์ใช้ โดยเฉพาะการใช้เชื้อราไตรโคเดอร์ม่า ผสมผสานกับการใช้สารเคมี ทำการผลิตตามระบบจีเอพี มีการจัดทำบัญชีครัวเรือนและบัญชีต้นทุนในการผลิต มีการจัดการผลผลิตหลังจากเก็บเกี่ยว มีการดูแลเพื่อนเกษตรกรด้วยกัน พร้อมวางระบบการต่อรองกับพ่อค้าคนกลางโดยรวมกลุ่มเกษตรกรเข้าด้วยกันเป็นแปลงใหญ่เพื่อให้เกิดอำนาจต่อรองได้มากขึ้น และมีผลผลิตทุเรียนอยู่ในมือประมาณ 3-4 ตันต่อปี ส่งผลให้สามารถควบคุมกลไกทางการตลาดและราคาผลผลิตได้ ซึ่งส่วนต่างๆ เหล่านี้นับเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่ทำให้ได้รับการพิจารณาคัดเลือกเป็นเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2561 สาขาอาชีพทำสวน” เกษตรจังหวัดจันทบุรีกล่าว 

 เทคนิคการปลูกทุเรียนคู่ฉบับภูมิปัญญา 

    ธีรภัทร อุ่นใจ เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2561 สาขาอาชีพทำสวน ย้อนที่มาของการปลูกทุเรียนต้นคู่นั้นว่าเป็นภูมิปัญญาของคนสมัยก่อนที่ปลูกพืชยืนต้นประเภทให้ผล เป็นการปลูกเพื่อเตรียมพร้อมชดเชยสำหรับต้นที่อาจจะตายไป ซึ่งหากมี 1 ต้นตาย ก็จะมีอีกหนึ่งต้นขึ้นมาแทน สมัยก่อนการปลูกพืชไม่มีการจัดระเบียบปลูกแบบทั่วไป ว่างตรงไหนก็ปลูกตรงนั้น ซึ่งแตกต่างจากปัจจุบันที่มีการพัฒนาระบบการเพาะปลูกเพื่ออำนวยความสะดวกในด้านต่างๆ มากขึ้น ตั้งแต่ระเบียบแถว วิธีการบำรุงรักษา จึงทำให้พืชเจริญเติบโตเร็วและได้ผลผลิตมีคุณภาพ

“การปลูกทุเรียนต้นคู่ในปัจจุบันกำลังได้รับความนิยมจากเกษตรกรที่ปลูกทุเรียน เป็นการประยุกต์ใช้ระหว่างภูมิปัญญาดั้งเดิมกับวิทยาการสมัยใหม่ที่ผ่านการศึกษาทดลองจากส่วนงานที่เกี่ยวข้องมาแล้ว เรียกได้ว่าเป็นการปลูกทุเรียนในยุค 4.0 ก็ว่าได้ เพราะเป็นการประยุกต์ใช้ภูมิปัญญาดั้งเดิมมาผสมผสานกับเทคโนโลยีสมัยใหม่แบบลงตัว และประสบความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม มีวิธีการแต่งกิ่งให้โล่งตามหลักวิชาการเพื่อให้ต้นพืชได้รับแสงแดดมากที่สุด"

เกษตรดีเด่นแห่งชาติปี 61 เผยต่อว่า ในแต่ละวันสามารถป้องกันการเกิดโรครากเน่าโคนเน่าได้ หมดฤดูกาลเก็บเกี่ยวสามารถเข้าไปทำความสะอาดพื้นที่สวนได้สะดวกโดยไม่กระทบกับต้นและรากของทุเรียน ไม่ต้องใช้ยาฆ่าหญ้า ไม่ต้องใช้สารเคมี ใช้วิธีการทางธรรมชาติดูแลแปลงปลูก ให้หญ้าที่ตัดเป็นปุ๋ยพืชสดสำหรับต้นพืช ลดเรื่องการใช้ปุ๋ยทำให้ลดต้นทุนการผลิตได้มาก 

สำหรับการปลูกทุเรียนแบบต้นคู่ของเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดจันทบุรีนั้น จะเริ่มด้วยการเตรียมดินหรือหลุมปลูกด้วยการยกโคกหลุมปลูกให้สูงจากพื้นดินปกติ ประมาณ 120 เซนติเมตร ความกว้างของโคกปลูกประมาณ 8x8 เมตร เพื่อลดปัญหาและป้องกันโรครากเน่าโคนเน่าและเอื้อต่อการจัดการในช่วงทุเรียนออกดอกติดผลและดูแลรักษา ใช้ระยะปลูก 12×12 เมตร ใน 1 หลุม ปลูก 2 ต้น แต่ละต้นห่างกัน 1 เมตร พื้นที่ 1 ไร่ ใช้ต้นพันธุ์ทุเรียนประมาณ 30-32 ต้น วางแนวปลูกตามแนวทิศตะวันออกและตะวันตก (ตามตะวัน) โดยระยะชิดอยู่ระหว่างทิศเหนือกับทิศใต้ ผลตอบแทนและรายได้มีต้นทุนเฉลี่ย 7-8 บาทต่อกิโลกรัม หรือ 19,000-20,000 บาทต่อไร่ ไม่รวมค่ายกโคก และค่ากิ่งพันธุ์ให้ผลผลิตเฉลี่ย 2,400-2,500 กิโลกรัมต่อไร่ มีรายได้ประมาณ 1-2 แสนบาทต่อไร่ (ราคาขายโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 45-50 บาทต่อกิโลกรัม)

     

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ