ข่าว

กรมชลฯขยายผล"บางระกำโมเดล"แก้ปัญหาลุ่มน้ำชี 

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

กรมชลฯขยายผล"บางระกำโมเดล"แก้ปัญหาลุ่มน้ำชี  รุกวางแผนบริหารน้ำสั่งเขื่อนลำปาวลดการระบาย

 
                ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ รองอธิบดีรักษาราชการแทนอธิบดีกรมชลประทานเปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำชีว่า ขณะนี้แหล่งกักเก็บน้ำในลุ่มน้ำชีทั้งขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก มีปริมาณน้ำค่อนข้างมาก เนื่องจากตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2560 เป็นต้นมาได้มีพายุดีเปรสชั่นตาลัส  เซินกาและพายุทกซูรี พัดผ่านทำให้ฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกรมชลประทานร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)  ได้วางแผนบริหารจัดการน้ำโดยกักเก็บน้ำไว้ในเขื่อนให้ได้มากที่สุด และชะลอการระบายเพื่อลดผลกระทบจากภาวะน้ำท่วม อย่างไรก็ตามในบ้างพื้นที่ยังคงมีน้ำท่วมอยู่บ้าง แต่คาดว่าจะเข้าสู่ภายภาวะปกติก่อนสิ้นเดือนตุลาคม 2560 นี้อย่างแน่นอน

กรมชลฯขยายผล"บางระกำโมเดล"แก้ปัญหาลุ่มน้ำชี 
               สำหรับปริมาณน้ำล่าสุดของเขื่อนขนาดใหญ่ที่อยู่ในลุ่มน้ำชีทั้ง 3 แห่ง คือ เขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น มีปริมาณน้ำ 1,992 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ยังสามารถรับน้ำได้อีก 439 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนลำปาว จังหวัดกาฬสินธุ์ มีปริมาณน้ำในอ่าง 1,689 ล้าน ลบ.ม. ยังสามารถรับน้ำได้อีก 291 ล้าน ลบ.ม. และเขื่อนจุฬาภรณ์ มีปริมาณน้ำในอ่าง 136 ล้าน ลบ.ม. ยังสามารถรับน้ำได้อีก 27 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งกรมชลประทานและ กฟผ.จะบริหารจัดการน้ำทั้งการระบายและการกักเก็บน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยจะคำนึงถึงปริมาณน้ำต้นทุนสำหรับใช่ในกิจกรรมต่าง ๆ ในช่วงฤดูแล้งปี 2561 ด้วย
               “โดยเฉพาะที่เขื่อนลำปาว กรมชลประทานจะเก็บน้ำไว้ในเขื่อนมากขึ้น เพื่อให้มีปริมาณน้ำต้นทุนไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งปีหน้าอย่างพอเพียง และยังเป็นการช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วมทางตอนล่างของลุ่มน้ำชี ในพื้นที่ อำเภอจังหาร อำเภอทุ่งเขาหลวง จังหวัดร้อยเอ็ด และอำเภอมหาชนะชัย จังหวัดยโสธร ซึ่งเป็นที่ลุ่มน้ำระบายน้ำได้ช้า โดยขณะนี้ได้สั่งการให้ลดการระบายน้ำเขื้อนลำปาวลงให้น้อยที่สุด” ดร.สมเกียรติกล่าว

กรมชลฯขยายผล"บางระกำโมเดล"แก้ปัญหาลุ่มน้ำชี 
               นอกจากนี้ยังได้ให้เร่งระดมส่งเครื่องสูบน้ำช่วยที่พื้นที่ชุมชนเมืองขอนแก่น กาฬสินธ์ มหาสารคาม ชัยภูมิ และร้อยเอ็ด พร้อมจัดทำแผนที่ทางน้ำสาธารณะ เพื่อเตรียมปรับการบริหารจัดการน้ำหลากในครั้งต่อไป อย่างไรก็ตามในการเร่งระบายน้ำนั้น ให้คำนึงถึงการวางแผนการปลูกพืชในฤดูแล้งช่วงปลายปีนี้ด้วย  โดยจะต้องจัดสรรน้ำให้กับพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบของน้ำท่วมเป็นอันดับแรก
                   รักษาราชการแทนอธิบดีกรมชลประทานกล่าวต่อว่า สภาพของพื้นที่ของลุ่มน้ำชีที่มีความชันสูงในตอนบน และเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำในตอนกลางและตอนล่างทำให้การระบายน้ำได้ช้า ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมเป็นประจำ กรมชลประทานจึงได้สั่งการให้โครงการชลประทานร้อยเอ็ดหาแนวทางแก้ไขอย่างเร่งด่วน  ทั้งในด้านการบริหารจัดการน้ำ ด้วยการพัฒนาแก้มลิงและปรับเปลี่ยนช่วงเวลาของการปลูกพืชเหมือนพื้นที่ลุ่มต่ำบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก 

กรมชลฯขยายผล"บางระกำโมเดล"แก้ปัญหาลุ่มน้ำชี 
                    นอกจากนี้ก็จะมีการปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพพนังกั้นน้ำฝั่งขวาของแม่น้ำชี ความยาว 60 กิโลเมตรและปรับปรุงประตูระบายน้ำ สถานีสูบน้ำเดิมให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น โดยใช้งบประมาณรวม 990 ล้านบาท อย่างไรก็ตามจะต้องเปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนก่อน เพื่อที่จะบูรณาการร่วมกันแก้ปัญหา ซึ่งอาจจะต้องใช้รูปแบบของการบริหารจัดการเป็นระบบเหมือนลุ่มน้ำเจ้าพระยา 
                ทั้งนี้ลุ่มน้ำชี มีพื้นที่ลุ่มน้ำรวม 49,477 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 13 จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอ่างเก็บน้ำน้ำขนาดใหญ่ 3 แห่ง คือ เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนลำปาว และเขื่อนจุฬาภรณ์ อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 68 แห่ง นอกจากนั้นยังมีเขื่อนระบายน้ำ โครงการขนาดเล็ก แก้มลิงรวมทั้งหมดรวม 2,284 แห่ง สามารถเก็บน้ำได้ 5,419 ล้านลูกบาศก์เมตร
                                    -------------------------------------------------

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ