Lifestyle

ชมัยภร บางคมบาง 'สตรีดีเด่น' ด้านศิลปะและวัฒนธรรม ปี 2563

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ชมัยภร บางคมบาง 'สตรีดีเด่น' ด้านศิลปะและวัฒนธรรม ปี 2563 คอลัมน์...  ชานชาลานักเขียน  โดย... วรรณฤกษ์ 

 


          00 บอกกล่าวจั่วข่าวแรกไว้ก่อน งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 48 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 18 จะมีขึ้นช่วง วันที่ 25 มีนาคม-5 เมษายน 2563 (12 วันเท่าเดิม) ณ อิมแพ็ค เมืองทองธานี (ฮอลล์ 5-8) สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย เป็นเจ้าภาพหลักเช่นเคย หนอนหนังสือ เตรียมตัว-เตรียมตังค์ ไว้ได้เลยครับ...

 

 

          00 คารวะยินดีแก่ ชมัยภร บางคมบาง (ชมัยภร แสงกระจ่าง, ไพลิน รุ้งรัตน์, บุณฑริกา ฯลฯ) ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ และ อดีตนายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย 2 สมัย ในโอกาสได้รับคัดเลือกเป็น ‘สตรีดีเด่น’ ด้านศิลปะและวัฒนธรรม ประกาศเกียรติคุณเนื่องใน ‘วันสตรีสากล’ (8 มีนาคม) ประจำปี 2563 ที่มี กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นเจ้าภาพดำเนินงาน ชมัยภร แสงกระจ่าง นอกจากเขียนหนังสือต่อเนื่องยาวนาน กว่า 4 ทศวรรษ มีผลงานคุณภาพ 90 เล่ม ยังมุ่งหน้า อุทิศตนทำงานเพื่อสังคมไม่รู้จักเหน็ดเนื่อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน วงการวรรณกรรม ท่านได้ สร้างแรงบันดาลใจให้นักอ่าน-นักเขียน มานับไม่ถ้วน! ปัจจุบัน “ชมัยภร” ยังคงเป็น ‘หญิงแกร่ง’ แม้อายุ ย่าง 70 ปี จึงควรยกย่องแสดงความยินดีและค้อมคารวะอย่างสนิทใจ...


          00 ยินดีปรีดากับ ปรีดา ข้าวบ่อ ในโอกาสที่ จังหวัดสกลนคร และ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ประกาศเกียรติคุณเชิดชูเกียรติ มอบรางวัล “ศิลปินภูพาน” ประจำปี 2562 สาขาวรรณศิลป์ พิธีมอบรางวัลมีขึ้นในงาน มูนมังอีสาน ครั้งที่ 11 เมื่อ 31 มกราคม ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร รางวัลนี้ถือว่า เหมาะสมที่สุด สำหรับ ปรีดา ข้าวบ่อ ในฐานะนักคิดนักเขียน บก.สำนักพิมพ์ (เครือชนนิยม) ผู้จัดพิมพ์ วรรณกรรมดีๆ สู่ผู้อ่านต่อเนื่องหลายทศวรรษ ที่สำคัญ ปรีดา ข้าวบ่อ ยังเป็นผู้ก่อตั้งและฟันฝ่าผลิตนิตยสาร ‘ทางอีศาน’ ภายใต้คำขวัญ “ลึกซึ้งรากเหง้า เข้าใจปัจจุบัน รู้ทันอนาคต” มาจนถึงวันนี้ด้วยความมุ่งมั่น ชัดเจน ครับ...


          00 ยังอยู่ที่อีสาน..กิจกรรมต่อยอด ‘ค่ายศิลปะ กวี-สารคดี เพลง และหนังสั้น’ จะเริ่มขึ้นอีกแล้ว 14-15 กุมภาพันธ์นี้ เป็นโครงการต่อเนื่องในชื่อ โครงการส่งเสริมต่อยอดค่ายระยะที่ 2 แน่นอนว่า สโมสรวรรณศิลป์สุรินทร์ โดย ไชยา วรรณศรี ประธานสโมสร กับ องค์การบริหารส่วนตำบลสลักได โดย มานพ แสงดำ นายก อบต.สลักได จับมือเหนียวแน่นเหมือนเดิม ครั้งนี้จัดที่ ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงบ้านเสม็ดน้อย ต.สลักได อ.เมืองสุรินทร์ พอเช้าอีกวันก็ยกขบวนไปต่อกันที่ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์...




          00 โครงการส่งเสริมต่อยอดค่ายครั้งนี้ จัดต่อเนื่องบรรจบกับ พิธีมอบรางวัลเปลื้อง วรรณศรี ครั้งที่ 5 ดังนั้นคณะวิทยากรทั้งเวทีย่อย-เวทีใหญ่ จึงคับคั่งไปด้วยนักเขียน-ศิลปิน วีระ สุดสังข์, เรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์, อังคาร จันทาทิพย์, พัทธ์ฒวรรตน์ จันทร์นาม, กฤษฎา สุนทร (กอนกูย), บุหลัน รันตี, สมชาย ตรุพิมาย, ไม้ พิสิฐพงศ์ กิ่งแก้ว, พิรุณ อุ่นศรี, ปลาย ปีกฝัน, ธำรงค์ ทาทอง, นนทพัทธ์ หิรัญเรือง และอีกมากมาย ณ ห้องเธียเตอร์ อาคาร 37 มรภ.สุรินทร์ มีเสวนาวรรณกรรม เปิดตัวหนังสือรางวัล 2 เล่ม “ยะลา, เรื่องรักโรแมนติก” กับ “ความทรงจำที่ถูกลืม” คาดว่าบรรยากาศคึกคักเข้มข้นสำหรับ เวทีวรรณกรรมต่างจังหวัด เพราะมีนักเขียน-กวีที่เดินทางไปรับรางวัลและผู้สนใจเข้าร่วมงานด้วย...


          00 พูดถึงรางวัลเปลื้องฯ หน้าของ ดร.อลงกต เพชรศรีสุก อาจารย์ประจำหลักสูตรศิลปกรรมศาสตร์บัณฑิต ลอยมาเลย แม้ดูเงียบๆ พูดน้อย แต่ช่วยงาน ‘ประธานไชยา’ ทุกอย่าง สิ่งไหนช่วยได้ไม่เคยเกี่ยง เรียกว่า ‘ผู้อยู่เบื้องหลังคนสำคัญ’ ของงานอีกคนหนึ่งเลยทีเดียว ช่วยมาตั้งแต่ก่อตั้งรางวัลเปลื้องฯ สมัยนั่งตำแหน่ง รองคณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ โน่นแหละ ปีนี้ก็เช่นกัน..นอกจาก ประสานเรื่องห้องจัดงาน ขอแรงนักศึกษา, ไหว้วานเพื่อนอาจารย์มาช่วยงานวันมอบรางวัล ตลอดจนดูแลเรื่องน้ำชา-กาแฟแล้ว “อ.อลงกต” ยังได้ จัดทำโล่ เกียรติบัตร รวมทั้ง ป้ายคัทเอาท์ ติดตั้งหน้างาน และ แบ็กดรอป บนเวทีเสร็จสรรพ! คารวะน้ำใจครับ...


          00 สมาคมนักแปลและล่ามแห่งประเทศไทย จัดประชันแปลวรรณกรรม รางวัลสิทธาพินิจภูวดล ครั้งที่ 1 ประชันฝีมือ แปลวรรณกรรมเรื่องสั้น จากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย ผู้มีสิทธิ์ส่งผลงานประชัน ต้องเป็นสมาชิกของสมาคมนักแปลฯ และ ไม่เคยมีผลงานแปลตีพิมพ์มาก่อน สำหรับ ‘ผู้ชนะ’ ได้เงินรางวัลพร้อมเกียรติบัตรระดับทุกรางวัล คลิกดูรายละเอียดได้ที่ https://forms.gle/1bSN9j4kLsoM9MoX6 เท่าที่ดูสะดุดตรงคุณสมบัติผู้มีสิทธิ์ประชัน เฉพาะสมาชิกสมาคมเท่านั้น และเป็น ผู้แปลมือใหม่ อีกต่างหาก ‘วงการแปล’ เฟื่องฟูอู้ฟู่จนถึงขนาดจำกัดวงเชียวหรือ (อิอิ) ในความเห็น “วรรณฤกษ์” ควรเปิดทั่วไป จะได้ ‘จุดประกาย’ หรือส่งเสริม-กระตุ้นบรรยากาศการแปลบ้านเราโดยรวม ก็ขอฝาก ม.ล.วีรอร วรวุฒิ นายกสมาคมนักแปลฯ ด้วยความเคารพ ปีหน้าฟ้าใหม่ถ้าจัดอีก ‘เปิดกว้าง’ เถอะครับ...


          00 มาแล้ว “คนเหนือน้ำ” นวนิยายความยาวกว่า 400 หน้า ของนักเขียนรุ่นใหญ่ เฉลิมศักดิ์ แหงมงาม เคยลงตีพิมพ์เป็นตอนๆ ใน ‘สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์’ แต่ค้างกลางเรื่อง เนื่องจากนิตยสารการเมืองรายสัปดาห์เก่าแก่ฉบับนี้ ปิดตัวลง! เมื่อนำมารวมเล่มด้วยการผลักดันของ อุดร ตันติสุนทร อดีต ส.ส.ตากหลายสมัย/อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย “เฉลิมศักดิ์” นายอำเภอนักเขียนจึงลุยต่อจนจบสมบูรณ์ “คนเหนือน้ำ” เรื่องราว วิถีชีวิตผู้คนเหนือเขื่อนของพ่อ (ภูมิพล) บนเส้นทางแห่งความพอเพียง เพราะ เฉลิมศักดิ์ แหงมงาม เป็นคนจังหวัดตาก เกิดและโตที่นั่น ซ้ำก่อนเกษียณอายุราชการในตำแหน่ง ‘นายอำเภอ’ ก็ได้กลับไปดูแลทุกข์สุขพี่น้อง อำเภอสามเงา เขาจึงเขียนนวนิยายเรื่องนี้อย่างคนรู้จริง...


          00 ส่วนรายนี้ กรวัลลิ์ ซุ่มเขียนนวนิยายเล่มล่า “เพรงเยาว์” ขนาดเหมาะมือ 300 หน้ากว่าๆ น่าสนใจมากครับ ‘นวนิยายเชิงจิตวิทยา’ เขียนขึ้นจากเค้าโครงชีวิตจริงของ สองพ่อลูกผู้มีหัวใจเปี่ยมรัก พ่อ-ลูกที่มีช่องว่างระหว่างวัย ระหว่างเพศ และ ‘ถูกหล่อหลอม’ มาแบบไหนต้องหามาอ่าน! ที่สำคัญ กฤษณา อโศกสิน ศิลปินแห่งชาติ นักเขียนนวนิยายชั้นนำของเมืองไทย ถึงกับ เขียนคำนิยมให้ ดังตอนหนึ่ง “ข้าพเจ้าพลอยแลเห็นภาพนิ่งอันสามารถสะกดหัวใจได้จริงจัง ‘กรวัลลิ์’ ราวกับไปนั่งเคียง ณ ที่นั้น...” ท่านบรรยายจากบางฉากใน “เพรงเยาว์” ที่ยกมาเป็นตัวอย่าง ด้านตัวตนของ กรวัลลิ์ มิใช่นักเขียนมือใหม่ เธอฝากผลงานมาแล้วหลายเล่มทั้ง งานเขียน-งานแปล ในนามปากกาอื่น อ้อ..นวนิยายเรื่องนี้ได้เพื่อนนักเขียน กฤติศิลป์ ศักดิ์ศิริ ทำหน้าที่ บก.ครับ...


          พบกันใหม่สัปดาห์หน้า สวัสดี

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ