Lifestyle

ประพันธ์สาส์น ชวนนักเขียนหญิงประกวด รางวัลชมนาด ครั้งที่ 9

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ประพันธ์สาส์น ชวนนักเขียนหญิงประกวด รางวัลชมนาด ครั้งที่ 9 คอลัมน์...  ชานชาลานักเขียน  โดย... วรรณฤกษ์

 

 

 


          00 บรรยากาศงาน มอบรางวัลนราธิปพงศ์ประพันธ์ ประจำปี 2562 แก่บรรดา นักเขียนอาวุโส โดย สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ณ ห้องประชุมใหญ่หอสมุดแห่งชาติ เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา อบอุ่นไปด้วยมิตรภาพ ระหว่าง นักเขียนผู้มาก่อนกับนักเขียนรุ่นหลัง ระหว่างรุ่นพี่รุ่นน้อง-รุ่นลูก! ความห่าง ‘ช่องว่างระหว่างวัย’ งานอย่างนี้ทำให้ ‘เชื่อมร้อย’ ได้อีกทางหนึ่ง นักเขียนรุ่นใหม่หลายคน-นักเขียนรุ่นกลางบางคน เคยอ่านผลงาน แต่ไม่เคยเจอหน้าค่าตา ก็ได้มารู้จัก พบตัวจริง-เสียงจริงในงานนี้ จึงรู้สึกตื่นเต้น...

 

 

          00 สำหรับรายชื่อ นักเขียนรางวัลนราธิปฯ จำนวน 15 คน ขออนุญาตประกาศเป็นเกียรติอีกครั้ง ดังนี้ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต), ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล, ขรรค์ชัย บุนปาน, ช่วง มูลพินิจ, ศ.พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, ธนิต ธรรมสุคติ, ธาดา เกิดมงคล, ศ.พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร, ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์, นิวัฒน์ ธาราพรรค์ (ราช เลอสรวง), ไมตรี ลิมปิชาติ, พลาดิศัย สิทธิธัญกิจ, ศ.เกียรติคุณ ดร.คุณหญิงสุริยา รัตนกุล, สุรีย์ พันเจริญ และ สำเริง คำพะอุ...


          00 ยังคงยืนหยัดจัดประกวดต่อไป กลุ่มเป้าหมายก็จำเพาะเจาะจงที่ ‘ผู้หญิง’ เช่นเดิม นั่นคือเวที ประกวดงานเขียนรางวัลชมนาด หรือ Chommanard Book Prize โดย อาทร เตชะธาดา บิ๊กบอส บริษัทสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น จำกัด จับมือร่วมหัวจมท้ายกับ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เหนียวแน่นมาตั้งแต่ต้น ครั้งนี้นับเป็น ปีที่ 9 ซึ่งประกวดต้นฉบับงานวรรณกรรม ประเภทนวนิยาย (Fiction) ไม่จำกัดแนว เปิดรับผลงานมาระยะหนึ่งแล้ว และสามารถส่งประกวดได้ จนถึง 29 กุมภาพันธ์ 2563 เหลือเวลาอีกเดือนกว่าๆ ครับ...

 

 

          00 ในส่วนของ กฎกติกามารยาท หลักใหญ่ใจความ คือต้องเป็นงานเขียนภาษาไทย ที่แต่งขึ้นใหม่ ความยาว 100-120 หน้ากระดาษ A4 ไม่เคยจัดพิมพ์เป็นเล่ม ไม่ลอกเลียนดัดแปลงจากงานสร้างสรรค์ของผู้ใด ไม่เคยส่งประกวดหรือเผยแพร่ในรูปแบบสื่อใดๆ มาก่อน รวมถึงสื่อออนไลน์ (หากตรวจพบภายหลังจะถูกตัดสิทธิ์รางวัล ทั้งมีผลถึงการส่งเข้าประกวดครั้งต่อไปด้วย) ส่งประกวดได้คนละ 1 เรื่อง ผลงานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศรวมถึงผลงานอื่นๆ ที่เข้ารอบพิจารณาตัดสิน สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น สงวนสิทธิ์ในการ จัดพิมพ์และเผยแพร่เป็นแห่งแรกทั้งภาษาไทย และ แปล/พิมพ์เป็นภาษาอังกฤษ (เฉพาะเรื่องที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ) โดยจะอยู่ในสัญญาลิขสิทธิ์เป็นระยะเวลา 5 ปี...




          00 กรณีผลงานที่ส่งเข้าประกวด ไม่ผ่านมาตรฐานการตัดสินของคณะกรรมการ การตัดสินนั้นถือเป็นเด็ดขาด! แต่อย่างน้อยจะมีรางวัลรองชนะเลิศ จากผลงาน 5-9 เรื่องสุดท้าย ที่ผ่านการคัดเลือกเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของคณะกรรมการตัดสิน ทั้งนี้ทาง ‘ประพันธ์สาส์น’ สงวนสิทธิ์การจัดพิมพ์ ผลงานที่ส่งเข้าประกวดทุกเรื่องก่อนสำนักพิมพ์อื่น โดยยินดี จ่ายค่าลิขสิทธิ์ ตามสัญญาลิขสิทธิ์อันเป็นมาตรฐาน สำหรับผู้ที่ได้รับ รางวัลชนะเลิศ ทางโครงการประกวด ขอสงวนสิทธิ์ ในการส่งผลงานเข้าประกวดเป็นเวลา 3 ปี หลังจากนั้นจึงมีโอกาสส่งผลงานเข้าร่วมประกวดอีกครั้ง...


          00 รางวัลที่ได้รับ รางวัลชนะเลิศ : เงินสด 100,000 บาท พร้อมโล่รางวัลชมนาด และ ค่าลิขสิทธิ์ จากการ จัดพิมพ์เป็นเล่มทั้งภาษาไทยและอังกฤษ ตามมาตรฐานค่าตอบแทนลิขสิทธิ์ของแต่ละประเทศ รองชนะเลิศอันดับหนึ่ง : เงินสด 50,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร และ ค่าลิขสิทธิ์ จากการจัดพิมพ์เป็นเล่ม (ภาษาไทยภาษาเดียว) รองชนะเลิศอันดับสอง : เงินสด 30,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร และ ค่าลิขสิทธิ์ จากการจัดพิมพ์เป็นเล่ม (ภาษาไทยภาษาเดียว) เช่นกัน...


          00 เชิญนะครับ นักเขียนอาชีพ นักเขียนหน้าใหม่ ตลอดจน ผู้สนใจทั่วไป ที่เป็น ‘ผู้หญิง’ เขาเปิดโอกาสให้โดยเฉพาะ เชิญแสดงความสามารถในเชิงการเขียนกันให้เต็มที่ โครงการ Chommanard Book Prize นี้ถือว่าส่งเสริมเผยแพร่และผลักดัน ผลงานเขียนของสตรีไทย ให้ประจักษ์แก่สากล ยกระดับวรรณกรรมไทยให้ทัดเทียมนานาอารยประเทศ ทั้งสนับสนุน-ปลูกฝังให้คนไทยรักการอ่านและมีความริเริ่มที่จะเขียน สร้างสรรค์ผลงานให้มีความประณีตมากพอที่จะ แปลและจัดพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษ เพื่อเผยแพร่สู่สายตาผู้อ่านทั่วโลก ย้ำ! หมดเขต 29 กุมภาพันธ์ ประกาศผลการตัดสินช่วง สิงหาคม-กันยายน 2563...


          00 จัดกิจกรรม ด้านวรรณกรรม อย่างต่อเนื่อง สาขาวิชาภาษาไทย (ทั้งหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต และหลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต) มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ล่าสุด วันเสาร์-อาทิตย์นี้ (25-26 ม.ค.) กับโครงการใหม่ “วรรณศิลป์พิจารณ์ ครั้งที่ 1” จัดขึ้นภายในมหาวิทยาลัย มี นักศึกษาสาขาวิชาภาษาไทย มรภ.บุรีรัมย์ เป็นกลุ่มเป้าหมาย ผู้จัดได้เชิญ นักเขียน-กวีระดับชาติ ไปเป็นวิทยากรเช่นเคย นำโดยสองศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ สถาพร ศรีสัจจัง, ชมมัยภร แสงกระจ่าง ร่วมด้วย สัจภูมิ ละออ ฯลฯ งานนี้ ผศ.ปาลิตา ผลประดับเพ็ชร์ หัวหน้าสาขาวิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตรและสังคมศาสตร์ อ.อุภาวัณณ์ นามหิรัญ อ.ณภัทร เชาว์นวม เป็นโต้โผเหมือนเดิม โดยมี ผศ.ดร.บุณย์เสนอ ตรีวิเศษ คอยให้คำปรึกษาใกล้ชิด...


          00 มีข่าวดีมาบอก ภาควิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ และ ศูนย์ภาษาไทยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.ปัตตานี) ร่วมกับ สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) กระทรวงวัฒนธรรม จัดโครงการ “เสริมพลังบุคลากรภาษาไทย...ในชายแดนใต้” ระหว่าง วันที่ 21-23 กุมภาพันธ์นี้ 3 วัน 2 คืน ณ โรงแรมไดมอนด์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา วิทยากรประกอบด้วยนักเขียน-นักวิชาการวรรณกรรม นำโดย รศ.ดร.ตรีศิลป์ บุญขจร นายกสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทยฯ, วีรพร นิติประภา นักเขียนรางวัลซีไรต์-นวนิยาย 2 สมัยซ้อน! และ ผศ.ดร.พิเชฐ แสงทอง กวี นักวิจารณ์วรรณกรรม อดีตกรรมการคัดเลือก-ตัดสินรางวัลซีไรต์ น่าสนใจมากครับ...


          00 โครงการนี้เปิดโอกาสให้ ‘ครูภาษาไทย’ ใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ สงขลา (จะนะ เทพา นาทวี สะบ้าย้อย) เข้าอบรมเรียนรู้หลากหลายจากคณะวิทยากร อาทิ อภิปรายเรื่อง “อ่าน เขียน เรียน สร้าง : จักรวาลของตัวหนังสือ” เล่าประสบการณ์/สาธิต “เรื่องของเรื่อง : การบิดเบือนความจริงอย่างสร้างสรรค์” ตลอดจน แบ่งกลุ่มย่อยปฏิบัติการ ทั้งหมดนี้ ฟรีทุกอย่าง! ไม่ว่าจะเป็น เอกสาร อาหาร ที่พัก จบโครงการ รับหนังสือดีๆ กลับบ้านอีกต่างหาก! เปิดรับถึง 15 กุมภาพันธ์ (หรือจนกว่าจะครบจำนวน 40 คน) คลิกดูรายละเอียดได้ที่เพจเฟซบุ๊ก ชมรมครูภาษาไทยภาคใต้ ถึงบรรทัดนี้ต้องขอชื่นชม ผศ.ดร.วิมลมาศ ปฤชากุล รองคณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี ผู้อยู่เบื้องหลังผลักดันโครงการดีๆ มาโดยตลอด...


          พบกันใหม่สัปดาห์หน้า สวัสดี
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ