Lifestyle

อลังการ อ่าน ผลิบานในหัวใจ ณ โรงเรียนสภาราชินี จังหวัดตรัง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

อลังการ อ่าน ผลิบานในหัวใจ ณ โรงเรียนสภาราชินี จังหวัดตรัง คอลัมน์...  ชานชาลานักเขียน  โดย...  วรรณฤกษ์ 

 

 

 

          00 เริ่มด้วยเรื่องราวน่าชื่นชมยินดีจาก โรงเรียนสภาราชินี จังหวัดตรัง ที่เขาส่งเสริมการอ่าน-การเขียน-การวาดด้วยจัดกิจกรรม ค่ายการเขียนเรื่องสั้น-บทกวี ค่ายเขียนเพลง และ ค่ายเขียนรูป ในวาระ 83 ปี โรงเรียนสภาราชินี พร้อมทั้งเปิดเวที เสวนาวรรณกรรม บรรยายพิเศษ, Flash Talk “อ่านให้ผลิบานในหัวใจ” ตลอดจนนิทรรศการศิลปะ และ อ่านล้อมเมือง 14-16 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ถือ เป็นงานยิ่งใหญ่ และ ประสบความสำเร็จงดงาม ควรได้รับเสียงปรบมือดังๆ...

 

อ่านข่าว...  ชานชาลานักเขียน

 

 

          00 ทั้งนี้มิใช่เพียงเพราะสภาราชินี โดย ดร.วัชรินทร์ โตขาว รองผู้อำนวยการโรงเรียนในฐานะประธานจัดดงาน สามารถเชิญวิทยากร นักเขียนชั้นนำระดับประเทศ อย่างสามศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ สถาพร ศรีสัจจัง, จำลอง ฝั่งชลจิตร, ศักดิ์สิริ มีสมสืบ และนักเขียน-กวีซีไรต์-ศิลปินดัง อาทิ ประมวล มณีโรจน์, กานต์ ลิ่มสถาพร, เรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์, พยัต ภูวิชัย, ประชาคม ลุนาชัย, โอ พารา, วิสุทธิ์ ขาวเนียม, วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล, โรสนี นูรฟารีดา ฯลฯ แต่ด้วยความตั้งใจและความพร้อมของเจ้าภาพ ผลลัพธ์จึงออกมาดีเกินความคาดหมาย...


          00 ดีอย่างไร..ดีเพราะผลงานของเด็กๆ เยาวชนชาวค่าย ทั้งเรื่องสั้น บทกวี บทเพลง และงานศิลปะวาดรูป ที่ออกมาล้วนน่าพอใจและบางรายต้องใช้คำว่า ‘น่าทึ่ง’ ผลงานเหล่านี้ มิใช่เฉพาะสภาราชินีโรงเรียนเดียว แต่เขาเปิดโอกาสให้ โรงเรียนอื่นๆ ได้เข้าร่วมกิจกรรมสร้างสรรค์ครั้งนี้ด้วย และเพราะความตั้งใจแรงกล้าของ รองวัช ดร.วัชรินทร์ โตขาว งานปีนี้..อดีตนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จึงตอบรับคำเชิญไป ‘บรรยายพิเศษ’ หัวข้อ “การอ่านคือการผลิบานในหัวใจ” อย่างเต็มใจเช่นกัน!...


          00 ถึงบรรทัดนี้อยากบอกว่า ‘อดีตนายกฯ อภิสิทธิ์’ ในบทบาทของนักอ่านท่านบรรยายดีมากๆ เพราะอ่านหนังสือมาเยอะ มีความรู้หลายด้าน ท่านจึงเรียบเรียงคำพูดได้ดี อาจเรียกได้ว่า ดีทุกประโยค! ชัดในประเด็น เกลี้ยงเกลา เข้าใจง่าย ผู้ฟังทั้งนักเรียน ครู อาจารย์ ได้กระตุ้นความคิดและแรงบันดาลใจที่จะหยิบหนังสือมาอ่าน ท่านชี้ให้เห็นว่า หนังสือมีประโยชน์อย่างไร.. ได้สาระ ได้สมาธิ เสริมสร้างจินตนาการ ได้ความสละสลวยของภาษา และช่วยกล่อมเกลา-ขัดเกลาจิตใจ ฯลฯ ซึ่งแต่ละประเด็น “เดอะมาร์ค” อธิบายขยายความได้โดนใจ...




          00 วกมาที่ “รองวัช” แม่งานใหญ่อีกครั้ง..อีกสถานะหนึ่งเขาคือ ‘นักเขียน’ เจ้าของนามปากกา วัชรินทร์ ช่วยชนะ การจัดค่ายแต่ละปีจึงมิใช่จบแล้วจบเลย เขามีสิ่งดีๆ ต่อยอดทุกครั้ง ดังนั้นปีนี้ก็เช่นกัน เขาได้จัดพิมพ์ หนังสือวรรณกรรม เพื่อแจกจ่ายผู้เข้าร่วมงานโดยเฉพาะงานวันสุดท้ายในหอประชุมใหญ่ เขาแจกจำนวน 600 เล่ม! กับหนังสือที่ชื่อว่า “การผลิบานในหัวใจ” เป็นรวมเรื่องสั้นประกวด รวมทั้ง เรื่องสั้น-บทกวีรับเชิญ จากศิลปินแห่งชาติและนักเขียนหลากรุ่นทั่วประเทศ พิมพ์ขนาด 16 หน้ายก/พิเศษ หนากว่า 400 หน้า คุณภาพคับเล่ม! ซึ่งหลังจบงานก็จะจัดส่งให้ห้องสมุดโรงเรียนต่างๆ ต่อไป...


         00 “...เป้าหมายจริงๆ ของการจัดกิจกรรมและพิมพ์หนังสือ ‘การผลิบานในหัวใจ’ ครั้งนี้คือ ต้องการส่งเสริมการอ่านวรรณกรรม สร้างนิสัยรักการอ่านให้นักเรียนและประชาชนทั่วไป ผมคิดง่ายๆ ว่า คนจะอ่านหนังสือเมื่อมีหนังสือดีอยู่ในมือและมีแรงบันดาลใจในการอ่าน วิธีการทำหนังสือดีคือ เชิญนักเขียนดีๆ มาร่วมกันเขียน วิธีให้หนังสือดีอยู่ในมือคือ พิมพ์แจก และวิธีสร้างแรงบันดาลใจคือ จัดงานวรรณกรรมให้มีโอกาสพบปะนักเขียน...” นี่คือวิธีคิด คือวิสัยทัศน์ คือความใจกว้างของ รอง ผอ.วัชรินทร์ และชาวสภาราชินี จ.ตรัง...


          00 ไปดูข่าวอื่นบ้างครับ งานพระราชทานรางวัลซีไรต์ พร้อมกันสามปีรวด (พ.ศ. 2559-2561) กำลังจะมีขึ้น วันจันทร์ 25 พฤศจิกายนนี้ เวลา 18.00-22.00 น. ณ รร.แมนดาริน โอเรียนเต็ล กรุงเทพฯ มี นักเขียน-กวี 9 ชาติอาเซียน เข้ารับพระราชทานรางวัล ขณะที่การจัดประกวดปีล่าสุด (พ.ศ.2562) ปิดรับผลงานเกือบเดือนแล้ว แต่รายชื่อหนังสือ ‘กวีนิพนธ์’ ทางผู้จัดยังไม่ได้ประกาศออกมา จึงไม่รู้ว่าผลงาน เล่มไหนของใครส่งชิงซีไรต์บ้าง รู้เพียง มีจำนวน 66 เล่ม! คาดว่ารายชื่อทั้งหมดคงเผยออกมาภายในสัปดาห์หน้านั่นแหละ...


          00 ประจวบเหมาะพอดี..ห้วงเวลานี้มี หนังสือรวมบทกวี พิมพ์เผยแพร่หลายเล่ม ที่น่าจับตาก็มีไม่น้อย อย่างเช่นผลงานของ สายฝน ตรีณาวงษ์ กับกวีนิพนธ์ไร้ฉันทลักษณ์ “เพลงโศกบทสุดท้าย” ต้องไม่ลืมว่า กวี/รองปลัด อบต.คนนี้ โดดเด่นด้านไร้ฉันทลักษณ์หรือกลอนเปล่า เขาเป็น ‘คนแรก’ ที่สามารถนำ ‘กลอนเปล่า’ ทะลุทะลวงฝ่าด่านบทกวี ‘ฉันทลักษณ์’ ไปขึ้นแท่นรับรางวัล ชนะลิศรางวัลพานแว่นฟ้า เมื่อปี 2551 ขณะที่ สุรชัย พิงชัยภูมิ กวี/บรรณาธิการคุณภาพ ก็มีกวีนิพนธ์ไร้ฉันทลักษณ์ภายใต้ชื่อ “รอยขีดข่วนของแมวตัวหนึ่งบนกำแพง” ออกมาเช่นกัน แน่นอนว่ารายนี้ งานของเขามีพลัง ทั้งเนื้อหาและท่วงทำนอง...


          00 ด้าน วิสุทธิ์ ขาวเนียม กวีมือรางวัลทำคลอดรวมบทกวีเล่มใหม่ในชื่อ “กุมภาพันธ์ บางทีก็มีฝน” ภายในเล่มมีทั้ง บทกวีฉันทลักษณ์ และ ไร้ฉันทลักษณ์ คละกัน แต่แบ่งเนื้อหาเป็นภาคๆ ชัดเจน ภาคหนึ่ง : เคว้งคว้างในเรื่องเล่าของเราเอง ภาคสอง : กลับบ้านด้วยแขนขาคนอื่น ภาคสาม : ไม่มีใครเห็นนางไม้ริมธารน้ำตก และ ภาคสี่ : เก็บยามเช้าไว้ให้เราบ้าง ส่วนเรื่องฝีมือชื่อชั้น วิสุทธิ์ ขาวเนียม การันตีอยู่แล้ว! ‘กวีนิพนธ์’ ทั้งสามเล่มที่หยิบยกมาบอกกล่าวเข้าใจว่าถูกส่งไปใน สนามซีไรต์ 2562 เป็นที่เรียบร้อย...


          00 เมื่อร้านหนังสือซบเซา มหกรรมหนังสือ หรือเทศกาลหนังสือต่างๆ จึงจัดบ่อยขึ้นทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด กระจายได้ทั่วทุกภูมิภาค จากภาคใต้-หาดใหญ่ (2-10 พ.ย.) สู่ภาคอีสาน ‘เทศกาลหนังสืออุดรธานี’ ครั้งที่ 6 “หนังสือดีมีชีวิต” วันที่ 22 พฤศจิกายน-2 ธันวาคม เวลา 10.30-21.00 ณ อุดรธานีฮอลล์ เซ็นทรัลพลาซา อุดรธานี มีหนังสือใหม่ๆ ในราคาพิเศษ จาก 80 สำนักพิมพ์ 160 บูธ พบนักเขียนชื่อดัง หนุ่มเมืองจันท์, รอมแพง, ภัสรา ฯลฯ พร้อมกิจกรรมประเทืองปัญญามากมาย...


          00 วันนี้! (เสาร์ 23 พ.ย.) เวลา 08.30-16.30 น. ที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ตลิ่งชัน (ห้องประชุมชั้น 6) มีประชุมเสนอผลงานโครงการวิจัย “ความสำนึกร่วมในการพัฒนาการศิลปะและการวิจารณ์ของไทย หมุดหมายที่สำคัญในช่วง พ.ศ.2475-2550” อ่านบทกวีเปิดงานโดยศิลปินแห่งชาติ ชมัยภร แสงกระจ่าง พบนักวิชาการวรรณกรรมคนสำคัญๆ อย่าง ศ.เกียรติคุณ ดร.เจตนา นาควัชระ ศ.ดร.สดชื่น ชัยประสาธน์ ศ.ดร.ดวงมน จิตร์จำนงค์ ผศ.ดร.สุวรรณา เกรียงไกรเพ็ชร์ และอีกหลายคน น่าสนใจมาก ไม่มีค่าใช้จ่ายครับ...


          พบกันใหม่เสาร์-อาทิตย์หน้า สวัสดี

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ