Lifestyle

มรดกศิลป์ "ทวี วิษณุกร"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์...  ตำข่าวสารกรอกหม้อ โดย...  จักรกฤษณ์ สิริริน

 


          ก่อนอื่นต้องขอแสดงความเสียใจกับ “ครอบครัวเย็นฉ่ำ” ที่สูญเสีย “ทวี วิษณุกร” ศิลปินนักวาดการ์ตูนที่จากวงการไปเมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา หลงเหลือไว้ซึ่งผลงานทรงคุณค่าของวงการศิลปะการ์ตูนไทย โดยเฉพาะการ์ตูนชุด “กระสือ” ที่ถือเป็นต้นแบบคาแรกเตอร์ “กระสือ” ในภาพยนตร์ไทยหลายเรื่อง

 


          “ทวี วิษณุกร” เป็นนามปากกาของ “ทวี เย็นฉ่ำ” เกิดเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2484 ที่ จ.ลพบุรี ทวีเริ่มมีแววรักการเขียนรูปมาตั้งแต่สมัยเรียนอยู่ชั้นประถมศึกษา โดยเป็นมือเขียนฉากลิเกให้คณะลิเก “ส.วาทศิลป์” ของบิดา


          ผลงานในยุคแรก “ทวี” เป็นงานเขียนนิยายภาพเกี่ยวกับผีบ้าง นิทานพื้นบ้านบ้าง ที่พอจะสืบค้นได้คือ “แม่นาคพระโขนง” “แก้วหน้าม้า” “โกมินทร์กุมาร” “จอมไพรจอมสิงขร” “ราชาร้อยเล่ห์” “สองอัศวินดาบดำ” “เห้งเจียผู้วิเศษ”


          ในปี 2511 “ทวี” ได้เริ่มเขียนนิยายภาพ “กระสือสาว” ตีพิมพ์ในนิตยสารการ์ตูน “หนูจ๋า” ของ “สำนักพิมพ์บรรลือสาส์น” โดยเขียนติดต่อกันนานถึง 5 ปี


          หลังจาก “กระสือสาว” จบลง “ทวี” ยังคงเขียนนิยายภาพแนวผีอย่างต่อเนื่อง โดยตีพิมพ์ในนิตยสารการ์ตูนสยองขวัญคือ “นางตานี” ในขณะที่นิตยสารการ์ตูนรวมรสสำราญซึ่งทำร่วมกับ “ปิยะดา” คือ “ลูกสาวผี” นิตยสารการ์ตูนหนูจ๋า คือ “ผีหัวขาด” นิตยสารการ์ตูนช็อก คือ “โรงแรมผี” และนิตยสารการ์ตูนเด็กดี คือ “วิญญาณพันปี”


          ในช่วงท้ายๆ ของการเขียนนิยายภาพ “ทวี” เริ่มเบื่อหน่ายนิยายภาพแนวผี จึงหันมาเขียนนิยายภาพแนวบู๊อิงประวัติศาสตร์ คือ “เลือดทาส” และนิยายแนวบู๊ดรามา คือ “ชีวิตเดือด” ซึ่งน่าจะถือเป็นเรื่องสุดท้าย


          นอกจากผลงานการ์ตูนชุด “กระสือสาว” มรดกอีกชิ้นหนึ่งซึ่งทางทายาทได้สร้างขึ้นก่อนที่ “ทวี วิษณุกร” จะเสียชีวิตคือ “ทวี วิษณุกร อวอร์ด”


          ซึ่งจัดประกวดขึ้นในวาระครบรอบ 60 ปี “แม่นาคพระโขนง” นิยายภาพเรื่องแรกของอาจารย์ “ทวี วิษณุกร” ในปี 2563


          โดยมีวัตถุประสงค์เพื่ออนุรักษ์การเขียนนิยายภาพผีแบบไทย อันมีเนื้อหาและรูปแบบเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมสำคัญอย่างหนึ่งของสังคมไทย ซึ่งนับวันจะสูญหายไป ด้วยอิทธิพลของคอมมิคแบบฝรั่งและมังงะแบบญี่ปุ่นที่กำลังได้รับความนิยมในปัจจุบัน


          ทั้งนี้จึงกำหนดแนวทางในการประกวดโดยยึดรูปแบบนิยายภาพผีของอาจารย์ทวี วิษณุกร เป็นมาตรฐานในการตัดสิน ซึ่งนิยายภาพของอาจารย์ทวีถือได้ว่าเป็นนิยายภาพที่มีความเป็นไทยอย่างแท้จริงทั้งในด้านลายเส้น การออกแบบตัวละคร ฉากประกอบต่างๆ รวมทั้งในด้านเนื้อหาที่ใช้ทั้งข้อมูล แรงบันดาลใจ จากค่านิยม สภาพแวดล้อม และบริบททางสังคมไทยทั้งสิ้น


          โดยกำหนด “ให้ใช้มือวาด” เนื่องจากต้องการอนุรักษ์กรรมวิธีการเขียนต้นฉบับแบบเดิมที่ใช้ปากกาคอแร้ง พู่กัน และหมึกดำ เอาไว้


          สำหรับกติกาการส่งผลงานเข้าประกวดและรายละเอียดต่างๆ ของ “ทวี วิษณุกร อวอร์ด” ครั้งที่ 1 ผู้สนใจสามารถติดตามข้อมูลได้ที่แฟนเพจเฟซบุ๊ก “ทวี วิษณุกร แฟนคลับ” หรือที่เฟซบุ๊ก “วงเดือน เย็นฉ่ำ” บุตรสาว “ทวี วิษณุกร”

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ