Lifestyle

เรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์ เตรียมซุ่มเขียนวนิยายที่ 'ไต้หวัน'

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์...  ชานชาลานักเขียน  โดย...  วรรณฤกษ์


 

          00 นับเป็นข่าวดี ส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ ที่ ‘นักเขียนไทยคนหนึ่ง’ ได้รับการคัดเลือกเข้าร่วม โครงการศิลปินในพำนักเพื่อสร้างสรรค์งานวรรณกรรม จาก The Artist Village Alliance of Taiwan, Taipei Culture Foundation เพื่อเป็น นักเขียนรับเชิญ ณ Treasure Hill Artisit Village กรุงไทเป สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) เขาคนนั้นคือ เรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์ กวีซีไรต์ ศิลปินศิลปาธรสาขาวรรณศิลป์ และ เจ้าของรางวัลวรรณกรรมแม่น้ำโขงคนล่าสุด โดยจะเดินทางไปพำนักตั้งแต่ 9 มกราคม–4 มีนาคม 2562 พร้อมกับเพื่อนๆ ศิลปินนานาชาติ จากหลากสาขา-หลายประเทศ เช่น ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น อังกฤษ เม็กซิโก ออสเตรเลีย ลัตเวีย ฮ่องกง สิงคโปร์ และ ไทย ทั้งหมดนี้ รวม 22 คน ถ้านับชาวไต้หวัน 6 คนเข้าไปด้วย รวมทั้งสิ้น 28 คน จากจำนวนผู้สมัคร 686 คน จากทั่วโลก!...

 

 

          00 เรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์ นับเป็น นักเขียน-กวีไทยคนแรก และ ‘คนเดียว’ ที่ได้รับเกียรติจากโครงการนี้ของ ไต้หวัน นั่นคงเพราะเขา มีความมุ่งมั่นสร้างสรรค์งานงานเขียน เป็นชีวิตจิตใจ ‘มีวินัย’ ทำงานและผลิต ‘ผลงานคุณภาพ’ ออกมาสม่ำเสมอมากที่สุดคนหนึ่งจนได้รับการยอมรับจาก นักอ่าน และ นักเขียน ด้วยกัน รวมทั้งเป็นที่ยอมรับ จากนานาชาติ อีกด้วย เขาได้รับเชิญไปดูงาน อ่านบทกวี ประชุมสัมมนาแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมในประเทศต่างๆ มาแล้วหลายประเทศ และเช่นเดียวกัน “เรวัตร์” ได้รู้ข่าวเกี่ยวกับโครงการนี้เพราะเขา (กวีไทยคนแรก) ได้รับเชิญไปร่วมงาน Asian Poetry Festival ที่ร่วมจัดโดยกระทรวงวัฒนธรรมไต้หวัน ณ กรุงไทเป เมื่อปลายปี 2560...


          00 โอกาสเดียวกันนี้ S.M. Zakir (เอส.เอ็ม.ซากีร์) เพื่อนกวี-นักเขียนซีไรต์ชาวมาเลเซีย ผู้เข้าร่วมโครงการเป็นศิลปินในพำนักปีนั้น ได้เชิญ เรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์ ไปเยี่ยมชมสตูดิโอบ้านพักใน หมู่บ้านศิลปินบนเนินเขา Treasure Hill Artist Village ดังกล่าว จน “เรวัตร์” เกิดความประทับใจบรรยากาศและสถานที่ เมื่อกลับมาเขาจึง ร่างข้อเสนอส่งเข้าร่วมคัดเลือก ในโครงการ Artist in Residence ปรากฏว่า ‘ผ่าน’ ในที่สุด! หมู่บ้านนั้นเป็นย่านเก่า สมัยทหารก๊กมินตั๋ง อพยพจาก จีนแผ่นดินใหญ่ ไปตั้งถิ่นฐานราว 70 ปีก่อน บนเนินเขาติดแม่น้ำซินเตียน (Xindian River) ตั้งบ้านเรือนจนเกิดเป็นชุมชน ต่อมา รัฐบาลไต้หวัน ได้ประสานกับชุมชน กลุ่ม-องค์กรอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ตลอดจน องค์กรศิลปะ จึงมีการ จัดตั้งเป็นหมู่บ้านศิลปินขึ้นในปี 2544 และเปิดรับศิลปิน ไปพำนัก เพื่อสร้างผลงานศิลปะทุกปี ตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา...




          00 ภายในหมู่บ้าน มีสิ่งอำนวยความสะดวก แก่ศิลปินเกือบทุกแขนง เช่น ห้องซ้อมดนตรี ห้องเปียโน สตูดิโอเต้นรำ ห้องมืดสำหรับล้างฟิล์ม ห้องประชุมสัมมนาและแสดงนิทรรศการ ตลอดจน พื้นที่แสดงศิลปะกลางแจ้ง และเปิดเป็น สถานที่ท่องเที่ยว สำหรับผู้สนใจศึกษา ร่วมการสัมมนาหรือชมงานศิลปะไปพร้อมกับ สังเกตวิถีชีวิตของศิลปิน ซึ่งทางโครงการได้จัดสรร ‘บ้านพัก’ ให้ศิลปิน คนละหนึ่งหลัง ด้าน เรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์ ตั้งเป้า จะเขียนนวนิยาย 1 เรื่อง อย่างที่บอก..เขามีวินัยในการทำงานมาก จึงคิดเตรียมเรื่องที่จะเขียนเกี่ยวกับ แรงงานไทยในไต้หวัน เขาตั้งชื่อเรื่องไว้แล้วคือ “ฝูงนกอพยพ” (Birds on A Wire)...


          00 อ้อ..ในครั้งนี้ “เรวัตร์” ยังได้ ทุนสนับสนุนบางส่วน จากเงินอุดหนุนการพัฒนาและส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) ของไทยอีกด้วย จึงเพิ่มความสะดวกสบายทั้งเรื่องค่าเดินทาง ค่าครองชีพยิ่งขึ้น! ร่ายมายืดยาว...เพื่ออยากร่วมชื่นชมยินดีต่อนักเขียน ที่ได้รับโอกาสดีๆ ประเด็นต่อมา อยากชื่นชม โครงการดีๆ ที่ประเทศอื่น เขาเห็นความสำคัญในงานศิลปะทุกแขนง ทั้งนี้เพื่อเป็นการ กระตุ้นภาครัฐประเทศเรา อีกทางหนึ่ง และ ประการสำคัญ เพื่อส่งข่าวถึงพี่น้องนักเขียน ที่สนใจได้มีช่องทาง รับโอกาสดีๆ แบบนี้บ้าง ซึ่งมิใช่เฉพาะ ไต้หวัน เท่านั้น มีหลายประเทศ ไว้จังหวะเหมาะๆ จะนำมาบอกกล่าวกันต่อไป...


          00 มาดูเรื่องน่ายินดีด้านอื่นกันบ้าง รวมบทกวีชุด "ใจปัจจุบัน" ของนักเขียน/กวีใจแสนดี 'กุดจี่' พรชัย แสนยะมูล ที่คว้า รางวัลชนะเลิศ รับเงินแสนจากเวทีประกวดหนังสือดีเด่น 'เซเว่นบุ๊คอวอร์ด' ปีล่าสุด ได้รับการคัดเลือกเป็น ‘หนังสืออ่านประกอบการเรียน’ ในรายวิชา การเขียนร้อยกรองไทย (LA 2042201) ของ สาขาวิชาภาษาไทยประยุกต์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ขอบคุณ อ.วิไลลักษณ์ ตางาม หัวหน้าสาขา ที่ส่งเสริมให้ลูกศิษย์ได้รู้จัก ได้อ่านวรรณกรรมร่วมสมัย อย่างต่อเนื่อง ส่วน "ฤดูใจ" กวีนิพนธ์เล่มใหม่ของ ‘กุดจี่’ ฉบับปรับปรุง พิมพ์เสร็จวางแผงทันก่อนสิ้นปีพอดี ใครจะมอบ ‘ขวัญปีใหม่เป็นหนังสือ’ ซื้อหา "ฤดูใจ" หรือเล่มอื่นๆ (ของนักเขียนคนอื่นๆ ด้วย) มอบให้กัน ผู้รับคงอิ่มใจแน่นอน...


          00สาขาวิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ จัดกิจกรรม ประชันสักวากลอนสด ระดับอุดมศึกษา ในงาน มหกรรมวิชาการและวัฒนธรรมนานาชาติ ครั้งที่ 3 วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2562 โดยเปิดโอกาสให้ นิสิต-นักศึกษา ระดับปริญญาตรี จากสถาบันอุดมศึกษา ทั่วประเทศ สมัครเข้าแข่งขันเป็นทีม ทีมละ 2 คน (ไม่จำกัดเพศ) รางวัลชนะเลิศ : รับโล่พระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อม เงินสด 8,000 บาท ตามด้วย รองชนะเลิศอันดับ 1 รับเงินสด 4,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร รองชนะเลิศอันดับ 2 รับเงินสด 3,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร ส่วนชมเชยมี 2 รางวัล รางวัลละ 1,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร...


          00 งานนี้มี อ.อุภาวัณณ์ นามหิรัญ อ.ปาลิตา ผลประดับเพ็ชร์ สองอาจารย์ ผู้หลงใหลในวรรณกรรม ดำเนินงาน-ประสานงานแข็งขันเช่นเคย จึงมีสองศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ สถาพร ศรีสัจจัง, ชมัยภร แสงกระจ่าง ให้เกียรติเป็นกรรมการตัดสินด้วย ช่วยให้ อ.สันติภาพ ชารัมย์ หัวหน้าสาขาวิชาภาษาไทยเบาใจไปเยอะ (อิอิ) รับสมัครตั้งแต่บัดนี้–20 มกราคม 2562 ติดต่อขอรับใบสมัครได้ที่ อ.พิมพ์ผกา ยอดนารี สาขาวิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์ มรภ.บุรีรัมย์ หรือคลิกดูรายละเอียด/ดาวน์โหลดใบสมัครที่เพจเฟซบุ๊ก ภาษาไทยเจียระไนอัญมณี ได้เลยครับ...


          00 นี่ก็ข่าวดีสำหรับคนสนใจสร้างสรรค์งานเขียน เพราะ สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) กำลังเปิดรับ ผู้มีใจรักการเขียน อายุระหว่าง 20-40 ปี เข้าร่วม โครงการบ่มเพาะนักเขียนหน้าใหม่ รุ่นที่ 5 ซึ่งจะมีขึ้นในปีหน้า บ่มเพาะหลากหลายประเภทครับ เลือกตามความถนัด ผู้จัดได้เชิญ ‘นักเขียน-กวีคุณภาพ’ มาเป็น นักเขียนพี่เลี้ยง ในแต่ละกลุ่ม ดังนี้..กลุ่มเรื่องสั้น : ประชาคม ลุนาชัย กับ อนุสรณ์ ติปยานนท์ นวนิยาย : วีรพร นิติประภา กับ ปองวุฒิ รุจิระชาคร กวีนิพนธ์ : เรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์ สารคดี : วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง บทวิจารณ์วรรณกรรม : จรูญพร ปรปักษ์ประลัย และกลุ่มบทความ : โตมร ศุขปรีชา...


          00 ครับ หากใครมีความมุ่งมั่น อยากเป็นนักเขียน และสามารถเข้าร่วมกิจกรรมได้ ครบตามกำหนดเวลา เชิญสมัครได้ ฟรี! ตั้งแต่บัดนี้-14 กุมภาพันธ์ 2562 ส่วนรายละเอียดมีอะไรบ้าง มีการอบรมบ่มเพาะและลงภาคปฏิบัติกันกี่ครั้ง ครั้งละกี่วัน ที่ไหนบ้าง ฯลฯ ตามอ่านได้ทางเว็บไซต์ www.ocac.go.th หรือสอบถามข้อมูลไปที่ สศร. กระทรวงวัฒนธรรม โทร.0-2209- 752–3...
พบกันใหม่ปีหน้า โชคดีปีใหม่ครับ

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ