ข่าว

ปรากฎการณ์ 'พรรคการเมือง' หาเสียงผ่าน Social เลือกตั้ง66 ดุเดือดกว่าที่เคย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ปรากฎการณ์ 'พรรคการเมือง' หาเสียงด้วย Social Media สนาม เลือกตั้ง66 จะดุเดือดมากยิ่งขึ้น ครีเอทีฟสอนมวยคอนเทนต์แบบไหนจะจับใจโหวตเตอร์

บรรยากาศการหาเสียงของ "พรรคการเมือง" เริ่มดุเดือดมากขึ้นเรื่อยๆ  หลายพรรคเปิดตัวแคนดิเดตนายก ประกาศนโยบายเรียกคะแนนจาก โหวตเตอร์ กันแบบไม่มีใครปราณีใคร ทุกคนงัดกลยุทธ์การหาเสียงเพื่อจะให้พรรคตัวเองได้คะแนนโหวต และได้เก้าอี้ ส.ส.มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการติดป้ายหาเสียง ริมทางเท้า ข้างเสาไฟฟ้า การเปิดเพจเฟซบุ๊กสำหรับนำเสนอนโยบายของตัวเองให้สามารถจับใจโหวตเตอร์ได้มากที่สุด

 

 

แต่นับจากนี้ต่อไปประชาชนหรือ โหวตเตอร์ทั้งหลายที่เล่นโซเชียลอาจจะถูก "พรรคการเมือง" ยิงแอดในช่องทางต่าง ๆ  ไม่ว่าจะเป็น Facebook Youtube  Tiktok  Line เพื่อขายนโยบายกันมากยิ่งขึ้น ปรากฎการณ์การใช้ Social Media เพื่อหาเสียงนั้นเริ่มต้นและเป็นผลมากที่สุดในช่วงปี 2562 ที่ พรรคอนาคตใหม่ (ชื่อก่อนถูกยุบพรรค) ชนะการเลือกตั้งและได้คะแนนจากโหวตเตอร์มากที่สุด  รวมถึง นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คนปัจจุบัน ที่กวาดคะแนนอย่างท่วมท้นกันมาแล้ว ด้วยกลยุทธ์การหาเสียงผ่านโซเชียลมีเดียที่จับคนกรุงเทพฯได้แบบอยู่หมัด  

แน่นอนว่าความสำเร็จของ "พรรคการเมือง" และนักการเมืองทั้ง 2 กรณีไม่ได้เกิดมาจากการใช้ Social Media  หาเสียงแบบเปิดเพจ แปะรูป อย่างแน่นอน เพราะรูปแบบการหาเสียงผ่าน Social Media แม้ว่าทุกพรรคจะมองว่าเป็นเทรนด์และเป็นช่องทางที่ดีที่สุดสำหรับการเข้าถึงใจโหวตเตอร์ แต่ก็ไม่ได้ทำกันง่าย ๆ เหมือนปลอกกล้วย

 

นายประกิต กอบกิจวัฒนา ครีเอทีฟและทีมกลยุทธ์ของชัชชาติ ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของพรรคอนาคตใหม่และผู้ว่าฯชัชชาติ ให้สัมภาษณ์กับ คมชัดลึก ถึง มุมมอง รูปแบบ การหาเสียงของพรรคการเมืองผ่านโซเชียลสำหรับการเลือกตั้งในครั้งนี้อย่างสนใจ ว่า  การใช้โซเชียลมีเดียในการหาเสียงไม่ใช่เรื่องใหม่ และไม่ใช่เรื่องแปลกในสนามการเมือง เพราะจากนี้ไปเราจะได้เห็นแต่ละพรรคทุ่มเงินไปกับการซื้อแอดบนโซเชียลมีเดีย และยิงโฆษณาไปยังกลุ่มโหวตเตอร์ที่เป็นเป้าหมายมากขึ้น  และในการเลือกตั้งครั้งนี้ช่องทางหาเสียงที่เรียกว่า โซเชียลมีเดียจะยิ่งดุเดือดมาก ๆ เพราะทุกพรรคเห็นความสำเร็จจากการเลือกตั้งครั้งก่อนๆ และทุกคนสามารถใช้โซเชียลได้

 

ประกิต กอบกิจวัฒนา ครีเอทีฟและทีมกลยุทธ์ของชัชชาติ

ที่แน่ๆ คือ ทุกพรรคมีความพร้อมและมีความเท่าเทียมในการใช้โซเชียลแบบพอๆ กัน แต่สิ่งที่จะทำให้แต่ละพรรคเกิดความได้เปรียบและเสียเปรียบจากการหาเสียงผ่านโซเชียล คือการคิดกลยุทธ์ คอนเทนต์ที่จะทำยังไงให้สามารถแย่งเวลาของโหวตเตอร์มาจากคอนเทนต์อื่น ๆ ที่มีอย่างมากมายในโลกโซเชียล เพราะแค่นโยบาย และภาพลงพื้นที่ กินข้าว หอมแก้ม คงไม่เพียงพอ 

 

ประกิต กอบกิจวัฒนา ครีเอทีฟและทีมกลยุทธ์ของชัชชาติ

 

  • ลงพื้นที่และใช้โซเชียลมีเดียการหาเสียงที่ตัดขาดกันไม่ได้ 

 

ในยุคที่โลกทรานฟอร์มไปสู่ยุคดิจิทัล หลายคนอาจจะคาดหวังว่าต่อไปการหาเสียงแบบเคาะประตู ขึ้นเวทีปราศรัยอาจจะตายไปจากสนามการเมือง แต่ในความเป็นจริงรูปแบบการหาเสียงแบบดั่งเดิม และแบบที่ใช้ Social จำเป็นที่จะต้องทำคู่กัน โดย ประกิต ได้อธิบายเรื่องรูปแบบการหาเสียง และการใช้ Social ในการหาเสียงไว้อย่างน่าสนใจ ว่า ไม่ว่าจะยังไงการหาเสียงทั้ง 2 รูปแบบก็แยกออกจากันไม่ได้ เพราะพรรคการเมืองจำเป็นจะต้องลงพื้นที่จริง ขึ้นเวลาปราศรัยจริง สัมผัสชีวิตของประชาชนจริง ๆ เพื่อที่จะได้นำข้อมูลเหล่านั้นมาผลิตเป็นคอนเทนต์และเผยแพร่ลงในเพจ เพราะจริงๆ แล้วโซเชียลเป็นเพียงช่องทางที่เราจะเอาเรื่องราวจากการลงพื้นที่มาทำเป็นคอนเทนต์ เพื่อให้เกิดการขยี้ใจเหล่าโหวตเตอร์ต่อเท่านั้น และแน่นอนว่าโซเชียลไม่ใช่พื้นที่ที่พรรคการเมืองจะให้หาเสียงได้โดยตรง แต่โซเชียลเป็นเพียง 1 ช่องทางการสื่อสารที่พรรคจะต้องเอานโยบาย สิ่งที่อยากสื่อสารมาฝากไว้และให้เหล่าโหวตเตอร์ได้เข้ามารับชมเท่านั้น และตัดสินใจต่อจากนี้

 

ประกิต กอบกิจวัฒนา ครีเอทีฟและทีมกลยุทธ์ของชัชชาติ

 

  • Social Media แต้มต่อดึงคะแนนจากโหวตเตอร์ 

 

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าทุกวันนี้ไม่มีพรรคไหนที่ไม่ใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ หรือ ใช้โซเชียลในการหาเสียง ขอคะแนนจากประชาชน ซึ่งพรรคที่ใช้โซเชียลมีโอกาสที่จะได้คะแนนจากประชาชนอย่างแน่นอน เพราะทุกวันนี้ไม่มีใครไม่เช่นโซเชียล แต่การใช้โซเชียลมีเดียในการหาเสียงให้ได้ผลจะต้องมีการวางแผน วางกลยุทธ์ที่เหมาะสม เวลาก็เป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน แน่นอนว่าพรรคที่ใช้โซเชียลในการสื่อสารมาก่อนมีความได้เปรียบ พรรคที่เพิ่งจะเริ่มทำแต่ไม่ว่าจะทำช้าหรือเร็ว เนื้อหา กลยุทธ์ คือหัวใจสำคัญของการหาเสียงบนโลกโซเชียล และต่อจากนี้ไปการหาเสียงบนโซเชียลจะกลายเป็นเกมบังคับที่มีผลต่อคะแนนโหวต และมีส่วนสำคัญในการสร้างประสบการณ์ร่วมระหว่างพรรคการเมืองและโหวตเตอร์ โดยเราเห็นได้จากความสำเร็จของพรรคอนาคตคตใหม่ หรือ พรรคก้าวไกล ที่มีคอนเทนต์เด็ดๆ มาเสริ์ฟให้คนได้ดูตลอดเวลา

 

ประกิต กอบกิจวัฒนา ครีเอทีฟและทีมกลยุทธ์ของชัชชาติ

 

  

  • ใช้ Social หาเสียงไม่ถูกวิธีไม่ ไม่มีกลยุทธ์ ไม่ต่างจากการว่ายน้ำในมหาสมุทร 

 

ดูเหมือนจะเป็นเรื่องง่าย แต่การหาเสียงผ่านโซเชียลมีเดียไม่ได้ทำกันได้ง่าย ๆ อย่างที่ทุกคนกำลังคิด เพราะกว่าจะได้หนึ่งคอนเทนต์ต้องผ่านการเก็บข้อมูล วางแผน ทำการวิเคราะห์มาอย่างยาวนาน  นายประกิต อธิบายเรื่องการ สร้างคอนเทนต์และกลยุทธ์ในการหาเสียงผ่านโซเชียลมีเดีย ว่า หากการใช้โซเชียลมีเดียของพรรคการเมืองไม่มีวางแผนที่ดี ไม่ผ่านกระบวนการคิด วิเคราะห์มาก่อนก็ไม่ต่างอะไรจากเพจที่เอาไว้โปรโมตภาพกิจกรรม ดังนั้นพรรคการเมืองอย่าลืมว่าจะต้องออกแบบการนำเสนอยังไงให้เนื้อหาสามารถหยุดโหวตเตอร์ให้ดูเราจนจบได้ ในขณะนี้รอบตัวโหวตเตอร์ก็มีคอนเทนต์จำนวนมากวิ่งเข้ามาหาอย่างต่อเนื่อง แต่ปัจจุบันตนเห็นว่า ทุกพรรคเปิดเพจ นักการเมืองทุกคนมีเพจ สิ่งนี้กำลังสะท้อนให้เห็นว่าหลายพรรคตีความเรื่องการใช้โซเชียลหาเสียงผิดไป  

 

ครีเอทีฟทีมชัชชาติ

 

  • สอนมวยพรรคการเมืองวางกลยุทธ์หาเสียงให้ดีมีชัยไปกว่าครึ่ง 

 

ไม่มี "พรรคการเมือง"  ไหนจะเลี่ยงการหาเสียงผ่านโซเชียลได้ โดยเฉพาะในช่วงของการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นนับจากนี้ และโค้งสุดของการหาเสียง รวมไปถึงช่วงเวลาของการดีเบต นายประกิต ให้แนวทางสำหรับนักการเมืองเพื่อใช้เป็นดาบในการหาเสียงสำหรับโกยคะแนนเลือกตั้งครั้งนี้ไว้อย่างน่าสนใจ ว่า นอกจากจะต้องวางแผนทำคอนเทนต์ให้ดี ให้โดนใจโหวตเตอร์ พรรคการเมืองควรให้ความสำคัญกับการสร้างเพจให้เป็นพื้นที่สำหรับการมีส่วนร่วม (involve)เพื่อจะได้เห็นปัญหา และเข้าใจในสิ่งที่คนต้องการจริง ๆ  เมื่อเราเข้าใจและรู้ที่ไปที่มาเราสามารถนำสิ่งที่ประชาชนเข้ามาแสดงความเห็นมาแปรเปลี่ยนเป็นโยบายหรือสิ่งที่ต้องทำให้แก่โหวตเตอร์ของเราได้ 

 

"ความเปลี่ยนแปลงในการหาเสียงนับจากนี้ที่เราจะได้เห็นคือ การใช้โซเชียลมีเดียในการหาเสียงแบบสร้าสรรค์ ตรงใจกลุ่มเป้าหมาย และรูปแบบการหาเสียงที่จะมาบลัฟคู่ต่อสู้จะมีให้เห็นน้อยลง" ประกิตกล่าวทิ้งท้าย 

 

อย่างไรก็ตามหัวใจสำคัญของการหาเสียงของ "พรรคการเมือง" คือ การวางนโยบายให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ และจะต้องรู้ลึกถึงปัญหาจริง ๆ ใช้โซเชียลมีเดียเป็นหนึ่งช่องทางในการกระจายนโยบาย และสิ่งที่อยากสื่อสารกับประชาชนให้ตรงจุด ที่สำคัญอย่าสูญเสียความเป็นตัวตนและภาพลักษณ์ที่เคยทำมาตลอดไม่เช่นนั้นจะทำให้"พรรคการเมือง" จะสูญเสียโหวตเตอร์ไปแบบไม่รู้ตัว ดังนั้นการทำการตลาดการเมืองหรือ Polisic Maketing จึงเป็นวิธีการที่พรรคกาเมืองเลือกใช้มาโดยตลอด เพราะหากตีความพรรคการเมืองไม่ต่างจากสินค้า ที่มีกลุ่มโหวตเตอร์เป็นกลุ่มเป้าหมาย ประชาชนจะจดจำเราได้จากคาแรคเตอร์ ตัวบุคคล จุดยืน ของพรรคการเมือง ดังนั้นหากจะพูดว่า  Polisic Maketing และ Social media เป็นสิ่งที่นักการเมืองต้องทำควบคู่กันไปในสนามการเลือกตั้งครั้งนี้    
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ