ข่าว

กสม. เรียกร้องสังคมร่วมด้วยช่วยดูแลปัญหา 'ความรุนแรง' ในครอบครัว

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

กสม. เรียกร้องสังคมช่วยดูแลปัญหา 'ความรุนแรง' ในครอบครัว เผยความรุนแรงภายในครอบครัวมีสถิติที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ

9 มีนาคม 2566 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และนายจุมพล ขุนอ่อน ผู้อำนวยการสำนักคุ้มครองสิทธิมนุษยชน แถลงการณ์ถึงประเด็น กรณีหญิงถูกสามีทำร้ายร่างกาย จุดไฟเผา และแทงจนเสียชีวิต สะท้อนปัญหา "ความรุนแรง" ในครอบครัว เรียกร้อง สังคม ร่วมดูแล เข้าช่วยเหลือเมื่อพบเหตุ
 

 

นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงการณ์ถึง ข่าวที่น่าสลดใจกรณีหญิงถูกสามีทำร้ายร่างกาย จุดไฟเผา และแทงจนเสียชีวิต ในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ โดยพลเมืองดีที่เข้าช่วยเหลือได้รับบาดเจ็บ

กสม. เรียกร้องสังคมร่วมด้วยช่วยดูแลปัญหา 'ความรุนแรง' ในครอบครัว

 

นายวสันต์ กล่าวว่า สะท้อนให้เห็นถึงปัญหา "ความรุนแรง" ในครอบครัว ซึ่งเป็นประเด็นที่ กสม.ให้ความสำคัญและกำหนดเป็นประเด็นยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนในปีนี้ นอกจากจะนำมาซึ่งความสูญเสียจากการกระทำที่โหดร้ายทารุณ อีกด้านก็ยังสะท้อนให้เห็นถึงแบบอย่างที่น่าชื่นชมของพลเมืองดีที่เข้าไปช่วยเหลือเมื่อพบเห็นการกระทำ "ความรุนแรง" ซึ่งเป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายคุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 มาตรา 5

 

 

"ที่กำหนดให้เป็นหน้าที่ของทุกคนที่พบเห็นการกระทำความรุนแรงในครอบครัวต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ เพื่อให้การช่วยเหลือ โดยไม่ต้องให้ผู้ถูกกระทำความรุนแรงหรือคนในครอบครัวเท่านั้นที่ต้องแจ้งเหตุ ทั้งนี้ ผู้แจ้งโดยสุจริต มีสิทธิได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย และไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง อาญา และปกครองด้วย" 

กสม.ได้ร่วมมือกับกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จัดทำสื่อชุด 'เรื่องผัวเมียยุ่งได้' เพื่อเผยแพร่รณรงค์ให้สังคมตระหนักถึงความรับผิดชอบร่วมกันในการแก้ไขปัญหา 'ความรุนแรง' ในครอบครัว ไม่เพิกเฉยต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

 

จากสถิติที่ได้รับการร้องเรียนที่ผ่านมาเฉพาะผู้หญิงกับเด็กถูกกระทำจากตัวเลขศูนย์พึ่งได้กระทรวงสาธารณะสุขในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา สูงถึง 15,000 คน และคาดว่าตัวเลขจะเพิ่มสูงยิ่งขึ้น และสถิติตัวเลขของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) หรือสายด่วน 1300 ในปีที่ผ่านมา พบว่า มีคนขอความช่วยเหลือประมาณ 1,000 คน

 

ตัวเลขดูน้อยจากความเป็นจริงมากเนื่องจากคนที่ถูกกระทำ "ความรุนแรง" ไม่แจ้งความและไม่ขอความช่วยเหลือ สาเหตุมาจาก คิดว่า "ความรุนแรง" อาจจะหายไปสักวันหรือเกรงกลัวไม่กล้าขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ ที่เกี่ยวข้องเพราะกลัวโดนทำร้ายหนักกว่าเดิม

 

กสม. เรียกร้องสังคมร่วมด้วยช่วยดูแลปัญหา 'ความรุนแรง' ในครอบครัว

 

"ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในครอบครัวของผู้อื่นรวมทั้งครอบครัวของตนเอง เป็นเรื่องที่ทุกคนที่พบเห็นหรือถูกกระทำต้องไม่เพิกเฉย ไม่ยอมจำนน ไม่คิดว่าไม่ใช่เรื่องของตัวเอง และไม่ปล่อยให้เป็นเรื่องปกติที่คุ้นชินใน สังคม โดยต้องแจ้งพนักงานเจ้าหน้าที่ เช่น เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือ เจ้าหน้าที่ตำรวจ เข้าให้ความช่วยเหลือทันทีที่เกิดเหตุ เพราะทุก "ความรุนแรง" ที่เหยื่อถูกกระทำ ไม่ว่าจะเป็นการทำร้ายกันด้วยคำพูดหรือการทำร้ายร่างกาย อาจส่งผลกระทบต่อร่างกาย จิตใจ การใช้ชีวิต ไปจนถึงความสูญเสียต่อชีวิตอันเป็นการละเมิดสิทธิที่ร้ายแรงและเป็นความผิดทางอาญาด้วย" นายวสันต์ กล่าว

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ