กรมอนามัย ได้มีข้อตกลงความร่วมมือกับ GISTDA ร่วมกันเฝ้าระวังและสื่อสารแจ้งเตือนประชาชน โดยจากการตรวจสอบสถานการณ์ฝุ่นละอองในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยใช้แอปพลิเคชัน "เช็คฝุ่น" ที่ GISTDA พัฒนาขึ้นด้วยการนำข้อมูลจากดาวเทียมมาใช้ในการติดตามสถานการณ์ฝุ่นละออง พบว่า ในภาพรวมของประเทศ มีค่า 'PM2.5' สูงขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือเกือบทั้งหมดมีค่าฝุ่นอยู่ในระดับสีส้ม (เริ่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพ) และสีแดง (ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ)
ทั้งยัง พบว่า จะมีแนวโน้มสูงขึ้นอีก โดยปัจจัยหลักที่ทำให้ค่า 'PM2.5' สูงขึ้น มาจากพื้นที่เผาไหม้หรือจุดความร้อนเพิ่มสูงขึ้นกว่าช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งสอดคล้องกับจำนวนที่ตรวจพบจากดาวเทียม ซูโอมิเอ็นพีพี โดยเฉพาะในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 พบสถิติสูงสุดถึง 3,768 จุด ประกอบกับสภาพอากาศปิด กระแสลมอ่อนลง จึงส่งผลให้พื้นที่ในบริเวณดังกล่าวได้รับผลกระทบโดยตรง นอกจากนี้ได้มีการคาดการณ์สถานการณ์ 'PM2.5' ในช่วงระหว่างวันที่ 1 - 7 มีนาคม 2566 พบว่า ในพื้นที่ภาคเหนือ กรุงเทพมหานครและปริมณฑล จะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอยู่ในระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กรมอนามัย ให้ความสำคัญกับการดูแลและป้องกันสุขภาพของประชาชน เนื่องจากเมื่อรับสัมผัส 'PM2.5' เข้าสู่ร่างกายจะก่อให้เกิดอาการตั้งแต่อาการเล็กน้อยจนถึงการเจ็บป่วยต่างๆ ได้แก่ โรคระบบทางเดินหายใจ โรคระบบหัวใจและหลอดเลือด โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็ก ผู้ป่วยโรคหอบหืด ผู้สูงอายุ อาจมีอาการกำเริบและเสี่ยงที่จะมีอาการทรุดหนักได้
ซึ่งจากการเฝ้าระวังอาการและพฤติกกรรมในการป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพจาก PM2.5 ด้วย "4 Health_PM2.5" พบว่าในช่วงวันที่ 21 - 28 กุมภาพันธ์ 2566 มีผู้ที่มีอาการจากการรับสัมผัส 'PM2.5' ร้อยละ 68.3 โดยอาการที่พบมากที่สุด คือ คันตา ร้อยละ 23.3 รองลงมาคือ แสบตาและแสบจมูก ร้อยละ 20 และคัดจมูก ร้อยละ 16.7
ดังนั้น กรมอนามัย จึงขอแนะนำให้ประชาชนตรวจเช็กค่าฝุ่นและป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพจาก PM2.5 โดยหากค่าฝุ่นอยู่ในระดับสีส้ม หรือมีค่า 51 - 90 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ประชาชนทั่วไปควรลดหรือจำกัดการทำกิจกรรมนอกอาคาร เปลี่ยนมาออกกำลังกายในอาคาร สวมหน้ากากป้องกัน ฝุ่น เมื่อออกนอกอาคาร ผู้มีโรคประจำตัวควรเตรียมยาและอุปกรณ์ที่จำเป็นให้พร้อม
"หากค่าฝุ่นอยู่ในระดับสีแดง หรือมีค่า 91 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรขึ้นไป ประชาชนทั่วไปควรลดหรืองดการทำกิจกรรมหรือออกกำลังกายนอกอาคาร เปลี่ยนมาออกกำลังกายในอาคาร สวมหน้ากากป้องกันฝุ่นเมื่อออกนอกอาคารทุกครั้ง สำหรับกลุ่มเสี่ยงให้งดออกนอกอาคาร ผู้มีโรคประจำตัวควรเตรียมยาและอุปกรณ์ที่จำเป็นอย่างน้อย 5 วัน
นอกจากนี้ ประชาชนควรเฝ้าระวังตนเองด้วยการประเมินอาการจากการรับสัมผัส 'PM2.5' พร้อมรับคำแนะนำในการดูแลสุขภาพเบื้องต้นได้ที่เว็บไซต์ "4HealthPM2.5" หรือ เว็บไซต์ "คลินิกมลพิษออนไลน์" และหากมีอาการรุนแรง เช่น แน่นหน้าอก หายใจลำบาก เหนื่อยง่าย หายใจมีเสียงหวีด ให้รีบไปพบแพทย์ ทั้งนี้ หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสามารถสอบถามได้ที่ สายด่วนกรมอนามัย 1478 หรือกรมควบคุมโรค 1422" อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง