ชีวิตดีสังคมดี

เห็นชอบ 'แผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 5' ดูแล 11 กลุ่ม ลดละเมิดความเป็นคน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ครม.เห็นชอบ 'แผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 5' ดูแล 11 กลุ่ม ครอบคลุมกลุ่มหลากหลายทางเพศ เพิ่มความเท่าเทียมด้านสิทธิมนุษยชน

ความเท่าเทียมและสิทธิขั้นพื้นฐานถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็น และปัญหาที่ภาครัฐจะต้องเร่งแก้ไข โดยเฉพาะความเท่าเทียมด้าน สิทธิมนุษยชน ในการเข้าถึงระบบ และบริการต่าง ๆ ของภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นด้านการศึกษา สาธารณสุข รวมถึงมาตรการในการดูแลด้านเศรษฐกิจปากท้อง

 

 

ดังนั้นเพื่อให้คนไทยทุกคนได้สิทธิอย่างเสมอภาค คณะรัฐมนตรี (ครม.) จึงได้เห็นชอบแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 5 เพื่อคุ้มครอง และสร้างความเท่าเทียมให้คนในชาติ 
 

เกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า  ที่ประชุมครม. มีมติเห็นชอบร่าง 'แผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 5' (พ.ศ. 2566-2570) ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ พร้อมกับเห็นชอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนปฏิบัติการด้านสิทธิมนุษยชนของหน่วยงานที่ครอบคลุมการดำเนินการของหน่วยงานในสังกัดทุกระดับและรายงานผลการปฏิบัติตามแผนสิทธิมนุษยชนฯ เมื่อสิ้นปีงบประมาณปีละ 1 ครั้ง  และให้หน่วยงานภาครัฐ  บรรจุวิชา สิทธิมนุษยชน ไม่น้อยกว่า 3 ชั่วโมง ในหลักสูตรฝึกอบรมข้าราชการทุกระดับตามขอบเขตและเนื้อหาหลักการสิทธิมนุษยชนพื้นฐานที่กระทรวงยุติธรรมกำหนด

 

น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

โดยที่ 'แผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 5' ฉบับนี้ได้นำประเด็นที่ยังไม่บรรลุวัตถุประสงค์จากแผนฉบับเดิมมาดำเนินการต่อ เช่น ปัญหาที่อยู่อาศัยและพื้นที่ทำกิน ปัญหาสิทธิในการทำงานและสิทธิในการเข้าถึงการรักษาพยาบาลสำหรับคนไทยและคนต่างด้าวทั้งในระบบและนอกระบบ ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวและการล่วงละเมิดทางเพศในเด็กและสตรี  และประเด็นข้อห่วงกังวลและประเด็นท้าทายต่าง ๆ จากระดับพื้นที่ เช่น ปัญหาฝุ่น PM2.5 ปัญหาการเข้าถึงมาตรการความช่วยเหลือของภาครัฐที่ต้องใช้ความรู้และทักษะทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ปัญหาการเคารพสิทธิผู้อื่นและการเคารพผู้เห็นต่าง 

 

สำหรับสาระสำคัญของ ร่าง 'แผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 5' ที่จะเข้ามาเพิ่มความทัดเทียมในการใช้ชีวิตของคนไทยมีทั้งหมด 5 ด้าน คือ ด้านการเมืองการปกครอง ด้านกระบวนการยุติธรรม ด้านสาธารณสุข ด้านการศึกษา และด้านเศรษฐกิจและธุรกิจ และยังครอบคลุมถึงการคุ้มครองสิทธิรายกลุ่ม 

 

โดยแบ่งออกเป็น 11 กลุ่ม คือ กลุ่มผู้ใช้แรงงาน กลุ่มผู้เสียหายและเหยื่อในกระบวนการยุติธรรม กลุ่มเด็กและสตรี กลุ่มนักปกป้องสิทธิมนุษยชน กลุ่มผู้สูงอายุ  กลุ่มผู้เสพยาเสพติด กลุ่มความหลากหลายทางเพศ กลุ่มบุคคลที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียนและกลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มคนพิการ กลุ่มผู้ต้องหาผู้ต้องขังและผู้พ้นโทษ และสุดท้ายคือ กลุ่มผู้ป่วยเอดส์ ผู้ที่อยู่ร่วมกับ HIV และผู้ป่วยจิตเวช เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์โดยใช้เป็นกรอบทิศทางของหน่วยงานในการดำเนินงานเพื่อแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชนในภาพรวมของประเทศ ปกป้อง คุ้มครองสิทธิของประชาชนโดยไม่เลือกปฏิบัติ คำนึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สร้างสังคมที่ตระหนักถึงการเคารพสิทธิมนุษยชน

 

ภาพประกอบข่าวเท่านั้น

 

น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า นอกจากนี้ยังมีประเด็นท้าทายของ 'แผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 5' ทั้ง 5 ด้านที่จะมีการดำเนินการ คือ 1.เร่งจัดสรรที่ดินและแก้ไขปัญหา การเข้าถึงทรัพยากรของประชาชน

2.ส่งเสริมความรู้ให้แก่ประชาชนในขั้นตอนต่าง ๆ ด้านกระบวนการยุติธรรมเพื่อให้รับรู้สิทธิในแต่ละขั้นตอนตั้งแต่ชั้น การสอบสวน การฟ้องร้อง และการดำเนินคดี

3.ให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง”

4.ปรับปรุงมาตรการของรัฐในด้านต่าง ๆ ให้สามารถเข้าถึงได้โดยประชาชนทุกกลุ่ม ควบคู่ไปกับการพัฒนาระบบความช่วยเหลือเป็นการเฉพาะสำหรับกลุ่มผู้ด้อยโอกาส 

5.ส่งเสริมสนับสนุนให้มีมาตรการต่าง ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือนและกลุ่มธุรกิจ SME ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ