ข่าว

เมื่อ "ทรงอย่างแบด" ทรงอิทธิพล โจทย์ใหญ่ Paper Planes ต่อ วัยรุ่นฟันน้ำนม

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เมื่อเพลง "ทรงอย่างแบด" ทรงอิทธิพล ผิดกลุ่มเป้าหมาย โจทย์ใหญ่ "Paper Planes" อาจกำหนดอนาคต วัยรุ่นฟันน้ำนม หรือไม่

เพลง ทรงอย่างแบด (Bad Boy) ของวง Paper Planes (เปเปอร์ เพลนส์) ชั่วโมงนี้ คงไม่มีใครไม่รู้จักเพลงฮิตติดชาร์ต ครองใจวัยรุ่นฟันน้ำนม โดยเฉพาะกับท่อนฮุก “ทรงอย่าง bad sad อย่างบ่อย เธอไม่รักฉันก็คงต้องปล่อย” จนกลายเป็นวลีติดปาก ทั้งเด็ก และผู้ใหญ่ และ กลายเป็นเพลงชาติของวัยรุ่นฟันน้ำนมไปแล้ว

 

หากจะพูดถึงเพลง “ทรงอย่างแบด (Bad Boy) ไม่ได้เพิ่งปล่อยออกมา แล้วดังเปรี้ยงปร้างทันที แต่เพลงนี้ถูกพูดถึงเป็นครั้งแรกในโซเชียล ตั้งแต่เมื่อช่วงปลายเดือนมีนาคม 2565 ในเพจหนุ่มจืด และได้กลายเป็นกระแสเล็ก ๆ ต่อมาในเดือนตุลาคม 2565 ซีรีส์วาย เรื่องกลรักรุ่นพี่ บทมีการพูดถึงท่อนฮุค “ทรงอย่างแบด แซดอย่างบ่อย” และมีคนนำไปทวิตต่อบนทวิตเตอร์ จึงทำให้เพลงนี้กลายเป็นกระแสขึ้นมาอีกครั้ง

ต้นเดือนธันวาคม 2565 ได้มีเด็กอนุบาล นำเพลงทรงอย่างแบดไปร้องเป็นคลิป บน TikTok จึงทำให้เกิดเป็นกระแสในหมู่เด็กอนุบาลและเด็กประถมขึ้นมา จนดังข้ามปีมาจนถึงปัจจุบัน ยอดวิวพุ่งสูงถึง 20 ล้านวิว

 

ทรงอย่างแบด หัวหน้าแก๊งฟันน้ำนม

 

ทำไมทรงอย่างแบด ถึง ทรงอิทธิพล

 

หลังจากเพลง ทรงอย่างแบด ฮิตติดปาก โดยเฉพาะในกลุ่มแก๊งเด็กอนุบาล และ เด็กประถม ไม่มีใครร้องไม่ได้ ทำให้มีการวิเคราะห์ถึงเหตุผล ที่ทำให้เพลงนี้ครองใจวัยรุ่นฟันน้ำนม นอกจากเนื้อเพลงที่ติดหูจำง่าย ร้องง่ายแล้ว มองในมุมภาษาศาสตร์ “ทรงอย่างแบด แซดอย่างบ่อย” นอกจากเสียงสัมผัสระหว่างวรรคแล้ว สามพยางค์แรก กับสามพยางค์หลังมีแบบ (template) ของเสียงพยัญชนะเหมือนกัน เช่น ทรง และ แซด เป็นเสียงพยัญชนะเดียวกัน เช่นเดียวกับ แบด และ บ่อย

 

ดร.ศุจิณัฐ จิตวิริยนนท์ นักภาษาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยกงานวิจัย ที่ระบุว่า สมองมักจะคาดเดาเสียงต่อไปในอนาคตได้ดี เมื่อเสียงพยัญชนะซ้ำกัน นอกจากนั้นแล้ว เนื้อเพลงท่อนนี้เป็นคำศัพท์ภาษาอังกฤษที่เด็ก ๆ เรียนอยู่แล้ว เช่น คำว่า Bad (เลว) หรือ Sad (เศร้า)

เมื่อเจาะลึกลงไปที่เนื้อเพลง ก็จะเห็นว่า เพลง ทรงอย่างแบด ไม่มีคำหยาบ หรือแนวคิด ที่ไม่เหมาะสม มุมมองผู้ปกครอง ทุกคอมเมนท์ที่พูดถึงเพลงนี้ แทบบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ชื่นชอบ และชื่นชม ในเรื่องที่ไม่มีคำหยาบคาย ลูก ๆ ของเค้าอารมณ์ดี ร้องเพลงนี้ ทั้งเวลาเล่น เวลาอาบน้ำ หรือก่อนไปโรงเรียน หลายคนให้คำนิยามเพลงนี้ว่า #เพลงชาติของ วัยรุ่นฟันน้ำนม

 

เพลง ทรงอย่างแบด

 

อีกหนึ่งปัจจัย ที่ทำให้เพลง ทรงอย่างแบด ทรงอิทธิพล ก็น่าจะเป็นตัวเจ้าของเพลงเอง ที่กลายเป็น ‘ไอดอล’ ของเด็ก ๆ ไปโดยปริยาย ทั้งที่กลุ่มเป้าหมายที่ Paper Planes ทำเพลงออกมา จะมุ่งไปที่กลุ่มวัยรุ่น แต่สุดท้าย ก็กลายเป็น วัยรุ่นฟันน้ำนม เหนือความคาดหมาย ด้วยทัศนคติทางด้านความคิด ที่เสียงตอบรับจากชาวเน็ต และ ผู้ปกครอง ต่างบอกว่า “ฮาย” ธันวา เกตุสุวรรณ นักร้องนำ เป็นตัวอย่างที่ดีให้กับกลุ่มแฟนคลับตัวยงกลุ่มใหม่นี้

 

“หมอมินบานเย็น” หรือ พญ.เบญจพร ตันตสูติ’ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น เจ้าของเพจ เข็นเด็กขึ้นภูเขา บอกว่า หมอเพิ่งรู้จักเพลง ‘ทรงอย่างแบด’ เพราะเด็กที่มาร้องเพลงนี้ให้ฟัง เด็กบอกกับหมอว่า "แบดแปลว่าไม่ดี แซดคือเศร้า คนร้องเขาเศร้าเพราะ ไปชอบสาว แต่สาวเห็นเขาแล้ว คิดว่าเขาแบด คือ ไม่ดี แต่จริง ๆ เขานิสัยดี ก็เลยเศร้า"

 

นอกจากนี้ แม่ของเด็กยังบอกว่า พอเด็กได้ร้องเพลงนี้ และเต้น ๆ กระโดด ๆ ก็ได้ออกกำลังกาย ปลดปล่อยพลัง รู้สึกทำให้มีความนิ่งขึ้น พอหมอลองฟัง ก็เข้าใจแล้วว่า ทำไมเด็ก ๆ ถึงชอบมาก เพราะฟังเพลิน และ ติดหู

 

หมอมินบานเย็น บอกอีกว่า แต่ประเด็นสำคัญที่ทำให้นอกจาก เพลงติดหูเด็กแล้ว ทัศนคติของนักร้องนำ มีความคิดที่มีความรับผิดชอบต่อเด็ก ๆ และ เยาวชน ชีวิตของเขาพลิกเปลี่ยน เพราะไม่คิดว่าทำเพลงออกมาแล้วเด็ก ๆ จะชอบ เมื่อแรกคิดว่ากลุ่มเป้าหมายเป็นวัยรุ่นมากกว่า แต่ตอนนี้เขากลายมาเป็น หัวหน้าแก๊งฟันน้ำนม ซึ่งตรงนี้ทำให้ให้เขาต้องระวังมากขึ้น หมอมินบานเย็น ยกประโยคที่ทำให้ครองใจผู้ปกครอง รวมทั้งตัวหมอเอง

 

“ผมรู้สึกดีที่เพลงของเราไม่มีคำหยาบ ในวัยที่เด็กยังแยกแยะไม่ได้ ถ้าเราเป็นส่วนหนึ่งเล็ก ๆ ได้ผมว่าน่าจะดี และเรื่องวิธีคิดก็สำคัญ ถ้าทำเพลงที่แนวความคิดไม่ดี จะฝังเป็นเมล็ดพันธุ์ที่ไม่ดี จะทำเพลงที่เหมาะกับเด็ก ๆ มากขึ้น”

 

ซึ่งหมอมินบานเย็น ในฐานะที่เป็นหมอจิตวิทยาเด็ก บอกว่า หมอเห็นด้วยกับเขามาก ๆ ยิ่งเป็นคนที่เด็ก ๆ ชอบต้องทำตัวเป็นแบบอย่างให้ดี ซึ่งตรงนี้ไม่ใช่เฉพาะนักร้องขวัญใจเด็ก ๆ แต่ผู้ใหญ่ทุกคนที่มีหน้าที่ใกล้ชิดดูแลเด็ก ๆ ก็ควรเป็นตัวอย่างที่ดี ในเรื่องคำพูดและการกระทำ เพราะอย่าลืมว่า เด็กจะเรียนรู้ ซึมซับจากสิ่งที่ได้ยิน และมองเห็น มากกว่าคำสอนที่พร่ำบอก

 

ตอกย้ำ “ทรงอย่างแบด ทรงอิทธิพล” ซาฟารีเวิลด์แตกเพราะแก๊งวัยรุ่นฟันน้ำนม

 

14 มกราคม 2566 “วันเด็กแห่งชาติ” วันที่สวนสัตว์ซาฟารีเวิลด์ แทบแตก เมื่อผู้ปกครอง ต่างพาเหล่าบรรดาวัยรุ่นฟันน้ำนม มาดูคอนเสิร์ต นักร้องขวัญใจของพวกเค้า พร้อมส่งเสียงร้องเพลงที่เค้าชอบ ไม่ต่างจากด้อม , ติ่ง ที่เฝ้ารอดูคอนเสิร์ตจากศิลปินคนโปรด  

 

คอนเสิรต ทรงอย่างแบด ที่ซาฟารีเวิลด์

 

“พวกเราทุกคนต่างก็เคยผ่านวัยเด็กมาก่อน เรารู้สึกว่า วัยเด็กเป็นช่วงที่สนุก และจะพัฒนาเป็นผู้ใหญ่ บางอย่างไม่จำเป็นต้องตาม และถึงแม้เราจะบอกอะไรไป แต่สุดท้ายแล้ว พวกเขาก็จะโตไปมีชีวิตของตัวเอง มีทางเลือกของตัวเองผู้ปกครองควรให้คำแนะนำในสิ่งที่เป็นไปได้ และเชื่อว่าน้อง ๆ ในวันนี้ มี ‘มือเล็ก ๆ’ ที่สามารถสร้างสิ่งที่ยิ่งใหญ่ได้ในอนาคต”

 

ตัวอย่างบางถ้อยความ ที่ไอดอลทรงพลัง ได้ฝากไว้กับ วัยรุ่นฟันน้ำนม ของเค้า ที่โลกโซเชียล มีการแชร์ออกไปทุกช่องทาง #ทรงอย่างแบด ขึ้นเทรนด์ทวิตเตอร์

 

ฮาย นักร้องนำ ขอบคุณผู้ปกครองที่ให้โอกาส สนับสนุนพวกเค้า และสร้างมาตรฐานใหม่ ไม่ตัดสินจากคนภายนอก

 

 

เมื่อ ทรงอย่างแบด ทรงอิทธิพล จึงนับเป็นโจทย์ใหญ่ ที่ Paper Planes ได้รับ เพราะการซึมซับเอาสิ่งที่ดี หรือ ไม่ดี ของ วัยรุ่นฟันน้ำนม คือสิ่งที่ได้ยิน และมองเห็น มากกว่าการพร่ำสอน หากพวกเค้าพลาดแม้แต่นิดเดียว นั่นหมายความว่า กำหนดอนาคตเยาวชนของชาติ ได้เหมือนกัน

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ